[CR] อุตรดิตถ์ ตอน 4 - ตามรอยบานประตูวิหารวัดพระฝาง

อุตรดิตถ์มีชื่อเสียงมากเรื่องบานประตูไม้แกะสลัก
ที่เก่าแก่และสวยงามยิ่งคือบานประตูวิหารวัดพระฝาง

วัดพระฝาง หรือ วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ

เมืองฝาง น่าจะเป็นเมืองใหญ่ในอดีต มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ประเทศฝรั่งเศสที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึงชื่อของเมืองฝางว่า
เมืองนครสวรรค์ เป็นแควร่วมของแม่น้ำสายใหญ่ไหลจากเหนือ
ต้นน้ำมาจากเทือกเขา ซึ่งอยู่ทางเหนือของเมืองขึ้นไปไม่ไกลนัก ไหลผ่านเมืองฝาง พิชัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ และบรรจบกับแม่น้ำสายอื่น - เส้นทางของแม่น้ำน่าน
ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวเมืองฝาง เพราะเมืองนั้นเป็นที่เก็บพระทันตธาตุ ชาวสยามจึงสร้างวิหารเจดีย์ไว้เพื่อบูชา
ชื่อฝางน่าจะมาจากมีต้นฝางมากในบริเวณนั้น ต้นฝาง - ให้สีแดงเข้มใช้ย้อมผ้า (ดังจีวรของเจ้าพระฝาง) เป็นส่วนผสมหลักของน้ำยาอุทัย

วัดพระฝาง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน
เป็นวัดพระมหาธาตุประจำเมืองฝาง คำว่า สวางคบุรี แปลว่าเมืองที่มีความสว่าง - จากพุทธศาสนา
เป็นกลุ่มโบราณสถานเดียวของเมืองที่ยังเหลืออยู่
เคยเป็นวัดที่จำพรรษาของเจ้าพระฝาง ชุมนุมเจ้าพระฝาง สมัยกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

วิหาร
สถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย - ภาพเมื่อปี 2555 กำลังบูรณะ ที่เราเรียกว่าเข้าเฝือกอยู่
เพราะบานประตูเก่าวิหารวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ ชำรุดทรุดโทรมมาก และในขณะนั้นไม่มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษา
พระสุธรรมเมธี เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยนั้น ได้ขออนุญาตกรมศิลปากรนำมาเก็บรักษาไว้ที่อาคารธรรมสภา วัดธรรมาธิปไตย เมื่อพ.ศ. 2494 ทิ้งไว้แต่ตัววิหารเปล่า
พ.ศ. 2550 ได้มีการจัดสร้างบานประตูไม้แกะสลักวิหารวัดพระฝางคู่ใหม่ เพื่อนำกลับไปติดตั้งยังวิหารหลวงวัดพระฝาง
ประดิษฐานหลวงพ่อใหญ่
เดิมมีพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนประดิษฐานอยู่หน้าหลวงพ่อใหญ่ แต่เมื่อกระเทาะออกเป็นพระพุทธรูปสำริด
ปัจจุบันประดิษฐานในวิหารหลวงพ่อเชียงแสน ทั้งยังติดลูกกรงเหล็ก ป้องกันหลวงพ่อไว้ - ไม่มีรูปค่ะ

เจดีย์พระธาตุวัดพระฝาง
บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ได้บูรณะใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี พ.ศ. 2410 เป็นทรงลังกา ... ทรงระฆัง
พระเจดีย์นั้นชำรุดมาก ต้องรื้อลงมาถึงชั้นประทักษิณที่สาม เมื่อรื้ออิฐเก่าที่หักพังออกก็พบแผ่นเหล็กเป็นรูปฝาชีหุ้มผนึกไว้แน่น
เมื่อตัดแผ่นเหล็กออกจึงพบผอบทองเหลือง บนฝาผอบมีพระพุทธรูปองค์เล็กบุทองคำฐานเงินอยู่องค์หนึ่ง
ในผอบมีพระบรมธาตุขนาดน้อยสีดอกพิกุลแห้ง 1,000 เศษ แหวน 2 วง พลอยต่างสี 13 เม็ด
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ทำการสมโภชแล้วเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และแบ่งพระบรมธาตุคืนยังเมืองสวางคบุรี

วิหารพระสังกัจจาย

แท่นรอยพระพุทธบาท

อุโบสถมหาอุด
อยู่ด้านทิศตะวันตกของกลุ่มโบราณสถาน มีประตูทางเข้าทางเดียว เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระฝาง
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิศิลปอยุธยา หรือ พระพุทรูปปางปราบพญาชมพูบดี สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ในรัชสมัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อัญเชิญไปไว้ที่วัดเบญจมบพิตร
พ.ศ. 2547 วปรอ. 41-11 ได้ทำการขอพระบรมราชานุญาตจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดสร้างองค์พระฝางจำลอง ไปประดิษฐานไว้ที่เดิม

บานประตูจริงอยู่ที่วัดธรรมาธิปไตย
เดิมชื่อ วัดท่าทราย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ต่อมาน้ำได้กัดเซาะตลิ่งพังเข้ามาเรื่อย ๆ ถึงที่ตั้งวัดจึงย้ายหนีน้ำขึ้นมา ห่างจากที่เดิมประมาณสองกิโลเมตร
ที่ตั้งใหม่มีต้นมะขามขนาดใหญ่ จึงชื่อวัดใหม่ว่า วัดต้นมะขาม มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2345
ต่อมา พ.ศ. 2482 เจ้าอาวาสวัดต้นมะขาม ได้ทำการขออนุญาตเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดธรรมาธิปไตย
บานประตูวิหารวัดพระฝาง อยู่ที่อาคารธรรมสภาในวัด
อาคารธรรมสภา
เป็นอาคารปูน 2 ชั้นหลังแรกในจังหวัดอุตรดิตถ์ สร้างในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม​เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2491
ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก​สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี​พระบรมราชินีในรัชกาลที่​ 7 ​ทรงปิดทองลูกนิมิตเอก วันที่​ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
สร้างด้วยแนวคิดของ ธรรมสภา (ในสมัยพุทธกาล) แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อใช้ประโยชน์ได้ 7 ประการอยู่ในที่เดียวกัน
คือ อุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ โรงเรียน หอสวดมนต์ หอไตร และธรรมสมาคม

หลวงพ่อเชียงแสน พระประธานในอุโบสถธรรมสภาปางมารวิชัย เนื้อโลหะสัมฤทธิ์ สร้างในสมัยสุโขทัย สกุลช่างสุโขทัยยุคกลาง มีอายุกว่า 700 ปี
เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปโบราณสมัยสุโขทัยองค์สำคัญ 8 องค์ของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่นำมาจากระเบียงแก้วอุโบสถวัดราชบุรณราชวรวิหาร กรุงเทพ
ซึ่งวัดถูกทำลายจากระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2485

บานประตูวัดพระฝาง ทำจากไม้ปรุ แกะสลักในสมัยอยุธยา แต่ละบานขนาดกว้าง 1.2 เมตร สูง 5.3 เมตร และหนาถึง 16 เซนติเมตร

อกเลาประตูแกะสลัก กาบล่าง - พุ่มข้าวบินฑ์ 

ตรงกลาง - เป็นลายเทพพนม ตอนบนอกเลา 4 องค์ตอนล่างอกเลา 4 องค์
ลายเทพพนมครึ่งตัวอยู่บนดอกบัว - พบหลังสมัยพระบรมไตรโลกนาถเป้นต้นมา

ตัวบานเป็นลายก้านต่อดอก ของพุ่มข้าวบิณฑ์ (ดอกบัว) สามดอกต่อดอกขึ้นไป 7 พุ่ม
ในพุ่มข้าวบิณฑ์เป็นลายกนกใบเทศ , ลายกินรี 

วัดคุ้งตะเภา
บ้านคุ้งตะเภา เป็นหมู่บ้านในแถบลุ่มแม่น้ำน่านฝั่งขวาตอนบนตำนานว่า
นานมาแล้ว มีพี่น้องพ่อแม่เดียวกันสองคนค้าขายล่องเรือสำเภาไปทางเมืองเหนือมีทรัพย์สมบัติมาก หลังพ่อแม่ตายกลัวว่าสมบัติจะตกไปกับผู้อื่น จึงได้อยู่กินฉันท์สามีภรรยากัน
วันหนึ่งได้เกิดพายุฝนรุนแรง เรือจึงอัปปางลง นายเรือและลูกเรือหนีรอดมาได้แต่สองพี่น้องซึ่งอยู่ที่ท้องเรือหนีไม่ทันจึงจมไปพร้อมกับเรือและสมบัติ
ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2313
ซุ้มประตูวัด ... ด้านติดถนนสาย 11 อุตรดิตถ์-เด่นชัย ออกแบบโดยสล่าเมืองเหนือ เป็นแบบเจดีย์ล้านนาล้านนา 5 ยอด
บนยอดซุ้ม บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่นำมาจากจังหวัดลำปาง 3 องค์ ซุ้มจรนัมทั้ง 4 ด้าน ประดิษฐานพระพุทธรูป
เสาและซุ้มประดับด้วยสัตว์หิมพานต์และลายเครือเถา

โบสถ์
เป็นอาคารปูนหลังแรกของหมู่บ้านคุ้งตะเภา สร้างเสร็จ พ.ศ. 2498
ประดิษฐาน หลวงพ่อสุวรรณเภตรา ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย หล่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2489
ในการหล่อประชาชนได้นำโลหะมีค่ามาร่วมถวายหล่อเป็นพุทธบูชาเป็นจำนวนมาก พระพักตร์จึงอิ่มเอิบสุกปลั่งประดุจดั่งทองคำ

หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระบรมราชโองการ
ให้อัญเชิญเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปจากวัดต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาเขตมารวบรวมไว้ในพระนคร มากกว่า 1248 องค์
มาประดิษฐานไว้ ณ พระระเบียงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2344

พ.ศ. 2336 พระสัมพันธวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์
พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอในรัชกาลที่ 1 ทรงทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเลียบ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้พระราชทานนามวัดว่า วัดราชบุรณราชวรวิหาร

สมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถอนสีมาวัดเลียบเก่า แล้วสร้างพระอุโบสถใหม่
แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปจากระเบียงแก้ววัดพระเชตุพน ฯ ที่นำมาจากหัวเมืองรวม 162 องค์ มาประดิษฐานไว้ที่ระเบียงแก้วรอบพระอุโบสถ

พ.ศ. 2488 ในสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดราชบุรณะถูกระเบิดเสียหายมาก - อ่านในเรื่องคู่กรรมวัดเลียบถูกระเบิดเพราะอยู่ติดโรงไฟฟ้า 
จึงยุบเลิกวัด อนุญาตให้วัดต่าง ๆ ในหัวเมือง อัญเชิญพระพุทธรูปที่พระระเบียงแก้วที่รอดจากการถูกทำลาย ไปประดิษฐานยังวัดของตนได้ตามแต่ประสงค์
วัดคุ้งตะเภา กำลังทำการก่อสร้างอุโบสถ และยังไม่มีพระประธาน จึงแจ้งความจำนงขอรับพระพุทธรูปเก่าจากวัดราชบุรณราชวรวิหารมา
กรมการศาสนาได้ส่งพระพุทธรูปโบราณทั้งที่เป็นพระปูนพระสัมฤทธิ์ ที่เคยประดิษฐานที่พระระเบียงคต  8 องค์ รูปหล่อสัมฤทธิ์พระอัครสาวก 80 องค์
มายังจังหวัดอุตรดิตถ์ มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวที่วัดธรรมาธิปไตย
มัคทายกได้เลือกและอัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี และรูปหล่อพระอัครสาวกมาจำนวน 2 องค์ มายังศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา ปัจจุบันรูปพระอัครสาวกทั้งสองได้สูญหายไปแล้ว

พ.ศ. 2500 ได้มีลมพายุพัดแรงมากจนทำให้กิ่งไม้หักถูกศาลาการเปรียญ ต้ององค์พระปูนปั้นหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ชำรุดจนเห็นเนื้อภายใน
เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย
จากพุทธลักษณะสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงสุโขทัย สกุลช่างเชียงแสนยุคปลายผสมสกุลช่างสุโขทัยยุคต้น - เชียงแสน + ฐานบัวโดยพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ เพราะมีลักณะงดงามสง่า ต่อมาอาจเกิดการสงครามอาจถึงขั้นเสียเมืองชาวบ้านจึงพอกปูนลงรักไว้

*
ชื่อสินค้า:   อุตรดิตถ์ วัดพระฝาง บานประตูไม้แกะสลัก
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่