วัดหนังราชวรวิหาร จังหวัดกรุงเทพมหานคร

เมษายนร้อนเป็นไฟก็ไทยบ้านเรานี้เอง
แต่สำหรับกิจกรรมเที่ยววัดก็ยังมีอยู่เช่นเคย “บ่ย่าน” สถานที่ที่สามารถหลบอากาศร้อนได้ดีที่สุดเห็นจะเป็นในพระอุโบสถครับ ไม่ต้องพึ่งพาแอร์ขอเเค่เข้าพระอุโบสถ 😊😊😊

วันนี้พามาชนวัดสวยอีกวัดในเขตจอมทองครับ วัดนี้คือ “วัดหนังราชวรวิหาร”



วัดหนังสันนิษฐานว่ามีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ภายในวัดมีหลักฐานทางโบราณวัตถุที่สำคัญเช่น ระฆังหล่อด้วยโลหะสำริด ที่บริเวณองค์ระฆังมีรอยจารึกการหล่อระมังใบนี้เอาไว้ว่า "พระมหาพุทธรักขิตกับหมื่นเพ็ชร์พิจิตร เป็นประธาน พร้อมด้วยพระภิกษุ สามเณร และทายกทายิกกา ได้ร่วมกันหล่อระฆังใบนี้ไว้เมื่อ พ.ศ. 2260" ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 หรือพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยรัตนโกสินทร์ กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยหรือเจ้าจอมมารดาเรียมพระบรมราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดหนังใหม่ทั้งพระอาราม เพื่ออุทิศถวายแต่บรรพชนของท่านคือ "ท่านเพ็ง" (เป็นมารดาของกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยและเป็นท่านยายของรัชกาลที่ 3) ซึ่ง มีถิ่นฐานเป็นชาวสวนอยู่ในย่านนี้ แต่ยังมิได้ทำการฉลองวัดก็ทรงสิ้นพระชนม์ลงเสียก่อน

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 จึงทรงรับเป็นพระราชภาระ ในการบูรณปฏิสังขรณ์สืบต่อตามพระประสงค์ โดยการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ทรงโปรดให้วางแปลนแผนผังวัดใหม่ พระอุโบสถหลังเดิมเปลี่ยนเป็นพระวิหาร สร้างพระปรางค์ แล้วสร้างพระอุโบสถหลังใหม่

หลังจากบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเสร็จพระองค์ท่านจึงทรงสถาปนาวัดหนังให้มีฐานะเป็นพระอารามหลวง แล้วทรงโปรดให้ทำการฉลองวัดหนัง เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลถวายแต่กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2380

ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณ ปี พ.ศ. 2448 พระองค์ทรงให้การบูรณปฏิสังขรณ์วัดหนังครั้งใหญ่ เนื่องจากสิ่งก่อสร้างต่างๆได้ชำรุดทรุดโทรมลง โดยมีหลวงปู่เอี่ยม หรืออีกนามคือ หลวงปู่เฒ่า ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งพระองค์ทรงให้ความเลื่อมใสศรัทธาและนับถือเป็นอย่างสูง
ทรงถวายพระราชทรัพย์เพื่อใช้ในการบูรณะ พระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ ทรงเสด็จพระราชดำเนินทางเรือมาทอดพระเนตรวัดหนังและทรงสนธนาธรรมกับหลวงปู่เอี่ยมทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินมา

สิ่งสำคัญภายในวัด

พระปรางค์ของวัดหนัง
สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 คราวสถาปนาวัด มีความสูง 22 เมตร 30 เซนติเมตร ส่วนฐานมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 13 เมตร 60 เซนติเมตร ชั้นประทักษิณ 3 ชั้นเป็นรูป 8 เหลี่ยม พนักลูกกรงโดยรอบกรุด้วยกระเบื้องปรุสีเขียว มีบันไดทางขึ้นด้านหน้า องค์ปรางค์ทาสีขาว ประดับด้วยรูปปั้นเทวดา และ รูปครุฑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราช กุมารี ทรงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นบรรจุในองค์พระปรางค์คราวเสด็จฯ ยกช่อฟ้าพระอุโบสถ และพระวิหารของวัดหนังฯ เมื่อวันที่ 18 เดือน เมษายน พ.ศ. 2554




พระอุโบสถ
เป็นอาคารก่ออิฐ ถือปูน หลังคาลด 2 ชั้น มุงกระเบื้อง เฉลียงรอบมีเสาหานรองรับ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ พนักระหว่างเสา กระเบื้องปรุ หลังคามุขลดยื่นลงมาอีกชั้นหนึ่ง หน้าบันประดับกระจก ประตูด้านหน้า และด้านหลังมีด้านละ 2 ช่อง หน้าต่าง ด้านละ 5 ช่อง กรอบประตู และหน้าต่าง ประดับลายปูนปั้น บานหน้าต่างด้านนอก เขียนลายรดน้ํา ด้านในลงพื้นฝุ่นน้ํามัน เขียนลายทองประเภทช่อพะเนียง เพดานมีลายคอสองโดยรอบ ลงชาดประดับด้วยดาวทอง ขื่อเขียน ลายตาสมุก ปลายขื่อ สองข้างเขียนลายกรวยเชิง เหนือกรอบ หน้าต่างประดับภาพกระจกอยู่ในกรอบทอง ผนังภายในเขียน ลายทองเป็นลายดอกไม้ร่วง ซุ้มสีมารอบพระอุโบสถก่ออิฐ ถือปูน ประดิษฐานใบสีมาศิลาจําหลักซุ้มละ 1 คู่

















พระประธานในพระอุโบสถ  มีนามว่า พระพุทธปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย หล่อด้วยโลหะ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีที่เป็นฐาน 2 ชั้น โดยมีพระสาวก ชั้นที่หนึ่ง 3 องค์ ชั้นที่สอง 2 องค์ ชึ่งฐานชุกชีมีการประดับกระจก

พระประธานองค์นี้สันนิษฐานว่า ในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงโปรดฯให้อัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดร้างตามหัวเมืองต่างๆนำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดในกรุงเทพมหานคร เช่นที่วัดโพธิ์ ซึ่งพระประธานองค์นี้คงจะได้รับการอัญเชิญมาจากวัดร้างในเมืองสุโขทัย แล้วนำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดโพธิ์ ครั้นเมื่อวัดใดสร้างหรือบูรณะขึ้นใหม่ก็ทรงประธานให้นำไปประดิษฐาน จึงเป็นไปได้ว่าพระประธานองค์นี้คงจะได้อัญเชิญมาจากวัดโพธิ์ แล้วนำมาประดิษฐานที่วัดหนังในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3




พระวิหาร
เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาลด 2 ชั้น มุงกระเบื่อง เฉลียงรอบมีเสาหานรองรับ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีประตูด้านละ 2 ช่อง ภายในมีผนังกั้นกลางแบ่งพระวิหารเป็น 2 ส่วน ส่วนหน้าประดิษฐานพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ คือ พระกกุสันโธ พระโกนาคมโน พระกัสสโป พระโคตโม และพระเมตเตยโย ส่วนหลังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะอยุธยายุคตอนต้น ทำด้วยหินทรายแดงแกะสลักเป็นแกน แล้วปั้นปูนทับลงรัก ปิดทอง










อีกหนึ่งเหตุผลที่ พุทธศาสนิกชนที่แวะเวียนมาที่วัดหนังแห่งนี้คงจะหนีไม่พ้น พระภาวนาโกศลเถระ (เอี่ยม สุวณฺณสโร) ท่านเป็นพระเถระที่เคร่งครัดในเรื่องวิปัสสนาธุระและคันถธุระเป็นอย่างสูง เป็นพระเถระที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงให้ความเลื่อมใสศรัทธาและนับถือเป็นอย่างสูง






พิกัด: วัดหนังราชวรวิหาร
https://maps.app.goo.gl/AST1EvTCX3zm3dZD9?g_st=ic

บันทึกความทรงจำ

วันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2567
5 April 2024

ตรงกับวันศุกร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือนสี่(๔) ปีเถาะ
ศุกรวาร(ศ) ผัดคุณมาส เบญจศก จ.ศ. 1385 , ค.ศ. 2024 , ม.ศ. 1946 , ร.ศ. 243
สุริยคติ เป็น อธิกสุรทิน , จันทรคติ เป็น ปกติมาส ปกติวาร

TeawWatThai / เที่ยววัดไทย
เที่ยววัดไทย เที่ยวชมวัด และสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธ์คู่บ้านคู่เมืองไทย

#วัดหนังราชวรวิหาร
#จังหวัดกรุงเทพมหานคร
#TeawWatThai / เที่ยววัดไทย
https://www.facebook.com/teawwatthai.travel
https://www.instagram.com/teawwatthai.travel
https://ppantip.com/profile/878726#topics
https://www.youtube.com/@teawwatthai
https://www.tiktok.com/@teawwatthai










แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่