โรคหลายอัตลักษณ์ (โรคหลายบุคลิก) มาเข้าใจพวกเขาจริง ๆ กันเถอะ

สวัสดีค่ะ ผู้เขียนเป็นคนที่สนใจหัวข้อโรคหลายอัตลักษณ์ คนทั่วไปมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคนี้อย่างมาก เพราะโรคนี้ทำความเข้าใจยากด้วยตัวเองอยู่แล้ว และภาพยนตร์บางเรื่องยิ่งสร้างภาพจำแบบผิด ๆ เพิ่มขึ้นอีก ผู้เขียนศึกษาโรคนี้มาพอควรและเคยพบเจอคนที่เป็นโรคนี้ จึงอยากเผยแพร่ความรู้ให้คนทั่วไปได้เข้าใจ
 
ผู้เขียนพยายามเขียนบทความนี้อย่างมาก ต้นฉบับแรกเขียนมาละเอียด ครบทุกด้าน และเห็นภาพชัดเจนมาก แต่ว่าเนื้อหายาวเกินไป (เกิน 10 หน้า) จึงแก้ไข ลบทิ้ง แล้วเขียนใหม่หลายครั้ง พยายามหาวิธีอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจโรคนี้ให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ สุดท้ายจึงออกมาเป็นบทความที่คุณกำลังอ่านนี้ จุดประสงค์ของบทความนี้คือเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจสิ่งที่คนที่เป็นโรคหลายอัตลักษณ์เป็นจริง ๆ เน้นอธิบายความคิดและวิถีชีวิตของพวกเขาเป็นสำคัญ ตัดรายละเอียดปลีกย่อยและเกณฑ์วินิจฉัยโรคออกไป บทความนี้จะไม่อธิบายในมุมมองการแพทย์ เพราะรู้สึกว่ามุมมองการแพทย์ไม่ได้ทำให้เข้าใจสิ่งที่พวกเขาเป็นจริง ๆ ถ้าบทความนี้ได้รับความนิยมจะเขียนเพิ่มเติมในรายละเอียดปลีกย่อยและมุมมองการแพทย์ต่อไป


โรคหลายอัตลักษณ์เป็นอย่างไร?

ถ้าถามว่าโรคหลายอัตลักษณ์คืออะไร มีอาการอะไรบ้าง จะเป็นมุมมองการแพทย์ซึ่งไม่กล่าวในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกันว่าโรคหลายอัตลักษณ์เป็นอย่างไรแทน คนที่เป็นโรคหลายอัตลักษณ์ (Dissociative Identity Disorder: DID) จะมีตัวตนตั้งแต่สองตัวตนขึ้นไปอยู่ในร่างกายเดียวกัน ลองนึกถึงแฝดที่มีร่างกายตัวติดกัน (แฝดสยาม) แฝดที่มีตัวติดกันมีความคิดความรู้สึกเหมือนเป็นคนละคนกัน เป็นคนสองคน แต่มีร่ายกายติดกัน คนที่เป็นโรคหลายอัตลักษณ์ก็มีลักษณะคล้ายกัน เพียงแค่ร่างกายไม่ได้แยกออกเป็นสองส่วน เช่น ร่างกายหนึ่งมีสองคนอยู่ภายใน คนแรกชื่อแพรวา เป็นผู้หญิง อายุ 27 ปี นิสัยจริงจัง อีกคนชื่อก้อง เป็นผู้ชาย อายุ 10 ปี นิสัยขี้เล่น


จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นคนละคน?

ใช้อัตลักษณ์เป็นตัวแบ่ง อัตลักษณ์ (identity) คือการระบุตัวตน คุณลองถามตัวเองว่า “ตัวเองเป็นใคร” ไม่ว่าคำตอบจะเป็นชื่อ อายุ เพศ อาชีพ การศึกษา บทบาท สถานะ ทักษะ ความชอบ ฯลฯ ทุกอย่างล้วนเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ทั้งนั้น เพราะนั่นคือสิ่งที่คุณระบุตัวตนว่าตัวเองเป็นใคร
 
โรคหลายอัตลักษณ์มีชื่อเดิมว่า โรคหลายบุคลิก (Multiple Personality Disorder: MPD) ซึ่งเลิกใช้ไปแล้ว ชื่อเดิมทำให้คนเข้าใจโรคนี้ผิดไปมาก คนปกติมีหลายบุคลิกเป็นเรื่องธรรมดา เช่น ตอนอยู่กับหัวหน้าเป็นคนสุภาพ เรียบร้อย ขยัน แต่พออยู่กับเพื่อนเป็นคนร่าเริง พูดหยาบคาย แบบนี้ไม่ถือว่าเป็นโรคหลายอัตลักษณ์ แค่มีหน้ากากให้สวมหลายใบ ถ้าทุกครั้งที่คุณถามตัวเองว่าตัวเองเป็นใคร แล้วคำตอบยังเป็นเหมือนเดิม ก็แสดงว่ายังมีอัตลักษณ์เดียวอยู่ เมื่อคุณอ่านบทความนี้ไปเรื่อย ๆ คุณจะแยกออกว่าอย่างไรเป็นหรือไม่เป็นโรคหลายอัตลักษณ์


คน คน และอีกหลายคน

ถ้าเป็นคนปกติคำว่า คน จะหมายถึงทั้งร่างกายและจิตใจรวมกัน เพราะมีแค่หนึ่งร่างกายและหนึ่งจิตใจ ในการศึกษาโรคหลายอัตลักษณ์จะใช้คำว่า คน หรือ ตัวตน (alter) แทนหนึ่งอัตลักษณ์ เราจะปฏิบัติต่อแต่ละตัวตนเหมือนเป็นคนละคนกัน อย่ามองว่ามีคนเดียวกำลังเล่นละครเป็นหลายคน (สวมหน้ากากหลายใบ) แต่ให้มองว่าพวกเขาคือคนหลายคนที่อาศัยอยู่ในร่างกายเดียวกัน แชร์ร่างกายกันใช้ ในบทความนี้จะใช้คำว่า ตัวตน แทน คน เพื่อไม่ให้สับสน แต่ละตัวตนมีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง ทั้งชื่อ อายุ นิสัย ฯลฯ
 
คำว่า ร่างกาย (body) ใช้เมื่อกล่าวถึงลักษณะทางชีวภาพหรือกายภาพ (เหมือนคำว่าร่างกายที่คนทั่วไปใช้กัน) ตัวตนกับร่างกายเป็นคนละส่วนกัน เราจะไม่พูดว่า คน (ตัวตน) นี้มีความสูง 170 เซนติเมตร แต่จะพูดว่า ร่างกายนี้มีความสูง 170 เซนติเมตร ในการศึกษาโรคหลายอัตลักษณ์ต้องใช้คำให้ถูกตามบริบท ไม่อย่างนั้นจะเกิดความสับสน เพราะหนึ่งร่ายกายมีหลายตัวตน

ถ้ามองแบบรัฐศาสตร์เมื่อคนหลายคนมาอยู่รวมกันจะเกิดสภาพความเป็นรัฐเกิดขึ้น รัฐมีสภาพเป็นอีกบุคคลหนึ่ง รัฐเป็นนามธรรมแต่ทุกคนรู้ว่ารัฐมีอยู่จริง ในโรคหลายอัตลักษณ์เมื่อมีหลายตัวตนอาศัยอยู่ในร่างกายเดียวกัน ก็จะมีสภาพหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวเรียกว่า ระบบ (system) แม้ว่าระบบจะมีเพียงหนึ่งเดียวเหมือนร่างกาย แต่ระบบกับร่างกายเป็นคนละอย่างกัน ถ้าให้เปรียบเทียบ ระบบเปรียบเหมือนรัฐ ร่างกายเปรียบเหมือนพื้นดินที่รัฐครอบครอง และตัวตนเปรียบเหมือนประชาชน

ข้อสังเกต : เมื่อใช้สรรพนามแทนตัวตนหนึ่งตัวตนจะใช้คำว่า เขา (he/she) ซึ่งเป็นเอกพจน์ แต่เมื่อใช้สรรพนามแทนระบบจะใช้คำว่า พวกเขา (they) ซึ่งเป็นพหูพจน์ เพราะระบบเป็นสภาพการรวมตัวของตัวตนหลายตัวตน (จะมองว่ามีสภาพเหมือนนิติบุคคลก็ได้)


การเมืองการปกครองภายในระบบ

หัวข้อนี้มีรายละเอียดปลีกย่อยมาก สามารถเขียนแยกเป็นอีกบทความได้ ในบทความนี้จะกล่าวโดยย่อ ระบบมีสภาพเหมือนรัฐ เมื่อมีตัวตนอยู่รวมกันก็มีการเมือง การปกครอง การแบ่งหน้าที่ การแบ่งชนชั้น ฯลฯ ไม่ต่างจากรัฐทั่วไป ลักษณะของระบบมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับระดับของโรคและความเป็นมาของระบบ ถ้าระบบเพิ่งเป็นโรคหลายอัตลักษณ์แต่ละตัวตนอาจไม่รู้ว่ามีตัวตนอื่นอาศัยอยู่ในร่างกายเดียวกัน ยังไม่มีการแบ่งหน้าที่และชนชั้น การเมืองการปกครองไม่ซับซ้อน แต่ละตัวตนคิดว่าตัวเองเป็นผู้ปกครองระบบ เพราะคิดว่าตัวเองเป็นคนปกติที่ไม่ได้เป็นโรคหลายอัตลักษณ์ ถ้าระบบพัฒนาจนมีความซับซ้อน ตัวตนหนึ่งรู้จักอีกตัวตน เกิดการแบ่งหน้าที่และชนชั้น มีผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ก็เกิดเป็นการเมืองภายในระบบ


ประเภทของตัวตน

ตัวตนมีหลายประเภท ถ้าอธิบายอย่างละเอียดต้องเขียนแยกอีกบทความ ประเภทของตัวตนที่มีความสำคัญต่อระบบมากที่สุดมีสองประเภท แก่น (core) หรือตัวตนดั้งเดิม (original alter) เป็นตัวตนแรกของระบบ มีมาก่อนที่ระบบจะเป็นโรคหลายอัตลักษณ์ สันนิษฐานว่าโรคหลายอัตลักษณ์เกิดจากแก่นพบเจอประสบการณ์เลวร้าย (trauma) จนรับความจริงไม่ได้ ปฏิเสธความจำของตัวเอง และสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมาเพื่อจัดการกับความรู้สึกนั้น
 
เมื่อระบบมีการปกครองผู้ปกครองระบบเรียกว่า โฮสต์ (host) โฮสต์คือตัวตนที่มีอำนาจตัดสินใจสิ่งสำคัญต่อระบบ เช่น การศึกษา อาชีพการงาน สุขภาพร่างกาย มักพบว่าโฮสต์คือตัวตนที่ปรากฏตัวบ่อยที่สุด ระบบอาจมีโฮสต์หนึ่งตัวตน หลายตัวตน หรือไม่มีโฮสต์ก็ได้ขึ้นอยู่กับสภาพการเมืองของระบบ แก่นอาจเป็นโฮสต์ด้วยหรือไม่ก็ได้


การใช้ชีวิตประจำวัน

เนื่องจากระบบมีเพียงร่างกายเดียว แต่ละตัวตนจึงต้องแบ่งใช้ร่างกายกันคนละเวลา การควบคุมร่างกายและความคิดของตัวตนหนึ่งเรียกว่า ปรากฏตัว ลองนึกถึงคอมพิวเตอร์ที่สามารถเปิดโปรแกรมได้แค่ครั้งละหนึ่งโปรแกรม ถ้าจะเปิดโปรแกรมใหม่ก็ต้องปิดโปรแกรมเดิมก่อน การปรากฏตัวของตัวตนก็มีลักษณะคล้ายเช่นนั้น แต่ในความจริงอาจมีหลายตัวตนปรากฏตัวพร้อมกันก็ได้ เพราะการปรากฏตัวมีความหมายรวมถึงการควบคุมความคิดเพียงอย่างเดียวแต่ไม่ได้ควบคุมร่างกายด้วย เปรียบเหมือนโปรแกรมที่ไม่มีการแสดงบนหน้าจอ แต่มีการทำงานอยู่เบื้องหลัง
 
แต่ละตัวตนมีอัตลักษณ์ของตัวเอง ทำในสิ่งที่เป็นตัวเอง เช่น ตัวตนเด็กเล่นแบบเด็ก ตัวตนผู้หญิงใช้ชีวิตแบบผู้หญิง เมื่อมีตัวตนหลากหลายระบบก็ทำสิ่งต่าง ๆ หลากหลายปะปนไปหมด ถ้าปล่อยให้แต่ละตัวตนทำตามใจตัวเองทั้งหมดจะส่งผลเสียต่อระบบ เรียกได้ว่าเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม โฮสต์ซึ่งเป็นผู้ปกครองระบบจึงต้องตัดสินใจและทำสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตในนามของระบบ เพื่อผลประโยชน์ของระบบ เมื่อระบบได้รับผลประโยชน์ตัวตนทั้งหมดก็จะได้รับผลประโยชน์โดยรวมไปด้วย

การกระทำของตัวตนอื่นตรงไปตรงมาเข้าใจได้ไม่ยาก แต่การกระทำของโฮสต์จะแยกยากนิดนึง โฮสต์มีสองสถานะพร้อมกัน สถานะหนึ่งคือตัวตนธรรมดาตัวตนหนึ่ง อีกสถานะคือตัวแทนของระบบ เปรียบเหมือนคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็มีทั้งหมวกที่เป็นผู้บริหารประเทศและหมวกที่เป็นชีวิตส่วนตัว บางอย่างโฮสต์ทำลงไปในนามของตัวเอง เช่น ดูละคร เล่นเกม งานอดิเรก บางอย่างโฮสต์ทำลงไปในนามของตัวแทนของระบบ เช่น การประกอบอาชีพ การดูแลสุขภาพร่างกาย บางอย่างก็แยกยากว่าทำในนามใดกันแน่ เช่น การพูดคุยกับเพื่อนภายนอกระบบ (คนอื่น) ทำไปเพื่อสนองความต้องการของตัวเองที่อยากมีเพื่อน หรือทำไปเพื่อผลประโยชน์ของระบบในอนาคตที่อาจได้จากเพื่อนคนนี้กันแน่


สรุป

บทความนี้มีจุดประสงค์คือเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจความคิดและการใช้ชีวิตของระบบที่เป็นโรคหลายอัตลักษณ์ การศึกษาโรคนี้ต้องมองว่าแต่ละตัวตนเป็นคนละคนกัน แต่ละตัวตนมีความเป็นอยู่ของตัวเอง แต่ละตัวตนจะผลัดกันปรากฏตัวเพื่อใช้ร่างกาย เมื่อหลายตัวตนอยู่รวมกันจึงมีการเมืองการปกครองเกิดขึ้น มีการแบ่งหน้าที่ เมื่ออ่านมาจนจบแล้วคุณน่าจะแยกออกแล้วว่า หลายอัตลักษณ์ กับ หลายบุคลิก แตกต่างกันอย่างไร
 
เนื้อหาในบทความนี้อาจรวบรัดไปบ้างเพื่อไม่ให้เนื้อหายาวเกินไป ถ้าเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ให้คะแนนบทความนี้และแชร์ให้เพื่อนของคุณอ่าน ถ้าบทความนี้ได้รับความนิยมจะเขียนบทความเพิ่ม เช่น กรณีศึกษาหรือเคสตัวอย่าง ประเภทของตัวตน การเมืองการปกครองภายในระบบ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบ วิธีปฏิบัติตัวกับระบบที่เป็นโรคหลายอัตลักษณ์ มุมมองทางการแพทย์ ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่