สัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ได้รับการตั้งชื่อแบบแปลกๆ

Phaya Naga



โครนิโอซูเคียน "Chroniosuchian" จัดเป็นเชื้อสายของสัตว์เลื้อยคลานเดินสี่ขาที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับจระเข้และอาศัยอยู่บนโลกเมื่อประมาณ 270 ถึง 225 ล้านปีที่ผ่านมา โดยฟอสซิลของพวกมันถูกค้นพบที่บริเวณรัสเซียและจีนตอนใต้มาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามฟอสซิลของพวกมันถูกค้นพบในสภาพไม่ค่อยสมบูรณ์มากเท่าไหร่นัก ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับกายวิภาคและวิวัฒนาการของพวกมันยังไม่เป็นที่ทราบดีเท่าที่ควร

ล่าสุดนี้ทีมนักบรรพชีวินวิทยาฝรั่งเศสได้ค้นพบฟอสซิลหัวกะโหลกที่สมบูรณ์ของโครนิโอซูเคียนในบริเวณหลวงพระบาง ประเทศลาว ซึ่งมีอายุราวๆ 250 ล้านปี โดยฟอสซิลนี้ถูกตั้งให้เป็นสกุลและชนิดใหม่ที่มีชื่อว่า "Laosuchus naga" 

ซึ่งชื่อสกุล "ลาวซูคัส" มีความหมายว่า "จระเข้จากลาว" (ยังไม่จัดว่าเป็นเชื้อสายเดียวกับจระเข้ปัจจุบัน) และ "นากา" หมายถึง พญานาค (Phaya Naga) ทั้งนี้ทีมวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ฟอสซิลหัวกะโหลกดังกล่าวด้วยเทคนิคซีทีสแกน และพบว่าลักษณะสัณฐานวิทยาหลายประการของหัวกะโหลกนี้เหมาะกับการปรับตัวเพื่ออยู่อาศัยในน้ำ (จืด) แต่ก็สามารถอาศัยอยู่บนบกได้

การค้นพบนี้ถือเป็นหลักฐานแรกของการปรากฏของสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มนี้ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบ่งบอกว่าแผ่นดินทวีปทางตอนเหนือของประเทศจีน จีนตอนใต้ และอินโดจีนเคยเชื่อมต่อกันเมื่อประมาณช่วง 250 ล้านปีที่ผ่านมา
Cr. ภาพ en.wikipedia.org/
Reference: Thomas Arbez, Christian A. Sidor & J.-Sébastien Steyer (2018): Laosuchus naga gen. et sp. nov., a new chroniosuchian from South-East Asia (Laos) with internal structures revealed by micro-CT scan and discussion of its palaeobiology, Journal of Systematic Palaeontology, DOI: 10.1080/14772019.2018.1504827
Cr.https://www.facebook.com/paleosara/posts/2111083192477619/

Thanatos


ลึกเข้าไปในแผ่นดินที่ในปัจจุบันถูกเรียกกันว่าแคนาดา ยังคงมีไดโนเสาร์ตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในช่วงยุคครีเทเชียส โดยพวกมันเป็นญาติผู้ใหญ่ของไดโนเสาร์นักล่าที่มีชื่อเสียงอย่าง “ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์” และราวๆ 79.5 ล้านปีต่อมาพวกมันก็ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในฐานะของฟอสซิล
 
ไดโนเสาร์ที่กล่าวมานี้ ได้รับการตั้งชื่อสุดเท่จากทางนักวิทยาศาสตร์ว่า “Thanatotheristes degrootorum” อ้างอิงจาก Thanatos เทพแห่งความตายของกรีกโบราณ และ Theristes ภาษากรีกแปลว่าผู้เก็บเกี่ยวหรือยมทูต

T. degrootorum มันเป็นไดโนเสาร์ตระกูลไทแรนโนซอรัสตัวแรกในรอบ 50 ปี ที่ได้รับการค้นพบในประเทศแคนาดา โดยมันถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 2010 ด้วยมือของคุณ John De Groot ในฟาร์มใกล้ๆ เมืองเฮย์ส รัฐอัลเบอร์ตา

ไดโนเสาร์ตัวนี้ มีความยาวตั้งแต่หัวจรดหางอยู่ที่ราวๆ 8 เมตร สูงราวๆ 2.4 เมตร หนักได้เกือบ 2 ตัน และมีจุดเด่นสำคัญอยู่ขนาดตัวโดยรวมที่เล็กและเบากว่าไทแรนโนซอรัสทั่วไป บวกกับกะโหลกศีรษะ โดยเฉพาะบริเวณใบหน้าซึ่งมีสันเขาแนวตั้งไล่ตั้งแต่ดวงตาไปถึงจมูกของมัน



ในปัจจุบันเรายังไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด T. degrootorum จึงมีลักษณะที่แตกต่างไปจากไทแรนโนซอรัสอื่นๆ ขนาดนี้ แต่ด้วยความที่มันเป็นไทแรนโนซอรัสที่มีความเก่าแก่มาก มันก็มีความเป็นไปได้สูงว่าลักษณะเหล่านี้จะมาจากการใช้ชีวิตและประเภทของอาหารที่มันกิน
และแม้ว่า T. degrootorum จะไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่ากับไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ก็ตาม การค้นพบในครั้งนี้ก็นับว่าเป็นการค้นพบที่มีความสำคัญมากๆ อยู่ดี นั่นเพราะการค้นพบ  T. degrootorum นั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างแห่งการวัฒนาการของไดโนเสาร์ในสายพันธุ์ไทแรนโนซอรัสเลยนั่นเอง
ที่มา foxnews, livescience
Cr.https://www.catdumb.tv/thanatotheristes-degrootorum-378/ By เหมียวศรัทธา

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโบราณ 3 ชนิด 


ในช่วงทศวรรษ 1930 หรือเกือบๆ 90 ปี ที่แล้ว มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล (fossil) จำนวนมากในหินทรายและหินดิน เหนียวอยู่ภายในพื้นที่โบราณคดีไฟรอารี (Friary Formation) เมืองซานดิเอโก รัฐ แคลิฟอร์เนีย แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งหนึ่งในการค้นพบของนักบรรพชีวินวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติซานดิเอโกในยุคนั้น ก็คือการได้พบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ 3 ชนิดที่ไม่สามารถอธิบายได้

แต่ในอีก 10 ปีต่อมานักศึกษาและอาจารย์ภาควิชามานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสในเมืองออสติน ก็มาสานต่อการค้นคว้าเกี่ยวกับสัตว์ทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว โดยศึกษาจากฟันของพวกมัน ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงวิวัฒนาการความเป็นมาในอดีตของสัตว์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นขนาดและอาหาร

ทีมวิจัยได้ตั้งชื่อให้กับซากฟอสซิลทั้ง 3 ชนิดว่า Ekwiiyemakius walshi , Gunnelltarsius randalli และ Brontomomys cerutti (มาจากคำภาษากรีก brontē หมายถึง ฟ้าร้อง)รวมทั้งสามารถระบุว่าซากเหล่านี้เป็นของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับไพรเมท (primate) จัดอยู่ในวงศ์โอโมมายเด (Omomyidae) ที่อาศัยอยู่ในยุคอีโอซีน (Eocene) เป็นยุคแรกเริ่มที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถือกำเนิดขึ้น

สัตว์เหล่านี้น่าจะมีชีวิตอยู่ระหว่าง 42-46 ล้านปีที่แล้ว พร้อมแจกแจงว่า Ekwiiyemakius walshi ที่มีขนาดเล็กที่สุดใน 3 สายพันธุ์ใหม่นี้น่าจะมีน้ำหนัก 113-125 กรัม ส่วน Gunnelltarsius randalli อาจหนัก 275-303 กรัม ในขณะที่เชื่อว่า Brontomomys cerutti จะมีขนาดใหญ่และหนัก 719-796 กรัม.
ที่มา http://www.sci-news.com/paleontology/omomyine-primates-06353.html
Cr. Painting on marble by Randwulph
Cr.https://www.thairath.co.th/news/foreign/1374806

human scrotum


ในปี 1676 มีการค้นพบชิ้นส่วนกระดูกในเหมืองหิน เมืองอ็อกฟอร์ดเชียร์ สหราชอาณาจักร นายโธมัส เพนนิสตัน ได้ส่งกระดูกชิ้นนั้นให้ นายโรเบิร์ต พล็อต (Robert Plot) ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์แอชโมลีน หนึ่งปีต่อมา นายพล็อตก็ได้ตีพิมพ์รูปร่างลักษณะของกระดูกชิ้นนั้นในหนังสือ "The Natural History of Oxford-shire"

โดยระบุว่า เหมือนส่วนล่างของกระดูกต้นขา (Femur) ของคนหรือสัตว์บางชนิด ซึ่ง "ถูกทำให้เป็นหิน" หรือกลายเป็นฟอสซิล  ตอนนั้นนายพล็อตเชื่อว่าเป็นกระดูกขาของช้างศึกสมัยอาณาจักรโรมัน แต่ต่อมาไม่นาน เขาได้เปลี่ยนข้อสรุปว่าเป็นกระดูกขาของมนุษย์ยักษ์ เพราะเห็นความสอดคล้องกับลักษณะที่อธิบายในพระคัมภีร์ไบเบิล

เกือบร้อยปีหลังจากนั้น ในปี 1763 นายริชาร์ด บรูคส์ (Richard Brookes) ได้นำภาพลักษณะกระดูกที่นายพล็อตตีพิมพ์ ในหนังสือชุด "A System of Natural History" โดยเพิ่มข้อความประกอบภาพกระดูกชิ้นนั้น ว่าเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของเจ้าของกระดูก โดยข้อความนั้นเขียนว่า Scrotum humanum
ซึ่งชื่อนี้เป็นชื่อแรกของเมกะโลซอรัสที่ได้รับการตีพิมพ์นั่นเอง

นายบรูคส์ตั้งตามลักษณะของกระดูกที่เหมือนกับ "human scrotum" หรือ "อัณฑะของมนุษย์" ขนาดใหญ่  ต่อมาในปี 1815 นายวิลเลียม บัคแลนด์ (William Buckland) นักบรรพชีวินวิทยาเข้าไปทำการศึกษาขุดค้นฟอสซิลในพื้นที่เดิมที่มีการค้นพบ Scrotum humanum ตัวนี้  นายบัคแลนด์พบชิ้นส่วนอื่น ๆ ซึ่งประกอบกันได้เป็นตัว ทำให้ยืนยันได้ว่ากระดูกทั้งหลายที่พบในเหมืองหินแห่งนี้เป็นฟอสซิลของไดโนเสาร์



ต่อมา ในปี 1824 นายบัคแลนด์ตีพิมพ์เอกสารชื่อ "Notice on the Megalosaurus or great Fossil Lizard of Stonesfield" ซึ่งบรรยายลักษณะของโครงกระดูกของเมกะโลซอรัสที่ค้นพบในแหล่งเหมืองหินดังกล่าว   Megalosaurus เป็นชื่อที่นายบัคแลนด์ตั้งให้กิ้งก่าโบราณขนาดยักษ์ตัวนี้ โดยได้คำแนะนำมาจากเพื่อนศัลยแพทย์ เจมส์ พาร์กินสัน (James Parkinson) คนเดียวกันที่ค้นพบโรคพาร์กินสัน

ดังนั้น ชื่อวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการของไดโนเสาร์สายพันธุ์แรกที่ค้นพบนี้ก็ได้รับความเมตตาให้เปลี่ยนจาก "Scrotum humanum" (อัณฑะมนุษย์) มาเป็นชื่ออันไพเราะว่า  "Megalosaurus bucklandii"
ที่มา Dinosaur Planet
Cr.ภาพ researchgate.net/
Cr.https://www.facebook.com/dinosaurplanetbangkok/posts/1140376202749726/

Hell pig


น้ำหนักมากกว่า 900 กิโลกรัม ขนาดตัวที่ใหญ่โต และเขี้ยวแหลมคม คือลักษณะโดยรวมของ “เอนเทโลดอนต์” (Entelodont) กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ได้รับชื่อเล่นสุดโหดจากเหล่านักวิทยาศาสตร์ว่า “หมูนรก” (Hell pig)
 
เอนเทโลดอนต์ เป็นสัตว์โบราณที่อาศัยอยู่บนโลกมาตั้งแต่ในช่วงกลางของยุคพาลีโอจีน หรือเมื่อราวๆ 37-16 ล้านปีก่อน ในหลากหลายพื้นที่ของโลกตั้งแต่ที่อเมริกาเหนือ ยุโรป หรือแม้กระทั่งเอเชีย และมีสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดชื่อ Daeodon ซึ่งถูกค้นพบที่รัฐเนแบรสกา สหรัฐอเมริกา

ที่นับว่าเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดสายพันธุ์หนึ่ง (หากไม่นับไดโนเสาร์) ที่อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือเลยก็ว่าได้ เพราะแม้แต่เอนเทโลดอนต์ที่มีขนาดเล็กที่สุดที่เราเคยพบ มันก็ยังมีขนาดเท่ากับกวางโตเต็มวัย ส่วนเอนเทโลดอนต์ขนาดใหญ่นั้นสามารถมีขนาดได้เท่าๆ กับม้าคลายเดสเดล (ม้าที่อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ม้างาน)

จากฟอสซิลที่เคยมีการค้นพบมาของเอนเทโลดอนต์นั้น ทำให้ทราบว่าหมูนรกเหล่านี้มีขนาดส่วนหัวที่ใหญ่โตมาก โดยเฉลี่ยแล้วส่วนหัวของพวกมันจะมีมวลมากถึง 35-45% ของมวลร่างกายทั้งหมด และถูกสันนิษฐานโดยผู้เชี่ยวชาญว่าเวลาพวกมันสู้กันมันจะสามารถยัดหัวของอีกฝ่ายไว้ในปากตัวเองได้
นอกจากนั้นยังมีเขี้ยวขนาดใหญ่เท่าๆ กับแขนของมนุษย์เรียงอยู่ในสภาพพร้อมฉีกร่างเหยื่อให้เป็นชิ้นๆ ทำให้พวกมันถูกเรียกกันว่า หมูนรก หรือ หมูเทอร์มิเนเตอร์ในบางครั้ง
 



หมูนรกเหล่านี้จะมีฟันหน้าที่น่ากลัว แต่ฟันด้านในกลับเป็นแบบเรียบซึ่งเป็นหลักฐานอย่างดีว่าพวกมันไม่ใช่นักล่าที่กินแต่เนื้อ แต่น่าจะเป็นสัตว์ที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ ซึ่งอาศัยฟันหน้าที่แหลมคมในการขุดดินหารากไม้เป็นอาหาร
ที่มา allthatsinteresting
Cr.https://www.catdumb.com/entelodont-378/By  เหมียวศรัทธา 

Cambroraster falcatus



เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา ภายในวารสาร Proceedings of the Royal Society B ทีมนักบรรพชีวินจากพิพิธภัณฑ์ออนแทรีโอในแคนาดาได้ทำการออกมาเปิดเผยการค้นพบฟอสซิลสัตว์โบราณสายพันธุ์ใหม่ ภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ Kootenay ประเทศแคนาดา

โดยฟอสซิลที่ถูกพบในครั้งนี้เป็นเปลือกขนาดใหญ่ของสัตว์จากยุคแคมเบรียน (ราวๆ 506 ล้านปีก่อน) มีลักษณะคล้ายกับปลากระเบนหรือแมงดาในปัจจุบัน และสำหรับนักบรรพชีวินหลายๆ คนแล้วดูคล้ายกับยานมิลเลนเนียม ฟอลคอนในสตาร์ วอร์ส  ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อให้มันว่า “Cambroraster falcatus” โดยชื่อหลัง “Falcatus” ของมันก็มาจากยานมิลเลนเนียม ฟอลคอนนั่นเอง
 
อ้างอิงจากนักบรรพชีวิน C. falcatus จะมีขนาดตอนโตเต็มวัยพอๆ กับขนาดของศีรษะมนุษย์ และมีตัวที่ความยาวอยู่ที่ 30 ซม. ซึ่งสัตว์ส่วนใหญ่ที่พบในยุคแคมเบรียนนั้น มักจะมีขนาดแค่เพียงนิ้วก้อยของคนเท่านั้น  จัดอยู่ในไฟลัมอาร์โธพอด​ หรือกลุ่มสัตว์ขาปล้องจำพวกแมงมุมและเป็นสัตว์นักล่า   
ที่มา livescience, cbc
Cr. https://www.catdumb.tv/cambroraster-falcatus-378/ By เหมียวศรัทธา 
 
(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่