หมอมะเร็งอยากบอก โรคมะเร็งกับโควิด-19

ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะเอาอยู่กับคลื่นระลอกแรกของการแพร่ระบาดของเชื้อ SARS-COV-2 หรือที่รู้จักกันในนามโรค COVID-19 หลายคนที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งคงพอทราบกันดีแล้วว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งคือผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสำคัญกลุ่มหนึ่ง บทความที่แสนจะออกช้านี้จะมากล่าวถึงโรคมะเร็งกับโควิดกันครับ(ในบทความนี้จะเรียกโควิดแทนนะครับ)

เนื่องจากความหวังของการมีวัคซีนใช้แพร่หลายคงยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้แน่นอน ร่วมกับผลกระทบจากมาตรการที่เข้มงวดทำให้หลายประเทศจำเป็นต้องผ่อนคลายมาตรการต่างๆลงซึ่งอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดระลอกใหม่ จึงยังคงเป็นเรื่องที่เราทุกคนยังต้องร่วมมือกันในการช่วยกันลดและจำกัดการแพร่ระบาด เพราะไม่ใช่เพียงผู้ป่วยโรคมะเร็งเท่านั้นแต่คุณและคนที่คุณรักก็อาจตกเป็นเหยื่อของโควิดได้เช่นกัน

ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีโอกาสติดเชื้อโควิดมากกว่า
- จากข้อมูลในประเทศจีนเราพบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งมีโอกาสติดโรคโควิดมากกว่าประชากรทั่วไป ราวๆสองถึงสามเท่า ยกเว้นในกรณีที่ระบาดรุนแรงมากๆโอกาสติดเชื้อก็อาจจะเท่ากันเพราะติดเกือบหมดทุกคน ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีโอกาสติดมากกว่าอาจเป็นเพราะมีอายุมากกว่า ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง ต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิด ดังนั้นผู้ดูแลใกล้ชิดนี่เองที่จำเป็นอย่างมากที่จะต้องระมัดระวังตนเองร่วมด้วย ในการลดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคมะเร็งยังจำเป็นต้องมีการเดินทางมารับการรักษา มาอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน จึงยิ่งมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย โรงพยาบาลต่างๆจึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการคัดกรองบุคคลต่างๆร่วมด้วย อย่างไรก็ดี การคัดกรองด้วยเรื่องไข้อย่างเดียวอาจหลุดคนป่วยเข้ามาได้สูง จึงจำเป็นที่จะต้องลดคนเข้ามาสู่โรงพยาบาลให้น้อยที่สุดเช่นห้ามเยี่ยมหรือจำกัดญาติให้มาได้เพียงครั้งละคน เป็นต้น นอกจากนี้ทุกคนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีอาการผิดปกติก็ควรระมัดระวังตนเองในการแพร่กระจายเชื้อแม้จะไม่ใช่โควิดก็ตาม (ไข้หวัดใหญ่ก็มีอัตราป่วยรุนแรงและอัตราตายสูงขึ้นในผู้ป่วยโรคมะเร็งนะครับ)


ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตมากกว่า
- จากข้อมูลในประเทศจีนและทางยุโรปผู้ป่วยโรคมะเร็งมีโอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้มากกว่าคนทั่วไปที่อายุเท่าๆกันราวสามถึงห้าเท่า ซึ่งปัจจัยเสี่ยงทั่วไปเช่น ยิ่งอายุมากก็ยิ่งเสี่ยงมาก ก็มีผลในผู้ป่วยโรคมะเร็งเช่นเดียวกัน จากหลายๆการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่มีประวัติการได้รับการรักษาเช่นผ่าตัดโรคมะเร็งหรือได้รับเคมีบำบัดมีโอกาสป่วยรุนแรงสูงมากกว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ไม่ได้เพิ่งรับการรักษามา นอกจากนี้ในรายงานล่าสุดผู้ป่วยมะเร็งโรคเลือดและมะเร็งปอดมีอัตราตายที่สูงมากหากติดเชื้อ และถ้าเทียบกับผู้ป่วยที่มีปัญหาที่ปอดเช่นเป็นมะเร็งปอดหรือมีการกระจายไปปอดจะมีความเสี่ยงสูงกว่ามาก สุดท้ายคือผู้ที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งไปอวัยวะอื่นๆก็จะมีความเสี่ยงกว่าผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่มี



การเตรียมตัวในสถานการณ์โควิดนอกจากมาตรการทั่วไปเช่นหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง
- เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังรวมไปถึงคนรอบข้างและจำกัดการมาเยี่ยม เอาเทคโนโลยีเช่น วีดีโอคอลมาใช้แทน
- ปรึกษากับแพทย์ในการลดจำนวนครั้งที่ต้องมาโรงพยาบาล เลื่อนหรือยืดเวลาออกห่างหากทำได้ 
- ทางแพทย์เองก็มีความตระหนักรู้และนำปัจจัยเรื่องการระบาดมาประกอบการตัดสินใจด้วยเช่น อาจชะลอการเริ่มการรักษา หรือเลือกการรักษาที่มีผลใกล้เคียงกันแต่มีผลกระทบน้อยกว่าหรือจำนวนครั้งมาโรงพยาบาลน้อยกว่า
- เตรียมใจหากเกิดการระบาดในวงกว้าง ผลกระทบต่อผู้ป่วยมะเร็งจะหนักมากเช่น หลายโรงพยาบาลอาจงดการผ่าตัดการให้เคมีบำบัด หรือหากป่วยก็อาจจะไม่ใช่ความสำคัญลำดับแรกๆที่จะได้รับการช่วยเหลือ (หวังว่าจะไม่แย่ไปถึงจุดนั้น) 



ปล.หายไปนานหากมีใครจำได้ ชีวิตมีการเดินทาง อาจมีอุปสรรคมีวิกฤติได้ หวังว่าจะได้มีโอกาสกลับมาตลอดไป เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่