ตะลุยเดี่ยวขี่รถเที่ยวดะชวาตะวันออกและสิงคโปร์ ตอนที่ 2







                      ห่างหายไปนานกับการเขียนกระทู้แนวตะลุยเดี่ยวขี่รถเที่ยวในอาเซียน   ช่วงนี้ว่าง ๆ พอจะปลีกตัวมาเขียนกระทู้ต่อได้บ้าง  หลังจากทริปเที่ยวในประเทศและต่างประเทศล่มไม่เป็นท่าจากพิษของโรคโควิท - 19   ที่ระบาดอย่างหนักจนกิจการต่าง ๆ ต้องปิดตัวลง  พลอยทำให้แปลนพักผ่อนของผมเสียหายตามไปด้วย   เลยขุดข้อมูลทริปเก่าที่ค้างไว้มาเขียนต่อเพื่อรอทริปใหม่ ๆ ในอนาคต
                      สำหรับกระทู้ตอนนี้จะเป็นการเล่าเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวที่ผมไปเที่ยวมาในย่านเมืองเคดิริ  เมืองบลิตาร์จนถึงเมืองมาลังในชวาตะวันออก   ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ของทริปนี้ก็หนีไม่พ้น  "จันทิ (Candi)"   ศาสนสถานสำคัญของอาณาจักรเคดิริและอาณาจักรสิงหัสส่าหรีในชวาตะวันออก  



                     ก่อนไปเที่ยวที่นี่ผมก็เสิร์จหาข้อมูลจากเว็บพันทิปก็แทบจะไม่มีใครมาเขียนเล่าเรื่องการเดินทางเป็นข้อมูลให้ผมได้ใช้เตรียมตัวเลย   ผมเลยคิดว่าจะเขียนกระทู้นี้ไว้เพื่อส่งต่อข้อมูลให้กับคนที่สนใจอยากเดินทางแวะไปเที่ยวชม  3  เมืองนี้กันได้ใช้เป็นข้อมูลในการเตรียมตัวรึกัน
                     ปกติผมจะชอบเที่ยวเมืองรองที่มีนักท่องเที่ยวนิยมไปชมกันน้อยมากกว่าเมืองหลักที่ดัง ๆ นะครับ   มันให้บรรยากาศความสงบไม่ดูวุ่นวายสับสนดีและเป็นการพักผ่อนได้แบบส่วนตัวจริง ๆ   กระทู้ตอนนี้ออกแนววิชาการหน่อย ๆ เพราะเราไปเที่ยวชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์จึงออกแนวเหมือนนักศึกษาโบราณคดีออกทริปยังไงยังงั้น    เจ้าของกระทู้เป็นครูผู้สอนจึงติดการบรรยายอธิบายเรื่องราวของสถานที่ที่ไปชม   กระทู้นี้จะตอบโจทย์คนชอบชมโบราณสถาน  สนใจอยากลองหาที่เที่ยวอื่น ๆ  และอยากชมเมืองรองของเพื่อนบ้านเรานะครับ   ก่อนอื่นไปดูโปรแกรมที่ผมเที่ยวในทริปนี้ก่อนรึกัน  



วันที่  5  : เที่ยวตามล่าหาจันทิในเมืองเคดิริและเมืองบลิตาร์

                     เมืองเคดิริเป็นเมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่งของชวาตะวันออก  ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองมาลังโดยมีเทือกเขากั้นกลางแยกเมืองทั้ง 2 ออกจากกัน   เดิมเมืองเคดิริเคยมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรเคดิริมาก่อน   ราวปี พ.ศ. 1585 - 1765   รุ่งเรืองราว 200 ปีตรงกับช่วงอาณาจักรขอมในบ้านเราพอดี  เป็นอาณาจักรฮินดู - ชวาอีกอาณาจักรหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลอารยธรรมมาจากอินเดียเหมือนกับอาณาจักรมัชปาหิตและอาณาจักรสิงหัสสาหรี  



                     เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรนี้สันนิษฐานว่าเป็นเค้าโครงที่มาของวรรณคดีอมตะเรื่อง อิเหนา  ที่บ้านเรารับเข้ามาจากอินโดนีเซีย   ดังนั้น  จึงสันนิษฐานว่าเมืองเคดิริอาจเป็นเมืองดาหาในวรรณคดีเรื่องอิเหนา  บ้านเกิดของบุษบาในท้องเรื่องนั่นเอง
                     วันนี้ผมขี่รถมอเตอร์ไซค์ออกจากโรงแรมที่พักในเมืองเคดิริไปทางตอนใต้ของเมืองเพื่อตามล่าหาจันทิที่น่าไปชมของเมืองเคดิริแล้วต่อไปยังเมืองบลิตาร์ด้วย    จุดหมายแรกคือ  จันทิคาลิคิลิก (Candi Kalicilik)    ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเคดิริราว  33  ก.ม.ได้



                     ถนนที่ขี่รถไปเป็นเส้นทางสายในของชุมชนทำให้ไม่ค่อยมีรถรามากเท่ากับถนนที่ผมขี่จากเมืองโมโจเกอร์โตมายังเมืองเคดิริของเมื่อวานนี้   ขี่รถเรื่อย ๆ ผ่านชุมชน  เรือกสวนไร่นาของชาวบ้านไปราว  1  ชั่วโมงได้ก็มาถึงจันทิแล้ว   


                     เจอป้อมทางเข้าจันทิ  เสียเงินค่าเข้าชมแล้วก็สามารถเข้าไปชมจันทิได้เลย  รู้สึกค่าเข้าชมจะ 20,000  Rp. นะ   ผมมาถึงจันทินี้ราว ๆ  10 โมงยังไม่ค่อยมีคนแวะเวียนมาชมกันเท่าไหร่  เจอแต่วัยรุ่นชาวอินโดคนเดียวที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ตระเวนมาเที่ยวชม  ดูท่าทางแล้วสไตล์คอเดียวกับผมแน่ ๆ เลยพวกชอบชมของเก่า




                     จันทิคาลิคิลิกเป็นจันทิขนาดเล็ก ๆ เพียงหลังเดียวที่ก่อด้วยหินสีออกแดง ๆ ดูแปลกตาไปจากจันทิอื่นที่ไปชมมา   ตามประวัติบอกว่าจันทิแห่งนี้  น่าจะขึ้นราว พ.ศ. 1814  ในช่วงสมัยอาณาจักรมัชปาหิตของกษัตริย์ Tribhuwanatunggadewi  โดยสร้างขึ้นในคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ไศวนิกาย  เนื่องจากที่ศาสนสถานแห่งนี้ได้มีการค้นพบรูปเคารพ อคัสยะ  ซึ่งเป็นฤาษีปางหนึ่งของพระศิวะนั่นเอง  และคาดว่าศาสนสถานแห่งนี้คงใช้ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยอาณาจักรสิงหัสส่าหรีจึงได้รับการบูรณะต่อเติมขึ้นมาอีกครั้ง 




                    ปัจจุบันชั้นหลังคาของเทวาลัยไม่หลงเหลืออยู่แล้ว  ภายในเทวาลัยก็ไม่หลงเหลือรูปเคารพที่เคยประดิษฐานอยู่เช่นเดียวกัน  คงมีการเคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่อื่นแล้ว  สันนิษฐานว่ารูปเคารพที่น่าจะเคยอยู่ที่นี้มาก่อนคงเป็นรูปปั้นฤาษีอคัสยะ   
 
  

                    สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเวลาชมเทวาลัยนี้ก็คือ  ภาพสลักรูปหน้ากาลที่อยู่กรอบประตูด้านบนทางเข้าเทวาลัย   หน้ากาลตัวนี้คล้ายกับหน้ากาลที่ประดับอยู่ที่จันทิต่าง ๆ ที่ไปชมมาเมื่อวานที่เมืองโตวุลัน   ในศิลปะชวาตะวันออกนิยมสร้างหน้ากาลแยกเขี้ยวยิ้มยิงฟัน  โดยชูนิ้ว 2 นิ้วทั้ง 2 ข้างเหมือนท่าแอ๊คถ่ายรูปซะยังงั้น  ดูคุกขิน่ารักไม่น่ากลัวเหมือนหน้ากาลในศิลปะบาหลี

 

ผมใช้เวลาชมที่นี่ไม่นานราว  20  นาทีได้ก็ขี่รถต่อไปยังจุดหมายอื่นต่อ  นั่นคือ  จันทิปะนะตะรัน (Candi  Panataran)

 
                    จันทิปะนะตะรันเป็นจันทิที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากจันทิคาลิคิลิกมากนัก   โดยเป็นจันทิที่มีขนาดกว้างใหญ่มากที่สุดในศิลปะชวาตะวันออก  ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองบลิตาร์ (Blitar)   โดยสร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 1873 - 1997  กษัตริย์ผู้สร้างคือพระเจ้าซานากร (Rajasanagara) หรือ  Hayum Wuruk  จากราชวงศ์ราชสะของอาณาจักรมัชปาหิต         แต่ปรากฏข้อมูลบนจารึกที่เก่าแก่ที่สุดที่พบบริเวณจันทิแห่งนี้ว่าอาจสร้างขึ้นก่อนหน้านั้นก็ได้  เพราะจารึกมีอายุอยู่ในราวปี  พ.ศ.1740  อาจขึ้นโดยกษัตริย์แห่งอาณาจักรเคดิริที่มีนามว่า  "ซะเรงกะ"    สร้างเป็นรูปแบบศิลปะชวาตะวันออกตอนปลาย  จึงทำให้จันทิแห่งนี้มีความสลับซับซ้อนมากกว่าจันทิแห่งอื่น ๆ ในชวาตะวันออก   



                     แม้จันทิปะนะตะรันจะไม่ได้มีตัวอาคารใหญ่โตเหมือนกับจันทิอื่น ๆ ในชวาภาคกลางที่ผมเคยไปชมมาเมื่อ  3  ปีก่อน  แต่ก็นับเป็นจันทิที่มีอาคารประกอบค่อนข้างสมบูรณ์กว่าจันทิอื่น ๆ ที่ไปชมมาในแถบนี้   ผมไปถึงจันทินี้ก็ราวเกือบเที่ยงแล้ว  แดดแรงใช้ได้เลย  แต่ก็มีคนท้องถิ่นแวะเวียนมาชมไม่ขาดสาย  ส่วนใหญ่เป็นพวกนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมาเป็นรถบัสหลายคันเลย  ชาวต่างชาติอย่างเราไม่ว่าเอเชียหรือฝรั่งไม่เจอแน่นอน  เพราะสถานที่ท่องเที่ยวแนวนี้ไม่อยู่ในความสนใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่แล้ว   ยกเว้นพวกคอชอบชมโบราณสถานอย่างผม


                     จันทิแต่ละแห่งในชวาตะวันออกบางแห่งก็เก็บเงินค่าเข้าชม  บางแห่งก็ไม่ได้เก็บแต่มีชาวบ้านละแวกนั้นมาคอยดูแลโบราณสถานให้  อย่างจันทิปะนะตะรันก็มีการเก็บเงินค่าเข้าชมแต่จำไม่ได้แล้วว่าตอนนั้นเสียค่าเข้าชมไปเท่าไหร่    ผู้เข้าชมจันทิทุกคนจะต้องเขียนข้อมูลของตนเองลงในสมุดของเค้าด้วยว่าชื่ออะไร และเดินทางมาจากเมืองใด       
      




                       จันทิปะนะตะรันแบ่งพื้นที่ออกเป็น  3  ลาน  คล้ายคลึงกับแผนผังของเทวาลัยในศิลปะบาหลี    ส่วนแรกที่เด่นชัดมากก็คือ  จันทิองค์ใหญ่  1 องค์ที่สูงตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้าก่อนอาคารอื่น ๆ  ลักษณะเป็นอาคารทรงสูงสี่เหลี่ยมแคบ ๆ  มีคาดรัดอกเรือนธาตุตามแบบฉบับของศิลปะชวาตะวันออกที่ปรากฏอยู่เกือบทุกจันทิในแถบนี้     ยอดบนเว้าเข้าและซ้อนลดหลั่นเรียวขึ้นไปคล้ายกับจันทิจาวีที่ผมจะไปชมในอีกไม่กี่วันข้างหน้า   ด้านบนเหนือกรอบประตูลงมาปรากฏภาพสลักรูปหน้ากาลตามรูปแบบศิลปะชวาตะวันออกไว้ทั้ง  4  ทิศเลย




                       จันทิแห่งนี้สร้างบนพื้นที่ทางลาดของภูเขาไฟกีลุด (Kelud)  สันนิษฐานว่าอาจสร้างเพื่อใช้บูชาพระศิวะ  เทพแห่งขุนเขาที่สถิตอยู่ที่ภูเขาไฟลูกนี้  เพื่อบวงสรวงบูชาให้เทพเจ้าคุ้มครองป้องกันภยันตรายที่อาจเกิดจากภูเขาไฟระเบิดนั่นเอง


                        ถัดไปในสุดจะเป็นเทวาลัยประธานของจันทิปะนะตะรัน  โดยชั้นแรกของอาคารปรากฏฐานหินขนาดใหญ่ 2 ฐานสร้างไว้รองรับอาคารโถงที่สร้างด้วยไม้  ซึ่งเดิมอาคารโถงที่สร้างบนนี้คงมีไว้เพื่อใช้ในประกอบพิธีกรรมทางศาสนา   




อาคารหลังแปลก ๆ สี่เหลี่ยมข้างหน้าของเทวาลัยประธาน  ที่คาดว่าอาจสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการปลุกเสกน้ำมนต์  





                        บริเวณฐานอาคารปรากฏภาพสลักเรื่องราวโดยตัวบุคคลสลักคล้ายตัวหนังวายัง  อันเอกลักษณ์ของศิลปะชวาตะวันออกที่แสดงความเป็นพื้นเมืองมากแล้ว    เดินชมภาพสลักเพลิน ๆ เป็นอะไรที่ผมชอบมาก  เพราะเราจะได้รับรู้ว่าช่างผู้สร้างนี้มีสุนทรียะอย่างไร  ภาพที่เห็นเราสามารถใช้จินตนาการคิดเพลิน ๆ ได้ว่าเค้าต้องการสื่อถึงอะไร  สะท้อนความเชื่อหรือวัฒนธรรมอะไรของคนในยุคนั้น   ที่นี่ถือว่ามีภาพสลักต่าง ๆ ที่ยังคงคมชัดและมีให้ชมมากไม่แพ้จันทิในชวาภาคกลางเลย





แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่