อากาศหนาวเดือน ธันวาคม ศกนี้ และการ"อดเปรี้ยวไว้กินหวาน" ?

ผ่านพ้นกันไปสำหรับลมหนาวระลอกแรก (ที่แสนแผ่วบาง) ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นกลับมาร้อนยาวๆอีกสักพักเลยทีเดียว จนขนาดเห็นหลายท่านมาตั้งกระทู้เป็นกังวลต่ออากาศฤดูหนาวนี้ 

ความจริงคือ มีท่านสมาชิกผู้ชื่นชอบในอากาศหนาวท่านนึงได้มาคุยกับผมหลังไมค์เกี่ยวกับอากาศ เลยได้สัญญาไว้ว่าจะมาตั้งกระทู้คาดการณ์อากาศสำหรับเดือนนี้ให้ ก็ต้องขออภัยด้วยครับที่ล่าช้าไปหลายวัน (เนื่องด้วยติดธุระอย่างอื่น)

ตกลงมันจะไม่หนาวแล้วหรือ? หรือแม้แต่ เพราะอะไรราววันนี้ถึงวันที่ 10 โอกาสที่จะหนาวถึงน้อยมาก?

ทั้ง 2 อย่างนี้จะพยายามตอบไว้ในกระทู้นี้ครับ

ดังที่ได้เขียนไปในกระทู้ก่อนหน้า ที่พูดถึงสภาพอากาศโดยรวมของปีนี้ว่ามีสิทธิ์ลุ้นหนาวได้มาก ซึ่งปีที่สามารถอุปมาได้คล้ายกันนั้นก็คือ ปี 2556-2557 (ที่หนาวยาวๆ) หรือ คือ สิ่งที่ได้เกิดขึ้นเมื่อ 11 ปีที่แล้วกำลังล้อกับปีนี้นั่นเอง

เหตุผลเพราะอะไรนั้น ก่อนอื่นมาดูการพยากรณ์ของ MJO ซึ่งเป็นตัวบอกว่าบริเวณที่อากาศยก และจมตัวแถมเส้นศูนย์สูตรมากน้อยกว่าปกติมันอยู่ที่ไหน 

ภาพบนแสดงบริเวณสีเขียว คือ บริเวณอากาศแยกออก (divergent zone) และบริเวณสีน้ำตาล คือ บริเวณอากาศลู่เข้า (convergent zone) ที่ชั้นบรรยากาศด้านบน ความสูง 200 hPa (แถวแนวลมกรด) จะสังเกตได้ว่าตั้งแต่ช่วงวันที่ 25 พ.ย. ลากยาวไปถึงอย่างน้อยวันที่ 8 ธ.ค. บริเวณสีเขียวกินพื้นที่เข้มๆอยู่แถวมหาสมุทรอินเดียซีกตะวันออกไปจนถึงบริเวณเกาะชวา (MJO เฝส 4 ผสม 5)   และคาดว่ากว่าจะเลื่อนออกจากมหาสมุทรอินเดียก็คือวันที่ 15 หรือก็คือเข้าสู่เฝส 5 เหลื่อม เฝส 6

 
จาก 2 โมเดลบน พอจะเห็นได้คร่าวๆว่าราว 2 สัปดาห์แรกของเดือนธันวาฯนี้ MJO น่าจะอยู่ที่ เฝส 5 ซึ่งหมายถึงบริเวณตั้งแต่กลางมหาสมุทรอินเดีย ถึงแถวชวากำลังมีอากาศที่ยกตัวสูงกว่าปกติ และนั่นย่อมหมายถึงกำลังของ ลมกรดกึ่งเขตร้อนไล่ตั้งแต่อินเดียตะวันตกไปจนถึงญี่ปุ่นน่าจะมีกำลังแรงมากทีเดียว

ผลของการที่ลมกรดกึ่งเขตร้อนโดนลมกรดขั้วโลกพุ่งลงมาหาแถวประเทศอียิปต์ ทำให้เกิดการส่ายอย่างมากแถวลิเบีย และนั่นจึงทำให้เกิดการเร่งความเร็วของลำลมกรดไล่ตั้งแต่เอเชียไมเนอร์เป็นต้นมา ผสมกับบริเวณที่ยกตัวของอากาศแถวเส้นศูนย์ที่มากกว่าปกติแถวมหาสมุทรอินเดีย ทำให้ลมกรดเร่งความเร็วมันลากยาวไปถึงญี่ปุ่นเลยทีเดียว
ผลอย่างงี้จะเกิดอะไรขึ้น?

ความกดอากาศแถวหิมาลัย รวมถึงด้านตะวันออกของทิเบตเหนือพม่า บริเวณที่เราอยากให้ความกดอากาศมันสูงเพื่อให้ลมหนาวจะแผ่ลงมาได้ถนัด จะไม่มีทางมีความกดอากาศสูงได้เลย เนื่องจากลำบีบ (jet streak) ของลมกรดมันต่อเนื่องไม่ขาดช่วงให้บางบริเวณสามารถมีอากาศจมตัวมากกว่าปกติจนทำให้พื้นด้านล่างความกดอากาศสูงขึ้นได้เลย

และนอกจากนี้หากดูที่ภาพถัดไปจะเห็นได้ว่า ลำลมกรดมันจะยืดเข้าไปในแปซิฟิกมาก

รูปแบบการเชื่อมโยงทางไกลแบบนี้จะดึงดูดให้ลำลมกรดยืดยาวตรงๆเข้าไปในมหาสมุทรแปซิฟิกมาก

ลำลมกรดมันมีกำลังแรงและลากตรงไปทางทิศตะวันออกดื้อๆทางใต้ญี่ปุ่นแทบไม่เชิดขึ้นเหนือเลย ซึ่งก็จะตรงกับฉากทัศน์ที่ 2 ที่ผมได้เขียนไว้ในกระทู้ที่แล้วคือ ต่อให้ความกดอากาศสูงมันกำลังแรงก็จะไปตกทะเลเสียส่วนใหญ่ ไม่ต้องพูดถึงความกดอากาศสูงกำลังไม่ค่อยแรงมาก หมดแรงไปเกือบหมด

เพราะงั้น จนจะถึงราววันที่ 13 ธ.ค.ต่อให้มีลมหนาวตั้งเค้าแผ่มาก็จะไม่มาถึงบ้านเรา

ถึงยังงั้น ลักษณะแนวลมกรดแบบนี้ก็มีข้อดีของมันอยู่ คือ จะกลายเป็นว่าเป็นการการันตีให้กับญี่ปุ่น และทะเลโดยรอบญี่ปุ่นที่กำลังจะเย็นตัวอย่างรวดเร็วไปยาวๆเพราะดูดความเย็นไปได้หมด ซึ่งส่วนนี้จะส่งประโยชน์ต่อไทยเราเองในภายหลัง

แล้วหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร?

ดังที่ได้เขียนไปก่อนหน้าว่าเราจะเข้าสู่ MJO เฝสที่ดีที่สุดแห่งการแผ่ลมหนาวราววันที่ 15 เป็นต้นไป เพราะงั้นบริเวณที่ลมกรดมันเร่งความเร็วก็จะเลื่อนมาทางตะวันออกด้วยเช่นกัน ซึ่งก็น่าจะเป็นลักษณะตามภาพล่าง คือ 

ราววันที่ 13 บริเวณทางเข้าของลำบีบน่าจะเลื่อนมาทางทิศตะวันออกของหิมาลัยแล้ว ซึ่งด้านซ้ายของทางเข้าก็จะเป็นบริเวณที่อากาศจมตัว ความกดอากาศมีค่าสูงขึ้น และย่อมหมายถึงอากาศหนาวมีสิทธิ์ไหลเข้าหาบ้านเราได้ถนัดมากขึ้น 

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่น่าสนใจ คือ สิ่งที่เรียก แรงบิดของภูเขา หรือ Mountain Torque ซึ่งหมายถึง การที่ด้านทิศตะวันตก และตัวนออกของภูเขามีความดันต่างกันสามารถทำให้เกิด torque หรือ แรงบิดที่ส่งผลต่อการเร่งความเร็วหรือลดความเร็วของลมกรด

รูปบนคือ แรงบิดภูเขาเอเชียตะวันออกแบบติดลบ คือ ด้านตะวันตกของภูเขาความกดอากาศสูงกว่าด้านตะวันออกมากๆ ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิด แรงลาดความดันข้ามสิ่งขวาง (Cross-barrier pressure gradient force) ไปทิศทางเดียวกับการหมุนของโลก จึงทำให้ค่าโมเมนตัมเชิงมุมของโลกเพิ่มสูงขึ้น โลกหมุนเร็วขึ้นเล็กน้อย (สเกลประมาณ 10^-3 วินาที) แต่เนื่องจากโมเมนตัมรวมของระบบไม่สูญหาย โมเมนตัมของอากาศในชั้นบรรยากาศโดยรวมต้องลดลง ซึ่งก็หมายถึงความเร็วของลมกรดลดลง และหดตัวนั่นเอง


คาดว่าราววันที่ 8 จะมีแรงบิดภูเขาติดลบกำลังแรงพอใช้ได้ ซึ่งอีกราวอาทิตย์นึง หรือก็คือวันที่ 13 ก็จะส่งผลให้ลมกรดโดยรวมไหลช้าลง และหดตัวสั้นลงแถวกลางแปซิฟิก และเมื่อลมกรดมันหดสั้นลง โดยปกติก็จะเชิดขึ้นเหนือพร้อมการสะบัดด้วย ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่า ตั้งแต่วันที่ 13 เป็นต้นไป เราจึงจะมีสิทธิ์ที่จะไปออกฉากทัศน์ที่ 1 หรือก็คือลมหนาวที่จะไหลมาหาบ้านเราเต็มๆนั่นเอง 
พอหมดหลังจากนั้นจะค่อนข้างคาดการณ์ให้แม่นค่อนข้างลำบากแล้ว เพราะโมเดลพื้นฐานที่สุดอย่าง MJO ก็ยังไม่นิ่งและชัดเจนขนาดนั้นดูได้จากกราฟเฝส MJO ของค่าย GFS และ ECMWF ที่ให้ผลเฉลยไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว 

แต่อย่างน้อยๆเราก็มั่นใจได้ว่าครึ่งหลังของเดือนนี้ไปจนถึงปีใหม่ เฝส MJO น่าจะอยู่ในช่วงที่ดีที่สุดอย่างเฝส 6 และน้ำทะเลแถวญี่ปุ่นก็จะเย็นลงมากซึ่งก็จะช่วงดึงดูดให้ลมหนาวลงมาลึก และหาเราได้เรื่อยๆ ขอเพียงแค่ความกดอากาศสูงไซบีเรียสะสมตัวได้ 

ลมวนขั้วโลกปีนี้ก็ค่อนข้างแรงจัดเลยทีเดียว และคาดการณ์ว่าน่าจะแรงยังงี้ไปอย่างน้อยๆก็เลยช่วงขึ้นปีใหม่ไป เพราะงั้นไม่ต้องกลัวลมวนขั้วโลกแตก หรือยวบยาบแบบปีที่แล้วเท่าใดนัก และนั่นย่อมหมายถึงความกดอากาศสูงไซบีเรียมีโอกาสสูงที่จะสะสมตัวได้เรื่อยๆ ไม่ใช่หายไปดื้อๆแบบปีที่แล้ว 

สรุปความสั้นๆ
1. ครึ่งเดือนแรกเรา"อดเปรี้ยวไว้กินหวาน"ก่อน โดยการปล่อยให้ลมหนาวแผ่ยัดไปทางใต้เกาะญี่ปุ่นรัวๆจนทำให้ทะเลแถวนั้นเย็นตัวอย่างรวดเร็วซึ่งจะส่งผลให้แนวลมกรดจะเลื่อนลงใต้กว่าตอนนี้ และนั่นย่อมหมายถึงการแผ่ลงมาของอากาศหนาวที่จะมาได้ลึกเมื่อถึงช่วงที่เหมาะสม

2. เมื่อเข้าสู่ครึ่งหลังของเดือน เราจะเข้าสู่เฝสที่เป็นใจที่สุด ประกอบกับทะเลเริ่มเย็นตัวลงมาก จึงมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะมีความกดอากาศสูงที่ทำให้หนาวได้มาก และนอกจากนั้นยังมีสิทธิ์ลงมาได้หลายระลอกเรื่อยๆไปถึงอย่างน้อยๆก็ช่วงปีใหม่ ส่วนจะทำให้หนาวขนาดไหน หรือ ยาวได้แค่ไหน โปรดตรวจช่วงใกล้ๆจากโมเดลฯอากาศตามแอพมือถือเองได้เลยครับ
ตอนนี้ผมให้โอกาสว่าจะหนาวอย่างปี 2560 ที่มีลมหนาวมาแรง  2 รอบ ประมาณ 50-60% หนาวอย่าง 2563 ที่ไม่ถึงกับแรงมากแต่เรื่อยๆ 30% และโอกาสหนาวแบบมหัศจรรย์แบบปี 2556 ที่พอเข้าครึ่งเดือนหลังก็หนาวยาวๆไปเป็นเดือนกว่าๆเลย 10-20% 

คงต้องติดตามกันดูครับว่าจะเป็นแบบไหนครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่