เมนูอันตราย พาโซเดียมเข้าร่างกายจนเกินตัว!


เมนูอันตราย พาโซเดียมเข้าร่างกายจนเกินตัว!
 
         อย่างที่รู้กันดีว่าความเค็มเป็นสาเหตุสำคัญของโรคต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรังซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็อาจมีผลกระทบอื่นๆ ตามมาได้อีก เช่น โรคอัมพฤกษ์​ อัมพาต โรคหัวใจและหลอดเลือด หรืออาจร้ายแรงจนถึงขั้นไตวายและเสียชีวิตได้ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO จึงกำหนดให้มี World Salt Awareness Week เผื่อให้คนได้ตระหนักถึงพิษภัยที่แฝงมากับความเค็ม ซึ่งปีนี้อยู่ในระหว่างวันที่ 9 – 15 มีนาคม 2563 
         ในขณะที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรบริโภค***โซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน (เทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา หรือน้ำปลา 3 ช้อนชา) แต่คนไทยกลับบริโภคโซเดียมสูงเป็น 2 เท่าของปริมาณที่ร่างกายต้องการ เพราะติดอาหารรสชาติจัดจ้านจนเป็นนิสัย ทำให้ร่างกายรับปริมาณโซเดียมมากเกินไปโดยไม่รู้ตัว 
ลองมาดูกันนะครับว่ามีเมนูอาหารจานไหนบ้างที่ถูกจัดว่ามีปริมาณโซเดียมสูง เพื่อจะได้หลีกเลี่ยง เพราะถึงจะถูกปาก แต่ก็อาจจะสร้างความลำบากให้กับไตของเราได้ 
 
1.   เฟรนช์ฟรายและถั่วอบเกลือ นอกจากเฟรนช์ฟรายจะมีไขมันสูงจากน้ำมันในการทอดแล้ว เกลือที่โรยและซอสที่ใช้จิ้มก็ถือว่าเป็นอันตรายกับสุขภาพไม่น้อยไปกว่ากันเลย ส่วนถั่วอบเกลือก็ถือเป็นแหล่งโซเดียมชั้นดี เพราะคนส่วนใหญ่มักจะเพลินกับรสชาติจนไม่รู้ว่าร่างกายได้รับโซเดียมไปเท่าไรแล้ว ดังนั้น ทางที่ดี สำหรับคนที่ชอบกินถั่ว พี่หมอแนะนำให้กินถั่วอบแห้งแบบไม่ปรุงรสจะดีที่สุดนะครับ 
 
2.   ส้มตำปูปลาร้า เมนูสุดฮิตสำหรับสาวๆ แต่รู้มั้ยครับว่า เมนูนี้นี่แหละที่เป็นตัวการนำโซเดียมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างดีเลยทีเดียว เพราะทั้งปูเค็มและปลาร้าที่ผ่านการหมักเกลือ รวมถึงการปรุงรสด้วยน้ำปลาและผงชูรส ถ้ากินทุกวัน รับรองว่าไม่ช้าก็เร็ว ความดันและโรคไตถามหาแน่นอนครับ 
 
3.   ยำแซ่บ อีกหนึ่งเมนูยอดนิยมของคนไทย ที่การปรุงรสนั้นก็จะต้องประโคมใส่ทั้งน้ำปลาและผงชูรสลงไปอย่างเต็มที่เพื่อให้รสชาติถึงใจคนกิน นอกจากนี้ เมนูที่มักจะมาคู่กับน้ำยำแซ่บๆ ก็คือของหมักดอง เช่น ปูดอง กุ้งแช่น้ำปลา รวมถึงแหนมและไส้กรอก ซึ่งกรรมวิธีในการผลิตอาหารหมักดองและแปรรูปก็หนีไม่พ้นที่จะต้องมีเกลือเป็นส่วนผสม เรียกได้ว่า โซเดียมแน่นตั้งแต่วัตถุดิบหลักยันเครื่องปรุงกันเลยทีเดียว 
 
4.   สารพัดน้ำจิ้ม ไม่ว่าจะเป็นน้ำจิ้มปิ้งย่าง น้ำจิ้มสุกี้ น้ำจิ้มแจ่ว หรือน้ำจิ้มซีฟู้ด ต่างก็มีน้ำปลา เกลือ ผงปรุงรส และผงชูรสเป็นส่วนประกอบ เพื่อช่วยให้รสชาติกลมกล่อมยิ่งขึ้น ยิ่งถ้าเรากินน้ำจิ้มกับอาหารที่มีการปรุงรสอยู่แล้ว เช่น ลูกชิ้น ไก่ย่าง สุกี้ ก็หมายความว่าเรากำลังเพิ่มปริมาณเกลือให้กับร่างกายแบบไม่อั้นนั่นเองครับ 
 
5.   อาหารแปรรูป ของหมักดองและแช่อิ่ม ซึ่งถือเป็นการถนอมอาหารประเภทที่จำเป็นต้องใช้เกลือเป็นส่วนผสมหลัก ซึ่งถ้ากินมากไปหรือบ่อยไป ร่างกายก็จะได้รับโซเดียมเข้าไปสะสมเพิ่มมากขึ้น
 
6.   เล้งแซ่บ ซุปใสที่ดูเผินๆ เหมือนจะไม่มีอันตราย แต่รู้มั้ยครับว่า นอกจากน้ำปลาที่ใช้ในการปรุงรสแล้ว ในน้ำซุปยังอัดแน่นไปด้วยโซเดียมจากเครื่องปรุงรสต่างๆ ทั้งผงปรุงรส เกลือ ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว และผงชูรส เรียกได้ว่าระดมโซเดียมมาจากทุกแขนงเลยทีเดียว ซึ่งนอกจากเล้งแซ่บแล้ว อาหารอื่นๆ ที่มีน้ำซุปเป็นส่วนประกอบ เช่น ก๋วยเตี๋ยว สุกี้ หรือชาบูก็ถือเป็นอาหารที่มีโซเดียมสูงเช่นกันนะครับ T__T 
 
7.   เบเกอรี่ต่างๆ เช่น ขนมปัง เค้ก คุกกี้ โดนัท และพาย ไม่น่าเชื่อนะครับว่าขนมอบก็มีปริมาณโซเดียมสูงเช่นกัน เพราะผงฟูก็ถือเป็นโซเดียมในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่มีรสเค็ม ดังนั้น การกินขนมอบที่ใส่ผงฟู ก็เท่ากับการบริโภคโซเดียมเข้าไปโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง 
 
         อ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็อย่าเพิ่งนอยด์จนกินอะไรไม่ได้เลยนะครับ เพราะอาหารทุกอย่างย่อมมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าเรากินแต่พอดี ไม่กินทุกอย่างตามใจปาก พยายามควบคุมทั้งปริมาณและรสชาติไม่ให้มากหรือน้อยเกินไป ก็จะช่วยลดการบริโภคโซเดียมลงได้ หรืออาจจะลองเปลี่ยนมาทำอาหารกินเองโดยใช้เครื่องปรุงรสที่มีโซเดียมต่ำแทนก็เป็นทางออกที่ดีเหมือนกัน เพราะนอกจากจะเป็นการควบคุมรสชาติแล้ว ยังสะอาด ปลอดภัย ดีต่อใจ และไตก็ไม่ถูกตัดด้วยนะครับ 
 
         ดูแลสุขภาพกันด้วยนะครับ ด้วยความห่วงใยจากพี่หมอ 😘 😘 😘
 
         ***โซเดียมเป็นอีกหนึ่งเกลือแร่ที่ร่างกายต้องการ เพราะมีผลต่อการทำงานของเส้นประสาท กล้ามเนื้อและความดันโลหิต ซึ่งร่างกายจะได้รับโซเดียมผ่านทางอาหารในรูปของเกลือโซเดียมคลอไรด์ที่มีรสเค็ม เช่น กะปิ น้ำปลา รวมถึงโซเดียมที่ไม่มีรสเค็มอย่างผงชูรสและผงฟู
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 4

.....
ภาพ - การกินเกลือโซเดียมมากเกินไป เป็น สาเหตุการตายทั่วโลก = 2.5 ล้านคน/ปี
         จาก รายงานองค์การอนามัยโลก (WHO)

         เกลืออย่างเดียว ฆ่าคน
         = สงครามซีเรีย 7 ปี x 6 ครั้ง
         (สงครามซีเรียตาย = 511,000 ราย สถิติถึง มีนาคม 2018/2561)

จาก - https://www.who.int/mediacentre/infographic/salt-reduction/en/
จาก - https://www.hrw.org/world-report/2019/country-chapters/syria
.....

.....
ภาพ - ปริมาณเกลือโซเดียมในอาหาร 1 ช้อนชา (ช้อนกาแฟ)
.....
จาก - https://ckd.kku.ac.th/food
.....

.....
ตาราง - ปริมาณเกลือโซเดียมในอาหาร 1 ช้อนชา (ช้อนกาแฟ)

จาก - https://ckd.kku.ac.th/food
.....

หลักการทั่วไป ในการ ลดเกลือโซเดียม ได้แก่

(1). ถ้าซื้ออาหาร... อ่านฉลากอาหาร (food label)
      แต่ละมื้อ ไม่ควรกินเกลือโซเดียมเกิน 600 มิลลิกรัม

      3 มื้อ = 600 x 3 = 1,800 มิลลิกรัม
      เหลืออีก 200 มิลลิกรัม
      เก็บไว้เป็น ส่วนของอาหารว่าง ขนม

.....

(2). ฝึก ทำกับข้าวกินเองที่บ้าน
      อย่างน้อย 1 มื้อ/วัน
.....

(3). ชิม ก่อน ปรุง
      ฝึกกินอาหารนอกบ้าน แบบ ไม่เติม เครื่องปรุงที่มีเกลือ
.....

(4). ใช้ เครื่องปรุงในรูปของเหลว

      เครื่องปรุง ในรูปของเหลว
      มักจะมีเกลือน้อยกว่าในรูปของแข็ง

      ส่วนใหญ่ ถ้าใช้ไม่เกิน 1 ช้อนชา/มื้อ x 3 มื้อ
      มักจะ ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน
.....

(5). ใช้เครื่องเทศ เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด
      ช่วย ปรุงอาหาร เพื่อ ลดเกลือ
.....

(6). การลดเกลือ ครั้งละ 10%
      มักจะ ทำได้ง่าย และ ไม่เสียรสชาติ

     เมื่อครบ 21 วัน หรือ 3 สัปดาห์
     ประสาทรับรสที่ลิ้น จะไวขึ้น
     และ จะลดเค็มได้ มากขึ้นเรื่อยๆ
.....

(7). การไม่สูบบุหรี่ และ ไม่หายใจเอาควันบุหรี่มือสอง
      และ ไม่หายใจเอาฝุ่น PM2.5 ขนาดสูง เข้าไป

      เช่น ที่ห้างฉัตร ลำปาง
      เช้าวันที่ 13 มีนาคม 2563 = 320 (สามร้อย ยี่สิบ)

      จะ ช่วยให้ ประสาทรับกลิ่น ทำงานได้ดีขึ้น
      ความอร่อย ของอาหาร อยู่ที่กลิ่น มากกว่า รส
      
     เมื่อประสาทรับกลิ่นดี... จะช่วยให้ ท่านลดเค็มได้ง่ายขึ้น
.....

(8). ควรกินเกลือชนิดดี ที่ทำงาน ต้านฤทธิ์เกลือโซเดียม
      และ ป้องกัน ความดันเลือดสูง ได้แก่

      - เกลือผลไม้ (โพแทสเซียม) พบมากใน ผลไม้ทั้งผล ผัก ถั่ว เมล็ดพืช
      - เกลือแมกนีเซียม พบมากใน รำข้าว ข้าวกล้อง ถั่ว งา เมล็ดพืช
      - แคลเซียม พบมาก ใน งา เมล็ดพืช ถั่ว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์นม

     การศึกษาที่ผ่านมา พบว่า
     - ผลไม้ท้งผล (อย่าง พอดี) ลด เสี่ยงเบาหวาน
     - น้ำผลไม้ เพิ่ม เสี่ยงเบาหวาน

     จึง ควรเลือกกินผลไม้
     ไม่ ใช่ น้ำผลไม้
.....

(9). ควรลด อาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะ

      - เนื้อสำเร็จรูป เช่น ไส้อั่ว ไส้กรอก หมูยอ หมูหยอง หมูแผ่น
       เนื้อสำเร็จรูป มักจะมี ไขมันสัตว์ เกลือ ดินประสิว เจือปน
      
       อาหารรวมควัน หรือ ผสมดินประสิว (ไนเตรท) เพิ่มเสี่ยง มะเร็งกระเพาะอาหาร
       จาก - https://www.cancer.org/cancer/stomach-cancer/causes-risks-prevention/risk-factors.html

      - เบเกอรี่ มี เกลือ ที่มีความเค็มต่ำ
       กินมาก อาจ ทำให้ ได้เกลือมาก

      - อาหารดอง

       สถิติมะเร็งกระเพาะอาหาร มักจะสูงใน ประเทศที่กินอาหารดองมาก
       เช่น เกาหลีใต้ กิน กิมจิ
      
       เกลือโซเดียม ขนาดสูง เป็น สารเพิ่มความเสี่ยง มะเร็งกระเพาะอาหาร
       จาก - https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/stomach-cancer/symptoms-causes/syc-20352438
.....

ขอขอบคุณ
และ ขอให้ทุกๆ ท่าน มีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ...
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่