JJNY : พท.เตรียมถามปมราคาหน้ากาก/จี้ส.ส.เสียบบัตรรับผิด/เหยื่อจ.ส.อ.คลั่งพุ่ง27ศพ/คนไทยควักเงิน2.5พันล.ซื้อหน้ากาก-เจล

พท.เตรียมกระทู้ถามสดนายกฯปมราคาหน้ากากอนนามัย
https://www.innnews.co.th/politics/news_595164/
 

 
เพื่อไทย เตรียมกระทู้ถามสด "ประยุทธ์" กรณีราคาหน้ากากอนามัยหน่วยงานภาครัฐมีราคาไม่เท่ากัน
 
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช กรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่ราคาจำหน่ายของหน้ากากอนามัยของหน่วยงานภาครัฐไม่เท่ากัน โดยราคาของ องค์การเภสัชกรรม 1 บาท ทำเนียบรัฐบาล 2.50 บาท และร้านธงฟ้า กระทรวงพาณิชย์ 2.50 – 5 บาท ก่อให้เกิดกระแสความสงสัยขึ้นกับประชาชนคนไทย ว่าเหตุใดทำไมราคาหน้ากากอนามัยจึงแตกต่างกัน และเป็นการบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า การบริหารจัดการของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเรื่องนี้พรรคเพื่อไทย เตรียมตั้งกระทู้สดในการประชุมรัฐสภา โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะออกมาเป็นผู้ตอบคำถาม โดยตามหลักความเป็นจริงนั้นหน้าที่ของรัฐบาลคือต้องช่วยเหลือประชาชน หากมีการขายเอากำไรแบบนี้จะถือว่าฉวยโอกาสหาผลประโยชน์หรือไม่ ในขณะที่ทางพรรคเพื่อไทยเล็งเห็นความสำคัญของประชาชนเป็นหลักมาโดยตลอด ซึ่งหากทางพรรคเป็นรัฐบาลคงมีนโยบายเแจกหน้ากากอนามัยฟรี ตั้งแต่ปัญหาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เริ่มระบาดวันแรกแล้ว
 


จี้ส.ส.เสียบบัตรรับผิดปมโหวตงบฯใหม่
https://www.khaosod.co.th/hot-topics/news_3544300
 
จี้ส.ส.เสียบบัตรรับผิดปมโหวตงบฯใหม่

จี้ส.ส.เสียบบัตรรับผิดปมโหวตงบฯใหม่ - หมายเหตุ - จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ไม่เป็นโมฆะ แต่ให้โหวตใหม่ในวาระที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นปัญหามาจากส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเสียบบัตร แทนกันระหว่างการลงมติในสภาผู้แทนราษฎร นักวิชาการได้สะท้อนมุมมองต่อกรณีที่เกิดนี้และความรับผิดชอบของส.ส. ดังนี้
ยุทธพร อิสรชัย
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช
 
มติ 5 ต่อ 4 ถือว่าไม่เอกฉันท์ แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาแนวทางนี้ เท่ากับเป็นการวางบรรทัดฐานใหม่ ซึ่งต่างไปจากคำวินิจฉัยที่ 3 และ 4/2557 ดังนั้น เราต้องดูรายละเอียดในคำวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงนั้น มีความเหมือนความต่างกันอย่างไร ไม่เช่นนั้นจะเท่ากับว่าคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นไปตามแนววินิจฉัยเดิมใน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทนั่นเอง
 
จึงต้องดูในคำวินิจฉัยอย่างละเอียดอีกครั้งว่าแตกต่างกันหรือไม่จาก 2 คดีก่อน หรือมีการหยิบเอามุมมองอื่นๆ มาประกอบนอกจากมุมมองทางนิติศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่ถ้าตีความอย่างเคร่งครัด น่าจะเป็นโมฆะทั้งฉบับ เนื่องจากกระบวนการตราที่ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเขียนไว้ในมาตรา 148 ในรัฐธรรมนูญปี 2560
 
ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่ศาลอาจมีมุมมองกว้างขวาง เพียงแต่คำวินิจฉัยที่ไม่เป็นเอกฉันท์นี้ น่าสนใจในประเด็นของเสียงข้างน้อยว่ามีคำวินิจฉัยอย่างไร เราต้องรอดูคำวินิจฉัยส่วนบุคคลด้วย
 
การให้โหวตใหม่ในวาระ 2-3 คงไม่ส่งผลในเรื่องความล่าช้า เพราะสภาผู้แทนราษฎรสามารถทำได้ทันที ไม่ต้องตั้งกรรมาธิการเพื่อแปรญัตติใดๆ อีกแล้ว เพราะมีกรรมาธิการ งบฯแปรญัตติไว้แล้ว จึงเชื่อว่าใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ ทุกอย่างน่าจะเรียบร้อยและถูกส่งเข้าสู่วุฒิสภาต่อไป
 
ส่วนจะใช้เป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคตหรือไม่ เพราะกรณีกู้เงินในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ศาลมีมติให้เป็นโมฆะนั้น แน่นอนว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผูกพันทุกองค์กรให้ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ และในปัจจุบันคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรม นูญมีสภาพบังคับ ซึ่งต่างจากในอดีตที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรม นูญมีปัญหาข้อถกเถียงในเชิงกฎหมายว่าจะมีสภาพบังคับหรือไม่ แต่พ.ร.บ.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ชัดเจนว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีสภาพบังคับ เท่ากับว่าในกรณีใกล้เคียงกันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก็ต้องยึดแนวทางตามคำวินิจฉัยในครั้งนี้
 
ในเมื่อเรื่องนี้เป็นปัญหาจากส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ปมเสียบบัตรแทนกัน สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือต้องทำให้ ส.ส.เกิดความตระหนักในการเป็นตัวแทนของประชาชนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ส.ส.ต้องทำหน้าที่ด้วยตนเอง จะไปมอบหมายให้คนอื่นทำแทนนั้นไม่ได้
 
แน่นอนว่า ถ้าเรามองในเชิงสังคมวิทยาการเมือง จะเห็นว่าส.ส.อาจจะไม่ได้เห็นความสำคัญของงานสภา เนื่องจากส.ส.จะได้รับการเลือกตั้งหรือไม่ ในสภาพความเป็นจริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเขาไปประชุมสภาบ่อยครั้งแค่ไหนเพียงใด แต่ขึ้นอยู่กับส.ส. คนนั้น พบปะได้ง่ายหรือไม่ในพื้นที่ จะเป็นที่พึ่งพิงของคนในพื้นที่ได้หรือไม่ เข้าถึงได้ง่ายหรือไม่ ฉะนั้นส.ส. เลยให้ความสำคัญกับงานในการลงพื้นที่มาก กว่างานในส่วนของสภา
 
จึงบ่อยครั้งที่เราได้เห็นส.ส.ขาดประชุม และมีการฝากบัตรให้ทำแทน หรือแม้กระทั่งในเชิงอำนาจแฝง การทำงานในสภา ส.ส.มองว่า ถึงอย่างไรเขาต้องทำงานโดยทำตามคำสั่งของวิป หรือทำตามคำสั่งของแกนนำพรรค ตัวจะอยู่หรือไม่อยู่ก็ไม่ได้มีความสำคัญ หรือก็ไม่ได้มีสมรรถนะทางการเมือง
 
ดังนั้น การที่ฝากบัตรลงคะแนน จึงกลายเป็นวัฒนธรรมในสภา แต่ถ้าเมื่อไรเกิดเป็นเรื่องขึ้นมา ก็จะเกิดผลกระทบอย่างที่เราได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน หรือพ.ร.บ.งบฯ 63 ที่เกิดขึ้นทั้งสองกรณี
 
ในแง่การตรวจสอบเอาผิด ทั้งในส่วนของรัฐสภาเอง หรือกรณีฟ้องร้องที่เกิดขึ้นนั้น การตรวจสอบตรงนี้มีกฎหมายของป.ป.ช. และเป็นอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช.ที่สามารถหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาได้ เพียงแต่การใช้กลไกป.ป.ช.มันล่าช้าในการนำไปสู่การลงโทษ ในทางอาญาหรือการถอดถอนออกจากตำแหน่งต่างๆ แต่ยังมีกลไกเหล่านี้อยู่
 
ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรเอง ดำเนินการได้โดยผู้เสียหายคือ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไปแจ้งความในทางอาญา เพื่อเอาผิดกับผู้เสียบบัตรได้
 

ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
 
จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ยังคงบริหารจัดการและควบคุมองค์กรต่างๆ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ
 
กรณีการเสียบบัตรแทนกันเพื่อลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ของฝ่ายรัฐบาล ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งจากหลายๆ กรณีที่ทำให้สังคมต้องตั้งคำถามถึงมาตรฐานการพิจารณาคดี เพราะสิ่งที่ไม่ถูกต้องของรัฐบาลชุดนี้ ก็ยังกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องได้ ภายใต้การบริหารราชการของพล.อ.ประยุทธ์ กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ในหลายๆ กรณีหรือไม่
 
ที่ผ่านมาสาธารณชนตั้งคำถามถึงการบังคับใช้กฎหมายภายใต้รัฐบาลนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มีโอกาสอยู่ครบวาระ 4 ปี
 
คำวินิจฉัยในเรื่องนี้จะเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่อาจลดทอนความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ว่ายังมีมาตรฐานหรือไม่ มากน้อยเพียงใด สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงเสถียรภาพ การใช้อำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งไม่ต่างไปจากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของพล.อ.ประยุทธ์
 
หลังจากนี้เชื่อว่ากระบวนการพิจารณาทางกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายของไทย จะถูกตั้งคำถามมากยิ่งขึ้นว่ามีมาตรฐานหรือไม่ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมามากน้อยเพียงใด มีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มอำนาจใดอำนาจหนึ่งหรือไม่ ทั้งนี้ ผมมองว่าความเชื่อมั่นของประเทศได้ถูกทำลายลงมาตั้งแต่เกิดการรัฐประหารแล้ว และการบริหารจัดการ การบังคับใช้กฎหมายที่มีหลายมาตรฐานก็ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หรือแค่ในกรณีนี้กรณีเดียว
 
แต่กรณีนี้จะส่งผลกระทบในมุมมองจากนานาชาติต่อภาพลักษณ์ของประเทศ จะมีคำถามเกิดขึ้นว่าการบังคับใช้กฎหมายของ ไทยมีมาตรฐานมากน้อยแค่ไหน และแม้ว่า คำวินิจฉัยของตุลาการจะไม่เป็นเอกฉันท์ ผมมองว่าก็ไม่ได้สะท้อนอะไรเท่าที่ควร แต่กลับทำให้เห็นว่า ความหวังที่ประเทศจะกลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยนั้นยิ่งน้อยลง การตรวจสอบถ่วงดุลยังไม่มีประสิทธิภาพอย่างจริงจัง และจะนำไปสู่ปัญหาความไม่โปร่งใสและทุจริตคอร์รัปชั่นได้ในอนาคต
 
ในส่วนของ ส.ส.ซีกรัฐบาลที่เสียบบัตรแทนกันนั้น พวกท่านต้องแสดงความรับผิดชอบ จะเพิกเฉยต่อเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ เรื่องงบประมาณของประเทศเป็นเรื่องใหญ่ การพิจารณาก็เป็นหน้าที่ที่สำคัญของ ส.ส. การกระทำของพวกท่านชี้ให้เห็นถึงการขาดสามัญสำนึก ไร้จริยธรรมทางการเมือง ซึ่ง ส.ส.ในหลายๆ ประเทศยังแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก แม้จะไม่มีความผิดตามกฎหมาย แต่มันผิดจริยธรรมทางการเมือง
 

วิโรจน์ อาลี
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
 
มติเสียงข้างมากของศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า ร่างพ.ร.บ.งบฯ 63 ไม่เป็นโมฆะ แต่ให้โหวตใหม่วาระ 2-3 ซึ่งทำให้ตัวร่างพ.ร.บ.งบฯไม่ ด่างพร้อย แต่ต้องดูวิธีการที่จะชี้ว่าการกดบัตรแทนกันไม่ถูกต้อง และส่งผลกระทบต่อการพิจารณาใหม่ให้ไปนับใหม่ที่วาระ 2 และ 3 หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นการปลดล็อกทำให้งบประมาณถูกผลักดันนำออกมาใช้ เพราะขณะนี้ล่าช้าไปแล้ว
 
ศาลตัดสินแบบนี้ค่อนข้างจะเป็นคุณกับตัวรัฐบาลค่อนข้างเยอะ แต่ในทางกลับกัน โดยปกติกลไกทางรัฐสภา ธรรมเนียมประเพณีถ้าตัวกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทางการเงิน ไม่ว่าจะตกหรือไม่ตกไปด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ที่จริงแล้วตามหลักการต้องยุบสภาเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งแล้วเริ่มกระบวนการใหม่
 
เรื่องนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคตว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ไม่เป็นไร ก็นับกันใหม่ แม้จะเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้นให้กับรัฐบาล แต่จะสร้างบรรทัดฐานที่ทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น
 
ส่วนกรณีนี้ถูกนำไปเทียบเคียงกับกรณีร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ศาลมีมติให้เป็นโมฆะนั้น เราเห็นการทำงานแบบนี้มาตลอด เพราะเขาสามารถเทียบเคียงทางกฎหมายได้เสมอว่า ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แบบเดียวกัน ฉะนั้น ก็อ้างได้ว่ากรณีร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ตกไป ไม่ใช่เพราะเสียบบัตรแทนกัน แต่เผอิญเป็นเรื่องกระบวนการพิจารณาที่มีปัญหา แต่กรณีงบฯ 63 แค่ดูปัญหาทางเทคนิคว่ามีไม่กี่เสียงที่ทำให้เกิดปัญหา ฉะนั้นก็ให้นับใหม่ โหวตใหม่เป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อให้ตัวงบฯ นำมาใช้ได้ค่อนข้างเร็ว แต่ถ้าจะถามหามาตรฐาน ก็คิดว่าเขามีคำอธิบายที่จะตอบได้
 
ปัญหาจากส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเสียบบัตรแทนกัน ซึ่งเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดปัญหานี้ ส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นเพราะไม่มีความชัดเจนว่าบทลงโทษของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร การใช้อำนาจหนึ่งเสียงของส.ส. ก็คือใช้อำนาจแทนประชาชนซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อไม่ชอบแล้วก็จะมีปัญหา แต่โทษในทางกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ชัดเจน ยิ่งไปปรากฏในมาตรฐานจริยธรรม ยิ่งเป็นเรื่องที่ตัดสินด้วยดุลพินิจมากขึ้น
 
ผมคิดว่าเรื่องนี้ควรนำไปสู่การแก้กฎหมายหรือเพิ่มเติมกฎหมายในเรื่องบทบาทของส.ส. ในการใช้อำนาจอธิปไตยของตัวเองผ่านการโหวตเป็นเรื่องสำคัญ และถ้ามีการทุจริตควรมีโทษหนึ่ง สอง สาม ให้ชัดเจน ถึงจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้ การใช้แค่ประมวลจริยธรรมไม่มีประโยชน์ เพราะขึ้นอยู่กับดุลพินิจเท่านั้น
 
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากเกิดกรณีเสียบบัตรแทนกันเพื่อผ่านกฎหมายอื่นจะถูกวิจารณ์ และเรียกหาบรรทัดฐานของส.ส. รวมถึงการพิจารณา ของศาล
 
ผลจากเรื่องนี้ รัฐบาลจะเกิดแรงกดดันในลักษณะแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยอาจจะเป็นเรื่องอื่นๆ แต่คิดว่ารัฐบาลคงจะปรับตัวและรัดกุมมากขึ้นกับการโหวต อีกทั้งเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าการมีเสียงปริ่มน้ำค่อนข้างน่าห่วงและอาจเป็นปัญหา จึงต้องมีการตรวจสอบและมีระเบียบวินัยให้มากขึ้น และจะมีความพยายามมากขึ้นในการทำให้ปัญหาเสียงปริ่มน้ำหายไป โดยดึงดูดพรรคฝ่ายค้านมาร่วม
 
คำถามเรื่องของจริยธรรมจะเกิดขึ้น และการที่รัฐบาลนี้ทำอะไรดูเหมือนจะไม่ผิด อาจจะเป็นปัญหาและกลายเป็นแรงกดดันที่รัฐจะจัดการได้ยาก ซึ่งความกดดันทางสังคมจะเพิ่มมากขึ้นไปด้วย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่