🐳🐳มาลาริน/ไม่ผิดหวังที่รออยู่..คุณเปลวสีเงินกับคุณไพบูลย์มาแล้วค่ะ ดีต่อใจใช่เลย

ทำไมต้อง "กดบัตรแทนกัน"?



สมัยก่อน.........
                เรือสำเภา มีหินเป็น "ตัวอับเฉา" ถ่วงท้องเรือ กันเรือโคลง
                สมัยนี้......
                ประชาธิปไตยเลือกตั้ง มี ส.ส.เป็น "ตัวอับเฉา" ถ่วงประเทศ กันบ้านเมืองเจริญ!
                ตั้งแต่ตุลา.๖๒
                บ้านเมืองพัฒนาผ่านโครงการลงทุนอะไรไม่ได้ เพราะงบประมาณ ปี ๖๓ อยู่ในช่วง สะดุดขั้นตอนประชาธิปไตย
                นี่ก็ผ่านเข้ามามกรา.๖๓
                กว่าสภาผู้แทนราษฎรจะปล้ำผีลุก-ปลุกผีนั่ง พ.ร.บ.งบประมาณเสร็จ ผ่านวุฒิสภาตามขั้นตอนเสร็จ
                นึกว่า "งบผ่าน-โครงการเดิน-เงินมา" ซะที
                การลงทุน การจัดซื้อ-จัดจ้าง ผ่านโครงการลงทุนภาครัฐทั้งหลาย จะได้เป็นตัวฉุดกระชากลากระบบเศรษฐกิจที่ติดแหง็ก ให้เขยื้อนซะที
                ที่ไหนได้ พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันนั่นแหละ ด้วย "ภูมิใจไทยรำ-ประชาธิปัตย์ร้อง"
                ไอ้นั่น-อีนี่ "เสียบบัตรแทนกัน"
                งบประมาณแผ่นดิน "ไฟตัน-น้ำมันชอร์ต" ขึ้นมาทันที
                ถึงขั้นต้องหามส่งให้ "ศาลรัฐธรรมนูญ" วินิจฉัยด่วน
                เหตุจาก "จิตสำนึกคนเจริญไม่ถึงประชาธิปไตย" แต่อยากเป็นประชาธิปไตยอย่างตะวันตกเขาเป็นนั้น
                กรณี "เสียบบัตรแทนกัน" นี้ ผลก็จะมี ๒ สถาน
                ๑.แท้ง คือโมฆะทั้งฉบับ
                ๒.ไม่แท้ง ต้องกลับไปซ่อมบางมาตรา
                จะสถานไหน ก็ขึ้นอยู่กับวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ตามคำร้อง ตามเอกสาร-หลักฐาน
                และตามคำให้การของ ส.ส.ที่จะต้องเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองตอนสุดท้าย ซึ่งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นเข็มชี้
                สรุปแล้ว "ทั้งขึ้น-ทั้งล่อง" ไม่ว่าจะด้านไหน งบปี ๖๓ ที่ช้าอยู่แล้ว จะต้องช้าต่อไปอีก ๓-๔ เดือนแน่
                ภาษีที่เก็บๆ ไป ที่จะใช้จ่ายในปี ๖๓ ได้แค่เอาไปเลี้ยงระบบราชการ รวมทั้งพวก ส.ส.เท่านั้น
                แต่จะเอาไปลงทุนพัฒนาประเทศไม่ได้เลย จนกว่า พ.ร.บ.จะประกาศใช้ คร่าวๆ ก็โน่นแหละ ไม่หนีพฤษภา.
                แต่ไม่ต้องกลัว ในทางเทคนิคแก้ไขได้ การลงทุนตามโครงการต่างๆ ไม่สะดุดแน่
                แต่คำว่า "งบฯ ไม่ผ่าน" มันสร้างบรรยากาศลบต่อการลงทุนของภาคเอกชนทุกด้าน
                ไม่ต่างกับ "เงินไม่มา-กาไม่เป็น" สักเท่าไรนัก คือคนเรา เมื่อบรรยากาศไม่อำนวย
                คำว่า "ความเสี่ยง" มันจะเข้ามาแทนคำว่า "ความมั่นใจ"!
                แล้วจะโทษใคร........?
                ปล้นทอง ก็โทษประยุทธ์ ฝุ่นคลุ้ง ก็โทษประยุทธ์
                "ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน".........
                จะไม่โทษประยุทธ์ มันก็เสียห-มา "แดงอมส้ม-ส้มอดแดง" น่ะซี!
                โลกนี้ ไม่มีอะไรบังเอิญ อะไรจะเป็นไป มันก็ต้องเป็นไป ฉะนั้น อย่าไปเสียหัวกับมัน
                และไม่ต้อง "เถียง-ทะเลาะ-อวดรู้" ให้มากความกันไป พ.ร.บ.งบฯ จะแท้ง-ไม่แท้ง รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยดีที่สุด
                ระหว่างนี้ เรามาดูตามหลัก "ผลย่อมมาจากเหตุ" ดีกว่า ว่าทำไม ส.ส.จึง "หนังหนา" กันขนาดนี้?
                เพราะเรื่อง "เสียบบัตรแทนกัน" ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่เรื่องเหนือสำนึกพื้นฐานระดับคนใน "สถาบันนิติบัญญัติ"
                เคยมี ส.ส.ทำอย่างนี้ กฎหมายโมฆะไปแล้ว ถูกตัดสิทธิ์การเมืองไปแล้ว อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอาญา "โทษคุก" รออยู่แล้ว
                ส.ส.ทุกคน ไม่รู้-ก็ต้องรู้ ในกรณีนี้.........
                ฉะนั้น ต้องสำเหนียก สังวร ระวัง ที่จะไม่เสียบบัตรแทนกัน หรือกระทำในลักษณะโหวตแทนกัน
                แต่ทำไมยังเหมือนวัวควายที่ไม่ระคายปฏัก มันต้องมีสาเหตุ?
                ก็เลยไปศึกษาหาความรู้ ได้ข้อเท็จจริงอันเป็น "ส่วนหนึ่ง" ของเหตุ มาว่า
                ส.ส. ๕๐๐ ขณะนี้ อยู่ในลักษณะ "สัม-ภ-เวสี" คือพวกผีเร่ร่อน ไม่มีสถานที่สิงสู่เป็นหลักแหล่ง
                เพราะห้องประชุมในความเป็น "สภาผู้แทนราษฎร" ที่สัปปายะสภาสถาน เกียกกาย ยังไม่เสร็จ
                ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้..........
                อาศัยห้องประชุม "วุฒิสภา" เป็นที่ประชุมชั่วคราว!
                วุฒิสมาชิกหรือ ส.ว.มีเพียง ๒๕๐ คน
                ดังนั้น........
                "เครื่องลงคะแนน" จึงมีน้อยกว่าจำนวน ๕๐๐ ส.ส.ที่มาใช้ห้อง
                ผู้มาอาศัยใช้สถานที่ เท่ากับทุกคน "ไม่มีที่นั่งประจำ" สุดแต่ใครเลือกนั่งตรงไหน
                และเครื่องลงคะแนน ไม่ได้มีติดอยู่กับทุกที่นั่งเหมือนสภาเก่า
                ส.ส.มี ๕๐๐ คน เวลา "กดบัตร" จะแสดงตนก็ดี โหวตมติใดๆ ก็ดี ที่จะให้ "กดปุ๊บ-ติดปั๊บ" ในเวลาอันรวดเร็ว มันจึงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
                ก็คิดดู มีเครื่องกดบัตร ๓๐๐ เครื่อง แต่ ส.ส.ต้องใช้กดพร้อมๆ กัน ในเวลาเดียวกัน ๕๐๐ คน
                ในเวลาเป็นวินาที หรือไม่เกินนาที ที่ขานกันว่า "ครบครับ...เรียบร้อยครับ" ตามที่ได้ยิน
                ผมชักสงสัย การเช็กชื่อ-การโหวต ทุกครั้งที่ผ่านมาของ ส.ส.ที่สัปปายะสภาสถาน
                แน่หรือ ที่ไม่ "กดบัตรแทนกัน"!?
                ฝากเป็นคำถามทิ้งไว้ก่อน และเท่าที่ผมไปศึกษา ก็ยังได้ความเพิ่มเติมว่า ตามปกติ ที่สภาผู้แทนราษฎรเดิม ส.ส.จะมีบัตรคนละ ๒ ใบ
                ใบหนึ่ง ติดตัว อีกใบ เจ้าหน้าที่รัฐสภาเก็บไว้ เหมือนโรงแรม ถึงเราได้กุญแจห้อง แต่โรงแรมก็ต้องมีเก็บสำรอง
                แต่เมื่อย้ายมาสภาใหม่ ยังไม่มีห้องประชุมของตัวเอง ส.ส.แต่ละคนไม่มีที่นั่งประจำ
                ส.ส.จึงมี "บัตรใบเดียว"
                ผู้ใหญ่ในรัฐสภา ซึ่งไม่ใช่ ส.ส.บอกผมว่า ทางเจ้าหน้าที่รัฐสภาบอก......
                "แหย่บัตรคาไว้ได้ เลิกแล้วเขาจะมาเก็บเอง"!
                มาฟังที่ "นายสรศักดิ์ เพียรเวช" เลขาฯ สภา บอกว่าตรวจสอบสอบแล้ว เหตุเกิดขึ้นได้ใน ๓ กรณี
                ๑.บาง ส.ส.เสียบบัตรค้างไว้ มีคนมากดลงมติแทน
                ๒.บาง ส.ส.เบิกบัตรสำรองไปให้คนอื่นเสียบบัตรลงมติแทน ทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้เข้าร่วมการประชุม
                ๓.เสียบบัตรแทนกัน เนื่องจากเครื่องลงคะแนนไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบัน ส.ส.ใช้ห้องประชุมของ ส.ว. ซึ่งมีเครื่องลงคะแนนเพียง ๓๑๘ เครื่อง
                ไม่ครบตามจำนวน ส.ส. ๔๙๘ คนในปัจจุบัน
                ขาดไป ๑๘๐ เครื่อง ทำให้ ส.ส.ต้องใช้เครื่องในการลงคะแนนซ้ำกัน
                ก็เป็นข้อมูลต่างกัน ผู้ให้ข้อมูลผม บอกตอนนี้ มีบัตรใบเดียว แต่เลขาฯ สภาผู้แทนบอก "มีบัตรสำรอง"
                ส่วนประเด็น "เสียบคา" นายสรศักดิ์ไม่ได้บอกให้เคลียร์ว่า ทางเจ้าหน้าที่สภา บอกให้เสียบคาไว้ได้ ช่วง "ห้องประชุมยืมใช้" หรือฝ่าย ส.ส.เสียบคาไว้เอง
                "เสียบคา" นี่ ต้องอธิบายถึงเจตนาให้เคลียร์นะ เพราะมันมีผล "ถึงขั้นคุก"
                ยิ่งใครใช้กฎหมายแบบ "หัวลูกเต๋า" โดยไม่ไล่เรียงที่มา-ที่ไป ไม่คำนึงด้าน "เจตนา" เป็นฐาน จะอันตรายมาก
                เพราะมองตามเหตุผล อย่างกรณี "นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ" อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์
                แสดงหลักฐาน ส.ส.ภูมิใจไทย ตัวไม่อยู่ในที่ประชุม แต่มีชื่อโหวตมาตราต่างๆ ของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ด้วย "เสียบบัตรแทนกัน"
                อย่างนั้น ชัดเจน "กดบัตรแทนกัน" ด้วยเจตนาทุจริต
                แต่อย่างกรณี โทรทัศน์ช่อง ๗ ถ่ายตอน ส.ส.กดบัตร แล้วนำสรุปทันใด ว่าที่ "กดหลายใบ" คือทุจริต "กดบัตรแทนกัน"
                โดยยังไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเหมือนกรณีคุณนิพิฏฐ์นั้น
                อาจไม่เป็นธรรมกับ ส.ส.เขาก็ได้.........
                จนกว่าได้ตรวจสอบว่า ที่กดแทนกันนั้น กดแทนในลักษณะและด้วยเหตุผลใด?
                เพราะต้องคำนึงด้วยว่า........
                ๑.ส.ส.มีมากกว่าเครื่องลงคะแนน
                ๒.บางที่นั่งไม่มีเครื่อง ต้องลุกมากดตรงจุดที่มีเครื่องพร้อมกันหลายคน จึงให้คนเดียวกดแทน
                ๓.ต้องพิสูจน์ให้ชัดก่อนว่า เจ้าของบัตรมีตัวตนอยู่ที่นั้นด้วยหรือไม่
                คือเฉพาะคำว่า "กดแทนกัน" มันผิด ๑๐๐% อยู่แล้ว
                แต่เมื่อดูข้อเท็จจริง-ดูเจตนา เพียงกดแทนกัน ด้วยเหตุเพราะคนใช้มากกว่าเครื่อง และที่กดนั้น เจ้าของบัตร ตัวตนอยู่จริงในสถานที่ตรงนั้น
                ก็ "สุจริตในเจตนา" ผิดที่กระทำ คือ "กดบัตรแทนกัน" ซึ่งตรงนี้ วิญญูชนวินิจฉัยได้
                ถ้าเถรตรง ในกรณี "ห้องประชุมยืมใช้" ใครกดแทน ทุบโต๊ะ "ผิดหมด"
                ผมว่า ที่โหวตกันมาในสภาใหม่ อาจ "โมฆะ" หมดก็เป็นได้
                คิดดูทางเป็นจริงซี ส.ส.เกือบ ๕๐๐ คน พอประธานให้กดบัตรลงคะแนนปุ๊บ ไม่ถึง ๓๐ วินาทีมั้ง ผลออกมาแล้ว?
                มีเครื่อง ๓๑๘ เครื่อง คนใช้ร่วม ๕๐๐ คน
                มันเป็นไปได้ทางปฏิบัติจริงหรือ.......
                ที่ส่วนเกินเครื่องกดอีก "เกือบ ๒๐๐ คน" เข้าคิวกดต่อได้ทุกคน เบ็ดเสร็จไม่ถึง ๓๐ วิ. สูงสุดไม่เกิน ๑ นาที?
                กฎหมายน่ะ ต้องยึด แต่ถ้ายึด โดยไม่คำนึง "ข้อเท็จจริง" กฎหมายจะเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ      
                กรณีโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ส.ส.ฝ่ายค้านร่วม ๒๐๐ คน "งดออกเสียง" แสดงว่าเครื่องลงคะแนนว่างจำนวนมากก็จริง
                แต่การจัดผังที่นั่งแบ่งซีกค้าน-ซีกรัฐบาล และยังแบ่งสัดส่วนเป็นแต่ละพรรค
                นั่น...ถึงเครื่องลงคะแนนว่าง ใครก็ไม่รู้เครื่องตรงไหนว่าง จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่รัฐสภาต้องคำนึงและเคลียร์ให้ชัด
                สรุปทั้งหมด ถ้าเป็น ส.ส.ยังทุจริตตั้งแต่เรื่องกดบัตร
                แล้วจะมีให้รกบ้าน-รกเมืองไปทำไม?. 


https://www.thaipost.net/main/detail/55361



นอกจากนี้ นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า กรณีการเสียบบัตรแทนกัน เป็นเพียงคนส่วนน้อย และต้องให้ความเป็นธรรมกับเสียงส่วนใหญ่ ที่มุ่งมั่นทำหน้าที่ด้วยและการกดบัตรแทนกันนั้นแม้จะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ได้มีเสียงเพียงพอ ที่จะเปลี่ยนแปลงมติได้ แต่ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 คนส่วนใหญ่ได้พิจารณาร่วมกัน หากจะวินิจฉัยให้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ต้องตกไป ก็ถือว่าไม่เป็นธรรม กับ ส.ส.ส่วนใหญ่ ที่ร่วมพิจารณา

https://www.innnews.co.th/politics/news_582761/

อ่านแล้วก็ต้องบอกว่า  ท่านทั้งสองมีความเห็นตรงใจมาลารินที่คิดไว้เลยค่ะ

แหม...ไม่เสียทีที่ได้รอความเห็นของทั้งสองท่าน

ไม่ผิดหวังจริงๆ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่