JJNY : ภรป.ร่วมภาคปชช.เล็งตั้งกก.ศึกษาม.44/อ.รัฐศาสตร์เล่าอดีตครั้งเป็นพลทหาร/5Gเสี่ยงวืด ค่ายมือถือไม่การันตีเข้าประมูล

'ภรป.' ร่วมภาคปชช. เล็งตั้งกรรมการศึกษาผลกระทบม.44 เอง หลังกมธ.สภาฯ ล้ม
https://www.matichon.co.th/politics/news_1789756
 
 
กมธ.44-เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานคณะกรรมการบริหาร และเลขาธิการคณะกรรมการอำนวยการภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญ
ประชาธิปไตย  โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” แถลงการณ์ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย กรณีการล้มกรรมาธิการศึกษาผลกระทบมาตรา 44 พร้อมเตือนอำนาจนอกระบบ ระบุว่า 

“เนื่องด้วยสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากฝ่ายรัฐบาลปฏิเสธการเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 ซึ่งรวมไปถึงการศึกษาผลกระทบและหาแนวทางแก้ไขผลจากประกาศและคำสั่งคณะรัฐประหารคณะต่างๆ และศึกษาผลกระทบและความเหมาะสมของกฎหมายที่บัญญัติโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อหาแนวทางแก้ไขผลกระทบต่างๆ และเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากประกาศและคำสั่งต่างๆ ของ คสช.
 
ขอเตือนท่านสมาชิกรัฐสภาอย่าตกเป็นเครื่องมือของแผนอันแยบยลซับซ้อนของผู้ที่ต้องการสถาปนาระบอบอำนาจนิยมด้วยการทำลายภาพพจน์ของรัฐสภา และสร้างให้เกิดสถานการณ์ว่า “รัฐสภา” ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ เมื่อมีการสร้างสถานการณ์ต่างๆ และเงื่อนไขต่างๆ ไปถึงจุดหนึ่งก็จะมีการใช้อำนาจนอกระบบหรือการรัฐประหารมาระงับเหตุการณ์ที่ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยสร้างสถานการณ์ขึ้นมา
 
แล้วพวกเราประชาชนชาวไทยทั้งหลายก็จะไม่มีเวทีรัฐสภาที่มาจากประชาชนไปอีกนาน “ประชาธิปไตย” ก็จะถูกพรากไปจากประชาชนและ “ลูกหลาน” ของพวกเราทุกคน “สิทธิเสรีภาพ” จะถูกปิดกั้นคุกคามเฉกเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นหลายครั้งในอดีต รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ประชาธิปไตยเท่าไหร่นักจะถูกแทนที่ด้วยระบอบการปกครองแบบเผด็จการที่เป็นไปตามอำเภอใจของคณะรัฐประหาร ขอให้ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านดำเนินการต่างๆ ด้วยความรัดกุมรอบคอบเพื่อช่วยกันประคับประคองให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้เดินหน้าต่อไปด้วย
 
ประกาศและคำสั่งต่างๆ ตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช.นั้นไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม ไม่เป็นไปตามหลักแบ่งแยกอำนาจ การปรับแก้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย และหลักนิติรัฐนิติธรรม เป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงต้องแก้ไขและลบล้างผลพวงของรัฐประหาร สิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความสมานฉันท์ปรองดองในอนาคตภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วม
 
เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากฝ่ายรัฐบาล ไม่ทำหน้าที่และไม่ใช้เวทีของรัฐสภาในการศึกษาและเยียวยาผลกระทบอันเกิดจากประกาศและคำสั่งในสมัยเผด็จการรวมทั้งยกเลิกคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและสังคม ทางภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย จะได้ร่วมกับองค์กรประชาธิปไตยและองค์กรภาคประชาชนต่างๆ หารือเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบจากมาตรา 44 และรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอเป็นกฎหมายเยียวยาผลกระทบจากมาตรา 44 และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ
 
รวมทั้งลบล้างผลพวงของการรัฐประหารต่อไป การปกครองนั้นจะดำเนินไปไม่ได้ หากปราศจากความยุติธรรม กฎหมายหรือคำสั่งที่กำหนดด้วยอำนาจรัฐเผด็จการย่อมขาดความชอบธรรมในการบังคับใช้กับประชาชนเมื่อประเทศเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบการปกครองที่ประชาชนมีสิทธิมีเสียงเพิ่มขึ้น ประชาชนย่อมมีสิทธิในการฟ้องร้องคดีต่อศาลได้ในกรณีถูกอำนาจรัฐเผด็จการกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรมหรือจับดำเนินคดีโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม และการใช้อำนาจรัฐตามมาตรา 44 โดยไม่สมควรแก่เหตุสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนและภาคเอกชนต้องได้รับการแก้ไขตามวิถีทางแห่งกฎหมายตามมาตรฐานสากล
 
กฎหมายต่างๆ รวมทั้งรัฐธรรมนูญ คือ การแสดงออกถึงเจตจำนงของประชาชนในชาติผู้เป็นเจ้าของประเทศ กฎหมายต้องบังคับใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ทุกคนจะเคารพกฎหมายมากขึ้นเพราะสังคมปกครองโดยกฎหมายที่ทุกคนมีส่วนร่วม ความสันติสุขจักบังเกิด พร้อมความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของชาติ
 
ขณะนี้ ยังมีญัตติสำคัญที่ต้องพิจารณาในลำดับถัดไป คือ การขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งรวมไปถึงการศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในส่วนของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรผ่านประธานรัฐสภาให้จัดตั้ง “เวทีถกแถลงแห่งชาติเพื่อรัฐธรรมนูญของทุกคน” เพื่ออำนวยให้เกิดการแสดงออกอย่างเสรี เป็นธรรม และปลอดภัย
 
โดยเวทีนี้จะมีหน้าที่สำคัญคือ จัดการถกแถลงรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวางทุกจังหวัด และประมวลความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งรวมไปถึงความกังวล ความต้องการ และความคาดหวัง เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและสาธารณชนต่อไป จนบัดนี้ได้ล่วงเลยเวลามาตามสมควรแล้ว ทางภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยจึงขอทวงถามถึงความคืบหน้าในการจัดตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ” และข้อเสนอให้จัดตั้ง “เวทีถกแถลงแห่งชาติเพื่อรัฐธรรมนูญของทุกคน” และทางภาคีฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐสภาจะได้ตระหนักถึงการทำหน้าที่สำคัญดังกล่าวเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน
 
ทางภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสังคมไทยจะได้ร่วมกันสร้าง “รัฐธรรมนูญ” ฉบับใหม่ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสปิริตประชาธิปไตยของระบบการเมืองและระบบกฎหมายของไทย
 
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานคณะกรรมการบริหาร และเลขาธิการคณะกรรมการอำนวยการ
ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

https://www.facebook.com/ADC.AssociateforDemocraticConstitution/posts/128090605311397


อ.รัฐศาสตร์เล่าอดีตครั้งเป็น ‘พลทหาร’ ปูกระเบื้องบ้านนาย แนะทางออกปม ‘ทหารรับใช้’
https://www.matichon.co.th/politics/news_1790545
 
อ.รัฐศาสตร์เล่าอดีตครั้งเป็น ‘พลทหาร’ ปูกระเบื้องบ้านนาย แนะทางออกปม ‘ทหารรับใช้’

สืบเนื่องกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งอ้างเป็นบุตรสาวนายทหาร โพสต์ภาพและข้อความเชิงดูหมิ่นพลทหารที่ได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลืองานบ้านกระทั่งเกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ผศ.ดร. ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยกับ ‘มติชน’ ถึงประสบการณ์การสมัครเข้าเป็นทหาร โดยในช่วงหนึ่งได้เข้าไปช่วยเหลืองานบ้านนายทหารท่านหนึ่ง ซึ่งเพิ่งสร้างบ้านเสร็จ จึงต้องการคนไปปูกระเบื้องที่บ้าน ตนจึงอาสาเป็นลูกมือของทหารอีกรายที่เป็นช่างฝีมือปูกระเบื้อง

“นายทหารคนหนึ่งสร้างบ้าน จะปูกระเบื้องที่บ้าน เผอิญทหารที่กองร้อยผมเป็นช่างฝีมือปูกระเบื้อง นายทหารมาถามว่าใครอยากไปทำงานข้างนอกบ้าง คนที่ปูกระเบื้องเป็นเขาก็ต้องการคนไปเป็นลูกมือ ผมอยู่กองร้อยจนเบื่อแล้ว อยากไปเที่ยวบ้าง ก็ไปเป็นลูกมือให้เขา ปรากฏว่าตอนพักเที่ยง เขาเลี้ยงดูอาหารอย่างอลังการ เสร็จปุ๊บ ยังให้เงินกลับบ้านอีก จึงเป็นไปด้วยความสมัครใจและมีค่าตอบแทน ไม่ทำลายน้ำใจกัน แต่บางกรณีเอาทหารไปเลย ไปขุดหลุมทิ้งเศษอาหาร ค่าก๋วยเตี๋ยวสักชามก็ไม่ให้ นี่เป็นประสบการณ์ 2 แบบของผม

“ชีวิตพลทหารน่าสงสารมาก ตอนนั้นที่ผมสมัครเข้าไป อาจเป็นคนที่จบการศึกษาสูงสุด โดยใช้วุฒิปริญญาตรีสมัคร ไม่เคยบอกว่าตัวเองจบปริญญาโท จริงๆแล้วคนจบปริญญาตรี จบปวช.สมัครเป็นทหารเยอะไหม ก็เยอะ แต่ส่วนใหญ่เป็นลูกตาสีตาสา จบชั้นประถมศึกษา หรือเรียนไม่จบ เพื่อนผมเป็นวิศวกรนิวเคลียร์สมัครไปก็มี จบกฎหมายธรรมศาสตร์ก็มี เขาบอกว่าเรียนเงินหลวง เงินภาษีประชาชน อยากตอบแทนประเทศชาติ” ผศ.ดร. ฐิติวุฒิกล่าว

ผศ.ดร. ฐิติวุฒิ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้ต่อต้านการพาพลทหารออกไปทำงานข้างนอก เพราะพลทหารมีวันว่างคือเสาร์-อาทิตย์อยู่แล้ว แต่ต้องไม่เบียดเบียนกัน และควรมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม มีประโยคหนึ่งของจ่ากองร้อยที่กองทัพเรือท่านหนึ่งซึ่งตนชอบมาก คือการที่เป็นพลทหารในกองทัพ อย่างน้อยที่สุดผู้บังคับบัญชาหรือกองทัพ ต้องไม่กระทำการเบียดเบียนต่อพลทหาร การเรี่ยไรเงินของพลทหารคนละ 5 บาท 10 บาท ไปซื้อพัดลม เขาจะไม่ทำกัน

“ผมเคยเจอทั้งวัฒนธรรมที่ดีและไม่ดี ในระยะสั้น กองทัพต้องสร้างวัฒนธรรมที่ดีในการปฏิบัติต่อพลทหารก่อน ผมเคยเป็นทหาร 6 เดือนด้วยการสมัครเป็นนาวิกโยธิน เป็นทหารหน่วยรบ แม้เป็นอยู่แค่ 6 เดือนก็จริง แต่ระยะเวลาการฝึกนาน 4 เดือน ตอนนั้นฉี่เป็นเลือดทุกวัน เพราะฝึกหนัก และอุณหภูมิที่ร้อน ครูฝึกเป็นหน่วยรบพิเศษ สาเหตุที่สมัครใจไปเพราะอยากเรียนรู้ด้านความมั่นคง ตอนนั้นก็ทำให้ได้ประสบการณ์ แต่ตอนนี้พอมาเห็นสถานการณ์อย่างนี้ จึงนึกถึงอดีต ส่วนตัวคิดว่าระยะสั้นคือการสร้างวัฒนธรรมที่ดี คือสิ่งที่ทำได้ ส่วนระยะกลางต้องคุยกันเรื่องการปรับค่าตอบแทน เรื่องสวัสดิการ เป็นไปได้ไหมที่เราจะตอบแทนพลทหารเทียบเท่ากับทหารชั้นประทวน เพราะเป็นพลเมืองที่มารับใช้รัฐ เพราะฉะนั้น รัฐก็ต้องตอบแทนอย่างสมน้ำสมเนื้อ ปัจจุบันเรามีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาในเมื่อมาเป็นทหหาร อย่างน้อย 1-2 ปี แล้วหลังจากนั้นให้เขาได้เรียนฟรีในสถาบันการศึกษาของรัฐโดยไม่ต้องกู้ยืมได้หรือไม่ เมื่อปรับระบบสวัสดิการมาดีแล้ว ค่อยคุยกันว่าถึงเวลาหรือยังที่จะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร” ผศ.ดร. ฐิติวุฒิกล่าว

ผศ.ดร. ฐิติวุฒิ กล่าวว่า ถ้ามองในระยะสั้นว่าต้องยกเลิกการเกณฑ์ทหารตอนนี้ในทันที บางครั้งคนที่ทำงานด้านความมั่นคงอาจรู้สึกกระอักกระอ่วน ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้ การยกเลิกการเกณฑาหาร เป็นโจทย์ของทุกฝ่าย ทั้งกองทัพ รัฐบาล และนักการเมืองด้วย โดยต้องมองปัจจัยเรื่องงบประมาณว่าเพียงพอหรือไม่ การบริหารจัดการในกองทัพสามารถนำงบประมาณมาใช้ได้เท่าเทียมหรือไม่เมื่อมองเนื้องานในปัจจุบัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่