JJNY : 'ลอย ชุนพงษ์ทอง' ฉะรธน.ตรรกะวิบัติ พาชาติล่มฯ/"นิพิฏฐ์" ชี้ ภบท.5คือดาบสองคมฯ/แบน 3 สาร ส่งออกอาหาร 1 ล้านล.ป่วน

'ลอย ชุนพงษ์ทอง' ฉะรธน.ตรรกะวิบัติ พาชาติล่มจม ชี้เลือกตั้งครั้งหน้าวุ่นแน่ ถ้ายังไม่แก้
https://www.khaosod.co.th/politics/news_3051155


 
‘ลอย ชุนพงษ์ทอง’ ฉะรธน.ตรรกะวิบัติ พาชาติล่มจม ชี้เลือกตั้งครั้งหน้าวุ่นแน่ ถ้ายังไม่แก้
 
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ลอย ชุนพงษ์ทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอวิพากษ์รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ลงในช่องยูทูบ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. โดยระบุว่า ตรรกะวิบัติในรัฐธรรมนูญจะทำให้ประเทศชาติล่มจม ตนไม่สังกัดพรรคการเมืองใดทั้งสิ้น แต่พูดในมุมมองของนักวิชาการ และแสดงความเห็นด้วยความบริสุทธิ์ใจ
 
การทำประชามติ เมื่อเดือน ส.ค 2559 ของรัฐธรรมนูญ ปี 60 ใช้ภาษาที่ชาวบ้านอ่านไม่เข้าใจ ตนไม่เข้าใจว่าจะเขียนเพื่อให้ชาวบ้านอ่านไม่เข้าใจจะทำไปเพื่ออะไร แม้แต่นักกฎหมายก็ยังไม่เข้าใจตรงกัน คนที่เขียนบอกไม่มีหน้าที่ตีความ หมายความว่าเปิดช่องไว้ให้ตีความได้เกือบทุกมาตรา
 
ถ้าคุณเปิดบัญชีธนาคาร คุณจะมีเอกสารประมาณ 2 หน้า ที่ต้องอ่าน แต่ตาสีตาสาจะอ่านไหมกับการเปิดบัญชีออมทรัพย์ ถ้าทำเครดิตการ์ด จะมีเอกสาร 3 หน้าที่ต้องอ่าน ซึ่งเป็นภาษากฎหมาย แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มี 90 หน้า ถามว่าคนอ่านมีกี่คน
 
จำได้ว่า มีการเอาการเลือกตั้งเป็นตัวประกัน ถ้าไม่ยอมรับฉบับนี้ การเลือกตั้งก็เลื่อนออกไปอีก ชาวบ้านก็อยากเลือกตั้ง เขาอยากได้อำนาจของเขากลับคืนมา เขาก็เข้าใจแค่นั้น อยากให้มีการเลือกตั้ง แต่ดูเหมือนว่าหลายคนที่ไปลงประชามติจะโดนหลอก ไปลงประชามติปี 59 แต่จัดเลือกตั้งปี 62 ราว 3 ปีถัดมา
 
สำหรับคนที่อ่านรัฐธรรมนูญถี่ถ้วน หลายคนไม่พอใจ บอกว่าห่วยแตกที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย แล้วทำไมคนเหล่านั้นไม่ออกสื่อ เพราะมันมีบทเฉพาะกาลที่ห้ามการชี้แนะ เรียกว่า คนอย่างตนถ้าจะทำคลิปออกมาชี้แจงว่าแตกต่างอย่างไรจากฉบับก่อน ตนก็ทำไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย จะไปถามคนร่างรัฐธรรมนูญเขาก็ไม่อธิบาย แล้วแบบนี้เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ นอกจากนี้ มีผู้คนนับร้อยแสดงความคิดเห็น และพยายามแสดงการมีส่วนร่วม ในช่วงรัฐบาล คสช. ถูกดำเนินคดี โดยที่ประชาชนคนธรรมดาไม่มีโอกาสได้ร่วมร่าง
 
การร่างรัฐธรรมนูญตอนแรกที่ คสช. ตั้งประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) คือ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และลูกมืออีก 24 คน ขณะเดียวกัน คสช. ตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ 247 คน นำโดย นายเทียนฉาย กีระนันทน์ แต่เมื่อโหวตแล้ว มีคนไม่เห็นด้วย 135 คน คนที่เห็นด้วยมี 105 คน คนที่งดโหวตมี 7 คน สรุปเสียงข้างมากคือใช้ไม่ได้ ร่างนี้ก็ตกไป
 
หลังจากโหวตเสร็จแล้ว ปรากฏว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติ ก็หมดวาระ นี่หมายความว่า ที่ไปเป่านกหวีด ประท้วงกันแทบเป็นแทบตาย เพื่อให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ ก็ทำงานอะไรไม่ได้ เพราะหมดวาระ โหวตได้แค่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้ไม่ได้
 
ต่อมา คสช. ตั้งประธาน กรธ. คนใหม่ ไม่ใช่คนนอก แต่เอาหนึ่งใน คสช. ที่ทำหน้าที่เป็นทนายให้ คสช. คือนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ขณะนั้น อายุ 77 ปี แล้ว คสช. ก็แต่งตั้งคนเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญอีก 20 คน 
 
แต่ประธาน กรธ. คนนี้ เป็นคนร่างเอง ตรวจสอบเอง โดยไม่ต้องขอความเห็นจากคณะกรรมการอีกชุด แต่เอาแบบที่ คสช.อยากได้
 
ในความเห็นของตน คือคนร่างมีแค่คนเดียว คือ นายมีชัย แล้วคนตรวจสอบก็คือ คสช.เอง ออกมาทั้งหมด 279 มาตรา โดยมีคำถามแค่ข้อเดียว ประชาชนไม่มีสิทธิที่จะมาบอกว่า มาตราไหนใช้ได้หรือไม่ได้ ต้องโหวตแบบเหมาเข่ง แล้วมีประชาชนกี่คนที่อ่านทุกมาตรา คนที่อ่านภาษากฎหมายออกจะมาอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจก็ทำไม่ได้ เพราะหาว่าเป็นการชี้นำ แล้วให้ประชาชนตัดสินว่า จะรับหรือไม่รับ โดยมีการเลือกตั้งเป็นตัวประกัน ถ้าไม่รับการเลือกตั้งก็เลื่อนออกไป
 
“สิ่งที่ประหลาดมากในประเทศไทย คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยประชาชนเป็นสิ่งที่ยากมาก หรือแม้แต่จะเอาตัวแทนประชาชนไปแก้ก็ยากมาก แต่มันถูกแก้ได้โดยง่ายคือการทำรัฐประหาร ประชาชนจะขอแก้สักข้อมันยากเย็นแสนเข็ญ”
 
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องประหลาดเกิดขึ้นในประเทศไทยอีก คือ ส.ว. 250 คน โหวตเลือกนายกฯ โดยที่เสียงไม่แตกแยก ทุกคนเห็นเหมือนกันหมด ราวกับผลิตมาจากโรงงานเดียวกัน มันจะเป็นภาพที่งามไหมว่าทุกคนยกเหมือนกันหมดในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นเพราะความเห็นที่แตกต่าง แล้วจะต้องมาดีเบตกันว่าเหตุผลของใครดีกว่า ถ้าหาข้อสรุปเดียวกันไม่ได้ ถึงจะมาโหวต แล้วเวลาโหวตเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะเห็นเหมือนกันหมด โอกาสน้อยมาก
 
ปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎร มาจาก 26 พรรค สมัยหน้าอาจจะมี 100 กว่าพรรค ถ้ายังใช้สูตรคำนวณที่พิสดารแบบนี้ มันเป็นเรื่องเศร้าที่วุฒิสภามาจากการกำหนดโดย คสช.ทั้งหมด แล้วมีหน้าที่ 2 อย่าง คือ 
1.สืบทอดอำนาจ ให้สิทธิเลือกนายก 2 สมัย 
และ 2.เป็นการ์ดป้องกันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้แต่ข้อเดียวก็ไม่ได้ แต่ไม่เป็นบอดี้การ์ด ถ้ามีการฉีกรัฐธรรมนูญ โดยการรัฐประการ ส.ว. เหล่านี้คงไม่สามารถปกป้องรัฐธรรมนูญได้
 
สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดมาจากสมมติฐาน 6 ข้อ คือ 
1.ประชาชนมีทั้งดีและไม่ดี เก่งและไม่เก่ง 
2.ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่าง กลัวคนดีไม่อยู่ในอำนาจ 
3.หัวหน้า คสช. เป็นคนดี และเก่ง ทำอะไรก็ไม่ผิด จึงมีมาตรา 44 
4.คสช. สนช. เป็นศูนย์รวมคนเก่งและดี นำประเทศเจริญก้าวหน้า 
5.รับรองประกาศ และคำสั่งของ คสช. แม้จำเป็นต้องละเมิดสิทธิมนุษยชน 
และ 6.ส.ว.ทั้งหมดต้องเป็นคนดี ซึ่งจะได้มา ต้องเลือกโดยคนดีเท่านั้น
 
เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร รัฐบาลประกอบด้วย 19 พรรค ไม่เคยเจอมาก่อน ไหนว่าจะสร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง แต่ ส.ส. สามารถย้ายพรรคได้ โดยไม่มีบทลงโทษ โหวตค้านพรรคตัวเองได้ แล้วย้ายเลย ภายใน 30 วัน ไหนว่า เป็นรัฐธรรมนูญเน้นพรรคการเมือง ไม่เน้นบุคคล แต่ปล่อยให้ทำแบบนี้ได้อย่างไร
 
สำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91-94 พูดถึงการคำนวณ ส.ส. การเลือกตั้ง สมควรไหมที่จะแก้ไข โดยเฉพาะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)  มาตรา 128-131 ซึ่งคนเขียนภูมิใจนักหนา ถ้าตนเป็นคนเขียน ต้องเอาปี๊บมาคลุมหัว ไม่ควรจะมาภูมิใจว่าเป็นคนเขียน แล้วที่เลวร้ายที่สุดคือ สูตรที่ กกต. เลือกใช้ ทั้งที่นักวิชาการหลายคนเตือนแล้วเตือนอีกว่า สร้างความไม่เป็นธรรม สร้างความโกลาหล แม้แต่นักเรียนยังรับไม่ได้ ที่แย่ที่สุดคือ หน่วยงานที่เอาสูตรมาใช้
 
ในส่วนของกฎหมายแม่ ที่แก้ไขจากการกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มาเป็นใบเดียว แม้จะมีโอเวอร์แฮงค์ก็คำนวณออกมาได้ การกาใบเดียวไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แม้ว่าการกา 2 ใบเป็นเรื่องดีกว่า ในฐานะประชาชน หากชอบ ส.ส.เขตพรรคนี้ เพราะอยู่มานาน ดูแลพื้นที่ดีกว่า แต่ไม่ชอบพรรค เพราะเราชอบอีกพรรคหนึ่ง ที่มีความคิด มีนโยบายระดับประเทศดีกว่า เราก็อยากเลือกเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันทำไม่ได้ มีใบเดียว เหมาเข่งมา เลือกได้อย่างเดียว ไม่มีสิทธิ์แยก
 
ส่วน พ.ร.ป. มีรอยรั่วเต็มไปหมด นึกไม่ออกว่า คนเขียนเป็นมืออาชีพทางกฎหมายได้อย่างไร แล้วสุดท้าย กกต. ดูเหมือนเป็นคนดีกันทุกคน แต่ไม่เอาสูตรคณิตศาสตร์ที่ถูกต้องไปใช้ พรรค 4 แสนคน ได้ ส.ส.มา 5 คน ไม่คิดหรือว่าครั้งหน้าเขาจะแตกเป็น 10 พรรค ถ้ายังใช้ตรรกกะแบนี้ เขาแตกเป็น 10 พรรคแล้วได้ ส.ส. 10 คน ไม่ดีกว่าหรือ
 
ทำนายได้เลยว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีพรรคการเมืองหลายร้อยพรรคมาลงสมัครรับเลือกตั้ง ถ้ายังใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ วิธีการคำนวณแบบนี้ และวิธีคิดของ กกต. แบบเดิม เราอาจจะเห็นพรรคการเมืองหลายร้อยพรรคเข้าไปในสภาฯ นี่หรือคือสิ่งที่เราอยากได้ เป็นการสร้างสเถียรภาพให้กับประเทศ สร้างความเข้มแข็งของพรรคการเมืองจริงหรือ
 
“สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเริ่มจากวิธีที่จะแก้ แต่ตอนนี้คือมืดมน เพราะถูกล็อกเอาไว้ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของ ส.ว. ถึง 1 ใน 3 แล้ว ส.ว.เหล่านี้ถูกเลือกมา เพื่อเป็นบอดี้การ์ดไม่ให้ใครแก้รัฐธรรมนูญโดยผ่านสภา ผมมีความเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องแก้ แก้ช้าหรือเร็วก็ต้องแก้ เพราะสมมติฐานที่มากับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันมาจากตรรกะวิบัติ“
 
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

 
"นิพิฏฐ์" ชี้ ภบท.5คือดาบสองคม ไม่ใช่หลักฐานครอบครอง แถมใช้มัดเป็นหลักฐานรุกที่รัฐ
https://www.matichon.co.th/politics/news_1751299
 
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวแสดงความเห็นกรณี ปัญหาภบท.5 กับการอ้างอิงการครอบครองที่ดิน หลังมีข่าวการกล่าวหา นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี ครอบครองที่ดิน 1.7 พันไร้ โดยเป็นที่รุกป่าสงวน ขณะที่ นางสาวปารีณา ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า มีที่ดินดังกล่าวจริง แต่เป็นการครอบครองใช้ประโยชน์มานาน โดยมี ภบท.5 เป็นหลักฐานนั้น
 
นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า “ภบท.5 เหมือนดาบ 2 คม เวลามีการบุกรุกที่ดินของรัฐ จะมีการพูดถึง ภบท.5 กันเยอะ ผู้บุกรุกจะอ้างว่าตนเองครอบครองอยู่และเสียภาษีถูกต้อง มีใบ ภบท.5 มาแสดงเรียบร้อย 

เมื่อก่อนผมทำคดีพวกนี้มาเยอะจะได้ยินชาวบ้านสู้คดีเรื่องที่ดินแล้วนำใบภบท.5มาแสดงกันบ่อย ใบภบท.5 คือ ใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ ไม่ได้เป็นหลักฐานว่า ผู้ครอบครองมีสิทธิครอบครองโดยชอบอะไรหรอก มันเป็นหลักฐานมัดตัวผู้ครอบครองเสียด้วยซ้ำหากรัฐต้องการพิสูจน์ว่าใครเป็นผู้บุกรุกที่ดิน

ถ้างั้น ผู้บุกรุกไปแจ้งทำไม ที่เขาไปแจ้งก็เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าตนเองครอบครองที่ดินนั้น เพราะตามกฎหมายแล้วในระหว่างชาวบ้านด้วยกัน ใบ ภบท.5 สามารถยืนยันได้ใครมีสิทธิดีกว่ากันเท่านั้นเอง แต่จะนำมายันรัฐว่าตนเองมีสิทธิเหนือรัฐไม่ได้

ปัญหาว่า แล้วทางราชการรับเสียภาษีได้อย่างไรหากเป็นที่ดินของรัฐ ก็ตอบได้ง่ายๆว่า เรื่องภาษีนี้ใครไปเสียรัฐก็รับไว้ทั้งนั้นแหละครับ อยากเสียก็เสียไป (ต่อมาทราบว่าตั้งแต่ปี 2551 รัฐไม่รับเสียภาษีใบภบท.5แล้ว) ใครมีใบภบท.5 ไว้ ก็ใช้ได้เพียงหากที่ดินนั้นต่อมารัฐ อนุญาตให้เข้าครอบครองได้ ผู้เสียภาษีก็อ้างได้ว่าตนเองมีสิทธิดีกว่าชาวบ้านทั่วไปเพราะครอบครองอยู่โดยมีใบเสียภาษี(ภบท.5)มาแสดง ก็อาจได้ที่ดินนั้นไป แต่เขาไม่ให้ครอบครองเยอะๆ นะครับ”
 
“สำหรับที่ดินที่ประกาศเป็นเขต สปก.หากมีใบภบท.5 อยู่ เขาก็ไม่ให้ครอบครองเยอะๆ เป็น 1,000 ไร่หรอกครับ อย่างดีก็ 50 ไร่ หรือ ไม่เกิน 100 ไร่สำหรับการทำปศุสัตว์ขนาดใหญ่ ใครมีใบ ภบท.5 อยู่ในมือ จึงอาจถือได้ว่าเป็นดาบ 2 คมได้เหมือนกัน คือถือว่าบุกรุกที่ดินรัฐอยู่โดยไม่อาจปฏิเสธได้ และภบท.5 นั่นแหละจะมาบาดคอตัวเองได้สักวันหนึ่ง ที่ดินรัฐนี่ศักดิ์สิทธิ์นะครับ ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่