เจอดีที่ศิริราช (III): ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำส่วนลึก (DVT) หากปล่อยไว้ ไม่รักษา เสี่ยงเสียชีวิตเฉียบพลัน

สวัสดีทุกท่านค่ะ,

มาอีกแล้ว กระทู้อวยโรงพยาบาล 555+
ไม่ใช่ก็เหมือนใช่เพราะมาเป็นรอบที่ 3 ละนะคะ
ตอนที่ตั้งกระทู้แรกก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องรักษาหลายโรคในรอบเดียว คิดแค่ว่าคงต้องพักรักษาตัว รวมถึงพักฟื้นค่อนข้างนาน 
แต่คงไม่เปลี่ยนชื่อหัวข้อกระทู้นะคะ อยากให้ทราบว่ามันเป็นการเจ็บป่วยที่มาในเซตเดียวกันและมีการรักษาที่เกี่ยวเนื่องกัน
ถ้าเป็นโรคเดียว รักษาแล้วหายเลย นั่นคือดี
แต่ถ้าบังเอิญ มันเป็นโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่องหรือมีเหตุให้บังเกิดโรคอื่นๆ ตามมา ก็อยากให้รู้ว่า เราคือเพื่อนกันค่ะ 555+  

***หมายเหตุ: 
     1. ปัจจุบันเจ้าของกระทู้หายแล้วนะคะ สุขภาพกลับมาแข็งแรงและใช้ชีวิตปกติแล้ว
         เนื้อหาที่เขียนในแต่ละกระทู้ เป็นการเล่าย้อนหลังไปประมาณ 3-4 เดือนหลังเหตุการณ์จริงค่ะ
     2. รูปประกอบที่ทำใส่ไว้ในกระทู้ ตั้งใจทำไว้ให้เบรคสายตานะคะ เพราะบางคนอาจจะตาลายเวลาอ่านตัวหนังสือติดกันยาวๆ
         เนื้อหา 10% ในรูปอิงจากเหตุการณ์จริง ส่วนอีก 90% คือมโนแจ่มของคนทำ (ก็เจ้าของกระทู้นี่แหละ 555+)
         ดังนั้น อย่าไปเน้นความสมจริง และไม่อิงไม่นำไปสู่ดราม่าใดๆ นะคะ

เหตุผลหลักที่แยกโรคนี้ออกมาอีกกระทู้นึงโดยจำเพาะ ก็เพราะเจ้าของกระทู้ได้เรียนรู้จากเคสการรักษาของตัวเอง 
และเห็นว่าเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้นั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันแบบซ้ำๆ บางอย่างก็ได้
ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเพราะเพิ่งผ่านการผ่าตัดใหญ่ เช่น การนั่ง นอน หรือยืนในอิริยาบถเดิมนานๆ และทำซ้ำๆ เป็นประจำ เป็นต้น
และหากปล่อยไว้ รักษาไม่ทัน ก็อาจนำไปสู่การเสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้ง่ายๆ ค่ะ ไม่ใช่โรคขำๆ เลย
แปะรูปขาจริงๆ ไว้ก่อน
 
 
ถ้าใครอยากทราบที่มาที่ไปของกระทู้นี้ และมีเวลาเยอะ สามารถไปอ่านย้อนหลังก่อนได้นะคะ
กระทู้ 1: https://ppantip.com/topic/38907169
กระทู้ 2: https://ppantip.com/topic/39139064

หรือถ้ามีเวลาน้อย อ่ะ...สรุปให้ด้านล่างเลยค่ะ



พอกลับถึงไทย เจ้าของกระทู้ก็ติดต่อขอเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช
ด้วยจุดประสงค์หลัก 2 ประการคือ เพื่อผ่าตัดไหล่ และผ่าตัดเนื้องอกในสมอง
ก่อนผ่าก็แอบคิดนะ ว่าแต้มบุญเรายังเหลือมากพอจะ cover การผ่าตัดทั้ง 2 ครั้งให้เป็นไปได้ด้วยดีมั๊ยน๊อ?
เพราะจากเหตุการณ์ที่เล่าให้ฟังข้างต้น จะเห็นว่าช่วงนี้มีการดึงโควต้าบุญมาใช้ถี่เหลือเกิน event ใหญ่ๆ ทั้งนั้นเลยด้วย
และแล้ว...ในที่สุด การผ่าตัดทั้ง 2 ครั้งก็ผ่านไปได้ด้วยดี เพราะคุณหมอเก่ง 555+

ความเดิมตอนที่แล้ว


เนื้อหาที่จะเล่าให้ฟังในกระทู้นี้ เป็นอาการที่ตรวจพบหลังการผ่าตัดเนื้องอกในสมองประมาณ 15 วัน 
ชื่อของโรคนี้คือ Deep Vein Thrombosis หรือเรียกสั้นๆ ว่า DVT 
เป็นภาวะของการที่ร่างกายมีลิ่มเลือดจำนวนมากเกิดขึ้นในระบบไหลเวียนของหลอดเลือดดำส่วนลึก 
ซึ่งมีผลทำให้ระบบของเลือดในหลอดเลือดดำไหลเวียนไม่สะดวก เกิดการอุดตัน และหากปล่อยไว้ไม่รักษา ขาจะปวดและเน่า 
รวมถึงลิ่มเลือดที่ไหลเวียนอยู่ในระบบกระแสเลือดอาจไหลเข้าไปอุดตันที่ปอด ทำให้หายใจติดขัดและเสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้
ว่าแล้วก็ ม่ะ...เล่าเลยดีกว่า

-----


นั่งๆ นอนๆ รออยู่บนเตียงสักพักคุณหมอบรรพตก็เดินมาตรวจอาการ 
แล้วก็สันนิษฐานว่าน่าจะมีภาวะ Deep Vein Thrombosis (DVT) ซึ่งก็คือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่เส้นเลือดดำส่วนลึก นั่นเองงงง (คือร๊ะ?)
หลังจากนั้นคุณหมอก็ส่งต่อเคสของเจ้าของกระทู้ไปที่แผนกสาขาศัลยศาสตร์หลอดเลือด 
ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน เพื่อการตรวจวินิจฉัยเฉพาะโรค
ก็มีเจ้าหน้าที่แพทย์  Vascular มาสอบถามอาการเกี่ยวกับอาการปวดและตรวจขาอีกรอบ 
จับๆ จิ้มๆ แล้วก็วัดขนาดรอบขาบริเวณน่องทั้ง 2 ข้างเพื่อเทียบขนาดกัน ว่าข้างที่บวม มันบวมมากขนาดไหน 
แล้วก็เก็บตัวอย่างเลือดไปหนึ่งหลอดใหญ่ๆ (อีกละ 555+)
...รอสักพัก ก็ถูกส่งไปอีกแผนกนึงค่ะ
นั่นก็คือหน่วยตรวจรักษาด้วยเครื่องมือพิเศษ สยามินทร์ 101 ส่วนศัลยกรรมหลอดเลือด (เจ้าหน้าที่พยาบาลห้องนี้ใจดีทุกคนเลย)
เพื่อตรวจอาการแบบอัลตราซาวด์อย่างละเอียดอีกรอบ โดยคุณหมอทิวาสแกนดูตั้งแต่บริเวณขาหนีบลงมาถึงช่วงน่องขาทั้งสองข้าง
ซึ่ง ผลที่ออกมาก็ชัดเจนว่ามีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึกจริงๆ แต่เป็นแค่ขาข้างซ้าย ขาข้างขวาปกติดี



พอมารู้อาการที่ตัวเองเป็นในภายหลังแบบนี้ ถึงได้คิดย้อนไปในตอนแรก 
ว่าเจ้าหน้าที่พยาบาลท่านนั้นคงจะสันนิษฐานอาการบางอย่างอยู่ในใจแหละ จึงยืนยันให้นอนเตียงเปลแทนที่จะให้นั่งรถเข็น 
เพราะอาการของภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำส่วนลึกอุดตัน หรือเรียกสั้นๆ ว่า DVT ที่เจ้าของกระทู้เป็นเนี่ย 
ในระยะแรกคือห้ามห้อยขาข้างที่มีปัญหาในแนวดิ่ง ควรนอนยกขาข้างที่ปวดไว้สูงกว่าระดับหัวใจ 
หรืออย่างน้อยก็ควรวางเท้าในแนบราบ เพราะถ้าวางเท้าในแนวดิ่ง เลือดจะไหลไปคั่งอยู่บริเวณขาข้างที่มีปัญหาอยู่ 
และจะทำให้ปวดและบวมขึ้นๆ จากการที่มีเลือดคั่ง เพราะหลอดเลือดดำมันตันอยู่ไง 
เลือดมันไหลไปตามแนวขาลงไปบริเวณเท้าของเราได้แต่ไหลกลับขึ้นมาได้แบบติดๆ ขัดๆ เลือดก็เลยไปออรวมกันที่ขาข้างซ้าย 
ภาวะนี้คืออาการที่เจ้าของกระทู้กำลังเจออยู่ และถ้ามีลิ่มเลือดไหลหลุดเข้าไปที่ปอดได้ ก็จะทำให้หายใจขัด 
หมดสติเฉียบพลันและอาจเสียชีวิตในทันทีได้เลยค่ะ ไม่ใช่โรคขำๆ เลยนะเนี่ย 

แบบว่า...ต้องขอบคุณย้อนหลังเลยค่ะ 

ถ้าเป็นคนอื่น อาจจะเห็นว่าเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย นั่งรอหมอแป็บๆ ไม่ต้องอะไรมากและเลือกที่จะเพิกเฉยไป 
เพราะคนไข้แบบเจ้าของกระทู้ก็แอบเรื่องมาก 555+ 
แต่เจ้าหน้าที่พยาบาลท่านนี้เลือกที่จะใส่ใจและอธิบายอย่างใจเย็น มีความละเอียดรอบคอบ จนคนไข้ต้องคลิก Like ให้เลยค่ะ 
เอาจริงๆ เจ้าของกระทู้ก็เพิ่งรู้จักโรคนี้อ่ะนะ
คุณหมอบรรพตบอกว่า โรคนี้คนไทยไม่ค่อยเป็นกัน 
เข้าใจว่าหมอคงพยายามบอกอ้อมๆ ว่าเราโชคดี ซึ่งได้ผล
เพราะหลังจากที่ได้ยินแบบนั้น เจ้าของกระทู้ก็รู้สึกปริ่มกับความเป็น rare item ของตัวเองอยู่พอสมควร 555+ (ดีใจทำไมก็ไม่รู้นะ)
 
เมื่อผลการตรวจด้วยเครื่องมืออย่างละเอียดยืนยันชัดเจนขนาดนี้ ก็ไม่ต้องส่งต่อไปแผนกไหนอีกแล้วค่ะ ปักหลักที่สถานีนี้เลย 
เจ้าหน้าที่ก็ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ สิ่งที่ต้องระวังต่างๆ การสังเกตความผิดปกติของร่างกายในช่วงนี้ด้วยตัวเอง แล้วก็ยาที่จำเป็นต้องใช้ 
ซึ่งจะมีทั้งยากินแบบเม็ด และยาฉีดแบบไซริงค์พร้อมฉีด (เป็นหลอดฉีดยาที่มีเข็มจริงๆ และปริมาณยาพร้อมฉีดแบบใช้แล้วทิ้ง) 
ซึ่งจะต้องฉีดทุกวันค่ะ 
วันละ 2 เข็ม เช้า-เย็น จุดยุทธศาสตร์เพื่อการนี้คือบริเวณรอบสะดือ ก็ฉีดวนไปค่ะ กำหนดไว้ที่ 3 เดือนก่อนในระยะแรก 
ถามว่า...สุขภาพสะดือของเจ้าของกระทู้เป็นอย่างไรบ้างในตอนนี้? 
ตอบ...เขียวช้ำเป็นวงๆ เหมือนมีวงแหวนแซทเทอร์นเป็นของตัวเอง 555+




 
สรุปว่า...สัปดาห์ที่ 5 ของการให้ยา ต้องฉีดยาวนไปวันละ 2 เข็ม กับยากินแบบเม็ด งื้อ..อ...อ
ฉีดยาวนเป็นวงจนเขียวระบมไปทั้งสะดือแล้วอ่ะ
แค่พูดก็เจ็บเลย…


DVT สัปดาห์ที่ 5 มาเจาะเลือด ได้ค่า INR 2.56 คุณหมอนัฐวุฒิเลยให้หยุดยาฉีด เหลือแค่ยาเม็ด 
บร๊ะจ้าววววว ประโยคนี้แหละที่คนไข้รอคอยจะได้ยินมาเดือนกว่า ดีต่อใจเหลือเกิน ไม่ต้องฉีดยาทุกวันแล้ว โล่งมากๆ

DVT สัปดาห์สุดท้ายของเดือนที่ 3 มาเจาะเลือด ได้ค่า INR 3.57 โดยประมาณ (สูงเกินที่ตั้งเป้าหมายไว้) คุณหมอนัฐวุฒิเลยให้หยุดยาได้เลย ไม่ต้องกินยาแล้ว และนัดมาตามอาการอีก 2 เดือนข้างหน้าเพื่อติดตามผล ว่ายังมีอะไรผิดปกติบ้างหรือเปล่า
คนไข้งี้...ยิ้มเลย (จะหายแว้ววว)
...............

สรุปว่า การผ่าตัดเนื้องอกสมองในเคสของเจ้าของกระทู้ ผ่านไปได้ด้วยดี
อาการแทรกซ้อนต่างๆ ที่ตรวจเจอ ก็ได้รับการรักษาไปตามแต่ละอาการ สุดแล้วแต่ว่า...จะตรวจไปเจออะไร 
ทั้งนี้ ผลลัพธ์หลังการรักษาก็ขึ้นอยู่กับภูมิหลังสุขภาพส่วนตัวของแต่ละบุคคลด้วยนะคะ 
ก็อาจจะมีโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน โรคภัยไข้เจ็บมันเป็นอะไรที่ปัจเจกจริงๆ
หรือแม้ว่าเป็นโรคเดียวกัน รักษาหมอเดียวกัน ก็ใช่ว่าผลลัพธ์หลังการรักษาจะออกมาเหมือนกัน 
เพราะภาวะพื้นฐานด้านสุขภาพของคนเราไม่เหมือนกันค่ะ ดูแลสุขภาพตัวเองอยู่เสมอดีที่สุด 
หมั่นสังเกตภาวะผิดปกติของร่างกายตัวเอง และพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเมื่อพบความผิดปกติค่ะ

***หมายเหตุ: มีข้อความตอบกลับในกระทู้แรกที่เจ้าของกระทู้ลงไว้เกี่ยวกับการผ่าตัดไหล่ ว่าเคยไปใช้บริการที่โรงพยาบาลศิริราช แล้วต้องไปนั่งรอการเรียกตรวจนานมาก เลี่ยงยากเนาะ คนไข้เยอะจริง
เลยอยากแนะนำว่า ในบริเวณเดียวกัน ตึกติดๆ กัน เดินไปมาถึงกันได้ มี “โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์” ด้วยนะคะ 
น่าจะตอบโจทย์ให้ได้ดีเลยแหละ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายและต้องการได้รับการดูแลรักษาแบบสะดวกสบายในรูปแบบเดียวกับโรงพยาบาลเอกชน 
“โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์” เหมาะสำหรับคนติดแบรนด์ศิริราช แต่อยากได้รับบริการและสภาพแวดล้อมแบบโรงพยาบาลเอกชน 
จุดประสงค์การก่อตั้งก็เข้าไปอ่านเองได้เลยค่ะ ในเวบไซต์ลงไว้ละเอียดเลย 
เจ้าของกระทู้เข้าไปอ่านมาแล้ว และตกใจมาก เพราะ...เพราะโรงพยาบาลนี้ก่อตั้งมาเป็น 10 ปีได้ละ แต่ก็เพิ่งรู้จัก นี่เราไปอยู่ไหนมาเนี่ย? 
สงสัยเป็นเพราะเราไม่ใช่คนในวงการ 555...
 
เว็บไซต์เขาก็แยกกันนะคะ อันนี้ของ “โรงพยาบาลศิริราช”  https://www.si.mahidol.ac.th/sirirajhospital/ (แบบธรรมดา-ค่าใช้จ่ายธรรมดา)
ส่วนอันนี้เป็นเว็บไซต์ของ “โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์”  http://www.siphhospital.com/th/home  (แบบเอกชน-ค่าใช้จ่ายตามแบบเอกชน)

และระหว่างที่ชีวิตวุ่นวายอยู่กับ DVT
เจ้าของกระทู้ก็ยังคงมีนัดตรวจติดตามอาการของกระดูกที่ไหล่ที่ผ่าตัดไปเมื่อ 3-4 เดือนที่แล้วด้วย
รวมถึงนัดติดตามผลหลังการผ่าตัดเนื้องอกสมองซึ่ง ในขณะนั้นต้องแบ่งสาขาการตรวจรักษาออกไปอีกตามอาการของโรค
-          หลังผ่าตัดเนื้องอก 2 สัปดาห์ นัดตามผลหลังการผ่าตัดเนื้องอกในสมอง (ดูแผล ดูอาการทั่วไป ความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะมีหลังจากนี้)
-          หลังผ่าตัดเนื้องอก 2 สัปดาห์ เจออาการของ  DVT โผล่ขึ้นมา เลยได้นัดเพิ่มกับคุณหมอณัฐวุฒิเพื่อติดตามผลเลือด
-          หลังผ่าตัดเนื้องอก 4 สัปดาห์ มีนัดตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) เพราะก่อนนี้ เคยมีประวัติการชักก่อนการผ่าตัดเนื้องอกในสมองออก และมีนัด                  ติดตามผลกับฝ่ายอายุรกรรมสมองต่อจากนั้นค่ะ

พูดง่ายๆ คือ ส่วนของระบบประสาทสมองต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังการผ่าตัดเนื้องอกในสมอง มีคุณหมอบรรพต เป็น hub ในช่วงแรก 
และกระจายโรค เอ้ยย..งานตรวจรักษา..ไปให้กับแผนกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลังตรวจเจอโรคแทรกซ้อนใหม่นั่นเองงงงง
 
เดี๋ยวถึงช่วงครบรอบ 1 ปีของการรักษาหลังการผ่าตัด เจ้าของกระทู้จะมาตั้งกระทู้สรุปทุกโรคอีกที พร้อมค่าใช้จ่าย 
รวมถึงอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง จุกจิกพอสมควร แต่รอรวบตึงในกระทู้เดียวเลย
เจ้าของกระทู้หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กระทู้นี้จะมีแนวทางที่พอจะเป็นประโยชน์ได้บ้าง ไม่มากก็น้อยสำหรับคนที่กำลังเป็นโรคนี้
หรืออยู่ในระหว่างการตัดสินใจเพื่อเข้ารับการรักษา (หรือจะกลัวมากกว่าเดิมก็ไม่รู้ 555+)
ขอบคุณและสวัสดีค่ะ

ก่อนไป ขอฝากทิ้งท้ายไว้หน่อยนึงค่ะ 
 
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่