JJNY : 4in1 7พรรคปรับรูปแบบเดินสายแก้รธน./หนุนแก้รธน.คู่ปฏิรูปกองทัพ/แฉเพจรบ.สร้าง'Fake News'/เตือน20จว.เสี่ยงน้ำท่วม

'7 พรรคฝ่ายค้าน' ปรับรูปแบบเดินสายแก้ รธน. เน้น เจาะกลุ่มสร้างฉันทามติ เตรียมเปิดตัวรายการ 'ฝ่ายค้านพบประชาชน'
https://www.matichon.co.th/politics/news_1692766

7 พรรคฝ่ายค้าน” ปรับรูปแบบเดินสายแก้ รธน. เน้น เจาะกลุ่มสร้างฉันทามติ พร้อมเตรียมเปิดตัวรายการ “ฝ่ายค้านพบประชาชน” คิกออฟเดือน ต.ค.นี้
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 30 กันยายน ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ตัวแทนคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน และการมีส่วนร่วมของประชาชน (ฝ่ายค้านเพื่อประชาชน) นำโดยนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรค พท. นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค พท. นายสุพจน์ อาวาส โฆษกพรรคประชาชาติ (ปช.) แถลงถึงผลการประชุม 7 พรรคฝ่ายค้านเพื่อประชาชน

โดยนายอนุสรณ์กล่าวว่า ในการประชุมมีการประเมินภาพรวมในการจัดเวทีฝ่ายค้านเพื่อประชาชนสัญจร 4 ภาค และวางแผนการเดินสายจัดกิจกรรมโดยจากนี้เราจะเน้นการลงพื้นที่โดยการเจาะกลุ่มประชาชน และวิชาชีพต่างๆ มากขึ้น เช่น กลุ่มวินมอเตร์ไซต์ นักศึกษา ภาคประมง ครู ข้าราชการ ฯลฯ นอกจากนี้ จะเปิดเวทีโดยปรับรูปแบบจากการเสวนาเป็นการปราศรัยมากขึ้น ซึ่งเวทีปราศรัยนี้จะคิกออฟได้ปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเราอยากให้มองที่เจตนาในการจัดมากกว่ามุ่งมองไปว่าเป็นเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือเป็นการปลุกม็อบ เพราะถ้ามองว่าเป็นปัญหา การจัดเสวนาก็เป็นปัญหาได้ และเราจะผลิตรายการฝ่ายค้านเพื่อประชาชนเพื่อเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ยูทูบ และเฟซบุ๊กพรรคต่างๆ ซึ่งจะเริ่มในเดือนตุลาคมนี้ด้วย โดยรูปแบบรายการจะเป็นคลิปที่มีความยาวประมาณ 5-7 นาที มีผู้ดำเนินรายการมาจาก 7 พรรคร่วม ที่จะมาแสดงความคิดเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ

ด้านนายเผ่าภูมิกล่าวว่า สิ่งที่เราทำจุดประสงค์คือการรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชน และการเชื่อมโยงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งจากการลงไป เราพบว่าประชาชนหลายกลุ่มอาชีพมีปัญหาในเรื่องของการดำรงชีวิต การอยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี ทั้งเรื่องของรายได้ และเรื่องสิทธิพลเมือง ซึ่งประชาชนสื่อสารว่าปัญหาเหล่านี้มีอยู่ และหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยปัญหาหลักๆคือ เขาไม่มีสิทธิเลือกรัฐบาล อำนาจในการที่ประชาชนจะได้เลือกรัฐบาลของเขาเองนั้นหายไปจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งจากการลงพื้นที่เราได้รับผลตอบรับดีเกินคาด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน ใต้ และเหนือ ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การเดินต่อจากนี้จะแบ่งเป็น 3 ระยะสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ 

1.การสร้างการรับรู้ของสังคม ซึ่งเราต่างก็รู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาอย่างไร ซึ่งพรรคฝ่ายค้านมีฉันทามติตรงกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา และเราได้รับเสียงสะท้อนเหล่านี้จากภาคประชาชน และภาคสังคม ซึ่งพรรคฝ่ายค้านได้รับเชิญจากเวทีต่างๆ ในเดือนตุลาคมนี้อย่างมากมาย สะท้อนให้เห็นว่าทุกภาคส่วนตอบรับ เรายินดีร่วมกันทุกภาคส่วนเพื่อเดินไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

2.จากนี้เราต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนว่า ปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คืออะไร และเราต้องตอบประชาชนให้ได้ว่า เราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบันี้ได้อย่างไร โดยแนวทางใด เราจะเดินสายกลุ่มย่อยเพื่อสร้างฉันทามติ โดยจะปรับรูปแบบจากเวทีใหญ่เป็นกลุ่มย่อย มุ่งเป็นสาขาอาชีพเพื่อให้เกิประสิทธิภาพ โดยจะเริ่มที่ กทม. เป็นพื้นที่แรก 

และ 3.การสร้างฉันทมติของทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม ว่าประชาชนไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้จริงๆเพราะเห็นว่าเป็นปัญหา

นายเผ่าภูมิกล่าวอีกว่า ส่วนที่ฟากรัฐบาลจัดเวทีในรูปแบบคล้ายกันแต่มุ่งเน้นให้เห็นว่าประชาธิปไตยกินได้โดยไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญนั้น ก็ต้องถามกลับไปว่า กินได้เฉพาะกลุ่มหรือไม่



หนุนแก้รธน. คู่ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ ลุ้นตั้งกมธ.ศึกษาต้นพ.ย. หวั่นโดน ‘ไฮแจ็ค’ จี้สร้างภูมิคุ้มกัน
https://www.matichon.co.th/politics/news_1693148

เมื่อเวลา 13.00 น  วันที่ 30 กันยายน ที่ห้องเพทาย โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ มีการจัดเสวนาหัวข้อ “การปฏิรูปสังคม-เศรษฐกิจ-การเมืองไทย กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย” โดยมีคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และผู้แทน 30 องค์กรประชาธิปไตย และตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆเข้าร่วม

รศ.ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานครป. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีอัตลักษณ์ ‘อนุรักษนิยม’ อย่างชัดเจน จำกัดสิทธิและลดอำนาจประชาชนถ้าเทียบกับฉบับ 40 และ 50 ที่เราทั้งหลายมานั่งตรงนี้มีความประสงค์เดียวกันคือการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มสิทธิและขยายอำนาจให้ประชาชน ส่วนรายละเอียดคงต้องผ่านกระบวนการพูดคุยอีกหลายอย่างรัฐธรรมนูญสัมพันธ์กับการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเมือง ประเทศที่จัดสรรอำนาจสมดุลจะเอื้อต่อการปฏิรูป แต่ถ้าประเทศใดมีโครงสร้างรัฐธรรมนูญที่จัดอำนาจขาดความสมดุลจะเกิดปัญหา มีบทเรียนมากมายที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคม สถานการณ์ในปัจจุบันมีความซับซ้อนกว่าปี 40 มาก มีการต่อสู้เชิงอุดมการณ์หลากหลาย มีปรากฏการณ์เชิงอุดมการณ์ชัดเจนมากขึ้น การเคลื่อนไหวต้องปรับตัวสอดคล้องสถานการณ์. อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นชนวนการนองเลือด แต่กลุ่มพลังในสังคมต้องเจรจาหาทางออกร่วมกัน

“รัฐธรรมนูญเป็นกลไกที่เอื้อหรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป แต่ไม่ได้หมายความว่าพอแก้แล้วจะเกิดการปฏิรูปอย่างที่หลายส่วนคาดหวัง การมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จะสร้างเวทีในการเอื้อ ถ้ารัฐธรรมนูญมีกรอบอุปสรรคต่อการปฏิรูปเช่นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งสร้างความไร้เสถียรภาพทางการเมืองด้วย นอกจากนี้จะเห็นได้ว่ารัฐบาลกลางไม่มีปัญญาแก้ปัญหาในท้องถิ่น ตัวอย่างชัดเจนคือ กรณีน้ำท่วมอุบลฯ เป็นไปได้อย่างไรที่เอกชนคนเดียวได้เงินบริจาคมากกว่ารัฐบาล สะท้อนประเด็นความไว้วางใจอย่างชัดเจนว่าเป็นอย่างไร การแก้รัฐธรรมนูญ ต้องแก้ให้ก้าวหน้ากว่าฉบับ ปี 40 ในประเด็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

เรามีประชาธิปไตยมากเกินไปสำหรับกลุ่มทุนผูกขาด แต่เป็นประชาธิปไตยน้อยเหลือเกินสำหรับประชาชน องค์กรอิสระกลายเป็นที่พักพิงข้าราชการเกษียณ ระบบการศึกษาก็สาหัส เพราะวิธีคิดที่ต่อเนื่องยาวนาน มีการสร้างโรงเรียนชนชั้นนำที่ได้รับการทุ่มงบมากมาย สรุปคือ ขั้นต้น ต้องแก้รัฐธรรมนูญให้จัดสรรอำนาจให้เอื้อต่อการปฏิรูป” นายพิชายกล่าว

นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษา ครป. กล่าวว่า ไทยฝ่าวิกฤตและมีโอกาสหลายครั้งทั้งเหตุการณ์เดือนตุลาและพฤษภา อย่างไรก็ตามในแต่ละครั้งการที่จะก้าวไปข้างหน้า พลังประชาชนกลับยังไม่ได้หยิบโอกาสนั้นมาขับเคลื่อนเต็มที่ และในวันนี้เราถอยหลังเข้าคลองไปมิใช่น้อย
การแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกวางกับดักไว้มากมาย ยากที่จะแก้ได้ตามขั้นตอนเหล่านั้นแมัมีความพยายามจากหลายฝ่าย อย่างไรก็ตาม โอกาสอาจมาโดยไม่อาจคาดหมายได้ และมักมาจากวิกฤติเสมอ ทั้งความอ่อนแอและเปราะบางของรัฐบาล รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศที่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ขอให้อย่าท้อแท้

“ปัญหาสำคัญคือเราต้องวางแผนการปฏิรูปไว้ ซึ่งมีการศึกษาไว้ไม่ใช่น้อย การปฏิรูปกองทัพสำคัญมาก รัฐธรรมนูญกินได้เป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนและนำเสนอต่อประชาชน ต้องต่อต้านรัฐประหาร พลังประชาชนต้องดำเนินต่อไป และเติบใหญ่มากยิ่งขึ้นทวีคูณ ส่วนวิธีการแก้ เห็นด้วยกับการแก้เห็นด้วยกับการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นจุดอ่อนไหวและต้องระวังเป็นพิเศษ ถ้าสภาไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชนจริงๆ” นายสมชายกล่าว

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เราทุกคนคงเห็นตรงกันว่าหลักการพื้นฐาน คือ อำนาจเป็นของประชาชน รัฐธรรมนูญคือ ข้อตกลงของสังคมว่าจะให้อำนาจฝ่ายใดเท่าไหร่ ทั้ง 3 ฝ่าย คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการมีดุลตรวจสอบกัน โดยคนแต่งตั้งอำนาจมานั้นก็คือประชาชน ที่ผ่านมาคนไทยต่อสู้มานานเท่าไหร่เพื่อให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง เราเสียเลือดเสียเนื้อมามากเท่าไหร่ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับถูกดีงอำนาจกลับไป ประชาชนไม่มีโอกาสไปตรวจสอบองค์กรอิสระได้เลย เพราะได้รับการแต่งตั้งมาจากคสช. ในรัฐสมัยใหม่ 3 อำนาจที่เป็นเสาหลักต้องสามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้อย่างเหมาะสม แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เอาอำนาจและความชอบธรรมต่างๆไปให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ตนอยากมองไปข้างหน้า ซึ่งในขณะนี้สังคมไทยมีข้อถกเถียงใหญ่มาก 2 เรื่อง 
1. เศรษฐกิจกับการแก้รัฐธรรมนูญ 
2. การแก้รัฐธรรมนูญนำไปสู่การรุนแรงหรือไม่ 

มีผู้ออกมาบอกว่าประชาชนจะอดตายอยู่แล้ว ต้องแก้ปากท้องก่อน ประโยคนี้ถูกครึ่งเดียวคือครึ่งแรก ที่คนจะอดตายแล้ว แต่ยืนยันว่าทั้ง 2 อย่างสามารถทำควบคู่กันได้ ไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

นายธนาธรกล่าวว่า รัฐบาลนี้มีพรรคเยอะสุดในประวัติศาสตร์ แต่ไม่มีเอกภาพทางอุดมการณ์ ความคิด และนโยบาย ทั้งยังได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญที่ตัวเองร่างขึ้นมา การเอากล้วยให้ลิงทุกตัวกินอิ่มหนำย่อมเป็นไปไม่ได้ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญและการต้องอาศัยความร่วมมือเป็นไปไม่ได้ ตัวอย่างเช่นกรณีน้ำท่วมแค่เรื่องเดียวที่ต้องอาศัยหลายกระทรวง แต่ละกระทรวงมีรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยต่างพรรคกัน สำหรับประเด็นความรุนแรง เป็นวาทกรรมที่ฝ่ายอนุรักษนิยมหลอกให้เชื่อว่าจะเกิดความแตกแยกเพื่อให้คนไม่มาร่วมรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ แต่ตนมองว่าประวัติศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศพิสูจน์แล้วว่าที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้ ที่ใดไม่มีความเป็นธรรม ที่นั่นไม่มีสันติภาพ การใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปเรื่อยๆต่างหากที่นำไปสู่ความรุนแรง การแก้รัฐธรรมนูญจุงจะช่วยให้เลี่ยงการปะทะ นี่คือประวัติศาสตร์ที่ต้องฉวยไว้ ถ้าทำไม่สำเร็จ ตนมองไม่ออกว่าจะเลี่ยงการปะทะอย่างไร การแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางออกเดียวของสังคม

“วันนี้ เมื่อ 13 ปีก่อน ลุงนวมทอง ฆ่าตัวตาย เราเราเรียนรู้ว่า ถ้าเราไม่มีรัฐธรรมทุกฝ่ายเห็นพ้อง ประเทศจะพัง ผมต้องการปฏิรูประบบราชการยกเลิกระบบราชการรวมศูนย์ สร้างรัฐสวัสดิการ ลดความเหลื่อมล้ำ ปฏิรูปกองทัพตอนนี้กระบวนการ คือการแก้ผ่าน มาตรา 256 และมาตรา 166 กรณีมาตรา 256 คือผ่านสภาซึ่งยากมาก อีกทางคือ ทำผ่านประชามติ ซึ่งถ้าจะใช้มาตรา 166 คือต้องกดดันพลเอกประยุทธ์ หรือเปลี่ยนรัฐบาล แต่ไม่ว่าทางไหน ก็คิดว่า เข้าใจข้อจำกัด การรณรงค์ไม่ควรอยู่ที่เรา จึงตั้งใจไม่ขยับแรง และเร็วกว่านี้ เพราะอยากให้ความเป็นเจ้าของอยู่ที่ประชาชน นักวิชาการ วิชาชีพต่างๆ เพราะถ้าปราศจากการสนับสนุนจากประชาชนทุกฝ่ายก็แก้ไม่ได้หลังจากนี้ บทบาทของเราคือเป็นผู้เล่น ให้พวกท่านใช้งาน” นายธนาธรกล่าว

นายธนาธร กล่าวว่า ขณะนี้เวลางวดเข้ามาแล้ว ‘กรรมาธิการศึกษารัฐธรรมนูญ’ จะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนว่าสภาผู้แทนราษฎรจะให้ตั้งหรือไม่ จึงมีเวลาเหลือไม่มาก ผมอยากให้ภาคประชาสังคม ตรวจสอบพรรคร่วมรัฐบาล ตนกลัวรัฐบาลไฮแจ็คการแก้รัฐธรรมนูญให้เหลือเพียงการแก้รายมาตรา แต่เชื่อว่าถึงเวลาจะเหลือน้อยแต่ยังทำงานทัน สุดท้ายขอเน้นย้ำประเด็นปฏิรูปกองทัพ เพราะถ้าแก้รัฐธรรมนูญแล้วไม่ปฏิรูปกองทัพ ก็จะเดินไปสู่จุดเดิม บางคนบอกถอยหลัง แต่อีกมุมคือการเดินวรเป็นวงกลม การจะตัดวงจรอุบาทว์ ต้องปฏิรูปกองทัพซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกหลงลืมไปในปี 35
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่