ว่าด้วย วิญญาณฐิติ 7 ประการ.......

อานนท์ !  วิญญาณฐิติ  เจ็ด เหล่านี้  และ อายตนะสอง มีอยู่. 
 วิญญาณฐิติเจ็ดเหล่าไหนเล่า ?  วิญญาณฐิติเจ็ดคือ :- 
๑.  อานนท์ !  สัตว์ทั้งหลาย มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน มีอยู่ ; 
ได้แก่มนุษย์ทั้งหลาย, เทวดาบางพวก และวินิบาตบางพวก : 
นี้คือ วิญญาณฐิติ  ประเภทที่หนึ่ง. 
๒.  อานนท์ !  สัตว์ทั้งหลาย มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกันมีอยู่ ; 
ได้แก่พวกเทพผู้นับเนื่องอยู่ในหมู่พรหมที่บังเกิดโดยปฐมภูมิ 
และสัตว์ทั้งหลายในอบายทั้งสี่  :  นี้คือ วิญญาณฐิติ ประเภทที่สอง. 
๓.  อานนท์ !  สัตว์ทั้งหลาย มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกันมีอยู่ ; 
ได้แก่พวกเทพอาภัสสระ (มีปีติเป็นภักษารัศมีแผ่ซ่าน. . ในอากาศ .๓.)
:  นี้คือ วิญญาณฐิติ ประเภทที่สาม. (ชั้นที่ 4. ปริตรตาภาภูมิ, 
ชั้นที่ 5 อัปปมาณาภาภูมิ, ชั้นที่ 6 อาภัสราภูมิ:-เป็นต้นไป)
๔.  อานนท์ !  สัตว์ทั้งหลาย มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน มีอยู่ ; ได้แก่ พวกเทพสุภกิณหะ  :  นี้คือ วิญญาณฐิติ ประเภทที่สี่. 
๕. อานนท์ !  สัตว์ทั้งหลาย,  เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งรูปสัญญา
โดยประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา 
เพราะไม่ใส่ใจนานัตตสัญญา จึงเข้าถึง 
อากาสานัญจายตนะ มีการทำในใจว่า”อากาศไม่มีที่สุด” ดังนี้ มีอยู่  :  
นี้คือ วิญญาณฐิติ ประเภทที่ห้า. 
๖.  อานนท์ !  สัตว์ทั้งหลาย, เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งอากาสานัญจายตนะ
โดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึง วิญญาณัญจายตนะ มีการทำในใจว่า
 “วิญญาณไม่มีที่สุด” ดังนี้ มีอยู่  :  นี้คือ วิญญาณฐิติ ประเภทที่หก. 

๗.  อานนท์ !  สัตว์ทั้งหลาย,  เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง 
จึงเข้าถึง อากิญจัญญายตนะ มีการทำในใจว่า “อะไร ๆ ไม่มี” ดังนี้ มีอยู่  :  
นี้คือ วิญญาณฐิติ  ประเภทที่เจ็ด. 
ส่วน อายตนะอีกสอง นั้น คือ อสัญญีสัตตายตนะ ที่หนึ่ง เนวสัญญานาสัญญายตนะ ที่สอง. 
อานนท์ !  ในบรรดาวิญญาณฐิติเจ็ด และอายตนะสองนั้น : วิญญาณฐิติประเภทที่
หนึ่ง อันใด มีอยู่, คือ สัตว์ทั้งหลาย มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน 
ได้แก่มนุษย์ทั้งหลาย, เทวดาบางพวก และวินิบาตบางพวก.  

     อานนท์ !  ผู้ใดรู้ชัดวิญญาณฐิติที่หนึ่งนั้น รู้ชัดการเกิด (สมุทัย) แห่งสิ่งนั้น 
รู้ชัดความดับ (อัตถังคมะ) แห่งสิ่งนั้น รู้ชัดรสอร่อย (อัสสาทะ) แห่งสิ่งนั้น 
รู้ชัดโทษต่ำทราม (อาทีนวะ) แห่งสิ่งนั้น และรู้ชัดอุบายเป็นเครื่องออก (นิสสรณะ) 
แห่งสิ่งนั้น  ดังนี้แล้ว  
ควรหรือหนอที่ผู้นั้น  จะเพลิดเพลินยิ่งซึ่งวิญญาณฐิติที่หนึ่ง นั้น ? 
 “ข้อนั้น  เป็นไปไม่ได้.  พระเจ้าข้า !” 

(ในกรณีแห่ง วิญญาณฐิติที่สอง วิญญาณฐิติที่สาม วิญญานฐิติที่สี่ วิญญาณฐิติที่ห้า
วิญญาณฐิติที่หก วิญญาณฐิติที่เจ็ด และ อสัญญีสัตตายตนะที่หนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ
อย่างดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ก็ได้มีการอธิบาย ตรัสถาม และทูลตอบ 
โดยข้อความทำนองเดียวกันกับในกรณีแห่งวิญญาณฐิติที่หนึ่งนั้น 
ทุกประการ ต่างกันแต่ชื่อแห่งสภาพธรรมนั้นๆเท่านั้น.)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่