มายา แอซเท็ก อินคา มหานครแห่งอเมริกา

ประวัติศาสตร์ของชาวอเมริกาโบราณ ก่อนที่พวกยุโรปจะรุกรานเข้ายึดและปกครอง โดยจะเน้นที่ 3 อาณาจักรอันยิ่งใหญ่

ได้แก่ “อาณาจักรมายา” “อาณาจักรแอซเท็ก” และ “อาณาจักรอินคา” มาดูกันว่าชาวอเมริกาสายเลือดแท้นั้น รุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่ทางอารยธรรมเพียงใด
ถึงแม้ว่าอารยธรรมของทวีปอเมริกากลางหรือที่รู้จักกันในชื่อเมโสอเมริกา ที่คุ้นหูหลายๆ ท่านมากที่สุดจะเป็นชาวมายาและแอซเท็ก แต่ถึงอย่างนั้นพื้นที่แถบนี้ยังมีชนเผ่าอื่นๆ อาศัยอยู่อีกมากมาย ทั้งตอลเท็ก ซาโปเท็ก มิชเท็ก รวมถึงอีกหลากหลายวัฒนธรรมที่ผลัดกันรุ่งเรืองและล่มสลาย หากแต่เมื่อ 1,400 ปีก่อนคริสตกาล ได้ถือกำเนิดอารยธรรมสุดยิ่งใหญ่ซึ่งถือได้ว่าเป็น “อารยธรรมแม่” ของอาณาจักรที่รุ่งเรืองในแถบอเมริกากลางอย่างอาณาจักรมายาและอาณาจักรแอซเท็ก อารยธรรมที่ว่าคือ “อารยธรรมโอลเมก”
“อารยธรรมโอลเมก” ถือกำเนิดขึ้นมาในแถบคาบสมุทรยูกาตัน ในประเทศเม็กซิโกปัจจุบัน เป็นอารยธรรมที่มีวิวัฒนาการเจริญก้าวหน้ามากกว่าอารยธรรมใดๆ ในยุคนั้น ชาวโอลเมกได้สร้างเมืองขึ้นมาหลายแห่งกระจายอยู่ทั่วดินแดนต่างๆ ในประเทศเม็กซิโก แต่เมืองที่เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมของชาวโอลเมกนั้นคือ เมืองซาน ลอเรนโซ และเมืองลาเบนตา หากแต่ปัญหาใหญ่ของนักโบราณคดีคือ แทบจะไม่มีใครรู้ที่มาที่ไปอันแน่ชัดของชาวโอลเมกเลย รู้เพียงแค่ว่าหินบะซอลต์รูปหน้าคนขนาดมหึมาจำนวนกว่าสิบชิ้น ที่ถูกค้นพบในประเทศเม็กซิโกนั้น เป็นผลงานของชาวโอลเมกที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้นเอง
และเมื่อ 400 ปีก่อนคริสตกาล ชาวโอลเมกก็ได้ละทิ้งบ้านเมืองของพวกเขาไปเสียเฉยๆ ทำให้อารยธรรมโอลเมกล่มสลายนับตั้งแต่นั้น ส่วนเหตุผลที่ว่า เหตุใดชาวโอลเมกถึงได้กระทำการฉุกละหุกเช่นนี้ นักโบราณคดีและผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายได้สันนิษฐานว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพแวดล้อมอย่างกะทันหัน หรือเกิดการระเบิดของภูเขาไฟ ทำให้ชาวโอลเมกต้องย้ายออกไปหาแหล่งที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ แต่อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า ชาวโอลเมกถูกบุกรุก คำถามคือผู้บุกรุกคือใคร เพราะในยุคนั้น “อารยธรรมของชาวโอลเมก” ล้ำสมัยที่สุดแล้ว หรือผู้บุกรุกดังกล่าวอาจจะมาจาก “นอกโลก” ผู้ซึ่งมีอารยธรรมและความก้าวหน้าล้ำสมัยมากกว่าชาวโอลเมก ก็เป็นได้
อารยธรรมเมโสอเมริกาเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 1,400 ปีก่อนคริสตกาล พร้อมกับความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมของชาวโอลเมก ซึ่งยุคนี้ถือว่าเป็นปฐมบทของอารยธรรมในอเมริกากลางเลยก็ว่าได้ หลังจากนั้นราว 400 ปี หรือประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวมายาโบราณยุคก่อนคลาสสิก ได้ถือกำเนิดขึ้น พวกเขาสร้างวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ สร้างเมืองและวิหารอันน่าเกรงขามให้คนรุ่นหลังได้ตื่นตาตื่นใจ สองวัฒนธรรมนี้รุ่งเรืองทับซ้อนกันอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่แล้ววัฒนธรรมของชาวโอลเมกก็ได้ล่มสลายไปในช่วง 400 ปีก่อนคริสตกาล เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ชาวมายาโบราณกำลังจะเปลี่ยนผ่าน จากยุคก่อนคลาสสิกเข้าสู่ยุคคลาสสิก ซึ่งเป็นช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดของอารยธรรมมายาพอดิบพอดี

จากผลงานทางศิลปะและสถาปัตยกรรมที่ชนเผ่าแห่งดินแดนอเมริกากลางได้ฝากเอาไว้ แสดงให้เห็นว่า พวกเขาล้วนแล้วแต่มีฝีมือและความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานที่ยิ่งใหญ่เอาไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แล้วต้นกำเนิดของชนเผ่าเหล่านี้มาจากไหน พวกเขาเป็นใคร และทำไมถึงสามารถสร้างผลงานอันน่าตื่นตาตื่นใจเหล่านี้ขึ้นมาได้ เพื่อจะตอบคำถามนี้ เราคงต้องไปตามหาคำตอบจากชนเผ่าแรกสุดในดินแดนแห่งนี้ ซึ่งก็คือ “ชาวโอลเมก” นั่นเอง ชาวโอลเมกเป็นใครและมาจากไหนกัน ?

ชาวโอลเมกมาจากไหน ?

นักสำรวจนาม “เมลการ์ เซอร์ราโน” ได้ตั้งข้อสังเกตเมื่อเขาได้รับชมศิลาหน้าคนขนาดยักษ์จากเมือง เตรส ซาโปเตส หนึ่งในเมืองใจกลางอารยธรรมโอลเมกเอาไว้ในปี ค.ศ. 1869 ว่า “ผมติดใจเจ้าศิลาหน้าคนที่เตรส ซาโปเตสเป็นอย่างมาก ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่คือชิ้นงานอันแสนวิเศษ ผมแปลกใจที่ศิลาเหล่านี้แสดงหน้าคนที่เหมือนชาวเอธิโอเปีย นั่นอาจจะหมายความว่า เคยมีพวกนิโกรอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มาก่อนก็เป็นได้”

หรือว่าชาวโอลเมกจะเป็นชาวเอธิโอเปียที่อพยพมาจากกาฬทวีปตามที่นายเซอร์ราโนกล่าวอ้างจริงๆ กันแน่ ?
การศึกษาอารยธรรมโอลเมกอย่างจริงจังเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1987 เมื่อชาวบ้านในแถบเอล-มานาตี ทางตอนใต้ของเม็กซิโกทำการขุดบ่อเลี้ยงปลา แต่ผลที่เขาได้รับ กลับเป็นมากกว่าบ่อปลา เพราะพวกเขาค้นพบขวานหิน ลูกบอลที่ทำจากยาง เศษกระดูกของมนุษย์ และที่สำคัญที่สุดคือ รูปสลักมนุษย์ครึ่งตัวทำจากไม้ สูงประมาณ 50 เซนติเมตร ดวงตาเอียง ริมฝีปากหนา อันเป็นลักษณะเด่นของศิลปะแบบโอลเมกฝังอยู่ นักวิชาการที่เข้ามาตรวจสอบหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ให้ความเห็นว่า วัตถุที่ขุดพบอาจจะเป็นเครื่องบูชายัญในพิธีกรรมต่างๆ ของชาวโอลเมก เพราะพวกเขาคิดว่าเมืองเอล-มานาตีน่าจะเป็นศูนย์กลางการบูชาธรรมชาติ เช่น แม่น้ำหรือภูเขา ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเมโสอเมริกาให้ความเคารพนับถือ

เมืองเด่นๆ ของชาวโอลเมกตั้งอยู่บริเวณอ่าวเกมเปเช ประกอบไปด้วยเมืองซาน โลเรนโซ, เตรส ซาโปเตส, ลาเบนตา และลากูนาร์ เด ลอสเซรอส แต่ละเมืองครอบครองทรัพยากรที่สำคัญและมีค่าแตกต่างกันออกไป โดยที่จะมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในด้านทรัพยากรต่างๆ ด้วย เช่น ลาเบนตาที่ตั้งอยู่ใกล้อ่าวเกมเปเชย่อมต้องมีความอุดมสมบูรณ์ด้านอาหารและเกลือ ส่วนเมืองซาน โลเรนโซ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำก็อุดมไปด้วยทรัพยากรดินเหนียว

สำหรับเตรส ซาโปเตส และลากูนาร์ เด ลอสเซรอสที่ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาตุชตลานั้น ก็เป็นแหล่งหินที่สำคัญ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการสร้างอนุสาวรีย์ที่ยิ่งใหญ่และสะดุดตาเซอร์ราโนอีกด้วย อนุสาวรีย์ที่ว่านั้นก็คือ ศิลาหน้าคนขนาดยักษ์นั่นเอง
นักโบราณคดีพบศิลาหน้าคนของชาวโอลเมกไม่น้อยกว่า 15 ชิ้นในหลากหลายเมือง ไม่ว่าจะเป็นที่เมืองเตรส ซาโปเตสที่เป็นแหล่งหินเอง รวมทั้งเมืองลาเบนตาและซาน โลเรนโซก็มีการพบศิลาหน้าคนถึง 9 ชิ้น นอกจากนั้นร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ของสีแดงที่ปรากฏบนศิลาหน้าคนจากเมืองลาเบนตา ทำให้นักโบราณคดีเสนอกันว่า ในอดีตศิลาเหล่านี้น่าจะได้รับการทาสีด้วย โดยเฉลี่ยศิลาทั้งหมดมีความสูงอยู่ที่ราวๆ 2 เมตร ส่วนศิลาหน้าคนชิ้นมหึมาที่สุดเป็นศิลาจากโกบาตา ซึ่งมีความสูงถึง 3.3 เมตรเลยทีเดียว !

คำถามที่นักโบราณคดีสงสัยกันก็คือ ศิลาหน้าคนเหล่านี้หมายถึงอะไร ? นักโบราณคดีหลายฝ่ายเสนอแนวคิดว่า ศิลาพวกนี้อาจจะถูกสลักขึ้นเพื่อแสดงภาพของเหล่าผู้ปกครองของชาวโอลเมกที่อาจจะเพิ่งสิ้นพระชนม์ไป แต่บางคนก็กล่าวว่า มันอาจจะเป็นภาพสลักของนักรบหรือนักเล่นเกมบอลชาวโอลเมกก็เป็นได้ เพราะว่าเกมบอลถือเป็นกีฬาและพิธีกรรมที่สำคัญ ซึ่งมีอยู่ในเกือบทุกอารยธรรมในเมโสอเมริกา
ดังจะเห็นได้ว่า หลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบจากเมืองเอล-มานาตีนั้น มีลูกบอลยางอยู่ด้วย ว่าแต่ศิลาหน้าคนกว่า 15 ชิ้นนี้ คือภาพสลักของชาวเอธิโอเปียตามที่เซอร์ราโนเสนอมาหรือไม่ ? ประเด็นนี้นักโบราณคดีกระแสหลักไม่ให้การยอมรับทฤษฎีที่ว่า ชาวเอธิโอเปียจากกาฬทวีปคือ บรรพชนของชาวโอลเมก เพราะไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีใดมาสนับสนุนแนวคิดนี้เลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นซากพืช ซากสัตว์ กระดูกมนุษย์ รวมทั้งภาษาโบราณที่ใช้ล้วนไม่สามารถเชื่อมโยงไปหาชาวเอธิโอเปียหรือใช้เป็นหลักฐานในการสรุปถึงการปรากฏตัวของชาวเอธิโอเปียในดินแดนของชาวโอลเมกได้เลย

จึงสรุปกันว่าชาวโอลเมก ผู้เป็นต้นกำเนิดของชนเผ่าที่สร้างอารยธรรมและวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ท่ามกลางป่าฝนในดินแดนเมโสอเมริกา ก็คือ ชาวอเมริกันพื้นเมืองที่เดินทางเข้ามายังดินแดนอเมริกาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล พวกเขาคือเหล่าบรรพชนแห่งวัฒนธรรมอเมริกากลางโบราณที่ยังคงรุ่งเรืองต่อเนื่องยาวนานไปอีกหลายพันปี

ถึงแม้อารยธรรมของชาวโอลเมกส่วนใหญ่ได้ล่มสลายหายไป แต่ความเชื่อและวิธีการของชาวโอลเมก ยังคงสืบทอดต่อมาในวัฒนธรรมเมโสอเมริกา นักประวัติศาสตร์หลายคนถือว่า “โอลเมก” เป็นวัฒนธรรมแม่ของเมโสอเมริกา วัฒนธรรมแม่ที่เป็นดั่งวิถีชีวิตที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมในยุคต่อมา ทั้งศิลปะ สถาปัตยกรรม ศาสนาและการค้าขาย

ชาวโอลเมก ช่วยก่อรูปร่างสร้างวัฒนธรรม ทำให้ในยุคหลังจากนี้มีอาณาจักรใหม่ที่รับอิทธิพลของโอลเมกไปสรรสร้างอารยธรรมของตนเอง เช่น ชาวแอซเท็ก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวมายา
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่