ไปฝึกงานญี่ปุ่นผ่าน IMM JAPAN หรือบ.จัดหางานเอกชน ดีจริงไหม

สวัสดีครับ น่าจะเป็นกระทู้แรกของผมที่ลงในพันทิปเลย แนะนำตัวก่อนว่าผมทำงานเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาในการทำงานญี่ปุ่น มีเจ้านายที่ทำงานในวงการส่งผู้ฝึกงานไปญี่ปุ่นมานานกว่า 16 ปี เลยพอจะสามารถแนะนำเรื่องราวเหล่านี้ได้ สำหรับคนที่สนใจ สงสัย ว่า การไปฝึกงานด้านเทคนิคที่ญี่ปุ่น ผ่าน IMM JAPAN หรือบ.จัดหางานเอกชนที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดีจริงไหม

เริ่มจากตอบคำถามที่มักจะถามกันเข้ามาในเพจที่ผมดูแล หรือช่องทางอื่น ๆ ก่อนนะครับ

1. ฝึกงานด้านเทคนิคที่ญี่ปุ่น ไปทำอะไร
ตอบ งานส่วนใหญ่ทำไลน์ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น งานเชื่อม งานหล่อโลหะ คุมเครื่องปั๊มโลหะ ขึ้นรูปพลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตชิ้นส่วนที่จะไปประกอบเป็นอะไรต่อมิอะไร อุตสาหกรรมอาหาร งานก่อสร้าง ซึ่งจะไม่ใช่งานจับฉ่าย งานด้านการเกษตร ปศุสัตว์ ทำฟาร์มก็มีบ้าง ตำแหน่งงานตายตัว ทำงานหน้าเดียวจนหมดสัญญา อีกกลุ่มหนึ่งที่ไปในวีซ่านี้คืองานดูแลผู้สูงอายุ 

บริษัทที่รับผู้ฝึกงานในประเทศญี่ปุ่นมีนับกว่า 1000 บริษัท มีกฎหมายแรงงานควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยต่าง ๆ ที่เข้มงวดกว่าประเทศอื่น แต่สิ่งที่ควบคุมไม่ได้คือคน จะไปเจอเจ้านายดี ๆ หรือแย่ ก็เป็นเรื่องปกติเหมือนเราพบเจอคนทั่วไปในไทย คนญี่ปุ่นไม่ได้มีแต่คนดีไปทั้งหมด ไม่งั้นคงไม่ต้องมีตำรวจ แต่อย่างน้อยถ้าเจอปัญหาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น ไม่ได้รับค่าตอบแทนตามสัญญา โดนใช้งานหนักเกินเวลา หรือละเมิดข้อตกลง สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ก็สามารถแจ้งความ หรือแจ้งทางสหกรรณ์ได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนอำนาจมืด หรือมีปัญหาถ้าเราไม่ผิด คนญีุ่่ปุ่นส่วนใหญ่ให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกันมาก ไม่มีใครมองว่าเราเป็นแรงงานข้ามชาติแบบที่เรามองพม่าหรือลาว

2. ค่าตอบแทน
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
ในวีซ่าฝึกงานประเภทนี้ โดยทั่วไปบริษัทจะให้ไป 3 ปี และอาจต่อสัญญาให้อีก 2 ปี รวม 5 ปี ซึ่งจะไปได้ครั้งเดียว หากใครไปแล้ว 1 ปี 2 ปี แล้วสิ้นสุดสัญญา จะขอไปอีกรอบก็ไม่ได้ เพราะตามกฎหมายจะไม่ให้ย้ายบริษัทหรือตำแหน่งงานเลย ค่าตอบแทนก็ตามที่เขียนไว้ในรูป จะไปกับ IM JAPAN หรือ บ.จัดหางานเอกชน ก็เหมือนกัน เพราะมีกฎหมายในญี่ปุ่นควบคุมฉบับเดียวกัน 

ไม่มีโบนัส  ไม่มีการขึ้นเงินเดือน เนื่องจากเป็นการฝึกงาน คุณจะได้เงินเดือนเท่ากันทุกเดือนจนกว่าจะกลับไทย ที่เห็นข้อความในข่าวว่ามีโบนัส หรือเงินทุนตั้งตัว หมายถึงเงินส่วนที่จะได้คืนจากค่าประกันสังคมที่ถูกนายจ้างหักไปในแต่ละเดือน และผมไม่รู้ว่าตอนนี้ IM ยังใช้ระบบหักเงินประกันเพื่อคืนให้หลังกลับไทยกับผู้ฝึกงานอยู่ไหม ส่วนบ.จัดหางาน จะไม่มีอำนาจไปหักเงินจากเงินเดือนในญี่ปุ่นของผู้ฝึกงานได้โดยตรง

3. ไปกับ IM JAPAN  หรือ บ.เอกชน ต่างกันอย่างไร
อย่างแรก ค่าใช้จ่ายในการที่ไปฝึกงาน IMM คือองค์กรผู้รับในญี่ปุ่นที่ทำสัญญากับกรมการจัดหางานในไทยโดยตรง ผู้ฝึกงานไม่ต้องเสียค่าเรียนภาษาญี่ปุ่นก่อนเดินทางไปญี่ปุ่น และไม่มีค่าบริการอื่น ๆ นอกจากค่าทำหนังสือเดินทาง ค่าวีซ่า ค่าตรวจสุขภาพ จึงไม่แปลกที่คนจะแห่ไปสอบ IM JAPAN รอบหนึ่งไม่ต่ำกว่าพันคน ส่วนบ.จัดหางาน หรือโรงเรียนที่อ้างว่าส่งไปฝึกงานญี่ปุ่นผ่าน บ.จัดหางานเอกชนอีกที จะมีค่าใช้จ่ายหลักแสน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือค่าเรียน และค่าบริการจัดหางาน ที่กฎหมายห้ามเก็บเกินเงินเดือนของผู้ฝึกงาน(ประมาณ 40,000 บาท) ซึ่งจะต้องจ่ายจริงเท่าไหร่ ต้องไปสอบถามที่ ๆ เราสนใจเอาเอง

สิ่งที่แตกต่างกันต่อมาคือ วิธีการคัดคน ฝึกอบรม และคัดเลือกงาน ที่ IM JAPAN จะมีการสอบคัดเลือกปีละ 2-3 รอบ บางปีก็รับผู้หญิงด้วย ซึ่งจะรับมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ order งานจากทาง IMM ที่ญี่ปุ่น ส่วนบ.จัดหางานเอกชน จะมีหลายระบบ หลายวิธีการทั้งรับสมัครคนเข้ามาเรียนก่อนค่อยให้เข้าสัมภาษณ์งาน หรือเอาไปสัมภาษณ์งานกับนายจ้างญี่ปุ่นก่อนแล้ว ถ้าผ่านค่อยให้เข้าเรียนก็มี ทั้งนี้ไม่ว่าจะวิธีการไหน การยื่นเอกสารหลังจากผ่านการคัดเลือกงานก็ต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือนทุกที่

นอกเหนือจากนี้ บริษัทจัดหางานเอกชนบางแห่ง ยังมีบริการหลังการขายดี เช่นการดูแลผู้ฝึกงานในญี่ปุ่นในกรณีที่มีปัญหา เกิดเหตุสุดวิสัยบางอย่างที่เป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งปกติ แรงงานไทยในต่างประเทศจะได้รับการดูแลจากทูตแรงงานประจำกงศุลไทยในญี่ปุ่นอยู่แล้ว (ทั้งประเทศมีทูตแรงงานไทยคนเดียว) แต่หากไม่ใช่กรณีร้ายแรงมาก ๆ ปกติสหกรณ์ที่ดูแลผู้ฝึกงานจะช่วยจัดการปัญหาให้ได้

ปัญหาอื่น ๆ เช่นเรื่องประสบการณ์จริงในญี่ปุ่น คงจะต้องให้หลาย ๆ คนเข้ามาแชร์กัน เพราะแต่ละคนก็เจออะไรต่างกันไป



ไปแล้วจะคุ้มไหม

เรื่องความคุ้มค่าในการไปฝึกงานญี่ปุ่น ก่อนอื่นต้องถามความต้องการของตัวเองก่อนนะครับว่า อยากไปฝึกงานญี่ปุ่นเพื่ออะไร โดยผมจะขอสรุปเป้าหมายจากการที่ได้พูดคุยกับคนที่เข้ามาปรึกษาแยกเป็นหัวข้อดังนี้

1. ไปเพื่อเงิน
แน่นอนว่า ทุกคนต้องการงาน ต้องการเงิน จากข้อมูลข้างต้น เราจะได้รับรายได้สุทธิในญี่ปุ่น 3 ปี ประมาณ 1 ล้านบาท ไม่รวม OT บางบริษัทมีงานเยอะ ก็ให้ทำโอเยอะ ผู้ฝึกงานบางคนได้เงินเดือนรวม OT แตะ 70,000 บาท ต่อเดือนก็มี แต่ก็ต้องแลกด้วยการทำงานที่หนักมากเช่นกัน ซึ่งเราจะไม่สามารถเลือกบริษัทที่จะไปฝึกงานได้ นายจ้างจะเป็นคนเลือกเรา ใครที่หวังจะเก็บเงินก้อนกลับมาสัก 4-5 แสนก็อาจทำได้ ถ้าใช้ชีวิตในญี่ปุ่นประหยัดมาก ไม่เที่ยว ไม่ฟุ่มเฟือย แต่บางคนไม่มีต้นทุน ต้องไปหากู้หนี้ยืมสินมาจ่ายก่อนไป พอไปถึงญี่ปุ่น ทำงานก็ต้องแบ่งเงินมาใช้หนี้ หรือถ้าเก่ง โชคดีสอบติด IM JAPAN ได้ก็สบายหน่อย ไม่ต้องเสียเงินหลักแสน

2. ไปเพื่อเอาประสบการณ์ ความรู้
อีกเรื่องที่ทุกคนได้แน่นอนคือประสบการณ์ แม้จะทำงานหน้าเดียวซ้ำ ๆ ตลอด 3 ปี แต่คุณจะได้รับแนวคิด ซึมซับวัฒนธรรมการทำงานกับคนญี่ปุ่นมาแน่นอน เมื่อมาสมัครงานต่อในไทย ประสบการณ์เหล่านี้จะมีค่ามากกว่าวุฒิที่จบมา คนที่ทำงานแล้วจะเข้าใจดีว่าสิ่งที่เรียนรู้จากโรงเรียน วิทยาลัย เมื่อเข้าสู่การทำงานจริงก็ต้องไปปรับใช้ เรียนรู้เพิ่มอีกมาก

3. ไปเพื่อพัฒนาชีวิต
สิ่งที่สำคัญที่สุด สำหรับคนที่มีเป้าหมายอยากไปเพื่ออยากให้ชีวิตดีขึ้นคือ ภาษาญี่ปุ่น จากประสบการณ์ของเจ้านายผมที่ผ่านมากว่า 16 ปี คนที่ผ่านการอบรมนับ 3,000 คน มีส่วนน้อยมากที่กลับมาแล้วหาทางต่อยอดสู่งานระดับสูงเงินเดือนหลักแสนได้ และส่วนหนึ่ง สามารถเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นกลับมาใช้ในการทำงานเป็นล่ามโรงงาน พนักงานบริษัทญี่ปุ่นในไทย เงินเดือนเริ่มต้นประมาณ 20,000-30,000 บาท และไต่เต้าขึ้นสู่ระดับผู้จัดการได้แม้จะจบวุฒิ ปวช. ปวส. ก็ตาม 

จะไปแล้วดีจริงไหม คุ้มไหม ฟังจากประสบการณ์คนที่ไปมาแล้วดีก็จริง แต่บางทีสภาพแวดล้อมของเราอาจแตกต่างกับเขา จึงมีหลายปัจจัยที่ต้องศึกษา พิจารณาด้วยตนเอง

สำหรับใครที่ไปมาแล้ว มีประสบการณ์เกี่ยวกับการฝึกงานที่ญี่ปุ่นอยากแชร์ให้คนที่สนใจ ก็เชิญคอมเม้นได้นะครับ คนที่สงสัย ทึ้งคำถามไว้ได้เหมือนกันนะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่