EP22 อัจฉริยะผู้ทุ่มเท (โลซกกับยุทธศาสตร์ความสำเร็จของกังตั๋ง)

EP22 อัจฉริยะผู้ทุ่มเท (โลซกกับยุทธศาสตร์ความสำเร็จของกังตั๋ง)

เนื้อหายาวไปมีคลิปเสียงเล่าให้ฟังครับ
https://youtu.be/u-yhcM6nc84
ในตอนที่แล้ว เราพูดถึงซุนกวนตัดสินใจเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่ต่อต้านโจโฉ ซึ่งการตัดสินใจในครั้งนี้ ได้ผ่านการไตร่ตรอง ใคร่ครวญไว้ก่อนแล้ว และจากการเจรจาทางการฑูลของจูกัดเหลียง ขงเบ้งนั้น ก็เป็นเพียงแค่องค์ประกอบในการตัดสินใจของซุนกวนเท่านั้นเอง และถ้าหากเป็นแบบนี้ แท้จริงแล้วคนๆนี้ คือใครกัน
ซึ่งว่ากันว่า ในตอนนั้นก่อนที่ซุนกวนจะได้พบกับขงเบ้ง โจโฉได้เขียนจดหมายฉบับนึงถึงซุนกวน ด้วยเนื้อหาในจดหมายที่ว่า “บัดนี้ข้าโจโฉ จัดทัพ ทหารเรือแปดแสน คิดไปล่าสัตว์ที่แดนอู๋(ง่อ)” ทำให้ขุนนางต่างๆ ในกังตั๋ง ต่างก็อกสั่นขวัญหาย คิดจะยอมแพ้

อ.อี้จงเทียน แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า จดหมายฉบับนี้ อาจจะไม่มีจริง เหตุผลก็คือ ในจดหมายเหตุสามก๊ก ของ เฉินโซว่ ไม่มีบันทึกเรื่องนี้ไว้ มีบันทึกไว้เพียงแค่ ในเชิงอรรถสามก๊กของเผยซงจือ เท่านั้น ซึ่งจดหมายของโจโฉฉบับนี้ ถือได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก และเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจของฝ่ายซุนกวนในขณะนั้น  แล้วเหตุใด เรื่องใหญ่เช่นนี้ เฉินโซว่จึงไม่กล่าวถึง นี่คือ ประการที่หนึ่ง

ประการที่สอง “บัดนี้จัดทัพทหารเรือแปดแสน” คำพูดแบบนี้ ใช่ว่าจะเชื่อถือได้ ซึ่งในบันทึกจดหมายเหตุบอกว่า โจโฉนั้นมีทหารบก ทหารเรือ รวมกันยังไม่ถึงแปดแสน แล้วจะเอาทหารเรือแปดแสนมาจากไหน หรือหากจะเป็นการประกาศ ตักเตือนซุนกวนว่า ห้ามเข้ามายุ่งเรื่องการกำจัดเล่าปี่ ฟังดูก็ยังไม่สมเหตุสมผลอยู่ดี

เพราะถ้าหากมองถึงเมื่อครั้ง “เหลียวตง” ตอนนั้น อ้วนซงกับอ้วนฮีไปเข้าด้วยกับกองซุนคัง โจโฉไม่เข้าโจมตีในทันที แต่รอให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความระแวงกันเอง แล้วสุดท้ายกองซุนคัง ส่งหัวของอ้วนซงและอ้วนฮีมาให้โจโฉ 
แล้วทำไมตอนนี้ โจโฉถึงได้ส่งจดหมายไปหาซุนกวน ทำไมไม่รอให้ซุนกวนระแวงเล่าปี่ แล้วตัดหัวเล่าปี่มาให้โจโฉล่ะ เพราะถ้าหากโจโฉไล่บี้ กดดันซุนกวนด้วยจดหมายฉบับนี้ ก็อาจเป็นการเร่งให้ซุนกวนตัดสินใจว่า ต้องร่วมมือกันเล่าปี่เพื่อต่อต้านโจโฉ จึงอาจกล่าวได้ว่าจดหมายฉบับนี้ ยังไม่สมเหตุสมผลเท่าไรนัก
แต่ถ้าหากจดหมายฉบับนี้มีจริงล่ะ อ.อี้จงเทียนอธิบายเพิ่มเติมว่า ซึ่งโจโฉในเวลานั้น เรียกได้ว่า “หลงระเริง” กับความสำเร็จที่ผ่านมา โดยไม่สนใจว่า ซุนกวนกับเล่าปี่นั้น จะรวมเป็นพันธมิตรกันหรือไม่ก็ โจโฉไม่ใส่ใจ และยังคงมองว่า เด็กน้อยอายุ 27 อย่างซุนกวน ไม่ใช่คู่ต่อสู้และไม่อยู่ในสายตาของตนเองแน่ ดังนั้นจึงคิดจะจัดการซุนกวนและเล่าปี่ในคราวเดียวซะเลย 

แต่หากมองว่า เป็นเรื่องการ “เขียนเสือให้วัวกลัว” ตั้งใจเขียนข่มขู่ เพื่อให้ซุนกวนยอมแพ้โดยไม่ต้องรบ ถ้าเป็นอย่างนั้น จดหมายฉบับนี้ ก็เรียกได้ว่า ใช้ได้ผลดีเลยที่เดียว เพราะที่ปรึกษาใหญ่อย่าง เตียวเจียวและที่ปรึกษาคนอื่นๆ ต่างก็คิดจะยอมจำนน ซึ่งมีเพียงโลซกเท่านั้น ที่ไม่เห็นด้วยกับการยอมแพ้โจโฉในครั้งนี้
ในสถานการณ์ขณะนั้น พอซุนกวนรู้ข่าวเรื่องโจโฉยกทัพมาเกงจิ๋ว ก็เลยเรียกประชุมเหล่าขุนนาง แต่พอได้ฟังความเห็นของเหล่าที่ปรึกษาทั้งหลายแล้ว ต่างก็คิดยอมจำนน ซุนกวนนั้น จึงไม่กล่าวอะไรต่อ ได้แค่ลุก ออกมาจากที่ประชุมก่อน โลซกจึงเดินตามมา ซุนกวนรู้ได้ทันทีว่า โลซกนั้นมีเรื่องต้องการที่จะพูดเป็นการส่วนตัว และเป็นเรื่องที่ไม่สามารถพูดในที่ประชุมได้ โลซกกล่าวว่า

“นายท่าน หากทำตามคำแนะนำของ เตียวเจียวแล้วละก็ เรียกได้ว่าท่านหลงผิดอย่างมาก การยอมจำนนต่อโจโฉนั้น ว่าจะได้หรือไม่ ต้องดูว่า ผู้ยอมจำนนนั่นว่าคือใคร” “อย่างตัวข้าโลซกนั้น ยอมจำนนได้ เพราะอย่างมาก ข้าน้อยก็แค่กลับบ้านเดิม หรืออาจจะเริ่มต้นใหม่ ด้วยการรับตำแหน่งเล็กๆ เป็นขุนนางในท้องถิ่นก็ได้ แล้วจึงไต่เต้า สร้างความดีความชอบ เพื่อเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง สร้างความก้าวหน้าให้กับตัวเอง” 

“แต่นายท่านเองล่ะ เมื่อจำนนต่อโจโฉแล้ว จะหวังคืนถิ่นสงบ ณ ที่ใด นายท่านนั้นจะมีที่ให้ไปหรือ ดังนั้น คนอื่นยอมจำนนได้ มีเพียงนายท่านคนเดียวเท่านั้น ที่ยอมไม่ได้” 

คำพูดของโลซกนั้น ช่างเสียดแทงใจซุนกวนยิ่งนัก และกับคำพูด คำนี้ ซุนกวนตั้งใจแน้วแน่กับความคิดที่จะต่อต้านโจโฉ และพร้อมที่เดินตามเกมการเมืองในแนวทางของโลซก หลังจากนั้นโลซกจึงกลายเป็นปรึกษาคนสำคัญของซุนกวน ในการต่อต้านโจโฉทันที
ดังนั้น “โลซก” คนนี้ จึงเป็นคนสำคัญที่วางรากฐาน ยุทธศาสตร์ต่างๆ และแนวทางการเมืองให้กับซุนกวน ซึ่งโลซกเองเคยพูดเรื่องนี้ไว้ ตั้งแต่มาเข้าร่วมกับซุนกวนใหม่ๆ ก็คือ ตั้งแต่ปีเจี้ยนอันศกที่ 5 ก่อนขงเบ้ง จะพบกันกับเล่าปี่ที่หลงจง ถึง 7 ปี 

ตอนนั้น โลซกแนะนำซุนกวนว่า ยุทธศาสตร์ของกังตั๋งนั้น จำเป็นต้องตั้งมั่นแล้วรอดูการเปลี่ยนแปลง สถานการณ์ในแผ่นดิน โดยการตั้งมั่นนี้ ไม่ใช่แค่ตั้งรับเพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้การโจมตีเพื่อป้องกันอีกด้วย และเมื่อสบโอกาสแล้ว จำเป็นต้องขยายดินแดนโดยเริ่มต้นยึดเกงจิ๋วก่อน แล้วจึงขยายอำนาจไปที่เสฉวน แบ่งเส้นดินแดนเป็นเหนือและใต้ แล้วจึงตั้งตนเป็นฮ่องเต้ แย่งชิงอำนาจกับโจโฉ นี่คือ “ยุทธศาสตร์ยี่ภู่”ของโลซก ที่วางไว้ให้กับซุนกวน 

แต่ซุนกวนในตอนนั้นก็ไม่ทำตามคำแนะนำของโลซก เพราะว่า ซุนกวนเอง ก็เพิ่งจะเข้ามารับตำแหน่ง ใหม่ๆ อายุเพียงแค่ 17-18 เท่านั้น รากฐานอำนาจทางการเมืองก็ยังไม่มั่นคง จึงไม่ได้ทำตามยุทธศาสตร์นี้ในเวลานั้น  แต่ในเวลานี้ ซุนกวนเจนจัดเรื่องการเมือง อำนาจการบริหารในตอนนี้ เรียกได้ว่า มีอำนาจอยู่ในมือแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องรออีกต่อไป

และเมื่อยุทธศาสตร์ของโลซกนั้น มีเงื่อนไขอยู่ว่า เริ่มต้นด้วยการยึดเกงจิ๋วก่อน ดังนั้นเกงจิ๋วต้องอยู่ในมือของเล่าเปียว ไม่ใช่อยู่ในมือของโจโฉ แต่เมื่อเล่าเปียวตาย โจโฉได้เกงจิ๋วไป ซุนกวนจึงยอมไม่ได้ที่จะให้เป็นแบบ 
ดังนั้นซุนกวนจึงไม่เหตุผลใด ที่ต้องยอมจำนนต่อโจโฉ จึงกล่าวได้ว่า ทางเลือกของซุนกวนนั้น มีแค่สองทางเท่านั้น คือ ทางนึงต่อต้านโจโฉโดยร่วมมือกับเล่าปี่ และอีกทางนึง ก็คือ ต่อต้านโจโฉโดยที่ไม่ร่วมมือกับเล่าปี่ ซึ่งทำให้ซุนกวนจึงได้ยังคงลังเลอยู่ในเรื่องนี้

และการจะร่วมมือกับเล่าปี่นั้น ไม่มีใครจะตอบได้ดีที่สุด นอกจากจูกัดเหลียง เมื่อซุนกวนคุยกับขงเบ้งจบแล้ว ความลังเลจึงหมดไป ตัดสินใจทุบโต๊ะ ยืนขึ้นตอบรับเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่ทันที 

ซึ่งในวรรณกรรมนั้น ทำเหมือนกับว่าซุนกวนนั้น ตัดสินใจโดยที่ยังไม่ได้ไตร่ตรองอะไร และก็คล้อยตาม กับคำพูดของขงเบ้ง แต่หากมองตามนี้แล้ว ซุนกวนได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน ตามคำแนะนำของโลซกเรียบร้อยแล้ว  ขงเบ้งจึงเป็นเพียงแค่องค์ประกอบในการตัดสินใจของซุนกวนเท่านั้นเอง โลซกจึงควรได้รับความชอบในเรื่องนี้มากที่สุด 
และยังมีหลักฐานกับความดี ความชอบของโลซกในครั้งนี้ ก็คือ

หนึ่ง คือ หลังศึกเซ็กเพ็ก ซุนกวนจัดงานเลี้ยงรับรองอย่างยิ่งใหญ่ และออกไปต้อนรับการกลับมาของโลซกด้วยตนเอง ซุนกวนจึงเอ่ยถามโลซกว่า “ในวันนี้ ข้าให้ท่านได้เกียรติเต็มที่แล้วหรือยัง” โลซกกลับตอบว่า “เท่านี้ยังไม่พอ” เหล่าบรรดาขุนนางต่างๆ ตกใจกับคำพูดของโลซก และโลซกก็เดินเข้าไปหาซุนกวนแล้วกล่าว ต่อว่า “ข้าน้อยหวังว่า สักวันนายท่านจะได้รับตำแหน่งสูงสุด สยบใต้หล้า รวมแผ่นดินได้เป็นหนึ่ง และเมื่อถึงตอนนั้น ขอให้นายท่านนำรถเทียมม้ามารับข้าโลซก นั่นถึงจะเป็นการได้รับเกียติรเต็มที่” ซุนกวนได้ฟังก็ชอบใจ หัวเราะเป็นการใหญ่ 

สอง คือ เมื่อซุนกวนตั้งตัวเป็นฮ่องเต้ โดยหลังจากศึกเซ็กเพ็ก 22 ปี ซึ่งตอนนั้นโลซกไม่อยู่แล้ว ซุนกวนอยู่บนแท่นพิธีการ โดยซุนกวนกล่าวต่อหน้าทุกคนว่า “ทุกท่าน รู้หรือไม่ว่าโลซกนั้นรู้ว่า ข้าจะมีวันนี้ตั้งนานมาแล้ว เขานั้น ช่างรู้แจ้งหมดจรดยิ่งนัก” นี่คำสรรเสริญ โลซก จากปากของซุนกวนในวันที่ตั้งตัวเป็นฮ่องเต้

สาม คือ เมื่อตอนหลังซุนกวนเป็นฮ่องเต้แล้ว เหล่าบรรดาขุนนางต่างๆ ก็เข้ามาแสดงความยินดี และเตียวเจียวที่ปรึกษาใหญ่ก็มาร่วมยินดีด้วย และเตียวเจียวก็จะเข้าไปอวยพรให้กับซุนกวน แต่ซุนกวนกลับยกมือห้ามไว้ แล้วบอกว่า “ช้าก่อนท่านเตียวเจียว ไม่ต้องพูดก็ได้ เพราะถ้าหากตอนนั้น ข้าฟังคำท่านแล้ว อย่าว่าจะได้เป็นฮ่องเต้เลย น่ากลัวว่าตอนนี้คงได้ไปเป็นขอท่านแล้วหละ” และนี่คือสามหลักฐานความสรรเสริญ ความดีความชอบของโลซก 

ดังนั้น คนที่สร้างผลงานในครั้งนี้มากที่สุด จึงควรเป็นโลซก และเมื่อโลซก ช่วยซุนกวนคำนวนเรื่องแนวทางการเมือง กำหนดยุทธศาสตร์ต่อต้านโจโฉแล้ว แต่ด้วยกำลังที่น้อยกว่า ก็ใช่ว่าจะทำศึกชี้ชะตากับโจโฉได้ง่ายๆ แล้วใครกันที่จะช่วยซุนกวน คำนวนเรื่องการศึกและการทหาร พบกันตอนหน้ากับ EP 23 เสาหลักต้านกระแส
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่