ภวังคจิตเป็นอัพยากต เป็นทุกขสัจจะ

ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่ว่าพระพุทธเจ้า
พระปัจเจกพุทธเจ้าหรือพระอริยสาวก 
โดยที่สุดกระทั่งมดดำมดแดงทั้งหมด
ย่อมทำกาละด้วยอัพยากตทุกขสัจจะอันเป็นภวังคจิตทั้งนั้น ฉะนี้แล

http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=620

-----------------------------------------------------------------------------------
แค่ไม่กี่บันทัดข้างต้นนี้ มีการกระทู้ซ้ำๆ กันมาเป็นอาทิตย์
วันนี้พอว่าง ก็เลยตัดท่อนบางท่อนมาร่วมสนทนากันตามกาลครับ

ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่ว่าพระพุทธเจ้า
พระปัจเจกพุทธเจ้าหรือพระอริยสาวก
โดยที่สุดกระทั่งมดดำมดแดงทั้งหมด

ที่อรรถกถาจารย์อธิบายมาแบบนี้ ก็เพราะ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ที่นำมาเกิด
ซึ่งก็รวมถึงผลของกรรมด้วยที่นำเกิดด้วย ไม่เว้นแม้แต่เจ้าชายสิทธัตถะ
บุคคลที่ก่อนจะบรรลุพระปัจเจกฯ พระสาวกก่อนที่จะบรรลุอรหันต์ หรือมดดำ มดแดง

กล่าวให้ชัดก็คือ สิ่งมีชีวิตในโลกที่เกิดได้ ก็เพราะอวิชชา ตัณหา อุปาทาน

แต่เมื่อเกิดมาแล้ว สามารถละวาง อวิชชา ตัณหา อุปาทานกันได้แค่ไหน
นั่นก็จะเป็นปัจจัยในการเกิดของชาติหน้า ว่าจะเป็นอย่างไร

หรือถ้าละวางอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ได้หมดจด เด็ดขาด การเกิดขึ้นของขันธ์ 5 ก็จะไม่มีเลย
เพราะปัจจัยในการเกิดขึ้นของสภาพธรรมทั้งปวงนั้น คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน(กรุณาดูปฏิจจสมุปบาท)
ถ้าหมดสิ้นไปแล้ว เมื่อปัจจัยไม่มี สภาพธรรมที่ต้องพึ่งพาปัจจัยอย่างเช่นขันธ์5 ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้

ย่อมทำกาละด้วยอัพยากต
ตอนที่อวิชชา ตัณหา อุปาทานพามาเกิดนั้น จิตขณะนั้นเป็นวิบาก
อัพยากตธรรมในขณะแรกเกิดมีอะไรบ้างคือ
รูปที่เกิดจากกรรม1 เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณที่เป็นชาติวิบากทั้งหมด

กาละ แปลว่าตาย แล้วตอนตายทำไมต้องเป็นอัพยากต

ที่เป็นอัพยากต ก็เพราะเป็นไปตามชาติของจิตในขณะนั้น
จิตเป็นเช่นใดนามธรรมทั้งหมดก็เป็นเช่นนั้น
จิตเป็นชาติอกุศล เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ต้องเป็นอกุศล
จิตเป็นชาติกุศล เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ต้องเป็นกุศล
จิตเป็นชาติวิบาก เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ต้องเป็นวิบาก
จิตเป็นชาติกิริยา เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ต้องเป็นกิริยา

คำว่าอัพยากตมีอะไรบ้าง มี นามขันธ์ชาติวิบาก1
นามขันธ์ชาติกิริยา1 รูป1 และนิพพาน1

ในที่นี่ คำว่าอัพยากต ที่อรรถกถาจารย์หมายถึง
คือภวังคจิตที่เป็นชาติวิบาก ซึ่งรายละเอียดของภวังคจิตนี้
จะเล่าให้ฟังต่อไปในเนื้อหาต่อไปครับ

ทุกขสัจจะ
ทุกขสัจ ไม่ได้หมายถึงความทุกข์ ความเศร้า อะไรๆ เพียงเท่านั้น
แต่รวมถึง "ชาติ" หรือการเกิดขึ้นของสภาวะธรรม ในที่นี้ คือขันธ์ 5 นี่แหละ
การ "รู้ทุกข์" ในอริยสัจ จึงหมายถึงการรู้ในสภาพธรรมที่กำลังมี กำลังเป็นอยู่นี่
โดยยังไม่ต้องมีความทุกข์ก็ได้ แม้แต่กำลังมีความสุขอยู่ ก็เป็นทุกขสัจ
คือความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปของสภาพธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งให้มี ให้เป็น ในสุขเวทนานั้น
ดังนั้น ขันธ์ 5 จึงเป็น ทุกขสัจโดยชาติ โดยการเกิดขึ้น

ภวังคจิต
แอคทิวิตี้ของจิตในพุทธศาสนา แบ่งหลักๆ มีสองวิถี
คือวิถีจิต1  และ วิถีมุตตจิต1
หรือก็คือ ภวังคจิต และ จิตอื่นๆ ที่ขึ้นวิถีไปเสพอารมณ์อื่นนั่นแหละ
ภวังคจิตก็ต้องมีอารมณ์ให้รู้ ไม่งั้น ไม่สามารถมีจิตใดๆ เกิดขึ้นได้ 

แต่เพื่อการพูดให้ชัดลงไปถึงขณะจิต
จึงมีการแบ่งช่วงจังหวะเวลาของภวังคจิตออกเป็นสามช่วง
คือช่วงปฏิสนธิ ช่วงภวังค์ และช่วงจุติ
แต่ทั้งสามช่วงนั้นกล่าวหยาบๆ ก็เป็นภวังจิตทั้งสิ้น รู้อารมณ์เดียวกัน
และเป็นจิตประเภทเดียวกันทุกอย่างเลย
ต่างกันก็แค่จิตแรก กับ จิตสุดท้ายของชาตินี้เท่านั้นแหละ

ดังนั้นทั้งสามช่วง อย่าไปติดศัพท์แสงให้งุนงง
จำง่ายๆ เอาไว้เพียงอย่างเดียวว่า ปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติจิตในชาติปัจจุบัน
รู้อารมณ์ของชวนะวิถีสุดท้ายก่อนตายในชาติก่อน
ส่วนจะไปเกิดเป็นอะไรไม่ใช่เรื่องของปฏิสนธิ ภวังค์หรือจุติจิต
แต่เป็นเรื่องของกรรมที่ให้ผล ในขณะแห่งจิตขึ้นสู่วิถีและเป็นช่วงชวนะวิถีสุดท้ายนั่นเอง

ชวนะวิถีสุดท้ายจะนำให้ไปเกิด
ถ้างงอยู่ จะอธิบายว่า วิถีจิตมีสองวิถี คือจิตที่ขึ้นวิถี
กับจิตที่ไม่ได้ขึ้นวิถี ตัวที่รู้ชวนะสุดท้ายคือจิตที่ขึ้นวิถีในช่วงชวนะวิถีนั้น
จิตพวกนี้ คือจิตที่ทำกุศล ทำอกุศล หรือเป็นกิริยาแบบพระอรหันต์

จิตที่ขึ้นวิถีที่เป็นชวนะสุดท้ายนั่นแหละที่พาไปเกิดก่อน
เมื่อได้ที่เกิดแน่นอนแล้วก็ตกภวังค์มารู้อารมณ์เก่าที่เป็นชวนะวิถีสุดท้ายของชาติก่อน งงมั๊ย ?

เช่นชวนะวิถีสุดท้ายของชาติที่แล้วดันมีแมวเป็นคตินิมิตกรรมนิมิต
ปฏิสนธิจิตชาตินี้เลยเป็นแมว ภวังคจิตก็เป็นแมว เป็นไปได้ยากที่แมวตัวนั้นจะตายด้วยจิตที่เป็นเทวดา
เกิดมายังงัยก็ตายไปยังงั้น ดังนั้น จุติจิตก็ยังคงเป็นแมวอยู่นั่นเอง

แต่ประเด็นมันอยู่ที่ชวนะวิถีสุดท้ายก่อนตายที่สามารถนำไปเกิดได้นี่แหละ
(กรุณาอย่าสับสน ผลของกรรม ก็มาจาก อวิชชา ตัณหา อุปาทาน นั่นแหละ)

ถ้าแมวตัวนี้ดันนึกถึงเทวดาก่อนตาย หรือความดีที่สามารถเป็นเทวดา ไอ้ตอนที่นึกถึงนั่นเองคือขณะชวนะวิถีสุดท้าย
ชวนะวิถีสุดท้ายนี่แหละจะส่งผลให้ปฏิสนธิจิตของชาติหน้าเป็นเทวดาเลย มีอารมณ์เป็นเทวดา,
ภวังคจิตก็เป็นเทวดา, และก็ตายด้วยความเป็นเทวดานั่นเอง เรียกว่า เกิดมายังงัยก็ไปยังงั้น

เมื่อรู้พื้นฐานการเกิดตายของบุคคลทั่วไปมาพอประมาณแล้ว
คราวนี้มาพูดกันถึงพระพุทธเจ้า, พระปัจจกฯ, พระอรหันต์ บ้าง
แต่จะขออิงตำราพระอภิธัมมัตถฯ เพราะคัมภีร์ในชั้นพระไตรปิฎก
และชั้นอรรถกถามีแค่เพียงเล็กน้อย

ซึ่งมีรายละเอียดพอสมควรครับ จึงไม่ขอเอาออกมาจากความจำของตนเอง
แต่จะก๊อปปี้มาให้อ่านก็แล้วกัน

จากพระอภิธัมมัตถฯ ปริจเฉทที่ 8 "วิถีสังคหวิภาค"

พระอรหันต์ทั้งหลาย ไม่ปรินิพพานทางปัญจทวารมรณาสันนวิถี แต่ ปรินิพพานทางมโนทวารมรณาสันนวิถีทางเดียว และไม่มีกรรมอารมณ์ กรรมนิมิต อารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์เลย (เพราะละอวิชชา ตัณหา อุปาทานได้หมดสิ้น)
มรณาสันนวิถีของพระอรหันต์นับได้ว่ามี ๕ อย่าง คือ

๑. กามชวนมรณาสันนวิถี คือ จุติจิตเกิดขึ้นต่อจากชวนะที่เป็นมหากิริยา อย่างนี้นับว่าเป็นการปรินิพพานอย่างธรรมดาสามัญ
๒. ฌานสมนันตรวิถี คือ จุติจิตเกิดขึ้นต่อจากฌานสมาบัติวิถี
๓. ปัจจเวกขณสมนันตรวิถี คือ จุติจิตเกิดขึ้นต่อจากวิถีที่พิจารณาองค์ฌาน
๔. อภิญญาสมนันตรวิถี คือ จุติจิตเกิดขึ้นต่อจากอภิญญาวิถี ที่แสดงอิทธิ ฤทธิต่าง ๆ
๕. ชีวิตสมสีสี คือ จุติจิตเกิดขึ้นต่อจากการพิจารณา มัคค ผล นิพพาน และกิเลสที่ประหารสิ้นแล้ว

ดังเนื้อหาข้างบน
จึงชัดเจนว่า ไม่ว่าจิตไหนๆ จิตปุถุชน หรือจิตพระพุทธเจ้า
ต่างก็มีลักษณะไตรลักษณ์ทั้งสิ้น ส่วนประโยคต้นกระทู้ พระพุทธเจ้าจะมีลีลาปรินิพพานด้วยมรณาสันวิถีไหน
ก็เชิญพิจารณากันไปได้เลยครับ แต่ไม่ใช่การรวมพลังครั้งสุดท้ายเพื่อเข้าไปในพระนิพพานแน่ๆ ครับ
พุทธศาสนาไม่ใช่พราหมณ์ หรือเทวนิยม

จบ. 
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่