เงินถุงแดง อิสรภาพสยาม แลกด้วยค่าไถ่ 3 ล้านฟรังก์ใน ร.ศ.112 . เอาเหรียญ ไม่เอาธนบัตร สยามหาไม่ได้จะได้หาข้ออ้างยึด

ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) กรุงเทพมหานครถูกยึดครองเป็นเวลาถึง ๑๒ วัน ด้วยกองเรือรบติดอาวุธของฝรั่งเศส


อย่างหมดหนทางต้านทานจากฝ่ายไทย ชาวบ้านร้านตลาดพากันอพยพหนีภัยกันจ้าละหวั่นด้วยความแตกตื่นตกใจ
 แม้แต่พระปิยมหาราชยังทรงเสียพระราชหฤทัยจนประชวรหนักและหยุดเสวยพระโอสถ ทรงสิ้นหวังรันทดท้อขนาดมีพระราชนิพนธ์โคลงฉันท์ “ส่งไปลา” เจ้านายพี่น้องบางพระองค์อย่างหมดอาลัยในพระชนมชีพ ไม่มีพระราชประสงค์ดำรงอยู่อีกต่อไป ทรงอดสูพระทัยที่ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ที่เลวร้ายให้ดีขึ้นได้

        จนมีข่าวลืออันอัปยศแพร่สะพัดไปในหมู่ชาวต่างด้าวว่า “พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงสั่งให้ขนพระราชทรัพย์ลงบรรทุกเรือพระที่นั่ง และเตรียมพร้อมที่จะเล็ดลอดหลบหนีออกไปจากเมืองหลวงในเวลากลางคืน เพื่อให้รอดพ้นภยันตรายต่างๆ”

จากปากคำของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) วีรบุรุษนักรบผู้ถือดาบอาญาสิทธิ์ของพระปิยมหาราช เล่าถึงบรรยากาศอันน่าสะพรึงกลัวระหว่างการระดมพลเพื่อปกป้องพระนครไว้เป็นครั้งสุดท้ายก่อนถึงกำหนดเส้นตาย พระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินลงมาพบแล้วยกพระหัตถ์วางบนบ่าท่านแม่ทัพ พร้อมกับมีพระราชดำรัสอย่างหวั่นพระทัยว่า “ในวันนี้แหละไม่เราก็เขาแล้ว”

เส้นตายนั้นคือการตอบรับอย่างไม่มีเงื่อนไขใน ๔๘ ชั่วโมงตามข้อเรียกร้องหินของฝรั่งเศส ในคำขาดนี้มีคำข่มขู่อันแข็งกร้าวปราศจากข้อต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น ให้ทรงตัดสินพระทัย ชนิดที่ไม่มีทางออก โดยให้มอบผืนแผ่นดินในพระราชอาณาเขตบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง พร้อมด้วยเงินค่าไถ่เป็นค่าปฏิกรณ์สงครามที่ฝ่ายไทยถูกกล่าวหาว่าก่อขึ้นก่อนโดยการเปิดฉากยิงเรือฝรั่งเศส คิดเป็นเงินสดจำนวนทั้งสิ้นรวม ๕,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์ และให้วางในทันทีก่อน ๑๘.๐๐ น. ของเย็นวันที่ ๒๒ กรกฎาคมศกนั้น มิฉะนั้นกระสุนจากปืนใหญ่บนเรือรบที่ทันสมัยที่สุดจะถูกสั่งให้ระดมยิงเข้าไปในพระที่นั่งจักรีอย่างไม่ปรานีอีกต่อไป

________________________  

https://www.silpa-mag.com/history/article_10723

http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C_%E0%B8%A3.%E0%B8%A8._112

______________________________________

ความเป็นมาของราชอาณาจักรล้านช้าง ก่อน ร.ศ. ๑๑๒ นั้นไม่มีการแบ่งเป็นฝั่งซ้ายฝั่งขวา ไม่มีแยกเป็นฝั่งลาวฝั่งไทย แต่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดินแดนของประเทศลาวในปัจจุบันกับภาคอีสานของไทย เดิมเป็นแผ่นดินเดียวกัน ทั้งในด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาพูด ขนบธรรมเนียมประเพณี ต่างก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเดียวกัน คือรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ไทยปกครองแคว้นลาวแบบประเทศราช คือกิจการภายในไทยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย พระมหากษัตริย์ไทยทรงแต่งตั้งเชื้อพระวงศ์ชาวล้านช้างให้ปกครองกันเอง โดยทางเหนือหลวงพระบางเป็นเมืองใหญ่ที่สุดเป็นผู้ดูแล ตอนกลางมีเวียงจันเป็นผู้ดูแล ทางใต้มีจำปาศักดิ์เป็นผู้ดูแล

ต่อมา ม. ปาวี เสนอรายงานที่ทำให้คณะรัฐบาลกรุงปารีสตาลุกอย่างหิวกระหาย เขาบรรยายว่าล้านช้างเป็น “แหล่งพลอยซัฟไฟร์ เหมืองแร่ทองคำขนาดมหึมา มีเหมืองทองแดงและเหมืองเหล็กที่ไม่มีวันหมด มีพลวง กำมะถัน ถ่านหิน และแหล่งน้ำแร่เป็นอันมากอยู่ทั่วไปทั้งประเทศ มีไม้สักและป่าไม้เบญจพรรณที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย” ทั้งยังเป็นจุดยุทธศาสตร์อันดับหนึ่งด้วย มีแม่น้ำโขงอันเป็นทางไปสู่แคว้นยูนนานของจีน มีคุ้งแควใหญ่น้อยเป็นทางลำเลียงออกสู่ทะเลทางตังเกี๋ยได้โดยง่าย

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436)

เมื่อฝรั่งเศสได้ครอบครองดินแดนสิบสองจูไทยแล้ว โดยที่ยังไม่มีการเจรจาปักปันเขตแดนกับไทยการเจรจานี้ได้ยุติลง เมื่อฝรั่งเศสมีนโยบายจะขยายอาณาเขตของตนออกไปจนถึงฝั่งแม่น้ำโขง โดยจะยึดดินแดนทั้งหมดบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ตั้งแต่ภาคเหนือของลาวจนถึงชายแดนเขมร เมื่อฝรั่งเศสยึดดินแดนสิบสองจูไทยได้นั้น ก็เริ่มสำรวจดินแดนลาวอีกครั้ง และสร้างอิทธิพลในหมู่ชาวลาวด้วยการผูกมิตรและหาเหตุมาขัดแย้งกับไทยอยู่เสมอ ฝ่ายไทยเห็นว่าฝรั่งเศสต้องการยึดดินแดนเพิ่มจึงเตรียมรับมือ เช่นปรับปรุงการปกครองหัวเมืองฝ่ายตะวันออกให้เข้มแข็งรัดกุมขึ้น โดยเฉพาะเมืองจำปาศักดิ์ หนองคาย และหลวงพระบาง การเกณฑ์ทหารและเตรียมการป้องกันชายแดน

ฝรั่งเศสจึงฉวยโอกาสว่าไทยเตรียมจะทำสงคราม และแต่งตั้งนายโอกุสต์ ปาวี เป็นราชทูตประจำกรุงเทพฯ ซึ่งสร้างความวิตกให้กับฝ่ายไทย เพราะนายปาวีรู้จักดินแดนเขมรและลาวในทุกๆด้าน และเป็นนักจักรวรรดินิยม เมื่อนายโอกุสต์ ปาวีเข้ามารับตำแหน่งก็เริ่มการเจรจาปัญหาเก่าๆกับกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งเรื่องการปักปันเขตแดนสิบสองจูไทย โดยจะนำแผนที่มาแสดงเขตแดนของตน แต่ต่อมานายโอกุสต์ ปาวี ก็หาเหตุไม่ยอมเจรจาด้วยอ้างว่าทหารไทยบุกรุกดินแดนส่วนนั้นของฝรั่งเศสทำให้การเจรจาล้มเลิกไป ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2436นายโอกุสต์ ปาวี ได้ประกาศว่าฝรั่งเศสถือว่าดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงทั้งหมดเคยเป็นเมืองที่ส่งบรรณาการให้แก่ญวนมาก่อนจึงไม่เป็นส่วนหนึ่งของไทย พอถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสได้อ้างสิทธิครอบครองดินแดนลาวพร้อมกับส่งกองทัพเข้าไป

กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการจึงเสนอให้ตั้งอนุญาโตตุลาการตัดสินปัญหาต่างๆ ที่ไทยกับฝรั่งเศสเจรจาตกลงกันไม่ได้ ฝรั่งเศสไม่รับข้อเสนอนั้น และใช้นโยบายเรือปืนเพื่อบีบบังคับไทยโดยส่งเรือรบ เลอ ลูแตง (Le Lutin) เข้ามาจอดหน้าสถานทูตฝรั่งเศสซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อรอคำตอบจากรัฐบาลไทย ท่าทีคุกคามของฝรั่งเศสทำให้ไทยเร่งจัดการป้องกันกรุงเทพฯ และปากน้ำให้รัดกุมยิ่งขึ้น และทำการป้องกันรักษาพระราชอาณาเขตหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออก โดยส่งทหารไปประจำที่เกาะกง แหลมงอบ และสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้าที่แหลมฟ้าผ่า และขอความช่วยเหลือจากอังกฤษแต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ เพราะอังกฤษไม่ต้องการเข้าไปแทรกแซงระหว่างฝรั่งเศสกับไทย

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่