รถไฟเชื่อมสนามบิน ปัญหาต่อไปที่ซีพีต้องก่ายหน้าผาก

แม้ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มีมติอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แบบผ่านฉลุยไปแล้วเมื่อวันก่อน แต่ใช่ว่ากลุ่มซีพี ซึ่งชนะการประมูลโครงการ จะทำงานได้อย่างฉลุยราบรื่น เพราะขั้นตอนต่อไปจะต้องเจออุปสรรคอีกมาก อย่างในเรื่องของการส่งมอบพื้นที่ ที่ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน โดยทางรฟท.จะนัดเจรจากับกลุ่มซีพีในวันที่ 27 มิ.ย. นี้

สำหรับปัญหาการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนทำการก่อสร้างที่ยังไม่เคลียร์นั้น ก็เช่นเรื่องของการเวนคืนที่ดิน การเจรจากับชาวบ้านที่มาอาศัยพื้นที่ของการรถไฟฯ เป็นเวลานาน แล้วไม่ยอมย้ายออก การขนย้ายสิ่งกีดขวางออกจากพื้นที่ก่อสร้าง การขุดเจาะเส้นทางที่รถไฟพาดผ่าน จนไปถึงปัญหาภายในของรฟท.เอง โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่มักกะสัน ที่กลายมาเป็นความผิดของกลุ่มเอกชนที่ชนะการประมูล

ปัญหาหลายอย่างดูเหมือนจะแก้ยาก และบางอย่างมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งเป็นภาระที่เอกชนต้องแบกรับ แต่ดูเหมือนรฟท.และรัฐอยากให้เอกชนเซ็นสัญญาและทำงานส่วนที่ทำได้ไปก่อน เพื่อให้เป็นไปตามกรอบที่วางไว้ แล้วค่อย ๆ เคลียร์ปัญหาคู่ขนานกันไป ตรงนี้จึงอดห่วงเอกชนไม่ได้ว่า ถ้ายอมเซ็นสัญญาไปก่อน แต่ปัญหาไม่ถูกจัดการแก้ไข เอกชนเองจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ซึ่งจะมีผลเสียตามมามากมาย ที่ผ่าน ๆ มา เรามัวแต่ห่วงว่ารัฐจะเสียเปรียบเอกชน แต่โครงการนี้คิดดี ๆ เอกชนเสียเปรียบรัฐมากกว่า


ล่าสุด เลขาธิการอีอีซี นายคณิศ แสงสุพรรณ ได้แถลงว่า การส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนผู้ชนะโครงการนั้น ทาง รฟท. จะสรุปแผนการส่งมอบพื้นที่ในรายละเอียดที่ชัดเจนเป็นรายเดือนทั้งในส่วนแผนงานและงบประมาณเพื่อความชัดเจนในการดำเนินโครงการ ซึ่งการส่งมอบพื้นที่จะดำเนินการคู่ขนานไปพร้อมกับกระบวนการอื่น ๆ คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาร่วมทุนกับเอกชนได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้เน้นย้ำให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามแผนงานคือสามารถก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงให้แล้วเสร็จภายในปี 2566

“แม้จะมีพื้นที่ต้องเวนคืนแต่จะไม่กระทบการดำเนินโครงการ ซึ่งพื้นที่ต้องเวนคืนมีประมาณ 800 กว่าไร่ บริเวณโค้งฉะเชิงเทรา ตอนนี้เจรจากันจบหมดแล้ว และจะมีประมาณ 200 กิโลเมตร ที่มีการบุกรุกพื้นที่ด้านข้างแนวเส้นทางรถไฟ เพราะใช้เส้นทางเดิม ซึ่งเชื่อว่า รฟท. มีวิธีจัดการและการจ่ายเงินชดเชย แต่จะทำอย่างไรให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ขณะนี้เอกชนที่ชนะโครงการได้ขอแผนการทำงานว่าภายในช่วงของการก่อสร้างโครงการในระยะเวลา 2-3 ปี ภาครัฐจะส่งมอบพื้นที่ให้ได้อย่างไร”

จะว่าไปการที่กลุ่มซีพีได้โครงการนี้มาทำ ค่อนข้างเป็นทุกข์มากกว่ามีสุขด้วยซ้ำ เพราะที่ผ่านมามีแต่เรื่องตะกุกตะกักตลอด แถมต่อจากนี้จะต้องเจอปัญหาหนักอีกหลายขั้นตอน ที่สำคัญโครงการใช้งบลงทุนสูงมาก แต่เห็นทางคืนทุนได้ยาก ก็คงได้แค่เอาใจช่วย เพราะอยากให้โครงการนี้เสร็จสมบูรณ์ตามแผน จะได้มีของใหม่มาให้คนไทยใช้ และเป็นบันไดสู่ความเจริญอื่น ๆ ที่จะตามมา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่