เสร็จ100%สะพานรถไฟโค้งหล่อสำเร็จโครงการแรกในไทยทางคู่เด่นชัย-เชียงของ ‘โมเดลสวิส’

ที่มาของข่าว :-
https://www.dailynews.co.th/news/4140799/

รายละเอียด 
“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า วันที่ 29-30 พ.ย. 67 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามการก่อสร้างสะพานรถไฟโค้งหล่อสำเร็จ (Backfilled arch bridge) หรือทางลอดใต้ทางรถไฟแบบโค้ง (Railway Arch Culvert) บริเวณบ้านปงป่าหวาย อ.เด่นชัย จ.แพร่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของ BEBO Arch จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำมาใช้กับโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ สายเหนือช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 7.29 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการแรกของประเทศไทย

นายพิเชฐ ให้สัมภาษณ์ “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ว่า การก่อสร้างสะพานเริ่มในงานสัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม. แล้ว ใช้สะพานโค้งกว่า 20 จุด ส่วนสัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กม. และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กม. จะเริ่มเร็วๆ นี้ 

จากการติดตามพบว่า การใช้สะพานยังไม่มีข้อเสีย มีแต่ข้อดี ช่วยลดเวลาก่อสร้าง ใช้เวลาติดตั้งเพียง 3 วัน และค่าใช้จ่ายก่อสร้างถูกกว่ารูปแบบเดิมที่เป็นท่อลอดแบบเหลี่ยม (Box Culvert) รฟท. มีแผนนำไปใช้กับโครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-นครพนม ด้วย และอยู่ระหว่างพิจารณาหาวิธีการที่จะนำมาใช้กับโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เพราะโครงการนี้ สร้างอยู่บนทางรถไฟเดิมที่มีอยู่แล้ว ต่างกับทางคู่สายใหม่ จึงเป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายต้องทำให้ได้ เพราะช่วยทำให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างรวดเร็ว สะดวกและลดต้นทุน

“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ได้สัมภาษณ์ นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการฯ ให้รายละเอียดว่า งานสัญญาที่ 1 ได้ติดตั้งสะพานรถไฟโค้งหล่อสำเร็จแล้ว 8 สะพาน จากทั้งหมดประมาณ 22 สะพาน และมีแผนจะเพิ่มเติมอีก โดยใน 8 สะพานงานโครงสร้าง และถมดินเสร็จแล้ว 100% จำนวน 1 สะพาน บริเวณ กม.538+925 บ้านปงป่าหวาย อ.เด่นชัย จ.แพร่ รอทดสอบการใช้งานด้วยการนำโหลดที่มีน้ำหนักเทียบเท่ากับขบวนรถไฟ ประมาณ 20 ตันเพลา มาทดลองวิ่งผ่านบนสะพานแห่งนี้ ก่อนจะทำคันทาง และวางรางรถไฟต่อไป ส่วนอีก 7 สะพาน เตรียมการถมดิน

สะพานโค้ง มีความยาว 33.6 เมตร กว้าง 16.46 เมตร หนา 30.5 เซนติเมตร สูงจากพื้นถนนประมาณ 4 เมตร (จากเดิม 4.2 เมตร แต่ทำพื้นถนนในอุโมงค์สูงขึ้นมาอีก 20 เซนติเมตร) รถเกี่ยวข้าวยังคงผ่านได้ สำหรับขั้นตอนการทำสะพาน จะเริ่มจากการทำฐานราก จากนั้นจะนำชิ้นส่วนโค้งหล่อสำเร็จที่มีการหล่อชิ้นงานคอนกรีตที่โรงงานใน จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.สระบุรี มาประกอบกันในพื้นที่ก่อสร้าง ใช้เวลาติดตั้งประมาณ 3 วัน และหล่อคอนกรีตเชื่อมชิ้นงาน

ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการบดอัดดินต่อไป สามารถปิดการจราจรแบบวันต่อวันได้ ไม่จำเป็นต้องปิดเป็นเดือน ทั้งนี้ ปกติการก่อสร้างสะพานที่ผ่านมา 1 ตัว ต้อทำฐานราก เสาและวางคาน ใช้เวลาก่อสร้างจนแล้วเสร็จอย่างต่ำ 6-8 เดือน ช่วยลดระยะเวลาก่อสร้างได้เท่าตัว

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่