ประมูลรถไฟทางคู่ 9 หมื่นล้านส่อพิรุธอีก แฉรถไฟแฝงงบจัดซื้อเครื่องทุ่นแรงนับพันล้านให้เอกชนยืมใช้ ไม่สนข้อท้วงติง สตง.

กระทู้ข่าว
แหล่งข่าวภายในสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง รวมมูลค่ากว่า 98,160 ล้านบาท ที่ รฟท.อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขร่างขอบเขตการทำงาน (ทีโออาร์) ว่า แม้ รฟท.จะดำเนินการทบทวนร่างทีโออาร์ตามนโยบายกระทรวงคมนาคม เพื่อลบข้อครหาล็อคสเปคเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนบางราย แต่พบว่ายังคงมีการแฝงงบจัดซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องมูลค่านับพันล้านบาทเอาไว้ อาทิ การจัดซื้อ รางและประแจ 3,600 ล้านบาท และงานด้านอุปกรณ์เครื่องจักรมูลค่ากว่า 427  ล้านบาท ระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม 2,400 ล้านบาท ทั้งที่งานบางอย่างไม่ใช่เรื่องที่รฟท.จะลงทุนเอง

ทั้งนี้ข้อพิรุธสำคัญก็คือการกำหนดให้ผู้ชนะเลิศการประมูลต้องจัดหาหรือเช่าเครื่องจักรสำหรับใช้ในการก่อสร้างทางจำนวน 6 รายการได้แก่ รถอัดหินทางทั่วไป รถอัดหินในประแจ รถเกลี่ยหิน รถสั่นหิน รถโรยหิน และรถจักรหรือรถลากจูงโดยกำหนดให้รายการที่ 1-4 จะต้องเป็นของใหม่ที่ต้องส่งมอบให้การรถไฟหลังจากบริษัทฯได้ใช้ก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ ท่ามกลางข้อกังขาเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ใครกันแน่ ทั้งในการประชาพิจารณ์ ก็ยังไม่ลงรายละเอียดของสเปคอุกรณ์เหล่านี้แต่อย่างใด

ซึ่งสเปกเหล่านี้จะไปปรากฏตอนขายเอกสารประกวดราคา เท่ากับแสดงเจตนาปกปิดและมัดมือชกไม่ให้สาธารณะชนได้รับทราบ ทำให้เชื่อกันว่าน่าจะมีการล็อกสเปคจัดหาให้แก่บริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่งไว้แล้ว

"ที่ผ่านมาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยทำหนังสือท้วงติงมายังการรถไฟฯถึงความเหมาะสมในการแฝงงบจัดซื้อของซึ่งไม่มีอยู่ในระเบียบที่กำหนด และเห็นว่าการที่บริษัทก่อสร้างทางจะเข้ามารับงานนั้น ควรมีความพร้อมและมีการลงทุนจัดหาอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นของตนเอง มิใช่หน้าที่ของการรถไฟฯที่ต้องลงทุนจัดหาพัสดุให้ อีกทั้งของที่การรถไฟมอบให้เอกชนจัดหาให้นี้ เมื่อผ่านการใช้งานแล้วย่อมไม่ได้ของใหม่แต่อย่างใด เป็นการดำเนินการที่ขัดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างงานภาครัฐอย่างชัดเจน"

แหล่งข่าวสหภาพฯรฟท กล่าวด้วยว่าแนวในการผนวกการจัดซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องเข้าไปในร่างทีโออาร์ดังกล่าว เกิดขึ้นในสมัยอดีตผู้บริหารการรถไฟฯ ที่เป็นสายตรงจากรัฐบาลชุดก่อนที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับเอกชนรายใหญ่ที่ผูกขาดขายอุปกรณ์เครื่องจักรเหล่านี้ให้กับการรถไฟฯอยู่แล้วและที่สำคัญเอกชนรายนี้เคยมีเรื่องอื้อฉาวในโครงการก่อสร้างแอร์พอร์ต ลิ้งค์ ซึ่งปปช.ชี้มูลความผิดแล้ว ทำให้ถึงขั้นต้องเปลี่ยนชื่อบริษัทเพื่อหนีคดีฉาว

ก่อนหน้านี้การรถไฟฯก็กำหนดเงื่อนไขประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่พ่วงกับการจัดหาพัสดุอุกรณ์ที่ล็อคสเปคให้จัดซื้อจากบริษัทเอกชนรายนี้ไปแล้ว 2 เส้นทางและยังมีแผนจะดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ถึง 19 เส้นทางรวด ซึ่งหมายความว่าการรถไฟจะต้องสูญเสียงบประมาณจัดซื้อของเอื้อไปเกือบ 8,000 ล้านบาท ทั้งนี้โครงการเหล่านี้ยังถือเป็นท่อน้ำเลี้ยงที่เอกชนรายดังกล่าวยังคงส่งถึงอดีตรัฐบาลชุดก่อนชนิดเสือนอนกิน

คงต้องฝากไปยังผู้บริหารการรถไฟฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เร่งทบทวนเงื่อนไขทีโออาร์ ก่อนจะเสียท่าคนในกันเองและอาจทำให้การดำเนินโครงการรางคู่เกิดปัญหายืดเยื้อตามมาเพราะการกระทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการผลาญงบประมาณภาษีประชาชนไปแบบไม่รู้ตัว จึงควรทบทวนโครงการจัดหาอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องเหล่านี้ให้เป็นภาระของเอกชนในการจัดหาเพื่อแสดงถึงความพร้อมที่จะเข้ามารับงานก่อสร้างทางคู่ ซึ่งจะเป็นการประหยัดงบประมาณลงไปอย่างน้อยกว่า 8,000 ล้านบาท และหากการรถไฟมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรประเภทดังกล่าวจริงก็ควรแยกเปิดประมูลจัดหาอย่างเป็นธรรม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่