ราคะแห่งสุขทุกข์ กับราคะแห่งสันติสุข

ราคะแห่งสุขทุกข์ กับราคะแห่งสันติสุข

ราคะ (Raga : lust; passion; excitement; greed; attachment ) แปลว่า ใฝ่หาที่จะมาสนองอารมณ์ตนเอง ให้มาสนองอารมณ์ของตัว บางทีราคะเพราะรัก แต่ราคะอีกมิติหนึ่งก็ราคะเพราะอยากจะฆ่าก็มี เป็นตัวอาฆาต พยายาท อยู่ในหมวดราคะเช่นนั้น อย่างนี้สนองเพื่อความสะใจ แกล้งเขา ทรมานเขา อย่างนี้ก็เป็นราคะ สรุปก็คือ สะใจกับอารมณ์ ราคะนี้กว้างมาก ราคะนี้จะแบ่งเป็นสายๆ ไป

ในอารมณ์ทั้ง ๓ คือ ยึดติด ทำลาย และอยู่กลางๆ ไม่ฟังเหตุผล, เบียดเบียน, บังคับข่มขืนจิตใจเขา ครอบครองความเป็นเจ้าของหรือครอบงำ ตรงข้ามกับราคะคือวิราคะ

๑. ราคะมิจฉาไม่ถูกต้อง เป็นไปทางลบ คือ ใฝ่หาสิ่งที่จะมาสนองอารมณ์ตนเองในทางที่ไม่ถูกต้อง ในทางที่ไม่ดี

๒. ราคะสัมมาที่ถูกต้อง เป็นไปทางบวก คือ ใฝ่หาสิ่งที่จะมาสนองอารมณ์ตนเองในทางที่ถูกต้อง ในทางที่ดี

ราคะเป็นสิ่งธรรมชาติในธรรม แต่เราจะเอาตัวอะไรไปบวกกับราคะ เช่น เราเอาสัมมาไปบวกกับราคะ ก็ใช้ราคะไปทางดี ถูกต้อง แต่ถ้าเรามิจฉาไปบวกกับราคะ ก็ใช้ราคะไปในทางที่ไม่ถูกต้อง

"ราคะ" เป็นกลางๆ เป็นของธรรม เปรียบเสมือนมีดหนึ่งเล่ม มีความเป็นกลางๆ แต่เราเอามีดเล่มนี้ไปฆ่าคนหรือจะเอามีดเล่มนี้ไปทำอาหารให้คนกิน

ราคะแบบโลกุตตระ

๑. ใฝ่ทางดี อาจจะเริ่มต้นด้วยการสวดมนต์ไหว้พระ มีความสุนทรีย์ สามารถเข้าสู่ภวังค์ปลดปล่อย เราจะรู้สึกสงบ ปิติ ทำให้จิตใจสบาย

๒. บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรานับถือ เช่น พระพุทธเจ้า พระเยซู พระอัลเลาะห์ พระพรหม ฯลฯ

๓. เรียนรู้คำสอนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่เรานับถือ คือ เมื่อเราเรียนรู้เราก็จะได้ความสุขสมของเรา

๔. เรานำไปปฏิบัติ เช่น นำสิ่งของไปแบ่งปันให้กับเด็กกำพร้า เห็นเขามีความสุข เราก็มีความสุขตาม สบายใจ ยกตัวอย่างเช่น เราเอาสิ่งของให้ขอทาน เขายิ้มแย้มดีใจ ก็ทำให้ในใจเรามีความสุข

๕. ปิติ คือ ความอิ่มใจ, ความปลื้มใจ

๖. ปราโมทย์ (ในข้อแรก) คือ "ดำรงต่อเนื่องเสริมส่ง" คือ พอเราทำตรงนี้แล้วมีความสุข ก็จะเกิดการดำรง พอดำรงแล้ว มีแรงก็จะเสริมส่งให้เพิ่มพูนขึ้น

ปราโมทย์ในข้อแรกคือ ระลึกถึงอดีตที่ได้ทำความดี คือ ระลึกถึงอดีตที่เราเคยได้ทำบุญสร้างกุศล ทำคุณงามความดีต่างๆ แล้วเราเกิดปิติสุขดีใจ

แต่ถ้าปฏิบัติไปเรื่อยๆ สามารถเข้าสู่โสดาบัน จนเข้าถึงนิพพาน

ถ้าเรามุ่งมาทางนี้จิตใจเราจะสบาย นี่เป็นราคะ แต่เป็นราคะแบบสบาย ราคะสันติ

แต่ถ้าเป็นราคะแบบโลกิยะ จะเป็นราคะทางเสพ เราเสพเสร็จแล้วเราจะต้องมารับทั้งความสุขและความทุกข์ เวลาสมสู่เราจะมีความสุข แต่ถึงเวลาทุกข์ก็จะทุกข์จะตายให้ได้ แต่ก็ทิ้งไม่ลง แล้วก็มาเสพสมสู่อีกก็มีความสุขอีก แล้วเปิดปัญหาขัดใจกันก็ทุกข์อีก วนอย่างนี้ สุขกับทุกข์

ราคะแบบโลกิยะ

๑. สมสู่อย่างตามใจที่ตนเองต้องการ สุขสมอย่างอำเภอใจ

๒. ได้แบบแลกเปลี่ยน คือ ได้จากการกระทำ อ้อนวอน ขอร้อง แลกเปลี่ยน ได้อะไรแต่มีการแลกเปลี่ยนอาจจะไม่พอ แต่ก็พอใจ แลกเปลี่ยนกันครึ่งต่อครึ่ง

๓. ยินยอมที่จะทำให้ ยินยอมให้ คือ สมมติว่า เวลานี้เขาอยากสมสู่ เอา..!! เขาแฟนฉัน ฉันยอมให้ เรายอมแต่ข้างในใจก็ยังเคือง

๔. ยอมให้อย่างมีเงื่อนไข เงื่อนงำ แต่ข้างในเราเคือง แล้วคิดจะเอาคืน เขาต้องให้เราบ้าง ข้างในจิตจะเอาคืนอย่างมีเงื่อนไข

๕. อาฆาตแค้นพยาบาทจองเวร คือ เอาเรื่อง แค้น จะเอาคืน คือ พอเรายอมคบกับเขาแล้วเขาเปลี่ยนใจไปเอาคนอื่น สมมติว่าทีแรกคุยกันอย่างหนึ่ง แล้วไปเปลี่ยนเป็นอีกอย่าง แล้วเราจะแค้นไหม? ข้อนี้เป็นราคะแห่งความเคียดแค้นจองเวร ปรุงไปทางจองเวรอาฆาตพยาบาท

๖. ทุกข์สังเวย ทุกข์ถึงที่สุด คือ จะเข่นฆ่ากัน จองเวรเป็นชาติๆ ข้ามภพข้ามชาติ สังเวยไม่ยอมปลดปล่อย นี่แหละ คุกที่ไม่มีกำแพง ไม่ต้องมีสถานที่กักกัน ล่อได้ทุกที่ทุกเวลา

^_^ ..._/\_... ^_^

ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา
อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์

เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่