การกินอาหารข้างนอก ถ้าคุณไปกินร้านข้างถนน ฟู้ดคอร์ท หรือ ฟาสต์ฟู้ด กินเท่าไหร่ก็จ่ายเท่านั้น
แต่เมื่อใดคุณเข้าร้านค่อนข้างแพง มีพนักงานต้อนรับบริการอย่างดี ทิปจะกลายเป็นเรื่องน่าคิด จะทิปเท่าไหร่ สี่สิบ ห้าสิบ
อ้าว... หนึ่งร้อย มากไปหรือเปล่า
ขอขอบคุณภาพจากเวบไซท์ hearingandbalancelab.com
ร้านอาหารบางร้านตัดปัญหาลูกค้าทิปน้อยหรือไม่ทิป ด้วยการบวกค่าบริการที่เรียกว่า service charge ไว้เรียบร้อย หลายคนจึงคิดไปว่า อ้าว..บวก service chargeไปแล้ว มันก็เหมือนให้ทิปพนักงานเสริฟ ดังนั้น จึงไม่ทิปอีก ‘ ทิปทำไมซ้ำซ้อน’
แต่จากการบอกเล่าจากเจ้าของร้านและพนักงานเสริฟบางแห่ง กลายเป็นว่า Service charge เข้าบัญชีเจ้าของโดยตรง ถ้าเจ๊เจ้าของร้านดี ก็จะนำ service charge มาแบ่งเท่าๆกันระหว่างเด็กหน้าร้าน และหลังร้าน เป็นเบี้ยเลี้ยงพิเศษตอบแทนความขยันทำงาน แต่ถ้าเจ๊คิดว่า โอ้ย ก็จ่ายค่าจ้างเต็มที่แล้ว จะเอาเข้ากระเป๋าเจ๊เอง มันก็ไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าคุณอยากรู้ว่าค่า service ที่ร้านบวกเพิ่มไปน่ะ พนักงานที่เสริฟคุณเขาได้ไหม ก็ถามไปเลย
ที่อังกฤษ ร้านบางแห่งเก็บค่า service charge 12.5% บางร้านดีหน่อยเก็บแค่ 10%
ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า เรื่องทิปไม่ใช่วัฒนธรรมไทย เพราะแต่ไหนแต่ไรมาคนไทยนั้นขึ้นชื่อในการบริการอย่างเป็นมิตร ช่วยเหลืออย่างเต็มใจ จะทิปหรือไม่ทิปก็เถอะ
เรื่องทิปที่เมืองไทย มันจึงเป็นเรื่องของความสมัครใจ ไม่มีกฎตายตัว ไอ้ที่จะทิปเท่าไหร่ มันก็ตามแต่วิจารณญานของแต่ละคน จะห้าหรือสิบเปอร์เซนต์ หรือจะค้นก้นกระเป๋าเจอแบ้งค์ยี่สิบแล้วให้ทิป ก็ไม่น่าเกลียด คนไทยไม่ซีเรียส ขออย่างเดียวอย่าทิปเป็นเศษเหรียญสลึงเหรียญบาท
แล้วการทิปนั้นมาจากไหน ใครคือหัวหมอ ต้นตำรับ
ทิปนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกที่อังกฤษ ในศตวรรษที่สิบเจ็ด (ช่วงปี ค.ศ. 1600) ก็ 400 กว่าปีมานี้เอง ร้านขายเบียร์ขายอาหารที่เรียกว่า Taverns นั้นบรรดานักดื่มทั้งหลายที่ต้องการบริการรวดเร็วหน่อยก็จะหย่อนเงินให้กับพนักงานเสริฟเหมือนกับติดสินบน ว่างั้นเถอะ บางร้านถึงกับมีโถวางไว้ตรงกลางโดยเขียนไว้ข้างโถ "To Insure Promptitude" ซึ่งแปลว่า รับประกันบริการที่ทันใจ คำว่า ทิป เลยมีการสันนิษฐานกันว่าน่าจะย่อมาจาก
ตัวอักษรตัวแรกของ 3 คำข้างบนนี้
ขอขอบคุณภาพจากเวบไซต์ siftingthepast.com
Michael Lynn ศาตราจารย์มหาวิทยาลัย Cornell ผู้ค้นคว้าประวัติศาสตร์การทิปของอเมริกากล่าวไว้ว่า การทิปของอเมริกานั้นเริ่มขึ้น หลังจากสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง ในปี 1865 เศรษฐีอเมริกันทั้งหลายที่เดินทางไปยุโรปและคลุกคลีกับชนชั้นสูงที่นั่น ได้นำธรรมเนียมทิปกลับมาเพื่อที่จะอวดว่าตนเป็นพวกมีการศึกษาและเป็นชนชั้นสูง
แต่การนำระบบทิปเข้ามาใช้ในอเมริกา ก็ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วย คนบางกลุ่มได้ก่อตั้งขบวนการแอนตี้การทิป (The Anti-Tipping Society of America) ที่รัฐ Georgia กลุ่มต่อต้านทิปเรียกร้องให้มีการยกเลิกเพราะเห็นว่าระบบนี้ มันเป็น un-American และ un-democratic คือไม่ใช่อเมริกัน และไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นการแบ่งชนชั้นอย่างชัดแจ้ง
ในปี 1916 William Scot เขียนคัดค้านเรื่องทิปไว้ในหนังสือ The Itching Palm ว่า การทิปนั้น มันเป็นความคิดของพวกชั้นสูง แล้วเพราะไม่ใช่ระบบชนชั้นหรอกหรือที่ทำให้พวกเราต้องออกจากยุโรปมาตั้งประเทศใหม่ในอเมริกา เราต้องกำจัดการทิปเพราะมันคือเนื้องอกร้ายของระบบประชาธิปไตย
จากงานวิจัยของ Jayaraman ในหนังสือ Forked: A New Standard for American Dining ขุดลึกไปว่า ในปี 1938 อเมริกาผ่านกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำครั้งแรก โดยระบุว่า พนักงานเสริฟมีสิทธิได้รับค่าแรงขั้นต่ำ แต่ค่าแรงนั้นจะมาจากค่าจ้างโดยตรงหรือจากทิปก็ได้ นั่นหมายถึงว่ากฎหมายเปิดช่องโหว่ให้นายจ้างสามารถจ่ายค่าแรงต่ำกว่ากฎหมายกำหนด เป็นเสียอย่างนี้ไงเล่า..พนักงานจึงต้องพยายามบริการเต็มที่แลกกับทิปจากลูกค้า เพื่อชดเชยกับ
เงินเดือนที่น้อยนิด
Jayaraman เชื่อว่ากฎหมายค่าแรงขั้นต่ำฉบับนี้มีความเกี่ยวโยงกับการเลิกทาส เพราะเมื่อระบบทิปเข้ามาในอเมริกา มันเป็นช่วงเดียวกับคนผิวขาวย้ายไปทำงานในโรงงานซึ่งมีรายได้ดีกว่า ส่วนงานเสริฟถูกรับช่วงต่อโดยคนผิวดำซึ่งได้รับการปลดปล่อยมา เจ้าของร้านอาหารส่วนใหญ่ ยังคงมีความคิดว่า
คนดำเป็นคนชั้นต่ำกว่าตน จึงสนับสนุนกฎหมายที่ออกมานี้ เพื่อเลี่ยงจ่ายค่าจ้าง
อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง ขบวนการแอนตี้ทิป ได้รณรงค์จนกฎหมายงดทิปผ่านในปี 1909 ในรัฐวอชิงตันและอีกหกรัฐทางใต้ กฎหมายงดทิปในเจ็ดรัฐที่ผ่านนี้ บังคับให้เจ้าของร้านจ่ายพนักงานเสริฟตามค่าแรงขั้นต่ำ ผลการชนะของเจ็ดรัฐนี้ ส่งอิทธิพลไปยังประเทศในยุโรป ทำให้สหภาพแรงงานของประเทศในยุโรปรวมทั้งอังกฤษ เริ่มเรียกร้องต่อรัฐบาลตนว่า อาชีพเสริฟก็เป็นอาชีพหนึ่งเหมือนกัน ไม่ควรจะต้องทำงานพึ่งทิป แต่ควรมีรายรับอย่างน้อยเป็นค่าแรงขั้นต่ำจากนายจ้าง
มาถึงตรงนี้กลายเป็นว่า การออกกฎหมายงดทิปของอเมริกาในเจ็ดรัฐนั้น ส่งอิทธิพลทางอ้อมให้ระบบทิปในยุโรปล้มเลิกไป ยุโรปตาสว่าง แต่อเมริกายังไม่มีแฮ้ปปี้เอ็นดิ้ง เพราะเมื่อกฎหมายงดทิปเริ่มใช้เบื้องต้นในเจ็ดรัฐ แต่กลับไม่สามารถยืนหยัดใช้ได้นาน เพราะสิบห้าปีต่อมา รัฐบาลยกเลิกกฎหมายงดทิป แล้วเอาวัฒนธรรมทิปมาเชิดชูเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นอเมริกาต่อไป ซึ่งเราๆท่านก็เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
ขอขอบคุณภาพจากเวบไซท์ waitress the musical
เรื่องทิปในอเมริกาดูจะเป็นเรื่องที่ถูกนักท่องเที่ยวกล่าวถึงมาก คนอเมริกันเองต่างเห็นเรื่องทิปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแบบอเมริกัน
เรื่องที่นำมาถกกันบ่อยก็ยังหาคำตอบไม่ได้
จำได้ว่าไปบอสตันเมื่อสิบปีที่แล้ว สามีพาครอบครัวKirk เพื่อนเก่า ไปเลี้ยงขอบคุณก่อนกลับบ้าน พอถึงจ่ายค่าทิป สามีว่าจะจ่ายเท่าอังกฤษ 10% ดีไหม มิสซิส Kirk โวยวาย โอ้ยไม่ด้ายเลย อย่า.. ป้าออกคำสั่ง ต้องจ่ายค่าทิป 20% นั่นคือสองร้อยห้าสิบเหรียญ เก้าพันกว่าบาทแน่ะ เหมือนถูกปล้นกลางวันแสกๆ เท่านั้นยังไม่พอ ป้าKirk บอก ยูต้องทิปกับตันร้านที่พาเรามานั่งโต๊ะด้วยน่ะ สิบเหรียญอย่างต่ำ ทำเอาฉัน ต้องร้อง โอ้โฮ อะไรกันป้า
กัปตันร้านไม่ได้บริการอะไรพวกเราเลย นะ ยังต้องทิปด้วยหรือ
ป้า Kirk คาแรคเตอร์ผู้หญิงเก่ง (คล้าย ฮิลลารี่ คลินตัน) อย่างที่ฝรั่งเรียก she wears a pants in the house ย้ำด้วยเสียงมั่นใจ ปกติมากินร้านนี้ ฉันทิปให้เขามากกว่า 20% ฉันชอบร้านนี้มาก ร้านนี้เป็น fine diner ดังมาก แต่ไม่เป็นไร ครั้งนี้สามียูจ่าย 20% ก็ได้ คือเป็นมาตรฐาน
เห็นหน้าฉันเปลี่ยนสี เพราะช็อคจากค่าทิป ป้าเลยช่วยอธิบายให้รู้สึกดีขึ้นว่า
ที่อเมริกา 50 รัฐมีค่าแรงขั้นตำ่ต่างกันไป ปกติประมาณ 8 ดอลล่าร์ ต่อหนึ่งชั่วโมง แต่ถ้าเป็นพนักงานที่พึ่งทิป ค่าแรงจะได้แค่ 2.13 ดอลล่าร์ต่อชั่วโมง นั่นหมายถึงว่าค่าทิปที่ได้รับคือเงินค่าแรงของพวกเขานั่นเอง ถ้าเราไม่ให้ทิปพวกเขา พวกเขาจะเอาอะไรไปเลี้ยงครอบครัว " If you don't give them tip , they can't pay the rent. They live and die by the tip.”
คิดแล้ว มันก็น่าสงสาร แล้วทำไมเจ้าของร้านไม่จ้างเขา เท่ากับเงินเดือนขั้นต่ำหล่ะ ทำไมเจ้าของร้านโยนความรับผิดชอบของชีวิตพนักงานเสริฟมาให้ลูกค้า
ป้า Kirk แกเป็นถึง ไดเร็คเตอร์ของมหาวิทยาลัย ความรู้นั้นท่วมหัว เลยสวมวิญญาณอาจารย์อธิบายให้ฉันฟังต่อว่า การทำธุรกิจร้านอาหารนั้น ขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจเสี่ยง กำไรส่วนใหญ่มาจากการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่รัฐบาลเลิกให้ขายแอลกอฮอลล์เพราถูกกดดันจากกลุ่มศาสนา ว่าสิ่งมึนเมาทำให้เกิดอาชญากรรมและความรุนแรง สถานการณ์บังคับเลยต้องลดค่าจ้างพนักงานเสริฟเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด จ้างพนักงานเป็นแบบอาศัยทิป แม้เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนกฎหมายให้ร้านอาหารขายแอลกอฮอลล์ได้อีกครั้ง แต่กลับไม่มีการเปลี่ยนกฎหมายค่าจ้างพนักงานเสริฟ
ปัจจุบันนี้ ค่าจ้างพนักงานเสริฟที่อเมริกายังคงถูกแบ่งเป็นสองประเภทคือ ค่าจ้างแบบพึ่งทิปและ แบบไม่พึ่งทิป ถ้าไม่พึ่งทิปนั้นหมายความว่าค่าจ้างนั้นมันต้องเท่ากับหรือมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย
โชคดีที่อังกฤษ ไม่ได้มีถือเรื่องทิปแบบเอาจริงเอาจังเท่ากับพี่กัน
ที่อังกฤษนั้น พนักงานเสริฟนั้นจะได้รับเงินค่าจ้างที่กฎหมายกำหนด แล้วทิปนี่ก็เป็นมารยาทสังคมที่คุณจะกล่าวขอบคุณถึงการบริการที่ดีของพนักงานคนนี้ มันเป็นมารยาทที่รู้ๆกันว่า คุณควรจะต้องทิปพนักงาน สิบเปอร์เซ็นต์ ของค่าอาหารนั้นๆ
ให้ทิปดีไหม..... วัฒนธรรมของใครกัน