เรื่องเล่านายห้างไม้คนไทยที่ไปทำสัมปทานป่าไม้ที่พม่า

ที่ปีนัง  ในวันนั้นผมเดินทางไปติดต่อซื้อขายไม้
โดยเป็นการนำเข้าไม้จากมาเลย์มาขายในไทย
ซึ่งเป็นเรื่องปกติของธุรกิจครอบครัวของผม
ที่ผมต้องทำต่อในฐานะพี่ชายคนโต
และเป็นทายาทธุรกิจของที่บ้าน

ผมสังเกตเห็นว่า มีไม้สักขนาดใหญ่จำนวนมาก
เส้นผ่าศูนย์กลางกว้างใหญ่และสวยงามมาก
ไม้สักจะมีกลิ่นเฉพาะอย่างหนึ่งที่คนเล่นไม้รู้จักกัน
วางกองอยู่บนท่าเรือบัตเตอร์เวอร์ธ
เมืองที่เป็นท่าเรืออยู่ฝั่งตรงข้ามกับเกาะหมาก(ปีนัง)

ผมจึงเดินเข้าไปถามคนขับรถเครนที่ขนไม้
จนได้รับคำแนะนำให้ไปสอบถามเจ้าของไม้ล็อตนี้
ก็ได้คำตอบว่าเป็นไม้จากพม่า
จะมีการแปรรูปก่อนส่งขายไปยังยุโรป
ในยุคนั้นยังไม่เข้มงวดแหล่งที่มาของสินค้า
กอปรกับมาเลย์เคยเป็นอาณานิคมอังกฤษ
เงื่อนไขข้อกำหนดการค้าจึงไม่มาก
เหมือนกับชาติเสรีแบบไทย จีน ญี่ปุ่น

ไม้สักเป็นไม้เนื้ออ่อนประเภทหนึ่ง
มีกลิ่นเฉพาะตัวที่ช่างไม้รู้จักกันดี
แถวภาคใต้อากาศร้อนชื้นมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ
ไม้สักแปรรูปถ้าอายุมากแล้วเกินกว่าร้อยปี
มักจะถูกมอดหรือปลวกกินได้ง่าย
เพราะน้ำยาในเนื้อไม้หมดสภาพแล้ว
แถวบ้านจะทิ้งพระก็มีหลายบ้านที่เจอปัญหาเรื่องนี้
อาจารย์ภิญโญ  สุวรรณคีรี  ดั้งเดิมคนจะทิ้งพระ
ท่านก็ยืนยันเรื่องนี้ในการบรรยายครั้งหนึ่งว่า
ไม้สักอยู่ทนจนรุ่นโหลนทันเห็นมอดปลวกกิน

ผมเลยสอบถามเรื่องราคาไม้สักจากพ่อค้า
และปัญหาการนำเข้าเมืองไทย
ทางคนขายบอกว่า นำเข้าได้ไม่มีปัญหา
แต่พอผมกลับมาเมืองไทยแล้ว
ผมลองติดต่อกับส่วนราชการไทยเรื่องนำเข้าไม้สัก
พบว่ามีปัญหาทันทีในเรื่องเอกสารการนำเข้า
เรื่องแหล่งที่มาของไม้  เพราะทางการไทยกลัวไม้สวมตอ
(การลักลอบตัดไม้เถื่อนมาสวมทะเบียนขนย้ายไม้)
ส่วนทางมาเลย์ไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้
เพราะไม้สักที่นำเข้ามาลักษณะแบบจรยุทธ์
ใช้เรือพื้นบ้านขนาดเล็กลากซุงล่องน้ำล่องทะเลเข้ามาในมาเลย์
แบบเป็นอันรู้กันว่ามีการจ่ายรายการ/เบี้ยใบ้รายทาง
และสมยอมกันหลายฝ่าย ทั้งทางการมาเลย์/พ่อค้า
ต้นทางจากพม่า  ตำรวจ/ทหารเรือ  ตัดตรงเข้ามาเลย์



เรื่องนี้ทำให้ผมต้องยุติการนำเข้าไม้สักไปก่อน
แต่ยังนำเข้าไม้ประเภทอื่น ๆ จากมาเลย์มาขายในไทย
อีกสองสามครั้งที่ผมผ่านท่าเรือแห่งนี้
ก็ทำให้ผมลองฉุกคิดว่า  น่าจะมีทางออกในเรื่องนี้
ผมเลยสอบถามเพื่อน ๆ ในวงการค้าไม้ว่า
พอจะติดต่อพูดคุยกับคนพม่าเรื่องไม้สักได้หรือไม่
และจะขอเข้าไปในพม่าเพื่อดูแหล่งไม้ได้หรือไม่
ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้
เพราะคนที่ลักลอบนำไม้มาขายในมาเลย์
มักจะพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยดีนัก
และไม่เข้าใจว่าจะติดต่อทางการพม่าอย่างไร
เพราะที่ผ่าน ๆ มาเป็นการลักลอบตัดไม้ในป่า
และสมคบคิดกันในการนำไม้สักมาขายที่มาเลย์
รวมทั้งพ่อค้าในมาเลย์ก็มืดบอดในเรื่องแบบนี้เช่นกัน

ต่อมา  ผมได้รับคำแนะนำจากเพื่อนอีกคนว่า
ให้ลองไปหาคนพม่าที่รออพยพไปประเทศที่สาม
คนพวกนี้หลายคนเป็นผู้มีการศึกษาแต่เพราะประท้วงรัฐบาล
จนเกิดการปราบปรามอย่างรุนแรงมากในพม่า
ในเหตุการณ์ การก่อการกำเริบ 8888
จนต้องหนีตายหลายคนไปอยู่กันหลายประเทศในช่วงนั้น
บางส่วนก็อพยพหนีตายมาแถวชายแดนไทย

ผมจึงไปแถววัดพม่าในปีนังเพื่อดูลาดเลา
จนได้พบปะพูดคุยกับวัยรุ่นชายสมมุติชื่อว่า ซอหม่อง
หนีตายมาจากพม่ารอจะเดินทางไปอังกฤษ
ก็ได้รับคำตอบว่า  จะลองเขียนจดหมายถามลุงดูก่อน
เพราะลุงมียศเป็นนายพลเกษียณรัฐการแล้วยังอยู่ในพม่า
ผมจึงตอบขอบคุณและมอบเงินบางส่วนให้เป็นสินน้ำใจ

เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้ว
ผมก็ได้ไปติดต่อสถานทูตพม่า
เพื่อขอทำวีซ่าเข้าไปในพม่า
ก็ได้รับคำบอกปัดไม่ให้เข้า
โดยอ้างว่าไม่มีเหตุผลอันควรแต่อย่างใด
และไม่มีคนรับรองในการเข้าประเทศพม่า
เพราะพม่ายุคนั้นยังปิดประเทศ
และกลัวจารชนต่างชาติ  NGO เข้าไปในประเทศ
ผมจึงต้องเดินออกมาจากสถานทูดพม่าอย่างมือเปล่า

ต่อมา  เมื่อผมเดินทางกลับไปที่วัดพม่าในปีนังอีกครั้ง
จริง ๆ แล้วในอดีต  พื้นที่วัดพม่าคือ ที่ดินของวัดไทย
ที่พระปิยะมหาราชทรงสมทบเงินซื้อที่ดินถวายเป็นที่ธรณีสงฆ์
ในช่วงก่อนวันเข้าพรรษาปีหนึ่ง  นานมาแล้ว
มีพระพม่ารูปหนึ่งขอเข้าจำพรรษาที่วัดไทย
เจ้าอาวาสวัดไทยก็ยินดีให้เข้าจำพรรษาที่วัดไทย

แต่แล้วก็อยู่กันไม่ได้เพราะศีลวินัย ข้อปฏิบัติไม่ตรงกัน
พระพม่าก็มีบริวาร/สาวกคนพม่าถือหางมากเช่นกัน
ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นภายในวัด
ทะเลาะกันวุ่นวายปนปี้ไปกันใหญ่
ต่างคนต่างออกปากขับไล่ให้พ้นจากวัด

ทางผู้ว่าการรัฐปีนังในยุคนั้น
ซึ่งเป็นคนของรัฐบาลอังกฤษ
เลยแก้ปัญหาด้วยการสั่งให้แบ่งวัดออกเป็นสองฝั่ง
ฝั่งหนึ่งให้เป็นวัดพม่า  อีกฝั่งหนึ่งให้เป็นวัดไทย
โดยมีถนนเส้นหนึ่งกั้นกลางระหว่างสองวัด
วัดไทยเลยเสียที่ธรณีสงฆ์ไป  
น่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ที่ไทยเสียดินแดนวัดในต่างประเทศ
เพราะเรื่องวัด/พระสงฆ์ไม่กินทั้งเกาเหลา
และไม่ยอมกินเส้นร่วมกันในสังฆกรรม

เมื่อผมเจอซอหม่องแล้ว
ผมก็ได้รับคำตอบว่า
ลุงได้เขียนจดหมายตอบกลับมาแล้ว
พร้อมกับแนบจดหมายน้อยให้ผม
เพื่อถือไปติดต่อสถานทูตพม่าในไทย
เพื่อขอวีซ่าเดินทางเข้าไปที่พม่า
เมื่อถึงพม่าแล้วให้ติดต่อกับคุณลุง
คุณลุงจะจัดคนประสานงานเรื่องต่าง ๆ ให้
ผมขอบคุณซอหม่องที่เป็นธุระให้เรื่องนี้
และมอบเงินสมนาคุณให้กับการเป็นธุระเรื่องนี้ให้ผม

หลังจากเสร็จธุระเรื่องซื้อขายไม้ที่บางโพ  กรุงเทพฯ
ผมก็เดินทางไปยังสถานทูดพม่าอีกครั้ง
พร้อมกับแนบจดหมายน้อยจากลุงของซอหม่อง
ก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี
และบอกว่ามีวิทยุแจ้งมาล่วงหน้าแล้ว
พร้อมประทับตราวีซ่าให้ผมเดินทางเข้าไปได้ทันที

แต่ในยุคนั้น  สายการบินตรงจากไทยไปพม่ายังไม่มี
ผมจึงต้องเดินทางไป KL กัวลาลอมเปอร์
เพื่อหาสายการบินที่บินไปลงที่ย่างกุ้ง

แต่ที่บ้านมักจะหยอกล้อกันว่า KL
เขตพื้นที่ตำบลควนลังในอำเภอหาดใหญ่
มีคลองอู่ตะเภาที่ไหลไปทางทิศเหนือกั้นเขตตำบลในบางจุด
เช่น จะไปซื้อไก่ทอดหาดใหญ่ที่  KL
คนไม่รู้เรื่องมุกจะคิดว่าจะไปซื้อที่ KL นั่น
หรือจะไปซื้อไก่ทอด KFC มาเลี้ยงวันนี้
กลับกลายเป็น Kuanlung Fried Chickens



เมื่อผมบินถึงย่างกุ้งแล้ว
ผมก็นั่งรถแท็กซี่ไปหาที่พักก่อนเป็นลำดับแรก
และพักได้เฉพาะโรงแรมสำหรับคนต่างชาติเท่านั้น
โรงแรมคนต่างชาติที่ย่างกุ้งแพงมากในยุคนั้น
เพราะทางการพม่าบังคับให้คนต่างชาติทุกคน
ที่เป็นนักท่องเที่ยว/นักธุรกิจต้องพักอาศัย
อยู่ได้แค่โรงแรมที่ทางการระบุเท่านั้น
จะไปนอนพักเพ่นพ่านที่อื่นไม่ได้โดยเด็ดขาด

เมื่อผมได้ที่พักแน่นอนแล้ว
ผมก็เดินทางไปหาคุณลุงของซอหม่องที่บ้านพัก
ผมได้ทำความรู้จักกับท่านและท่านได้ให้คนนำทาง
สมมุติว่าชื่อ  วินทัย  เป็นคนนำทางที่พูดภาษาอังกฤษได้ดี
ผมรู้จักคนนำทางแค่ลุงของซอหม่องแนะนำ
โดยผมยังไม่รู้จักนิสัยใจคอและพฤติกรรมเลย
ในการร่วมเดินทางในพม่าครั้งนี้
เรียกว่า  วัดดวงกับเสี่ยงภัยกันเลย

ผมและวินทัย  ต่างร่วมเดินทางไปในพม่าหลายแห่ง หลายครั้งมาก
เพื่อหาเขตป่าไม้สักที่งดงามและตัดขายได้
แต่ป่าไม้ควรจะอยู่ในเขตอิทธิพลของทหารพม่า
เพราะในพม่ายังมีการสู้รบกับชนกลุ่มต่าง ๆ อยู่หลายครั้ง หลายที่
ระหว่างการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อสำรวจไม้สัก
ผมมักจะถูกตรวจค้นหลายครั้ง
และมีการสอบถามจากทหาร/ตำรวจ
เพราะผมเป็นคนแปลกหน้าอย่างหนึ่ง
ทั้งรูปร่างหน้าตา การแต่งกาย  และการพูดจาภาษาอังกฤษ
แต่จดหมายน้อยของลุงของซอหม่องช่วยได้มาก
เพราะนายทหารระดับนายพลในพม่าในยุคนั้น
เรียกว่ามีอำนาจบารมีเหลือล้นพ้นประมาณ
แม้ว่าจะเกษียณอายุรัฐการแล้ว
ก็ยังมีนายทหารลูกน้องเก่าที่ยังให้ความนับถืออยู่มาก
ถ้าวิทยุสอบถามก็เป็นอันรู้กันแล้ว

ในระหว่างนั้นผมก็เดินทางไปมาจากเมืองไทย KL ย่างกุ้ง
โดยนัดหมายกับวินทัยไว้ก่อนล่วงหน้าทุกครั้ง
เพราะย่างกุ้งไม่มีโทรศัพท์มือถือในยุคนั้น
โทรศัพท์บ้านก็แพงมากเหมือนเมืองไทยในยุคหนึ่ง

ทั้งนี้ผมจะแวะไปตามเขตป่าไม้ต่าง ๆ ในพม่าที่ยังมีไม้สักอยู่มาก
โดยให้วินทัยนัดหมายคนพื้นที่กับสำรวจป่าไม้ไว้ก่อนผมเข้าไปพม่า
และขอให้ลุงของซอหม่องช่วยเจรจากับกรมป่าไม้พม่า
ในยุคนั้นยิ่งใหญ่ระดับกระทรวงเลยทีเดียว
เพราะจัดตั้งมาตั้งแต่ยุคอังกฤษทำการตัดไม้สักที่นั่น
โดยมีอดีตนายพลขาพิการข้างหนึ่งจากการสู้รบเป็นผู้บริหาร
ส่วนเรื่องการขอทำสัมปทานป่าไม้ที่พม่า
ก็ได้รับคำตอบจากลุงของซอหม่องว่าจะช่วยเหลือเรื่องนี้ให้
เพราะทางการพม่าก็อยากได้เงินที่ถูกกฎหมายเช่นกัน



ในที่สุดแปลงสัมปทานป่าไม้ที่ถูกกฎหมายฉบับแรกของพม่า
ที่ให้กับคนไทยรายแรกก็อนุมัติตามกฎหมาย
ผมจึงให้วินทัยเป็นผู้จัดการ/หัวหน้าคนงานในแปลงสัมปทานป่าไม้
และรับลูกจ้างอีกหลายคนที่ลุงของซอหม่องแนะนำให้
การตัดไม้สักขายชุดแรกก็ยังประดักประเดิด
เพราะคนงานยังใช้เลื่อยยนต์ Stihl ไม่คล่องนัก
ในสมัยนั้นเลื่อยยนต์ Stihl ที่มาเลย์หาซื้อง่ายมาก
แต่เมืองไทยห้ามนำเข้า  เพราะเป็นตัวกินไม้อย่างแรง
เรียกว่า  ป่าไม้เป็นไร่ ๆ ตัดได้อย่างรวดเร็วมาก

ไม้สักชุดแรกที่ถูกกฎหมายจากพม่า
จึงมีการขนส่งทางเรือผ่านท่าเรือปีนัง สิงคโปร์ เข้าแหลมฉบัง
ผ่านพิธีศุลกากรอย่างถูกกฎหมายก่อนนำไปขายที่บางโพ
แต่ชุดแรกผมขาดทุนจำนวนหนึ่ง
เพราะขายเป็นไม้ซุง  ถูกหักโน่น หักนี่ หยุมหยิมไปหมด
แบบเขี้ยวเสือหนุ่มเจองาช้างแก่เก๋าประสบการณ์มากกว่า
ขวิดเอาเสือหนุ่มล้มเจ็บอย่างแรงทีเดียว
เรื่องนี้  ทำให้ผมต้องคิดหนักว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลังดี
ในเรื่องการนำไม้ซุงจากพม่ามาขายในไทย

ไม้ซุงชุดที่สองก็ใกล้จะนำเข้าอีกแล้ว
ควรจะทำอย่างไรดีจึงจะได้ราคาดีกว่าชุดแรก
ผมสังเกตเห็นว่า  พ่อค้าไม้ไทยนิยมไม้แปรรูป
เพราะขายได้ราคาดีกว่าไม้ซุง
เนื่องจากไม้ซุงเวลาแปรรูปแล้ว
จะมีการสูญเสียเนื้อไม้ไปเป็นจำนวนมาก
ทางธุรกิจมักเรียกว่า ค่ายีล Yield
เหลือส่วนที่ดี ๆ เพียงไม่กี่ท่อน
ปีกไม้ก็ขายได้ราคาไม่ดีมากนัก
จนต่อมามีคนนิยมทำบ้านไม้ซุง
เลียนแบบภาพยนตร์ต่างประเทศ
ราคาขายก็ดีขึ้นกว่าเดิมมาก
ส่วนขี้เลื่อยก็ยังขายไม่ได้ราคาในยุคนั้น
ต้องจ้าง/แถมให้กับคนทั่วไปมาขนไปฟรี ๆ
เพื่อเอาไปทำดินผสม/ปุ๋ยหรือผสมกับกาวทำถ่านชั่วคราว
ต่อมามีคนแปรรูปเป็นธูปและยากันยุง

ผมจึงลองเดินตระเวณหาโรงงานแปรรูปไม้
เพราะที่บางโพในอดีตเคยเป็นแหล่งไม้แปรรูปไม้ซุงมาก่อน
จนได้โรงงานแห่งหนึ่งยินยอมรับจ้างแปรรูปไม้ซุงไม้สักให้กับผม
แต่ต้องมีการลงทุนรื้อปรับโรงงาน  และลองเดินเครื่องจักรใหม่
เพราะเครื่องจักรขนาดใหญ่/แท่นเลื่อยที่เคยทำงาน
ขาดไม้ซุงเข้ามาเลื่อยหลายปีดีดักแล้ว
ปัญหาการแปรรูปไม้ผมจึงหมดไปเปลาะหนึ่ง

ไม้ซุงไม้สักชุดที่สองที่นำเข้าจากพม่า
ทำกำไรให้ผมอย่างงดงามมาก
เพราะขายเป็นรูปไม้แปรรูปให้แถวบางโพ
มีพ่อค้าไม้ต่างมาติดต่อขอซื้อจำนวนมากหลายราย
เพราะไม้สักขนาดหน้ากว้างขาดตลาดไปหลายปีแล้ว




ผมจึงเดินทางไปมาระหว่าง มาเลย์ ไทย พม่า เป็นว่าเล่น
ส่วนที่ธุรกิจของที่บ้านผม
ผมให้น้องชายดูแลกิจการร่วมกับภริยาผม
เพราะผมต้องไปประจำที่พม่าเป็นหลัก
คือ เดินทางไปเข้า KL บินไปย่างกุ้ง
เสร็จธุระที่แปลงตัดไม้แล้วออกจากย่างกุ้ง บินไปเข้า KL 
แล้วบินเข้าเมืองไทยลงที่กรุงเทพฯ ก่อนมาหาดใหญ่
สมัยนั้นยังไม่มีสายการบินตรงจาก KL มาลงที่หาดใหญ่
หรือบางครั้งก็ให้คนขับรถยนต์ไปรับผมที่ KL
หรือผมยอมนั่งรถยนต์เข้าหาดใหญ่

ต่อมา  เมืองไทยประกาศปิดป่าในปี 2532
เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตและ การทำลายป่า
ทำให้เครื่องจักรเลื่อยไม้ แปรรุปไม้  ของออป. สุราษฏร์ธานี
วางทิ้งเป็นเศษเหล็กและรอคนมาเหมาซื้อไป
กินเวลาหลายปีมากที่ยังไม่มีคนสนใจ
จนมีคนวงในมาบอกผมให้ลองไปดูและซื้อไปใช้
ผมจึงทำเรื่องขอซื้อทั้งหมดแล้วขนเข้าไปที่พม่า
พร้อมกับคนงานไทยที่เคยทำงานด้านนี้
และยอมเข้าไปบุกเบิกโรงงานแปรรูปไม้ที่พม่า

ทำให้ต้นทุนผมต่ำมากในพม่า
ทั้งเรื่องค่าแรง ค่าไม้ ค่าสัมปทาน ค่าภาษี
เพราะผมมีธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ
เรียกว่า ครบวงจรธุรกิจอุตสาหกรรมป่าไม้
ทั้งการนำมาขายในไทยก็ถูกกฎหมายทุกเรื่อง
รวมทั้งผมควบคุมต้นทุนและระยะเวลาส่งมอบ
กับการป้องกันซุงไม้เสียหายสูญหายได้
อย่างเป็นระบบ/มาตรฐานดีกว่าจ้างโรงงานในไทยแปรรูป
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่