ค่า LDL, Cholesterol, ไขมันร้าย ไขมันดี, Creatinine, GFR

ผมเป็นคนหนึ่งที่ออกกำลังกายอย่างเคร่งครัด เรียกได้ว่า วันไหนไม่ได้ออกไปวิ่ง เป็นต้องรู้สึกไม่สบายตัว เรื่องอาหารการกิน เป็นคนไม่ชอบของมัน ไม่ชอบขนม กินข้าวปกติ ตามด้วยผลไม้ และนมสด วันละ 1 แก้วเท่านั้น สุขภาพโดยรวมดี ไม่เป็นโรคอะไร ไข้หวัดแทบจะไม่เป็น แข็งแรงดีมากๆ ไปไหนมีแต่คนทักว่าหน้าอ่อนกว่าอายุจริงไป 10 ปีเลย (อันนี้ภูมิใจเล็กๆ 555)

เมื่อ 3 ปีที่แล้วผมได้ไปตรวจสุขภาพ (ร้อยวันพันปีไม่เคยไปหลังจากที่ลาออกจากบริษัท) ผลคือได้ค่า Triglyceride: 155, LDL: 188, HDL: 58 เกินทุกค่า หมอเตือนเลยครับ ผมก็แย้งว่า ผมออกกำลังกายทุกวัน ทำไมยังสูง หมอบอกอาจเป็นที่อาหาร ให้งดของมันของทอด ....



ซึ่งแบบที่บอก ผมเป็นคนไม่กินของมันอยู่แล้ว ต้องมีอะไรผิดปกติแน่ เลยเริ่มมาศึกษาเรื่องพวกนี้อย่างจริงจัง หลังจากค้นข้อมูล ค้นๆๆๆๆ นั่งอ่านๆๆๆๆ ก็ได้ความรู้มาว่า LDL และ HDL เป็นไขมันที่ตับสร้างขึ้นเป็นส่วนใหญ่ LDL คือไขมันเลว ถ้ามันไปเกาะตามผนังเส้นเลือดมากๆ จะมีโอกาสทำให้เส้นเลือดอุดตัน แต่มีผู้ร้ายก็ย่อมมีพระเอก นั่นคือเจ้า HDL เจ้านี่จะทำการเก็บกวาด LDL ที่เกาะตามผนังเส้นเลือด ให้กลับไปที่ตับ เพื่อทำลาย หรือรีไซเคิล

และหากนำค่า LDL มาหารด้วย HDL ไม่ควรออกมาสูงกว่า 3 จึงจะถือว่าสมดุล ผมเลยลองจับหารดู ของผมได้ 3.24 เกินมาหน่อยนึงแฮ่ะ น่าจะพอไหว (คิดเองเออเอง)

อื่มมมๆๆๆๆ LDL ต้องน้อยๆ HDL ต้องเยอะๆ ถึงจะดี

ส่วน Triglyceride เป็นไขมันที่ได้จากอาหาร และจากตับ ส่วนมากมาจากของมัน (ซึ่งผมกินน้อยอยู่แล้ว)

ตอนนั้นยังไม่มีความรู้มาก ได้มาแค่นี้ รู้แค่ว่า เราจะต้องลดเจ้า LDL และ Triglyceride แล้วเพิ่ม HDL ให้ได้

มาตรการแรกก็คือ ลดการกินไขมันลงอีก จากเดิมที่ไม่กินพวกมันหมู หนังไก่ อยู่แล้ว ทีนี้หันไปลดน้ำมัน จากไข่ดาว เปลี่ยนเป็นไข่ต้ม อาหารตามสั่งที่เป็นพวกผัด จะเขี่ยน้ำมันที่เยิ้มออกมาติดกับข้าวทิ้งไปเลย น้ำแกงกินแค่ 1/3 ถ้วย ที่เหลือทิ้ง

เอาหล่ะเอาแค่นี้ก่อน ดูซิจะดีขึ้นมั้ย ผ่านไป 1 ปีไวเหมือนโกหก ไปตรวจสุขภาพที่เดิม ผลคือ

Triglyceride: 147, LDL: 167, HDL: 50

เทียบกัน 2 ปี

2017: Triglyceride: 155, LDL: 188, HDL: 58
2018: Triglyceride: 147, LDL: 167, HDL: 50


โอ้วว Triglyceride ลดลงแฮ่ะ LDL ลดลง แต่ไหง HDL ลดลงด้วย?? ไม่เป็นไร ค่า  Triglyceride ต่ำกว่าเกณฑ์แล้ว แต่ถึงกระนั้นค่า LDL ก็ยังสูงอยู่ (ต้องไม่เกิน 130)

เป็นไปได้ที่ปีที่แล้วมีอยู่ช่วงนึงที่ผมออกกำลังกายน้อยลง ค่า HDL เลยลดลง?

ส่วนเรื่องอาหารคงไม่สามารถ optimize ได้กว่านี้แล้ว ที่สุดของที่สุดของพี่แจ้แล้วครับ (สำนวนนี้เช็คอายุได้เลย 555) เอาหล่ะ คงต้องไปเน้นที่การออกกำลังกาย เปลี่ยนจากวิ่งเร็ว เป็นวิ่งช้าแต่นานขึ้น ยังวิดพื้น เล่นกล้ามท้องเหมือนเดิม

เวลาผ่านไปอีก 1 ปี ไวเหมือนโกหก ไปตรวจสุขภาพ ทีนี้ไปตรวจที่ใหม่ เพราะเห็นว่ามีโปรโมชั่น ผลคือ

Triglyceride: 127, LDL: 185, HDL: 53

เทียบกัน 3 ปี

2017: Triglyceride: 155, LDL: 188, HDL: 58
2018: Triglyceride: 147, LDL: 167, HDL: 50
2019: Triglyceride: 127, LDL: 185, HDL: 53


โอ้ววว Triglyceride ลดลงอย่างชัดเจน แสดงว่าการออกกำลังกายเพิ่มขึ้นของผมมีผลต่อ Triglyceride โดยตรง อันนี้ชัดเจนมากครับ แต่ไหง LDL ดันเพิ่มขึ้นแฮ่ะ แปลกใจมากๆ มันเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายผม ครั้งหลังนี้หมอชี้เรื่องค่า GFR ของไตด้วย คือได้ค่าต่ำกว่าเกณฑ์ไปหน่อยนึง

รึว่าอายุมากขึ้น ไตทำงานหนักขึ้น มันเลยเริ่มจะเสื่อม? แต่ก็ยังไม่มีอาการใดๆ ให้เห็นเลยนะ

ค่า Creatinine ของผมดูแล้วก็ทรงๆ เมื่อเทียบกับ 2 ปีที่แล้ว นี่คือค่า Creatinine และ GFR เทียบกัน 3 ปี

2017: Creatinine: 1.01, GFR: 88.2
2018: Creatinine: 1.00, GFR: 88.6
2019: Creatinine: 1.04, GFR: 83.9


อย่ากระนั้นเลย ถามอากู๋ๆๆๆๆๆ

จากข้อมูลที่ค้นมาคือ

โรคไตเรื้อรังแบ่งออกได้เป็น 5 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 ค่า GFR 90 หรือมากกว่า แต่เริ่มพบโปรตีนในปัสสาวะหมายถึงไตเริ่มเสื่อม
ระยะที่ 2 ค่า GFR 60-89 ค่า GFR ลดลงเล็กน้อย เป็นระยะที่ไตเสื่อมแล้ว
ระยะที่ 3 ค่า GFR 30-59 ค่า GFR ที่ลดลงปานกลาง
ระยะที่ 4 ค่า GFR 15-29 ค่า GFR ลดลงมาก
ระยะที่ 5 ค่า GFR น้อยกว่า 15 เป็นระยะสุดท้ายหรือภาวะไตวาย


เฮ้ยยย!! นี่เราเป็นโรคไตระยะที่ 2 แล้วรึ? เมื่อ 2 ปีที่แล้วหมอทำไมไม่บอก? แต่ของปีนี้หมอแนะนำให้ตรวจอีกรอบเพื่อความสบายใจ คุณหมอบอกว่า คนที่มีกล้ามเนื้อมาก หรือกินน้ำน้อยก่อนมาตรวจ (ซึ่งผมอดน้ำ 12 ชั่วโมงก่อนมาตรวจ) ค่านี้ก็มีโอกาสน้อยเหมือนกัน

เอาหล่ะ ขอค้างเรื่องไขมันในเส้นเลือดไว้ก่อน ขอค้นข้อมูลค่า GFR เจ้าปัญหาก่อน มันคืออะไรกันแน่

และจากการค้นข้อมูล ทำให้พบว่า แท้จริงแล้ว ค่า GFR เป็นค่าที่ได้จากการคำนวณ โดยใช้ค่า Creatinine และอายุ กับเชื้อชาติ มาคำนวณกัน

Creatinine เป็นของเสียที่เกิดจากการสร้างและสลายกล้ามเนื้อ และจะถูกไตกำจัดออกไปทางปัสสาวะ ส่วนผู้หญิงจะมีค่านี้น้อยกว่าผู้ชาย เพราะมีกล้ามเนื้อน้อยกว่านั่นเอง

ทีนี้ทางการแพทย์ก็เลยจับเจ้าค่า Creatinine เพื่อมาวัดผลการทำงานของไต หากค่านี้ค้างอยู่ในเลือดยิ่งมาก นั่นหมายถึงไตทำงานไม่ดี อาจจะเสื่อม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอายุด้วย ยิ่งอายุมาก เจ้าค่านี้ก็ไม่ควรจะมาก เพราะคนแก่กล้ามเนื้อย่อมน้อยลงเป็นธรรมดา ดังนั้นจึงเกิดค่า GFR ขึ้นมา ที่ได้จากการคำนวณระหว่างค่า Creatinine กับอายุ

ผมก็ลองหาสูตรการคำนวณดูครับ ก็ไปเจอเวปไซต์นี้
http://www.programcalculator.com/gfr04.php

เลยลองคำนวณดู เออ ได้ผลตรงกะโรงบาลทั้ง 3 ครั้งเลย (แม้จะเปลี่ยนโรงบาลในครั้งล่าสุดก็ตาม) แต่ข้อน่าสังเกตคือ ทางโรงบาลไม่ได้ใช้สูตรของเชื้อชาติไทยแฮ่ะ

อื่มมมๆๆๆ น่าสนใจ ลองคำนวณเล่นๆ ดู ถ้าหากผมอายุ 60 แล้วยังสามารถใช้กล้ามเนื้อเหมือนตอนปัจจุบัน เอาเป็นค่า Creatinine คือ 1.04 ละกัน

อ้าวว เวร ได้ค่า GFR = 77.7 ยิ่งแก่ค่ายิ่งลด

นั่นหมายถึง ยิ่งผมแก่ แต่หากยังใช้กล้ามเนื้อ และฟิตเหมือนปัจจุบัน ผมจะมีโอกาสเป็นโรคไต??

งี้หมายความว่า คนแก่ไม่มีสิทธิ์ฟิตร่างกายเลยรึ? ดูแล้วสูตรนี้อาจไม่ค่อยชัดเจนนักสำหรับคนแก่ที่ยังมีกล้ามเนื้อ และฟิตร่างกายอยู่ตลอด เผลอๆ มากกว่าตอนหนุ่มๆ อีก (ผมนึกถึงภาพคุณปู่จอมพลัง นักกล้ามที่อายุ 70 กว่า แกจะมีค่า GFR เท่าไหร่หนอ?)

ผมว่าผมคงไม่ไปตรวจเพิ่มสำหรับค่านี้แล้วล่ะ เพราะจับๆ ดูกล้ามเนื้อทั่วร่างกายของผม มันแข็งโป๊กกว่าสมัยหนุ่มๆ อีกนะ เพราะหลังจากลาออกจากงาน ไม่ค่อยมีอะไรทำ ว่างงานว่างั้นเถอะ เลยเน้นออกกำลังกายมากกว่าสมัยหนุ่มๆ ที่วันๆ เอาแต่ทำงานซะอีก

โอเค เรื่อง GFR ผ่านไป กลับมาเรื่องไขมันในเส้นเลือด

สรุปได้ว่า การออกกำลังกายเพิ่มขึ้น สามารถลด Triglyceride ได้จริง เพราะ Triglyceride ถูกสร้างจากกรดไขมัน และกรดไขมัน ถูกใช้เป็นพลังงานสำหรับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ยิ่งมีการเคลื่อนไหวมาก ก็ยิ่งใช้กรดไขมันมาก ซึ่งนั่นย่อมหมายถึง Triglyceride จะลดลงนั่นเอง

แล้วเจ้า LDL?

อันนี้งงมาก การออกกำลังกายไม่มีผลอะไรกับค่านี้เลย? กลับเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก เอาหล่ะครับ ค้นข้อมูลต่อ ค้นๆๆๆๆ อ่านๆๆๆๆ ก็ได้ข้อสรุปมาว่า

แท้จริงแล้ว LDL ไม่ใช่ไขมันร้ายครับ มันเป็นเพียงรถบรรทุก Cholesterol ที่นำไปส่งให้เซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย และเซลล์จะใช้ Cholesterol เพื่อใช้ในกิจการต่างๆ เช่น การซ่อมแซม และสร้างฮอร์โมนต่างๆ เช่น ฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone) ฮอร์โมนในกลุ่ม Adrenal (ที่จะถูกปล่อยออกมามากเมื่อมีการออกกำลังกาย) ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ Cholesterol เป็นวัตถุดิบ ทีนี้เซลล์ในร่างกายเรามีจำนวนถึง "ร้อยล้านล้านเซลล์" นั่นหมายถึงเจ้า LDL ก็ย่อมมีจำนวนที่เยอะแยะมากมายในหลอดเลือดเราเป็นธรรมดา

แต่ปัญหาคือว่า หากเจ้า LDL ที่ถูกปล่อยออกจากตับ มีจำนวนเหลือในหลอดเลือดที่มาก มันก็มีโอกาสที่จะเกิดคราบพลั๊คสะสม ทำให้เส้นเลือดตีบ มีผลทำให้เป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้ ทางการแพทย์ถึงได้มียาชนิดหนึ่งที่จะไปลดจำนวนของ LDL ลง ทำให้ความเสี่ยงที่จะทำให้เส้นเลือดตีบลดลงด้วย

ฮื่มม.... ทีนี้ถามว่า แล้วคนปกติ กับคนที่ออกกำลังกาย จะมีเจ้า LDL แตกต่างกันมั้ย? ในเมื่อการออกกำลังกาย จำเป็นต้องมีการสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอเป็นประจำทุกวัน อีกทั้งมีการสร้างฮอร์โมนต่างๆ เพิ่มขึ้นจากปกติด้วย

ผมลองไปถามเพื่อนผู้หญิงที่ ไม่เคยออกกำลังกาย แล้วชอบกินขนมมาก ปรากฎเธอบอกว่า ค่าไขมันในเลือดเธอ ไม่เคยเกินเลยทุกตัว

ผมว่านะ ถ้าการที่ค่า LDL ในผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ อาจจะสูงเกินเกณฑ์ไปบ้าง เหตุเพราะร่างกายต้องใช้ Cholesterol เพื่อไปสร้างฮอร์โมนในกลุ่ม Adrenal เช่นพวก Epinephrine, Norepinephrine, Cortisol .... และ Testosterone (ฮอร์โมนเพศชาย) ในกรณีของเวทเทรนนิ่ง หรือผู้ที่อาจมีกิจกรรมทางเพศบ่อยๆ ... และใช้ Cholesterol เพื่อสร้างกล้ามเนื้อ และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ... มันก็อาจจะไม่ชัดเจนนักที่จะบอกว่า คนกลุ่มนี้สุขภาพไม่ดี อาจถึงขั้นต้องกินยาลดไขมัน เพราะเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจขาดเลือด หรือหลอดเลือดตีบ

ผมกำลังกลับไปคิดถึงค่า GFR ของไต ที่ได้จากการคำนวณระหว่างอายุ และ ค่าของเสียที่ปล่อยออกจากกล้ามเนื้อ (Creatinine) ที่คิดจากพื้นฐานที่ว่า ยิ่งแก่ คุณยิ่งออกแรงน้อย และยิ่งมีกล้ามเนื้อที่น้อย ค่านี้ถึงยังอยู่ในเกณฑ์ แต่ถ้าหากคุณปู่คุณตาท่านนั้นยังฟิตร่างกายอยู่ล่ะ?

เช่นเดียวกันกับกรณีของค่า LDL หากผมเป็นคนที่ออกกำลังกายทุกวัน ซึ่งต้องใช้ Cholesterol มากมายในแต่ละวันล่ะ?

หรือแม้แต่คนที่อาจจะมีการอักเสบเรื้อรังซักแห่งในร่างกาย แล้วร่างกายต้องใช้ Cholesterol มากมายในการรักษาตัวเอง แต่ดันไปกินยาลดไขมันซะนี่ การอักเสบก็ยังเรื้อรังอยู่อย่างนั้น รึเปล่า?

ซึ่งผมคิดว่า ค่าพวกนี้น่าจะเป็นค่าเริ่มต้น เพื่อที่จะลงลึกค้นหาสิ่งผิดปกติ หรือหาเหตุที่มาที่ไปต่างๆ ในร่างกายต่อไป คงยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า เราไม่รักษาสุขภาพ หรืออาจเป็นโรคนี่นั่น ซึ่งทางแพทย์เค้าต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดหลายชั้น ก่อนที่จะสั่งยาให้คนไข้อย่างแน่นอน

และเราเองก็อาจต้องใช้วิจารณญาณส่วนตัว ก่อนที่จะตัดสินใจกินยาอะไรเข้าไป ว่ามันสมควรรึไม่ในเมื่อเราทำร่างกายของเราดีเยี่ยมขนาดนี้แล้ว แต่สำหรับในบางคนที่ไม่เคยรักษาสุขภาพมาเลย ค่าพวกนี้สำคัญยิ่งในการที่คุณควรพิจารณาเปลี่ยนแปลงแปลงวิถีชีวิตตัวคุณเองก่อนที่จะสายเกินไปครับ

/////
ขอเพิ่มเติมข้อมูลการบริโภคของผมนะครับ: ผมควบคุมแป้งและน้ำตาลด้วยครับ ปกติผมไม่กินพวกขนมอยู่แล้ว และขนมส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยแป้งและน้ำตาล ส่วนข้าว ผมกินแค่มื้อละไม่เกิน 1 ถ้วย (ถ้วยที่ร้านเค้าตักข้าวสวยใส่แล้ววางแมะลงจานนั่นแหละครับ) และผมกิน 2 มื้อครับ และยืนยันว่าผมกินครบ 5 หมู่ทุกมื้อ และพอเพียงในแต่ละวันแน่นอนครับ มีแรงออกกำลังกายทุกวัน ไม่มีโหย ปริมาณอาหารนี้ผมปรับสำหรับให้พอเหมาะกับกิจกรรมของตัวเอง จนอยู่ตัวมาหลายปีแล้วครับ

เพิ่มเติมอีกนิดครับ: ผมไม่สูบบุหรี่ ไม่กินเหล้าเบียร์ ส่วนเครื่องดื่ม กาแฟ น้ำหวาน น้ำดำ น้ำสารพัดน้ำ ไม่แตะมาเป็น 10 ปีแล้วครับ กินน้ำเปล่านี่แหละครับ ก่อนหน้านั้นก็กินไม่เยอะนะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่