นั่งสมาธิ สรุป ต้องเพ่งหรือห้ามเพ่ง?

คือผมนั่งสมาธิมาประมาณ 3 เดือนแล้ว ทุกวัน วันละอย่างน้อย 1 ครั้ง ครั้งละ 1 ชม. (มีน้อยครั้งมากที่ต้องออกก่อน 1ชม.)
ผมนั่งแบบอานาปานสติ แบบกำหนดลมหายใจนะครับ
ทุกครั้งที่นั่งสักพักก็จะเห็นแต่แสง(ไม่เห็นนิมิตอื่นๆ)
ปัญหาคือ ที่อ่านที่ฟังมา
บางท่านบอกให้เพ่งนิมิตที่เห็น บางท่านบอกอย่าไปสนใจ
สรุปว่าเอายังไงดีครับ
ผมลองมาแล้วทั้งสองอย่าง
-เพ่ง เพ่งแล้วก็เท่านั้น แสงมาแล้วก็ไป แล้วก็มา แล้วก็ไป ผมไม่สามารถบังคับให้ขยายหรือย่อได้อย่างคนอื่นเขา
-ไม่สนใจ เวลาแสงปรากฏผมก็ปรับโฟกัสหนีไม่สนใจ ปรากฏว่าแสงก็ปรับโฟกัสตามมาจะให้เห็นให้ได้
แต่ทั้งเพ่งหรือไม่เพ่งก็ไม่ได้ทำให้การนั่งสมาธิของผมก้าวหน้าไปกว่าเดิม

รบกวนขอคำแนะนำจากทุกท่านที่มีประสบการณ์ด้วยนะครับ

จุดมุ่งหมายในการนั่งสมาธิ
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ลักษณะของแสงที่เห็นใน
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 21
๑. จากประสบการณ์และเท่าที่ได้ฟังมา เรื่องอภิญญา เป็นสิ่งที่ต้องเคยทำมาก่อนในอดีต ไม่ใช่มาเรื่มในชีวิตนี้แล้วจะได้เลย ถ้าหากเคยได้มาแล้ว เพียงแค่จิตกลับมาทรงฌานเหมือนในอดีตอีกครั้ง อภิญญาที่เคยได้มาก็จะกลับมา บางท่านได้กลับมาเมื่อได้อริยมรรค แล้วแต่กรรมที่ท่านได้เคยสั่งสมมาในอดีต บางท่านได้อภิญญา ๖ กลับมาตอนบรรลุอรหันตผล

๒. สิ่งที่ควรจะทำเพื่อให้รู้ว่าเราเคยได้อภิญญาญานในอดีตหรือไม่ คือ การเจริญสมถะและวิปัสสนาภาวนา ไปพร้อม ๆ กัน เพราะไม่รู้ว่าเราจะได้อภิญญากลับมาด้วยสมถะตอนได้ฌาน หรือ วิปัสสนาตอนบรรลุอริยมรรค

๓. คำว่า "เพ่ง" กับ "ไม่เพ่ง"​ ใช้ได้ทั้งสองอย่าง แต่ต้องใช้ให้ถูกกับความหมายที่แท้จริง

การเพ่ง ใช้ในการเจริญสมถะภาวนา โดยเพ่งจิตให้อยู่ในอารมณ์เดียว คำว่าเพ่งในที่นี้หมายถึง การรักษาจิต ประคองจิต ให้แนบแน่น อยู่กับอารมณ์กรรฐานอย่างต่อเนื่อง

การไม่เพ่ง ใช้ในการเจริญวิปัสสนาภาวนา เนื่องจากวิปัสสนาเป็นการตามรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของอารมณ์รูปนาม จิตจะไม่อยู่กับอารมณ์ใด อารมณ์หนึ่งโดยเฉพาะ จิตจะตั้งมั่นแล้วสักว่ารู้ สักว่าเห็น อารมณ์รูปนาม จนเห็นแจ้ง แล้วปล่อยวางอารมณ์รูปนามนั้น เป็นอุเบกขา จึงเรียกว่า "ไม่เพ่ง"

ถ้าเจริญสมถะภาวนา โดยใช้อานาปานสติ ก็ต้องใช้คำว่า "เพ่ง"​ ที่หมายถึงการ ประคองรักษาจิต ให้แนบแน่นอยู่กับลมหายใจ เป็นอารมณ์เดียว จึงจะถูกต้อง จิตที่แนบแน่นกับลมหายใจ ต้องมีสติที่ตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์ด้วย สติต้องไม่อ่อนกำลัง ลมหายใจจึงระงับ แล้วกลายเป็นแสง เป็นอุคคหนิมิต ไม่เป็นอะไรที่หลากหลาย อย่างที่ระบุไว้ ที่มีแสงอะไรมากมาย น่าจะเป็นอาการของสมาธิ อย่าให้มันหลอกเอา ทบทวนใหม่ ให้จิตแนบแน่นกับลม แต่ไม่รวมกับลม เพราะยังมีสติรู้อยู่ อย่าให้สติหายไป หรือ สติไม่แนบแน่นกับลม

จุดมุ่งหมายสูงสุดของผมคือไปให้ได้ถึงฌาน ฝึกอภิญญา ไปดูอดีตดูอนาคต ผมต้องรู้วันตายล่วงหน้าให้ได้ ไปดูนรกสวรรค์ ฝึกไปนิพพานให้คล่อง
สรุปคือ ผมจะทำให้ได้อย่างพระเกจิอาจารย์ดังๆที่ท่านก่อนละสังขาร ท่านเข้าฌานไปนิพพานก่อนสิ้นลมฟังเหมือนเพ้อเจ้อนะครับ แต่ผมจริงจัง

ตอบ มีความมุ่งมั่นนั้นถูกต้องแล้ว แต่ต้องรู้เหตุรู้ผลด้วย จึงจะพอประเมินได้ว่า ความมุ่งมั่นนั้นมีโอกาสในการสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ดูข้อ ๑ และ ๒

แสงที่เห็นตำแหน่งก็ต่างกันไปแต่ละวัน ที่เห็นประจำคือ แสงจากข้างบน เหมือนประมาณว่าแสงสีขาวปกคลุมเป็นพื้นที่กว้างๆอยู่เหนือตาเราสุดๆข้างบน ประมาณว่าสุดเหลือกตาก็จะเห็นแค่นั้น แต่ไม่ได้พยายามเหลือกตาดู เพราะรู้ว่ายังไงก็เห็นแค่นั้นที่เห็นประจำอีกอันคือ แสงที่มาปรากฏตรงหน้า (อันนี้เห็นแทบทุกครั้งที่นั่งสมาธิ) เป็นแสงสีส้มเหมือนสีหลอดไฟกลมสมัยก่อน แสงไม่ได้เป็นดวงกลม(อย่างที่ท่านอื่นๆเห็น) เป็นเหมือนคลื่น เปลี่ยนรูปร่างไปเรื่อยจนหายไป แล้วอันใหม่ก็ขึ้นมา เป็นอย่างงี้ไปเรื่อยๆ จนหายไปเองบังคับอะไรไม่ได้(พระอาจารย์หลายท่านบอกท่านบังคับให้เล็กให้ใหญ่ได้เมื่อครั้งที่ท่านเห็น) กลุ่มแสงสีขาวทางข้างบนหางตาขวา(อันนี้พักหลังนี่เห็นประจำ) อีกอันคือทางหางตาขวาลักษณะจะคล้ายกับว่ามีคนเปิดไฟไว้ที่มุมนั้นๆขณะที่เราหลับตาอยู่ข้างซ้ายเห็นแค่ครั้งหรือสองครั้ง แต่ปกคลุมพื้นที่เยอะกว่าที่เห็นข้างขวามาก แสงดวงกลมฉายอยู่เหนือหัว อธิบายให้เห็นภาพง่ายสุดคือเหมือนเราอยู่ในที่มืดแล้วมีพระจันทร์เต็มดวงและแสงพระจันทร์ส่องลงมาแสงเข้มกว่าแสงพระจันทร์ ประมาณว่าแสงสป็อตไลท์จากพระจันทร์ส่องลงมาข้างหน้าเรา (ไม่ได้ส่องเข้าหน้า) ดวงแสงเลื่อนจากซ้ายไปขวาช้าๆๆๆๆๆ เหมือนไม่ได้เคลื่อนไหว แต่พอมารู้ตัวอีกทีก็อยู่อีกทางแล้ว แล้วก็หายไป บางทีก็ส่องอยู่ข้างบนเฉยๆ ไม่ได้ไปไหน แล้วก็หายไป อันนี้เห็นไม่กี่ครั้ง 3-4-5 ครั้งไม่น่าจะเกิน

ตอบ อาการทางสมาธิ มีมากมาย ไม่มีใครกล่าวได้หมดหรอก เพราะแล้วแต่จิตที่ไม่ตั้งมั่น หลงอารมณ์อยู่ จะเสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นมา เป็นได้ทุกอย่าง ผู้มีปัญญา อย่าไปหลงกับสิ่งเหล่านี้ ให้กลับมามีสติรักษาจิต ถ้าทำสมถะ ก็ให้มีสติรักษาจิตให้แนบแน่นกับอารมณ์ ถ้าทำวิปัสสนา ก็มีสติรักษาจิตให้ตั้งมั่นปล่อยวางอารมณ์ แล้วอาการสมาธิทุกอย่างจะหายไป ความเป็นหนึ่งของอารมณ์ ความเป็นหนึ่งของแสง ความเป็นหนึ่งของจิต จะเป็นผลที่เกิดตามมา เหมือนกันหมดทุกคน ถ้าทำถูก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่