.
บทที่ ๖๒ ควันศึกอโยธยา
ทิพากรเป็นนามจริงของแสงพราย แปลว่าพระอาทิตย์...
สุโขทัยเป็นชื่อเมืองที่มาจากคำสองคำ “สุข” และ “อุทัย” ที่แปลว่า “ความสุข” และ “พระอาทิตย์”
ไม่มีใครรู้ว่าคำหลักคือความสุขแล้วเพิ่มเติมด้วยคำว่าพระอาทิตย์ อันหมายถึงเมืองแห่งความสุขใต้ดวงอาทิตย์...
หรือเริ่มจากคำว่าพระอาทิตย์แล้วขยายเพิ่มด้วยคำว่าความสุข...
แต่สำหรับแสงพรายแล้ว คงชอบความหมายประการหลังเสียมากกว่า ด้วยไม่กล้าคิดว่าชีวิตนี้จะสามารถทำให้ผู้ใดมีความสุขเเละสมหวังใต้ร่มเงาของตนได้...
“ฉันต้องเรียกหาพี่พราย...ว่าอย่างไรแล้ว... องค์ชาย..ราชา..หรือ อะไร...แล้วก็ชื่อทิพากรอีก...”
พิไลที่นั่งล้อมวงรับข้าวกับปู่หลวง ครูพิธานและแสงพราย กล่าวด้วยท่าทีหวาดๆ และเอียงอาย
“เรียกแสงพรายดังเดิมเถิด เราเป็นคนธรรมดา แม้พระบิดาจะเป็นเจ้าผู้ครองปตานี แต่ก็ไม่ได้ยกย่องให้ศักดิ์ฐานะใดกับเรา.. แถมยังเป็นคนโทษของเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองอโยธยา ศักดิ์ฐานะของราชาก็ถูกถอดไปแล้ว”
“ฉันไม่เชื่อว่าพี่เป็นคนไม่ดีหรอก.. คงเป็นเรื่องเข้าใจผิด” น้ำเสียงอ่อนหวาน แฝงความเอียงอายทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะหยิบจะตักอาหาร แม้จะพูดด้วยแสงพรายแต่กลับมิกล้ามองหน้าชายหนุ่ม
“ทิพากรเป็นชื่อที่พระมารดาตั้งให้ แต่ไม่เคยมีใครเรียก เรียกกันสั้นๆ ว่าเจ้าทิพ.. อันที่จริงตาแสงใหญ่เคยตั้งใจไว้ว่าจะออกชื่อเป็น “แสง” อะไรสักอย่าง เหมือนที่ตั้งให้พระมารดาว่า “แสงจันทร์” ก่อนสถาปนาเป็นพระสนมจันทรา.. เมื่อเราถูกกล่าวหาว่าเป็นภูตพรายผุดจากสายน้ำ จึงใช้ชื่อเเฝงว่าแสงพราย ให้สมกับที่ทุกคนให้ฉายานาม... อันที่จริงว่าไปเเล้ว ชื่อนี้ก็เหมาะสมกับเราดี”
แม้จะเป็นคำกล่าวประชดต่อโชคชะตาที่ถูกผู้คนยัดเยียดความชั่วร้ายเกลียดชังให้ แต่ก็กล่าวออกมาด้วยสีหน้าเป็นสุข
“งั้นฉันเรียกพี่ ว่าพี่แสงพรายนะ”
เป็นครั้งแรกที่นางพูดพลางมองหน้าสบตาชายหนุ่ม ก่อนจะรีบก้มหลบด้วยความขวยเขิน
หลังจากคดีทองคำพระราชทานถูกคลี่คลายด้วยพระสติปัญญาขององค์หญิงกัณฐิมาศพร้อมกับการเปิดเผยตัวตนแท้จริงของแสงพราย บุญจันกับจุกถูกทหารกุมตัวไปให้พระตำรวจวังหลวง ปู่หลวงเรียกประชุมทุกคนในสำนักพร้อมประกาศความจริงเรื่องคดีและเรื่องหลานชายของท่าน..แสงพราย ทุกคนเข้ามาขมาลาโทษแสงพรายที่หลงทำร้ายและเข้าใจผิด รวมถึงตัวครูพิธานด้วย ซึ่งเจ้าตัวก็มิได้ถือโทษโกรธใคร
พอรุ่งเช้า ปู่หลวงให้คนเตรียมอาหารเซ่นไหว้ แล้วพาแสงพรายไปกราบไหว้กระดูกของบรรพบุรุษและกระดูกภรรยาของตาแสงคำในห้องพระ ซึ่งจัดวางอยู่ข้างโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป
“...หลานชายข้าตอนนี้ก็มาอยู่ในเรือนแล้ว ขอให้ดวงวิญญาณของปู่ย่าตายาย ของพ่อเฒ่าแม่เฒ่าและของแม่แก้วหอมจงช่วยดูแลปกป้องคุ้มครองหลานชายคนดี อย่าให้ได้เจ็บอย่าให้ได้ไข้ อย่าให้ได้เคราะห์อย่าให้ได้โศกใดเลย...” นั่นเป็นคำบอกกล่าวกับผีเรือนช่วงหนึ่งของปู่หลวง ก่อนที่ท่านจะหยิบด้ายสีขาวขึ้นมาผูกข้อมือให้หลานชาย
พิไลนั่งก้มหน้ารับอาหาร ได้แต่มองด้ายที่ผูกข้อมือของแสงพราย
“เช้านี้ ฉันพาพี่ไปซื้อของที่ตลาดปสานดีไหม.. ข้าวของพี่แทบไม่มีสิ่งใดเลย และฉันจะไปหาซื้อผ้าใหม่มาตัดเย็บเสื้อผ้าให้พี่อีก...”
ครูพิธานมองดูกิริยาของบุตรสาวก็รู้อาการ “แล้วผ้าแพรที่ได้รับพระราชทานมาตัดเย็บหมดแล้วหรือ จึงจะไปซื้อของใหม่มาเพิ่ม”
“เสร็จหมดแล้วจ้ะ.. แต่พี่พรายควรมีเสื้อผ้าชุดใหม่ไว้เยอะๆ หลังจากนี้คงต้องใส่ไปติดต่อกับพวกวังหลวงมากขึ้น..พี่เขาเป็นสง่าราศีของสำนักเราแล้วนะ”
“เมื่อก่อนตอนให้พาไปตลาดปสานก็เกี่ยงงอนไม่ยอมพาไป เดี๋ยวนี้กลับอาสาจะพาไปเอง...” ปู่หลวงกระเซ้าหญิงสาว พลางหัวเราะด้วยความเอ็นดู
พิไลได้แต่ทำหน้างอ มิกล้าพูดตอบโต้กระไร
“แต่ก็จริงอย่างที่เจ้าว่า.. เดี๋ยวเอาผ้าแพรของข้าไปตัดเย็บใส่นุ่งก็แล้วกัน มีมากมายอยู่ในหีบ แต่ถ้าจะไปซื้อของใหม่ก็มาเอาเบี้ยอัฐที่ข้านี่” ปู่หลวงกล่าวขึ้น
ก่อนเพล ขุนวังก็มายังเรือนใหญ่สำนักบ้านเงินบ้านทอง...
“ข้ามีเรื่องสำคัญจะแจ้งสามเรื่อง” ขุนเสนะทิพกล่าวขึ้นหลังจากเจ้าของเรือนจัดแจงให้การต้อนรับเป็นอย่างดี “เรื่องแรก คดีทองคำพระราชทานที่สูญหายในความดูแลของสำนักบ้านเงินบ้านทอง มีผู้กระทำผิดสามคนด้วยกันคือขุนกาฬ บุญจันและจุก...”
จากนั้นขุนวังก็บอกกล่าวถึงโทษทัณฑ์ของแต่ละคน แล้วจึงคลี่ห่อผ้าที่บรรจุทองคำจำนวน ๒๔ แท่งเล็กๆ ออกมาต่อหน้าปู่หลวง ครูพิธาน แสงพรายและพิไล
“ทองเหล่านี้เป็นสินไหมจำนวนครึ่งหนึ่งที่เรียกปรับจากขุนกาฬ ท่านขุนทัพไกรหาญรีบจัดหามาให้.. ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งท่านขุนรับปากจะส่งมอบให้ครบภายใน ๓ วัน”
ขุนวังมอบทองคำ ๑๒ แท่งให้กับแสงพราย.. ๘ แท่งให้กับปู่หลวงและ ๔ แท่งให้กับครูพิธาน
“เรื่องที่สอง คือเรื่องการสร้างพระพุทธรูปใหญ่ประจำรัชกาล องค์พ่อขุนโปรดให้ปู่หลวงเป็นช่างเอกดำเนินการ...”
“ทำไมไม่เป็นแสงพรายล่ะ ท่านขุนวัง.. เขาคือคนที่ปั้นและหล่อองค์พระที่ชนะการประกวด” ปู่หลวงแย้งขึ้นด้วยความประหลาดใจ
ขุนเสนะทิพสูดลมหายใจแรง ก่อนตอบเสียงหนักแน่น
“เพราะแสงพรายคือทิพราชา ราชาสิบสองนักษัตร ดังนั้นเขามีหน้าที่สำคัญที่ต้องกระทำเช่นกัน”
“หน้าที่สำคัญหรือ...” ปู่หลวงได้แต่พูดค้างไว้ด้วยความสงสัย
“ใช่ และนั่นคือเรื่องที่สามที่ค่อยเอาไว้ว่ากล่าวกันตอนหลัง.. ส่วนในเรื่องนี้ ปู่หลวงท่านเป็นช่างเอกควบคุมการดำเนินงานทั้งหมด และให้สำนักพุทธาไลยกับสำนักศิลาจารมาช่วยงานปั้นและงานหล่อตามที่ท่านจะจัดแบ่ง โดยให้แสงพรายเป็นผู้ช่วยท่านตรวจสอบความถูกต้องตามแบบองค์พระที่ชนะการประกวด”
“ถ้ากระทำดังนั้น เกรงว่าทุนรอนที่ต้องใช้ก่อสร้างจะสูงกว่าปกติ เพราะต้องให้อีกสองสำนักเข้ามาร่วมดำเนินงาน” ปู่หลวงกล่าวออกความเห็น
“เรื่องเงินทุนทำงานที่ต้องใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ท่านปู่หลวงมิต้องกังวล ข้าได้จัดเตรียมเพิ่มเติมไว้แล้ว.. เพราะมีเรื่องที่สามที่จำเป็นต้องให้แสงพรายกระทำ”
ปู่หลวง ครูพิธานและพิไลต่างหันไปมองแสงพราย มิรู้ว่าเรื่องราวใดจะเกิดขึ้นกับชีวิตของเขาอีก
“แสงพราย.. เรื่องที่สามนี้คงไม่ทำให้ท่านแปลกใจนักหรอก เพราะเป็นเรื่องที่ท่านเคยรับปากไว้ว่าจะกระทำ นั่นคือท่านจะต้องต่อสู้กับขุนปราบไพรีพ่ายแม่ทัพใหญ่แห่งอโยธยา เมื่อมีศึกมาประชิดราชอาณาจักร.. สิ่งที่ต้องกระทำตอนนี้ คือรีบรักษาตัวกับพระมหาเถรตานไฟให้หายเป็นปกติเร็วที่สุดและเร่งฝึกฝนเพลงอาวุธให้ชำนาญดังเดิม.. และผู้มีสิทธิ์ขาดบังคับบัญชาท่านก็คือ องค์หญิงกัณฐิมาศ”
ขุนวังกลับไปแล้ว...
เรื่องที่ท่านนำมาแจ้งแพร่กระจายไปทั่วสำนักบ้านเงินบ้านทอง
ผู้คนในสำนักต่างตกใจในคำประกาศิตให้แสงพรายออกต่อสู้กับขุนปราบไพรีพ่าย หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า “ขุนปราบ” แม่ทัพใหญ่แห่งอโยธยา ผู้เด็ดศีรษะขุนพลของฝ่ายสุโขทัยมานับต่อนับ.. ทุกครั้งที่มีผู้เอ่ยนามขุนปราบ ความหวาดกลัวก็บังเกิดแล้ว
แม้ผู้คนจะเคยได้ยินวลี ๕ ขุนศึกที่มีนามราชาสิบสองนักษัตรอยู่ในวลีท้าย แต่ก็ยังรู้สึกว่าขุนปราบคือคนที่น่ากลัวที่สุด ราชาสิบสองนักษัตรที่เคยคิดว่าอยู่ไกลโพ้นในดินแดนตอนใต้กลับกลายเป็นแสงพรายที่ดูอ่อนแอและเคยถูกพวกตนรุมทำร้ายจนหมดสติจมกองเลือด.. ครั้งนี้คงเอาชีวิตไปเซ่นคมดาบของขุนปราบเป็นแน่
พิไลมอบเสื้อผ้าที่ตัดเย็บอย่างประณีตให้แสงพราย เป็นชุดที่ตัดขึ้นด้วยผ้าแพรพระราชทานชั้นเลิศเหมาะสำหรับสวมใส่ในงานพิธีต่างๆ และบอกจะใช้ผ้าที่ปู่หลวงมอบเพิ่มให้ตัดเย็บอีก เป็นผ้าชั้นดีเหมาะสำหรับใส่นุ่งในโอกาสทั่วไป
“พี่แสงพรายต้องต่อสู้กับขุนปราบจริงหรือ...” พิไลกล่าวเสียงเศร้า เมื่อเดินมาส่งที่คอกม้าของสำนัก
“ใช่ พี่รับปากเป็นสัตย์แล้ว หากขุนปราบนำทัพมา.. คงต้องต่อสู้กัน”
“ฉันหวังว่าอโยธยาคงจะไม่ยกทัพขึ้นมาสุโขทัยอีก..”
เป็นคำกล่าวที่พิไลเองก็รู้ว่า มิมีทางเป็นไปได้.. ทัพอโยธยาพิชิตไปทั่วทุกสารทิศ แม้แต่เมืองพระนครหลวงของกัมพูชาธิบดี ก็ยังสยบอยู่ในพระราชอำนาจโดยเด็ดขาดของพระเจ้าอโยธยา คงเหลือเพียงอาณาจักรสุโขทัยทางเหนือเท่านั้นที่พระเจ้าอโยธยาทรงมุ่งพระทัยหมายครอบครอง
“พี่ไปละ” ชายหนุ่มขึ้นม้า แล้วกระตุ้นเบาๆ ควบขับออกไป
แสงพรายต้องไปอยู่กับพระมหาเถรตานไฟเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ ปู่หลวงมอบม้าให้เพื่อความสะดวกในการเดินทางมิต้องย่ำเท้าเดินไปมา และให้ย้ายขึ้นมานอนบนเรือนใหญ่ในห้องพระ เสื้อผ้าชั้นดีที่พิไลตัดเย็บให้ต่างถูกเก็บไว้ในห้องดังกล่าวมิได้นำติดตัวไป เช่นเดียวกับพระธำมรงค์พระราชทานจากองค์พ่อขุนและทองคำค่าปรับสินไหมจำนวน ๑๑ แท่ง
เสียงม้าควบออกประตูรั้วสำนักไปไกลแล้ว พิไลแบมือออกมา เหม่อมองทองคำแท่งเล็กๆ ในมือ เป็นทองคำที่แสงพรายมอบกำนัลให้นาง ในชีวิตของพิไลมิเคยได้ของมีค่าขนาดนี้มาก่อน นางมองดูทองบนฝ่ามือยิ้มออกมาอย่างเป็นสุข..
มิใช่เพราะมูลค่าของทองคำ แต่เพราะคุณค่าน้ำใจที่แสงพรายมีให้ต่อนาง...
------------------------------
“เรื่องที่มหาบพิตรข้องพระทัยในอุปนิสัยของทิพราชา อาตมาภาพได้ทดสอบน้ำใจของเขาก่อนหน้าเเล้ว.. พบว่าเป็นคนมีคุณธรรม สัตย์ซื่อถือมั่นในสัจจะ บางทีอาจจะซื่อจนยึดมั่นในบางเรื่องมากเกินไปเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นเรื่องที่เขาจะคิดคดทรยศต่อสุโขทัยนั้นเห็นจะมิมีเด็ดขาด”
“ถ้าเป็นดังคำพระคุณเจ้า หม่อมฉันก็หมดห่วงไปเรื่องหนึ่ง” องค์พ่อขุนทรงสนทนากับพระมหาเถรตานไฟภายหลังการถวายภัตตาหารเพลเสร็จสิ้นแล้ว
หลังจากมีพระราชดำรัสให้ขุนวังนิมนต์พระมหาเถรตานไฟเข้ามาในวังหลวง ขุนวังใช้เวลาอีกสองวันจึงจัดการทุกอย่างได้
“ในความคิดของพระคุณเจ้า ฝีมือการต่อสู้ของทิพราชาเทียบกับขุนกาฬที่สำเร็จวิชาผนึกห้าธาตุ ผู้ใดจะมีเปรียบกว่ากัน”
“หากต่อสู้กันในวันนี้ ทิพราชาที่บาดเจ็บฟื้นคืนสภาพร่างกายเพียง ๖ ใน ๑๐ ส่วนย่อมไม่สามารถสู้ชนะขุนกาฬ.. แต่หากรอให้คืนความสมบูรณ์มาได้ ๘ ส่วน ขุนกาฬก็มิอาจเอาชัยในตัวทิพราชาได้.. และถ้ารักษาตัวต่อไปจนถึง ๙ ส่วน แม้แต่ขุนปราบก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับเขาอีกครั้ง”
“นั่นก็อีกแค่ ๒๙ วัน ร่างกายจึงจะสมบูรณ์ถึง ๙ ส่วน...”
“ถูกต้องแล้วมหาบพิตร.. เมื่อวานทิพราชาได้กลับมารักษาตัวกับอาตมาภาพนับเป็นวันที่ ๑๐ อีกเพียง ๒๙ วันเขาก็เหนือกว่าขุนปราบแล้ว มิพักต้องรอให้ครบการรักษาทั้งหมด ๔๙ วัน ซึ่งเขาจะกลับมาสมบูรณ์ดังเดิมทุกประการ...
อนึ่ง วิชาผนึกห้าธาตุแม้รวมความแข็งแกร่ง ความรวดเร็ว และความต่อเนื่องเป็นหนึ่งเดียว แต่ยังเป็นรองหลักวิชาในคัมภีร์สลายธาตุและเพลงอาวุธที่พระมหาเถรศรีศรัทธาบัญญัติขึ้นมา แม้ทิพราชาจะยังไม่บรรลุถึงขั้นสูงสุดแต่เจ้าตัวก็มีวิชาปราณเปลี่ยนมิติเข้ามาผนวก...
และสิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือจิตที่ไม่หวั่นไหว ทิพราชาแม้อายุยังน้อยแต่ชีวิตกลับผ่านช่วงความเป็นความตายมามาก จึงยากที่จะมีผู้ใดเอาชนะเขาได้”
องค์พ่อขุนทรงสดับแล้วสีพระพักตร์ก็คลายจากความหม่นหมอง
“ถ้าทิพราชาสามารถเอาชนะขุนปราบตีทัพอโยธยาถอยกลับไปได้อีกครั้ง นับเป็นบุญของเมืองสุโขทัยแล้ว แต่ก็น่าเสียดายนัก...” ทรงถอนพระปัสสาสะเบาๆ
“ทรงมีเรื่องใดมิโปรดหรือมหาบพิตร”
“องค์หญิงกัณฐิมาศหลานเราเคยลั่นสัจจะวาจาไว้ หากผู้หนึ่งผู้ใดระหว่างขุนกาฬและทิพราชาสามารถพิชิตขุนปราบและทัพอโยธยาลงได้จะอภิเษกสมรสกับคนผู้นั้น...”
“มหาบพิตรไม่โปรดให้พระองค์หญิงต้องอภิเษกสมรสกับทิพราชาหรือ”
“เรื่องนี้หม่อมฉันไม่ปรารถนาทั้งทิพราชาและขุนกาฬ.. ทิพราชามีอดีตกระทำผิดในกามราคะ ส่วนอีกคนก็มากด้วยโมหะมีอกุศลจิตคิดร้ายต่อผู้อื่น นับว่าหม่อมฉันดูขุนกาฬผิดไปจริงๆ.. เดิมหม่อมฉันประสงค์จะให้องค์หญิงอภิเษกสมรสกับขุนกาฬเพราะเข้าใจว่าเป็นคนดีมีฝีมือ เป็นความหวังของสุโขทัย จึงบังคับผลักดันมาตลอด.. เป็นเหตุให้พระนางกล่าวคำสัตย์ดังกล่าวในวันทดสอบวิชาของขุนกาฬที่น้ำตก”
รับสั่งด้วยทรงสังเวชพระทัยในชะตากรรมของพระองค์หญิงที่ทรงรักประดุจพระราชธิดาในสายพระโลหิต
(มีต่อ)
ราชาสิบสองนักษัตร ศึกรวมสุโขทัย - บทที่ ๖๒ ควันศึกอโยธยา
บทที่ ๖๒ ควันศึกอโยธยา
ทิพากรเป็นนามจริงของแสงพราย แปลว่าพระอาทิตย์...
สุโขทัยเป็นชื่อเมืองที่มาจากคำสองคำ “สุข” และ “อุทัย” ที่แปลว่า “ความสุข” และ “พระอาทิตย์”
ไม่มีใครรู้ว่าคำหลักคือความสุขแล้วเพิ่มเติมด้วยคำว่าพระอาทิตย์ อันหมายถึงเมืองแห่งความสุขใต้ดวงอาทิตย์...
หรือเริ่มจากคำว่าพระอาทิตย์แล้วขยายเพิ่มด้วยคำว่าความสุข...
แต่สำหรับแสงพรายแล้ว คงชอบความหมายประการหลังเสียมากกว่า ด้วยไม่กล้าคิดว่าชีวิตนี้จะสามารถทำให้ผู้ใดมีความสุขเเละสมหวังใต้ร่มเงาของตนได้...
“ฉันต้องเรียกหาพี่พราย...ว่าอย่างไรแล้ว... องค์ชาย..ราชา..หรือ อะไร...แล้วก็ชื่อทิพากรอีก...”
พิไลที่นั่งล้อมวงรับข้าวกับปู่หลวง ครูพิธานและแสงพราย กล่าวด้วยท่าทีหวาดๆ และเอียงอาย
“เรียกแสงพรายดังเดิมเถิด เราเป็นคนธรรมดา แม้พระบิดาจะเป็นเจ้าผู้ครองปตานี แต่ก็ไม่ได้ยกย่องให้ศักดิ์ฐานะใดกับเรา.. แถมยังเป็นคนโทษของเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองอโยธยา ศักดิ์ฐานะของราชาก็ถูกถอดไปแล้ว”
“ฉันไม่เชื่อว่าพี่เป็นคนไม่ดีหรอก.. คงเป็นเรื่องเข้าใจผิด” น้ำเสียงอ่อนหวาน แฝงความเอียงอายทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะหยิบจะตักอาหาร แม้จะพูดด้วยแสงพรายแต่กลับมิกล้ามองหน้าชายหนุ่ม
“ทิพากรเป็นชื่อที่พระมารดาตั้งให้ แต่ไม่เคยมีใครเรียก เรียกกันสั้นๆ ว่าเจ้าทิพ.. อันที่จริงตาแสงใหญ่เคยตั้งใจไว้ว่าจะออกชื่อเป็น “แสง” อะไรสักอย่าง เหมือนที่ตั้งให้พระมารดาว่า “แสงจันทร์” ก่อนสถาปนาเป็นพระสนมจันทรา.. เมื่อเราถูกกล่าวหาว่าเป็นภูตพรายผุดจากสายน้ำ จึงใช้ชื่อเเฝงว่าแสงพราย ให้สมกับที่ทุกคนให้ฉายานาม... อันที่จริงว่าไปเเล้ว ชื่อนี้ก็เหมาะสมกับเราดี”
แม้จะเป็นคำกล่าวประชดต่อโชคชะตาที่ถูกผู้คนยัดเยียดความชั่วร้ายเกลียดชังให้ แต่ก็กล่าวออกมาด้วยสีหน้าเป็นสุข
“งั้นฉันเรียกพี่ ว่าพี่แสงพรายนะ”
เป็นครั้งแรกที่นางพูดพลางมองหน้าสบตาชายหนุ่ม ก่อนจะรีบก้มหลบด้วยความขวยเขิน
หลังจากคดีทองคำพระราชทานถูกคลี่คลายด้วยพระสติปัญญาขององค์หญิงกัณฐิมาศพร้อมกับการเปิดเผยตัวตนแท้จริงของแสงพราย บุญจันกับจุกถูกทหารกุมตัวไปให้พระตำรวจวังหลวง ปู่หลวงเรียกประชุมทุกคนในสำนักพร้อมประกาศความจริงเรื่องคดีและเรื่องหลานชายของท่าน..แสงพราย ทุกคนเข้ามาขมาลาโทษแสงพรายที่หลงทำร้ายและเข้าใจผิด รวมถึงตัวครูพิธานด้วย ซึ่งเจ้าตัวก็มิได้ถือโทษโกรธใคร
พอรุ่งเช้า ปู่หลวงให้คนเตรียมอาหารเซ่นไหว้ แล้วพาแสงพรายไปกราบไหว้กระดูกของบรรพบุรุษและกระดูกภรรยาของตาแสงคำในห้องพระ ซึ่งจัดวางอยู่ข้างโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป
“...หลานชายข้าตอนนี้ก็มาอยู่ในเรือนแล้ว ขอให้ดวงวิญญาณของปู่ย่าตายาย ของพ่อเฒ่าแม่เฒ่าและของแม่แก้วหอมจงช่วยดูแลปกป้องคุ้มครองหลานชายคนดี อย่าให้ได้เจ็บอย่าให้ได้ไข้ อย่าให้ได้เคราะห์อย่าให้ได้โศกใดเลย...” นั่นเป็นคำบอกกล่าวกับผีเรือนช่วงหนึ่งของปู่หลวง ก่อนที่ท่านจะหยิบด้ายสีขาวขึ้นมาผูกข้อมือให้หลานชาย
พิไลนั่งก้มหน้ารับอาหาร ได้แต่มองด้ายที่ผูกข้อมือของแสงพราย
“เช้านี้ ฉันพาพี่ไปซื้อของที่ตลาดปสานดีไหม.. ข้าวของพี่แทบไม่มีสิ่งใดเลย และฉันจะไปหาซื้อผ้าใหม่มาตัดเย็บเสื้อผ้าให้พี่อีก...”
ครูพิธานมองดูกิริยาของบุตรสาวก็รู้อาการ “แล้วผ้าแพรที่ได้รับพระราชทานมาตัดเย็บหมดแล้วหรือ จึงจะไปซื้อของใหม่มาเพิ่ม”
“เสร็จหมดแล้วจ้ะ.. แต่พี่พรายควรมีเสื้อผ้าชุดใหม่ไว้เยอะๆ หลังจากนี้คงต้องใส่ไปติดต่อกับพวกวังหลวงมากขึ้น..พี่เขาเป็นสง่าราศีของสำนักเราแล้วนะ”
“เมื่อก่อนตอนให้พาไปตลาดปสานก็เกี่ยงงอนไม่ยอมพาไป เดี๋ยวนี้กลับอาสาจะพาไปเอง...” ปู่หลวงกระเซ้าหญิงสาว พลางหัวเราะด้วยความเอ็นดู
พิไลได้แต่ทำหน้างอ มิกล้าพูดตอบโต้กระไร
“แต่ก็จริงอย่างที่เจ้าว่า.. เดี๋ยวเอาผ้าแพรของข้าไปตัดเย็บใส่นุ่งก็แล้วกัน มีมากมายอยู่ในหีบ แต่ถ้าจะไปซื้อของใหม่ก็มาเอาเบี้ยอัฐที่ข้านี่” ปู่หลวงกล่าวขึ้น
ก่อนเพล ขุนวังก็มายังเรือนใหญ่สำนักบ้านเงินบ้านทอง...
“ข้ามีเรื่องสำคัญจะแจ้งสามเรื่อง” ขุนเสนะทิพกล่าวขึ้นหลังจากเจ้าของเรือนจัดแจงให้การต้อนรับเป็นอย่างดี “เรื่องแรก คดีทองคำพระราชทานที่สูญหายในความดูแลของสำนักบ้านเงินบ้านทอง มีผู้กระทำผิดสามคนด้วยกันคือขุนกาฬ บุญจันและจุก...”
จากนั้นขุนวังก็บอกกล่าวถึงโทษทัณฑ์ของแต่ละคน แล้วจึงคลี่ห่อผ้าที่บรรจุทองคำจำนวน ๒๔ แท่งเล็กๆ ออกมาต่อหน้าปู่หลวง ครูพิธาน แสงพรายและพิไล
“ทองเหล่านี้เป็นสินไหมจำนวนครึ่งหนึ่งที่เรียกปรับจากขุนกาฬ ท่านขุนทัพไกรหาญรีบจัดหามาให้.. ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งท่านขุนรับปากจะส่งมอบให้ครบภายใน ๓ วัน”
ขุนวังมอบทองคำ ๑๒ แท่งให้กับแสงพราย.. ๘ แท่งให้กับปู่หลวงและ ๔ แท่งให้กับครูพิธาน
“เรื่องที่สอง คือเรื่องการสร้างพระพุทธรูปใหญ่ประจำรัชกาล องค์พ่อขุนโปรดให้ปู่หลวงเป็นช่างเอกดำเนินการ...”
“ทำไมไม่เป็นแสงพรายล่ะ ท่านขุนวัง.. เขาคือคนที่ปั้นและหล่อองค์พระที่ชนะการประกวด” ปู่หลวงแย้งขึ้นด้วยความประหลาดใจ
ขุนเสนะทิพสูดลมหายใจแรง ก่อนตอบเสียงหนักแน่น
“เพราะแสงพรายคือทิพราชา ราชาสิบสองนักษัตร ดังนั้นเขามีหน้าที่สำคัญที่ต้องกระทำเช่นกัน”
“หน้าที่สำคัญหรือ...” ปู่หลวงได้แต่พูดค้างไว้ด้วยความสงสัย
“ใช่ และนั่นคือเรื่องที่สามที่ค่อยเอาไว้ว่ากล่าวกันตอนหลัง.. ส่วนในเรื่องนี้ ปู่หลวงท่านเป็นช่างเอกควบคุมการดำเนินงานทั้งหมด และให้สำนักพุทธาไลยกับสำนักศิลาจารมาช่วยงานปั้นและงานหล่อตามที่ท่านจะจัดแบ่ง โดยให้แสงพรายเป็นผู้ช่วยท่านตรวจสอบความถูกต้องตามแบบองค์พระที่ชนะการประกวด”
“ถ้ากระทำดังนั้น เกรงว่าทุนรอนที่ต้องใช้ก่อสร้างจะสูงกว่าปกติ เพราะต้องให้อีกสองสำนักเข้ามาร่วมดำเนินงาน” ปู่หลวงกล่าวออกความเห็น
“เรื่องเงินทุนทำงานที่ต้องใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ท่านปู่หลวงมิต้องกังวล ข้าได้จัดเตรียมเพิ่มเติมไว้แล้ว.. เพราะมีเรื่องที่สามที่จำเป็นต้องให้แสงพรายกระทำ”
ปู่หลวง ครูพิธานและพิไลต่างหันไปมองแสงพราย มิรู้ว่าเรื่องราวใดจะเกิดขึ้นกับชีวิตของเขาอีก
“แสงพราย.. เรื่องที่สามนี้คงไม่ทำให้ท่านแปลกใจนักหรอก เพราะเป็นเรื่องที่ท่านเคยรับปากไว้ว่าจะกระทำ นั่นคือท่านจะต้องต่อสู้กับขุนปราบไพรีพ่ายแม่ทัพใหญ่แห่งอโยธยา เมื่อมีศึกมาประชิดราชอาณาจักร.. สิ่งที่ต้องกระทำตอนนี้ คือรีบรักษาตัวกับพระมหาเถรตานไฟให้หายเป็นปกติเร็วที่สุดและเร่งฝึกฝนเพลงอาวุธให้ชำนาญดังเดิม.. และผู้มีสิทธิ์ขาดบังคับบัญชาท่านก็คือ องค์หญิงกัณฐิมาศ”
ขุนวังกลับไปแล้ว...
เรื่องที่ท่านนำมาแจ้งแพร่กระจายไปทั่วสำนักบ้านเงินบ้านทอง
ผู้คนในสำนักต่างตกใจในคำประกาศิตให้แสงพรายออกต่อสู้กับขุนปราบไพรีพ่าย หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า “ขุนปราบ” แม่ทัพใหญ่แห่งอโยธยา ผู้เด็ดศีรษะขุนพลของฝ่ายสุโขทัยมานับต่อนับ.. ทุกครั้งที่มีผู้เอ่ยนามขุนปราบ ความหวาดกลัวก็บังเกิดแล้ว
แม้ผู้คนจะเคยได้ยินวลี ๕ ขุนศึกที่มีนามราชาสิบสองนักษัตรอยู่ในวลีท้าย แต่ก็ยังรู้สึกว่าขุนปราบคือคนที่น่ากลัวที่สุด ราชาสิบสองนักษัตรที่เคยคิดว่าอยู่ไกลโพ้นในดินแดนตอนใต้กลับกลายเป็นแสงพรายที่ดูอ่อนแอและเคยถูกพวกตนรุมทำร้ายจนหมดสติจมกองเลือด.. ครั้งนี้คงเอาชีวิตไปเซ่นคมดาบของขุนปราบเป็นแน่
พิไลมอบเสื้อผ้าที่ตัดเย็บอย่างประณีตให้แสงพราย เป็นชุดที่ตัดขึ้นด้วยผ้าแพรพระราชทานชั้นเลิศเหมาะสำหรับสวมใส่ในงานพิธีต่างๆ และบอกจะใช้ผ้าที่ปู่หลวงมอบเพิ่มให้ตัดเย็บอีก เป็นผ้าชั้นดีเหมาะสำหรับใส่นุ่งในโอกาสทั่วไป
“พี่แสงพรายต้องต่อสู้กับขุนปราบจริงหรือ...” พิไลกล่าวเสียงเศร้า เมื่อเดินมาส่งที่คอกม้าของสำนัก
“ใช่ พี่รับปากเป็นสัตย์แล้ว หากขุนปราบนำทัพมา.. คงต้องต่อสู้กัน”
“ฉันหวังว่าอโยธยาคงจะไม่ยกทัพขึ้นมาสุโขทัยอีก..”
เป็นคำกล่าวที่พิไลเองก็รู้ว่า มิมีทางเป็นไปได้.. ทัพอโยธยาพิชิตไปทั่วทุกสารทิศ แม้แต่เมืองพระนครหลวงของกัมพูชาธิบดี ก็ยังสยบอยู่ในพระราชอำนาจโดยเด็ดขาดของพระเจ้าอโยธยา คงเหลือเพียงอาณาจักรสุโขทัยทางเหนือเท่านั้นที่พระเจ้าอโยธยาทรงมุ่งพระทัยหมายครอบครอง
“พี่ไปละ” ชายหนุ่มขึ้นม้า แล้วกระตุ้นเบาๆ ควบขับออกไป
แสงพรายต้องไปอยู่กับพระมหาเถรตานไฟเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ ปู่หลวงมอบม้าให้เพื่อความสะดวกในการเดินทางมิต้องย่ำเท้าเดินไปมา และให้ย้ายขึ้นมานอนบนเรือนใหญ่ในห้องพระ เสื้อผ้าชั้นดีที่พิไลตัดเย็บให้ต่างถูกเก็บไว้ในห้องดังกล่าวมิได้นำติดตัวไป เช่นเดียวกับพระธำมรงค์พระราชทานจากองค์พ่อขุนและทองคำค่าปรับสินไหมจำนวน ๑๑ แท่ง
เสียงม้าควบออกประตูรั้วสำนักไปไกลแล้ว พิไลแบมือออกมา เหม่อมองทองคำแท่งเล็กๆ ในมือ เป็นทองคำที่แสงพรายมอบกำนัลให้นาง ในชีวิตของพิไลมิเคยได้ของมีค่าขนาดนี้มาก่อน นางมองดูทองบนฝ่ามือยิ้มออกมาอย่างเป็นสุข..
มิใช่เพราะมูลค่าของทองคำ แต่เพราะคุณค่าน้ำใจที่แสงพรายมีให้ต่อนาง...
------------------------------
“เรื่องที่มหาบพิตรข้องพระทัยในอุปนิสัยของทิพราชา อาตมาภาพได้ทดสอบน้ำใจของเขาก่อนหน้าเเล้ว.. พบว่าเป็นคนมีคุณธรรม สัตย์ซื่อถือมั่นในสัจจะ บางทีอาจจะซื่อจนยึดมั่นในบางเรื่องมากเกินไปเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นเรื่องที่เขาจะคิดคดทรยศต่อสุโขทัยนั้นเห็นจะมิมีเด็ดขาด”
“ถ้าเป็นดังคำพระคุณเจ้า หม่อมฉันก็หมดห่วงไปเรื่องหนึ่ง” องค์พ่อขุนทรงสนทนากับพระมหาเถรตานไฟภายหลังการถวายภัตตาหารเพลเสร็จสิ้นแล้ว
หลังจากมีพระราชดำรัสให้ขุนวังนิมนต์พระมหาเถรตานไฟเข้ามาในวังหลวง ขุนวังใช้เวลาอีกสองวันจึงจัดการทุกอย่างได้
“ในความคิดของพระคุณเจ้า ฝีมือการต่อสู้ของทิพราชาเทียบกับขุนกาฬที่สำเร็จวิชาผนึกห้าธาตุ ผู้ใดจะมีเปรียบกว่ากัน”
“หากต่อสู้กันในวันนี้ ทิพราชาที่บาดเจ็บฟื้นคืนสภาพร่างกายเพียง ๖ ใน ๑๐ ส่วนย่อมไม่สามารถสู้ชนะขุนกาฬ.. แต่หากรอให้คืนความสมบูรณ์มาได้ ๘ ส่วน ขุนกาฬก็มิอาจเอาชัยในตัวทิพราชาได้.. และถ้ารักษาตัวต่อไปจนถึง ๙ ส่วน แม้แต่ขุนปราบก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับเขาอีกครั้ง”
“นั่นก็อีกแค่ ๒๙ วัน ร่างกายจึงจะสมบูรณ์ถึง ๙ ส่วน...”
“ถูกต้องแล้วมหาบพิตร.. เมื่อวานทิพราชาได้กลับมารักษาตัวกับอาตมาภาพนับเป็นวันที่ ๑๐ อีกเพียง ๒๙ วันเขาก็เหนือกว่าขุนปราบแล้ว มิพักต้องรอให้ครบการรักษาทั้งหมด ๔๙ วัน ซึ่งเขาจะกลับมาสมบูรณ์ดังเดิมทุกประการ...
อนึ่ง วิชาผนึกห้าธาตุแม้รวมความแข็งแกร่ง ความรวดเร็ว และความต่อเนื่องเป็นหนึ่งเดียว แต่ยังเป็นรองหลักวิชาในคัมภีร์สลายธาตุและเพลงอาวุธที่พระมหาเถรศรีศรัทธาบัญญัติขึ้นมา แม้ทิพราชาจะยังไม่บรรลุถึงขั้นสูงสุดแต่เจ้าตัวก็มีวิชาปราณเปลี่ยนมิติเข้ามาผนวก...
และสิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือจิตที่ไม่หวั่นไหว ทิพราชาแม้อายุยังน้อยแต่ชีวิตกลับผ่านช่วงความเป็นความตายมามาก จึงยากที่จะมีผู้ใดเอาชนะเขาได้”
องค์พ่อขุนทรงสดับแล้วสีพระพักตร์ก็คลายจากความหม่นหมอง
“ถ้าทิพราชาสามารถเอาชนะขุนปราบตีทัพอโยธยาถอยกลับไปได้อีกครั้ง นับเป็นบุญของเมืองสุโขทัยแล้ว แต่ก็น่าเสียดายนัก...” ทรงถอนพระปัสสาสะเบาๆ
“ทรงมีเรื่องใดมิโปรดหรือมหาบพิตร”
“องค์หญิงกัณฐิมาศหลานเราเคยลั่นสัจจะวาจาไว้ หากผู้หนึ่งผู้ใดระหว่างขุนกาฬและทิพราชาสามารถพิชิตขุนปราบและทัพอโยธยาลงได้จะอภิเษกสมรสกับคนผู้นั้น...”
“มหาบพิตรไม่โปรดให้พระองค์หญิงต้องอภิเษกสมรสกับทิพราชาหรือ”
“เรื่องนี้หม่อมฉันไม่ปรารถนาทั้งทิพราชาและขุนกาฬ.. ทิพราชามีอดีตกระทำผิดในกามราคะ ส่วนอีกคนก็มากด้วยโมหะมีอกุศลจิตคิดร้ายต่อผู้อื่น นับว่าหม่อมฉันดูขุนกาฬผิดไปจริงๆ.. เดิมหม่อมฉันประสงค์จะให้องค์หญิงอภิเษกสมรสกับขุนกาฬเพราะเข้าใจว่าเป็นคนดีมีฝีมือ เป็นความหวังของสุโขทัย จึงบังคับผลักดันมาตลอด.. เป็นเหตุให้พระนางกล่าวคำสัตย์ดังกล่าวในวันทดสอบวิชาของขุนกาฬที่น้ำตก”
รับสั่งด้วยทรงสังเวชพระทัยในชะตากรรมของพระองค์หญิงที่ทรงรักประดุจพระราชธิดาในสายพระโลหิต
(มีต่อ)