น้ำมัน กระทบกับหุ้นอะไรบ้าง ทั้งด้านบวก และ ลบ

กระทู้สนทนา
เครดิตบทความโดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรากร
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644747


ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่แล้วดูเหมือนจะก่อให้เกิด “แรงกระเพื่อม”  ในสังคมซึ่งส่งผลให้บริษัท ปตท. ต้องปรับราคาน้ำมันลงเพื่อลดภาระให้แก่ผู้บริโภคจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นอย่างรวดเร็ว  นี่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นมานานพอสมควรหลังจากที่ราคาน้ำมันตกต่ำลงมาหลายปีและเพิ่งจะปรับตัวกลับขึ้นมาในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา  แต่ในความคิดของผมเองนั้น  เหตุการณ์แบบนี้ก็จะผ่านไปโดยที่แทบไม่ได้มีอะไรที่กระทบกับพื้นฐานของบริษัทและหุ้นของปตท.  เหตุผลก็เพราะว่าราคาน้ำมันหรือถ้าจะพูดให้ชัดก็คือน้ำมันดิบนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา  ผมยังจำได้ว่าครั้งหนึ่งราคาน้ำมันดิบเคยปรับตัวขึ้นไปถึงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งบาร์เรลและทุกคนก็บอกว่ามันจะขึ้นไปอีกมากเพราะว่าน้ำมันกำลังจะ “หมดโลก”  โดยยกทฤษฎี “Peak Oil” หรือ  “ดอยน้ำมัน” ซึ่งบอกว่าการผลิตน้ำมันนั้นผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและกำลังลดลงเรื่อย ๆ  ในขณะที่การใช้ยังคงเพิ่มขึ้น  มายืนยัน

แต่แล้วราคาน้ำมันกลับปรับตัวลงแรง  เหตุผลก็เพราะว่ามีการค้นพบวิธีขุดหาน้ำมัน  Shale Oil หรือการขุดน้ำมันใต้หินดินดานในสหรัฐอเมริกาที่สามารถขุดน้ำมันได้จำนวนมากอย่างรวดเร็วจนทำให้อเมริกาที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลกสามารถมีน้ำมันพอใช้และในอนาคตก็จะกลายเป็นผู้ส่งออกแทน  นอกจากนั้น  การพัฒนาของรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะของบริษัทเทสล่าที่ได้รับการจองซื้ออย่างล้นหลามก็ทำให้คนเริ่มเชื่อว่าในอนาคตอีกไม่นาน  รถยนต์ส่วนใหญ่ก็จะกลายเป็นรถไฟฟ้าซึ่งจะทำให้น้ำมันกลายเป็นพลังงานที่มีคนใช้น้อยลงเรื่อย ๆ  ผลก็คือ  ราคาน้ำมันตกลงมาแรงมากจนคนบอกว่าราคาน้ำมันนั้นจะไม่มีทางแพงขึ้นแบบเดิมอีกต่อไป  คนพูดกันว่าประเทศที่มีน้ำมันดิบสำรองมหาศาลอย่างซาอุดิอาระเบียจะต้องรีบขุดน้ำมันมาขายก่อนที่ในอนาคตมันจะไร้ค่าเพราะคนหันไปใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีต้นทุนการผลิตที่ลดลงเรื่อย ๆ  เป็นหลัก

เหตุผลที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับตัวขึ้นจากราคา ประมาณ 40 ดอลลาร์เศษ ๆ ต่อหนึ่งบาร์เรลเมื่อกลางปีที่แล้วกลายมาเป็นประมาณ 70 ดอลลาร์ในช่วงเร็ว ๆ  นี้นั้น  ผมไม่แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร  คนพูดกันว่าเป็นเพราะผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่สามารถร่วมมือกันในการลดกำลังการผลิตลงได้สำเร็จ  บางคนก็บอกว่าเป็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นทั่วโลกทำให้การใช้น้ำมันมากขึ้น  แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหนผมก็คิดว่ามันก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้  ประวัติศาสตร์บอกเราตลอดเวลาว่าเมื่อราคาน้ำมันขึ้นถึงจุดหนึ่งที่สูงมาก  มันก็จะถึงเวลาที่จะลง  และเมื่อมันลงมาถึงจุดหนึ่ง  ในที่สุดมันก็จะต้องขึ้น  ไม่มีใครสามารถควบคุมหรือทำนายมันได้  เทคโนโลยีสมัยใหม่อาจจะทำให้น้ำมันมีค่าน้อยลงและอาจจะไร้ค่าในที่สุดแต่มันก็คงจะใช้เวลาไม่น้อยน่าจะ 10-20 ปีขึ้นไป   แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็อาจจะช่วยให้การค้นหาน้ำมันมีราคาถูกลงมากจนทำให้คุ้มค่าที่จะขุดขึ้นมาขายและทำให้ Supply-Demand เปลี่ยนแปลงไปส่งผลต่อราคาน้ำมันและทำให้ราคาน้ำมันผันผวนไปเรื่อย ๆ  คาดการณ์ได้ยาก

ราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงมากและรวดเร็วนั้นส่งผลต่อราคาและดัชนีในตลาดหุ้นไทยที่ประกอบด้วยหุ้นขนาดใหญ่ที่ผลประกอบการอิงอยู่กับราคาน้ำมันไม่น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี  หุ้นกลุ่มขนส่งและหุ้นผู้ผลิตขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานมาก  เป็นต้น  ลองมาไล่ดูอย่างคร่าว ๆ  ก็จะเป็นดังต่อไปนี้

กลุ่มแรกก็คือหุ้นผู้ผลิตหรือค้นหาน้ำมันหรือแก๊สธรรมชาติซึ่งอิงอยู่กับราคาน้ำมันซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ถูกกระทบโดยตรงที่สุด  โดยหุ้นที่โดดเด่นที่สุดก็คือหุ้น ปตท.สผ.  ที่จะได้ประโยชน์ชัดเจนเวลาราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น   เพราะผลผลิตที่ได้นั้นมีต้นทุนเท่าเดิมในขณะที่ราคาขายปรับตัวขึ้นมาก  ผลก็คือกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น  ในทางตรงกันข้าม  ถ้าราคาน้ำมันลดลง  กำไรก็จะลดลง  การที่จะ “เล่นหุ้น”แบบนี้ก็จะต้องดูว่าทิศทางของราคาน้ำมันจะไปทางไหนประกอบกับราคาของหุ้นในขณะนั้น  การเข้าไปซื้อหุ้นในยามที่ราคาน้ำมันขึ้นไปสูงแล้วอาจจะไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีเพราะหลังจากนั้นราคาน้ำมันอาจจะลดลง  วิธีที่อาจจะดีกว่าก็คือซื้อเมื่อราคาน้ำมันตกต่ำมานานแล้ว “รอ” และขายเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นสูง

กลุ่มต่อมาคือกลุ่มผู้กลั่นน้ำมันหรือโรงกลั่น  นี่คือกลุ่มที่ถูกกระทบไม่มากในแง่ของพื้นฐานเนื่องจากพวกเขาหากินจากการแปรสภาพน้ำมันเพื่อผู้บริโภค  กำไรขาดทุนของพวกเขาอยู่ที่ “ค่าการกลั่น” ซึ่งไม่ได้ผันผวนตามราคาน้ำมันดิบ  อย่างไรก็ตาม  ตัวเลขผลประกอบการของบริษัทเหล่านี้อาจจะดูดีขึ้นมากเมื่อราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น  เหตุผลก็เพราะว่าพวกเขามักจะได้ “Stock Gain”  หรือกำไรจากสต็อกน้ำมันในถังเก็บที่มีราคาเพิ่มขึ้น  แต่นี่ก็จะเป็น “กำไรครั้งเดียว” และถ้าในไตรมาศต่อไปราคาน้ำมันลดลง  บริษัทก็จะ “ขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน” ที่มีราคาลดลง  ดังนั้น  การวิเคราะห์หุ้นกลุ่มนี้ก็ต้องแยกแยะให้ได้ว่ากำไรหรือขาดทุนไม่ได้เกิดจากสต็อกเกนหรือล็อส

กลุ่มที่สามก็คือคนขายน้ำมันโดยเฉพาะก็คือปั๊มน้ำมัน  นี่ก็คือคนที่หากินจากการขายน้ำมันซึ่งกำไรหรือขาดทุนขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำมันที่ขายและ “ค่าการตลาด” ที่คิดเป็นกี่บาทต่อการขายน้ำมันหนึ่งลิตรเป็นหลัก  ซึ่งค่าการตลาดนั้นก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันมากนักแม้ว่าจะมีส่วนอยู่บ้าง  ดังนั้น  เวลาวิเคราะห์หุ้นที่ทำปั๊มน้ำมัน  เราจะต้องดูว่าปั๊มนั้นขายได้ดีแค่ไหน  และที่สำคัญยิ่งกว่าในภาวะปัจจุบันก็อาจจะเป็นเรื่องของการขายอย่างอื่นในปั๊มเช่น  กาแฟ  อาหาร  สินค้าสะดวกซื้ออื่นและอาจจะรวมถึงที่พักและร้านช็อปปิงสำหรับคนเดินทางด้วยก็ได้ในอนาคต

กลุ่มที่สี่ก็คือธุรกิจที่ใช้น้ำมันมาก  ที่เห็นชัดเจนก็เช่น  ผู้ประกอบการขนส่งเช่น  สายการบินและเดินเรือ  ซึ่งมักจะถูกกระทบค่อนข้างเร็วและแรง  เพราะต้นทุนของน้ำมันต่อต้นทุนอื่นค่อนข้างสูงอาจจะเป็นหลายสิบเปอร์เซ็นต์  และต้นทุนนี้มักจะไม่สามารถส่งต่อให้แก่ผู้ใช้บริการได้ทันที  ผลกระทบนั้นอาจจะรุนแรงในไตรมาศแรก ๆ  ที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นเร็ว  แต่หลังจากนั้นผลกระทบก็จะน้อยลง   อย่างไรก็ตาม  ราคาน้ำมันที่สูงต่อเนื่องนั้นก็ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงและทำให้ความต้องการใช้น้อยลง  ในขณะที่เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลง  ผลดีที่ได้กับผู้ประกอบการนั้นมักจะไม่เท่ากับความเสียหายในช่วงขาขึ้น  นอกจากเรื่องของการขนส่งแล้ว  กิจการที่ใช้พลังงานมาก ๆ  อื่นเช่นปูนซีเมนต์หรือเหล็กที่มักใช้ถ่านหินหรือก๊าสธรรมชาติก็อาจจะถูกกระทบทางอ้อมด้วยเนื่องจากราคาพลังงานเหล่านั้นก็มักจะอิงกับราคาน้ำมันในระดับหนึ่ง  ดังนั้น  เมื่อน้ำมันขึ้นราคา  ผลประกอบการของบริษัทก็มักจะไม่ดี

กิจการผลิตไฟฟ้าที่ต้องใช้พลังงานมหาศาลแต่มักจะเป็นก๊าสและถ่านหินนั้น  จะมีสัญญาที่รวมค่า FT ซึ่งมีการปรับราคาขายไฟให้กับการไฟฟ้าตามราคาพลังงานด้วยนั้นผมคิดว่าไม่น่าจะถูกกระทบนัก  เพราะกิจการสามารถปรับราคาตามต้นทุนของพลังงานที่ใช้ได้รวดเร็วและค่อนข้างเต็มที่  ดังนั้น  ผลประกอบการของบริษัทเหล่านี้มักจะไม่น่ากังวลนักในยามที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น

กิจการค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีการกระจายสินค้าไปทั่วประเทศและต้องอาศัยรถขนส่งนั้น  อาจจะได้รับผลกระทบจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นบ้าง  อย่างไรก็ตาม  ราคาน้ำมันไม่ได้เป็นต้นทุนที่สูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนค่าแรงและค่าเสื่อมราคารถ  นอกจากนั้น  น้ำมันที่มีราคาสูงขึ้นอาจจะก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาสูงขึ้น  ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการขายของผู้ค้าปลีกเพิ่มขึ้นที่จะสามารถชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันได้บางส่วน  ดังนั้น  สำหรับผู้ค้าปลีกแล้ว  ราคาน้ำมันขึ้นอาจจะส่งผลกับผลประกอบการในระดับหนึ่งเท่านั้น

สุดท้ายก็คือเรื่องของคนที่  “เล่นน้ำมัน” โดยตรง  โดยเฉพาะคนที่เก็งกำไรว่าราคาจะขึ้นและไปซื้อฟิวเจอร์น้ำมันเอาไว้  การที่ราคาน้ำมันขึ้นรอบนี้ก็คงจะทำกำไรให้กับคนเล่นมหาศาลเนื่องจากนอกจากเปอร์เซ็นต์การขึ้นจะสูงและเร็วมากแล้ว  การ Leverage หรือการวาง “มัดจำ” เงินที่ซื้อเพียงจำนวนน้อยก็ทำให้ผลตอบแทนถูกทวีคูณขึ้นไปหลายเท่า   อย่างไรก็ตาม  สำหรับคนที่ยังไม่ได้ซื้อ  การที่จะเข้าไปเล่นในตอนนี้ก็จะกลายเป็นความเสี่ยงมหาศาล  เพราะถ้าราคาน้ำมันไม่ขึ้นต่อแต่กลับลดลงอย่างรวดเร็ว  การเก็งกำไรก็อาจจะกลายเป็นหายนะได้ง่าย ๆ      

แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่