BBL ห่วงคอนโดฯ ล้น! ชี้สัญญาณอันตราย กำลังซื้อไม่ฟื้นลามปีหน้า

ที่มา

http://www.thansettakij.com/content/343736?fbclid=IwAR12WCmytqwPZwptTbCy-JQYBrgIGZ4FQWkqM2XSrlhLBeDhhYY2aspbd3A


ประธานบริหารแบงก์กรุงเทพ ส่ง "สัญญาณอันตราย" หวั่น! คอนโดฯ-มิกซ์ยูสล้นตลาด สงครามการค้าฉุดส่งออก ต่างชาติแย่งตลาดเอสเอ็มอี กำลังซื้อรากหญ้าไม่ฟื้นลามเศรษฐกิจ พร้อมประเมินปีหน้าโตไม่เกิน 4.5% หนุนเลือกตั้งเร็ว โปร่งใส เพิ่มเชื่อมั่นดึงนานาชาติลงทุน

นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL แสดงความกังวลเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ที่มีการก่อสร้างจำนวนมาก แต่ยังขายไม่ออก จนต้องมีการลดแลกแจกแถม ถือว่าเป็นสิ่งอันตรายอย่างมาก ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องวางกฎระเบียบเรื่องการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพราะกลัวว่าจะเกิดเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ่งธนาคารกรุงเทพระมัดระวังเรื่องนี้พอสมควร และมีขั้นตอนกลั่นกรองลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง



เดชา ตุลานันท์


ธนาคารกรุงเทพเห็นด้วยหาก ธปท. จะควบคุมดูแลอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ในปีหน้า พร้อมมั่นใจว่า มีผลกระทบกับธนาคารน้อย เพราะการปล่อยกู้เกิน LTV ที่ระดับ 100% ไม่สมเหตุสมผล เป็นสิ่งจำเป็นที่ ธปท. ต้องควบคุมการแข่งขันของธนาคาร

ขณะที่ การเปิดให้เอกชนประมูลที่ดินมักกะสันในพื้นที่ 150 ไร่ เพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานออฟฟิศ หรือ คอนโดมิเนียม ส่วนตัวมองว่าจะไม่ง่าย ในการจะหาคนเข้ามาอยู่จนเต็มพื้นที่ และปัจจุบันยังมีหลายโครงการที่จะก่อสร้างอาคารสูงหรือตึกจำนวนมหาศาล อาทิ โครงการ One Bangkok ของกลุ่มทีซีซีและเฟรเซอร์สพร็อพเพอร์ตี้ลิมิเต็ด หรือ โครงการก่อสร้างตึกกว่า 100 ชั้น ของ GLAND โครงการเดอะซุปเปอร์ทาวเวอร์ประมาณ 125 ชั้น รวมทั้งแผนรื้อโรงแรมดุสิตธานี เพื่อก่อสร้างเป็นคอนโดมิเนียมและอาคารสำนักงานในรูปแบบมิกซ์ยูส เหล่านี้จะทำให้มีความต้องการน้อยลง

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้า คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4.2% ไม่เกิน 4.5% โดยภาพรวมแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามจะอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะรถไฟใต้ดิน รถไฟความเร็วสูง ทำให้ด้านก่อสร้างมีการใช้วัตถุดิบและคนมีงานทำ แต่เชื่อว่าการค้าทั่วไปและธุรกิจส่งออกจะสู้ปีนี้ไม่ได้ สาเหตุจากปัจจัยต่างประเทศทั้งเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยสหรัฐอเมริกากำหนดมาตรการภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อจำกัดการนำเข้าสินค้า ทำให้สินค้าส่งออกของไทยราคาแพงขึ้น ขณะที่ เศรษฐกิจยุโรปไม่ค่อยดี ยังมีประเด็นต่อสู้กันเรื่องอังกฤษพยายามจะออกจากประเทศสหภาพยุโรป เป็นต้น




ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ ยังเป็นห่วงธุรกิจเอสเอ็มอีไทยจะถูกแย่งตลาด ถ้าเปิดให้ต่างชาติรวมถึงจีนเข้ามาทำธุรกิจ หากวางระเบียบไม่ดี เอสเอ็มอีไทยจะลำบาก ด้วยต้นทุนผลิตสูงกว่า ทั้งการก่อสร้างและการซื้อการขาย แม้ธนาคารจะสนับสนุนด้านความรู้ต่าง ๆ การบันทึกบัญชีเดียว รวมถึงความเป็นห่วงธุรกิจส่งออก ซึ่งเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ส่งออกหด 5.5% และอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีแนวโน้มจะถูกกระทบจากมาตรการภาษี

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องระวังในปีหน้า คือ เศรษฐกิจรากหญ้าที่ยังไม่ฟื้น อาจจะลุกลาม และต้องพยายามดูแลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล แม้อาจจะเพิ่มบ้าง แต่ต้องรักษาระดับอย่ามากเกินปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการเลือกตั้งได้เร็วและโปร่งใสจะทำให้ทั่วโลกกล้าเข้ามาลงทุนมากขึ้น เช่น ยุโรป สหรัฐฯ หรือหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากจีน โดยที่รัฐบาลไทยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเต็มที่

"ช่วง 2 เดือนที่จะสิ้นปีนี้ คงไม่มีอะไรตื่นเต้น ขณะที่ รัฐบาลยังพยายามจะสนับสนุนศรษฐกิจให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้เศรษฐกิจรากหญ้าเชื่อว่ายังไม่ฟื้น เพราะผมไปต่างจังหวัด หลายแห่งธุรกิจเงียบ ๆ ไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไร แต่ปีหน้าถ้ามีเลือกตั้งเร็วและโปร่งใสจะทำให้ทั่วโลกมองไทยและกล้าเข้ามาลงทุนจากหลายประเทศ เพราะตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากจีน"




สำหรับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพในปีหน้า จะเน้นสินเชื่อธุรกิจสาขาต่างประเทศ จะต้องมีสัดส่วนสินเชื่อต่างประเทศของธนาคารรวมทุกประเทศเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 18% เทียบกับฐานสินเชื่อรวมด้วยเครือข่ายในต่างประเทศ 32 แห่ง ใน 15 เขตเศรษฐกิจสำคัญของโลก ครอบคลุม 9 ใน 10 ประเทศอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซียและเมียนมา โดยในอินโดนีเซียนั้น มีการขยายตัวทั้งธุรกิจก่อสร้างขุดเจาะนํ้ามัน ขณะใน สปป.ลาว เป็นการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังนํ้า แล้วนำไฟฟ้ามาใช้ในไทย

"ปีหน้าสินเชื่อเติบโตใกล้เคียงกับปีนี้ ที่ 3-5% ตามเป้า เน้นสินเชื่อธุรกิจคละกันไปในต่างประเทศ คาดว่าสิ้นปีนี้จะขยายสินเชื่อได้ 5%"

ขณะที่ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพสุทธิหลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ณ สิ้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา อยู่ที่ 28,103 ล้านบาท หรือ 1.2% ขณะที่ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ รวม 84,137 ล้านบาท หรือ 3.6% โดยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสำรองขั้นตํ่า ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2561 อยู่ที่ 230.1% ขณะเดียวกันธนาคารยังกันสำรองเพิ่มต่อเนื่อง แม้ว่าเวลานี้จะมีกันสำรองเกินเกณฑ์มาตรฐานบัญชี IFRS9 แล้วก็ตาม

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,416 วันที่ 8 - 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่