แพทย์จุฬาฯ เร่งวิจัยต่อเฟสสอง “ยาต้านมะเร็ง” จากภูมิคุ้มกัน เปิดบัญชีรับทุนเพิ่ม หลังคนบริจาคจนขัดข้อง

แพทย์จุฬาฯ เร่งวิจัยต่อเฟสสอง “ยาต้านมะเร็ง” จากภูมิคุ้มกัน เปิดบัญชีรับทุนเพิ่ม หลังคนบริจาคจนขัดข้อง
เผยแพร่: 19 ต.ค. 2561 16:08  ปรับปรุง: 19 ต.ค. 2561 19:09  โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะแพทย์ จุฬาฯ เดินหน้าพัฒนา “ยาต้านมะเร็งจากภูมิคุ้มกัน” เฟสสอง ปี 62 ปรับปรุงแอนติบอดีให้คล้ายมนุษย์ คาดใช้เวลา 10 ปี งบอีกกว่า 1,500 ล้านบาท จึงสำเร็จ ปชช.แห่สมทบทุนจนบัญชีขัดข้อง ต้องเปิดบัญชีใหม่เพิ่ม ชี้ข้อดียาช่วยเซลล์ภูมิคุ้มกันไม่ถูกหลอก เข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งได้ปกติ ด้าน สวรส.หนุนงบ 10 ล้านบาท กรมวิทย์อีก 3 ล้านบาท

วันนี้ (19 ต.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในงานแถลงข่าว “สวรส. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จับมือ จุฬาฯ ต่อยอดวิจัยไทยผลิตยาต้านมะเร็งจากภูมิคุ้มกันมนุษย์” โดย นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผอ.สวรส. กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งเน้นนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยอาศัยนวัตกรรมมาพัฒนาประเทศ ซึ่งขณะนี้ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการวิจัยตามแนวทางการแพทย์แม่นยำ โดยพัฒนายาภูมิต้านทานรักษามะเร็ง หรือ ยาไบโอโลจิกส์ นับเป็นการตอบโจทย์ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเสียค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งเป็นยารักษามะเร็ง ดังนั้น ใน 30 ปีข้างหน้า จะต้องมีการพัฒนายารักษามะเร็งเพื่อช่วยประหยัดงบประมาณประเทศ โดย สวรส.จะสนับสนุนทุนวิจัยให้แก่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จำนวน 10 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนกระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิต โดยหวังได้ตัวยาพร้อมนำเข้าสู่โรงงานผลิตใช้ได้ในประเทศ



“ปัจจุบันโรงพยาบาลของไทยต้องนำเข้ายารักษามะเร็งจากภูมิคุ้มกันมนุษย์หลอดละ 2 แสนบาท ต้องฉีดกระตุ้นทุก 3 สัปดาห์ และให้ได้ผลต้องฉีดติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปี ภูมิคุ้มกันจึงจะไปกำจัดและควบคุมเซลล์มะเร็งได้ หมายความว่า ต้องจ่ายไม่ต่ำกว่าคนละ 8-10 ล้านบาท สวรส.จึงร่วมกับคนไทยให้เกิดการผลิตและนำยารักษามะเร็งจากภุมิคุ้มกันของมนุษย์นี้ ผลักดันเข้าสู่ระบบสุขภาพหรือระบบหลักประกันสุขภาพของไทย เพื่อให้คนไทยได้ใช้ยาในราคาที่ถูกลง จาก 2 แสนบาทต่อหลอด เหลือเพียง 2 หมื่นบาทต่อหลอด ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะเป็นความก้าวหน้าของระบบสุขภาพและความหวังใหม่ของผู้ป่วยมะเร็ง” นพ.นพพร กล่าว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมฯ จะสนับสนุนงบประมาณ 3 ล้านบาท ให้แก่การวิจัยดังกล่าว ซึ่งการระดมทุนครั้งนี้อยากให้เป็นการระดมทุนร่วมกันของทุกภาคส่วน อยากให้เป็นระบบของประชารัฐ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับความสำเร็จของยาดังกล่าว

ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การรักษามะเร็งจะมี 5 แนวทางได้แก่ 1. การผ่าตัด 2. การฉายแสง 3. ยาเคมีบำบัด 4. ยาที่จำเพาะกับมะเร็ง หรือยามุ่งเป้า และ 5. ยาต้านมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันมนุษย์ ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ล่าสุด เป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นโดย ศ.นพ.ทาสุกุ ฮอนโจ แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต ที่ค้นพบโมเลกุลสำคัญที่ช่วยให้ภูมิคุ้มกันไปกำจัดมะเร็งได้ดีขึ้น ทำให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี 2018 ซึ่งองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ได้รับรองว่ายาภูมิคุ้มกันใช้ได้ผลกับมะเร็ง 15 ชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งผิวหนัง เป็นต้น การศึกษาดังกล่าวเบื้องต้นได้รับงบจากจุฬาฯ กว่า 100 ล้านบาท แต่หากจะวิจัยจนได้ยามาใช้ในมนุษย์ ยังต้องใช้งบอีกมาก



ศ.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันของมนุษย์มีหลายชนิด โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์จะเป็นตัวที่ทำลายเซลล์มะเร็ง โดยร่างกายจะมีกลไกไม่ให้เซลล์ภูมิคุ้มกันทำงานมากจนเกินไป โดยเซลล์ร่างกายจะมีการผลิตเซลล์ที่ชื่อว่า “พีดี-แอล 1” มาจับตัวกับเซลล์ “พีดี-1” ที่อยู่บนทีเซลล์เพื่อยับยั้งไม่ให้ทำงานมากจนเกินไป และทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายกลับสู่สมดุล ดังนั้น เทคโนโลยีในการผลิตยาต้านมะเร็งจากภูมิคุ้มกัน จึงเป็นการค้นหาแอนติบอดี้ เพื่อยับยั้งไม่ให้เซลล์พีดี-แอล1 ของมะเร็ง มาจับคู่กับเซลล์พีดี-1 ของทีเซลล์ จึงทำให้ทีเซลล์ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง สามารถฆ่าเซลล์มะเร็ง หรือเซลล์ที่ผิดปกติได้ทันที ทั้งนี้ เมื่อ ก.ย.ที่ผ่านมา ทีมวิจัยสามารถค้นพบแอนติบอดีต้นแบบแล้ว 1 โคลนหรือ 1 ตัว ในการแยกพีดี-1 และ พีดี-แอล1 ให้ผลในหลอดทดลองใกล้เคียงกับยาแอนติบอดีราคาแพงของต่างประเทศ ขณะนี้กำลังรอตรวจพิสูจน์ว่า ในประเทศอื่นๆ มีการวิจัยค้นพบตัวเดียวกันนี้แล้วเอาไปจดสิทธิบัตรแล้วหรือไม่ ถ้าไม่มีก็จะพัฒนาต่อเป็นยา แต่ถ้ามีก็จะต้องค้นหาตัวใหม่ไปเรื่อยๆ เชื่อว่า จะสามารถนำมาทดลองในคนได้ภายใน 4 ปี

ศ.พญ.ณัฏฐิยา กล่าวว่า ทั้งนี้ ขอเชิญชวนคนไทยร่วมบริจาคสมทบทุนได้ที่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลขบัญชี 408-004443-4 ชื่อบัญชีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย) ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย และบัญชีใหม่ที่เพิ่งเปิดเลขที่บัญชีกระแสรายวัน ธนาคารไทยพาณิชย์ 045-304669-7 ชื่อบัญชีบัญชี คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย) ที่เปิดบัญชีเพิ่มเพราะตอนนี้ยอดบรจาคเข้ามาถึง 9,999 รายการต่อวันส่งผลให้บัญชีเดิมถูกล็อก ธนาคารจึงเปิดบัญชีใหม่ให้ และจะใช้ทั้ง 2 บัญชีเลย โดยเงินที่บริจาคสามารถลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่า



นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ นักวิจัยพัฒนาแอนติบอดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เซลล์มะเร็งจะพยายามสร้าง “พีดีแอล-1” ขึ้นมา ดังนั้น เมื่อทีเซลล์เข้ามาจับก็จะถูกหลอกว่าเป็นเซลล์ปกติ ทำให้เซลล์มะเร็งไม่ถูกทำลาย แอนติบอดีที่พัฒนานั้นจะเข้ามาแยกการจับคู่ดังกล่าว ซึ่งส่วนที่จับกันนั้นมีหลายจุดหลายมุม การวิจัยจึงต้องหาแอนติบอดีที่จะเข้าไปแยกการจับคู่ที่มุมใดมุมหนึ่งให้ได้ ซึ่งต้องต่างจากมุมการจับที่มีคนคิดค้นและพัฒนาแล้ว สำหรับการวิจัยมีทั้งหมด 5 ระยะ คือ 1. ผลิตแอนติบอดีจากหนู ใช้เวลา 2 ปี งบประมาณ 100 ล้านบาท 2. ปรับปรุงแอนติบอดีให้คล้ายมนุษย์ใช้เวลา 1 ปี งบประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มในปี 2562 3. การผลิตในปริมาณสูงจากโรงงาน ใช้เวลา 18 เดือน งบประมาณ 200 ล้านบาท 4. ทดสอบในสัตว์ทดลอง ใช้เวลา 20 เดือน งบประมาณ 100-200 ล้านบาท และ 5. การทดสอบในมนุษย์ ใช้เวลา 48 เดือน งบประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยรวมแล้วต้องใช้งบประมาณกว่า 1,500 ล้านบาท และใช้เวลาประมาณ 10 ปีกว่าจะสำเร็จ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างระยะ 1 เข้าระยะที่ 2 จึงต้องการงบสนับสนุน 10 ล้านบาท ในการปรับปรุงแอนติบอดี แต่ก็ต้องมีการหาทุนเพิ่มเติม เพราะหากปรับปรุงสำเร็จก็ต้องเข้าสู่การผลิตจำนวนมากจากโรงงาน ทั้งนี้ การร่วมระดมทุนจากหลายภาคส่วนและประชาชน เพราะไม่ได้อยากได้แหล่งทุนที่แสวงหาผลกำไร เพื่อให้ยามีราคาถูกกว่าต้นทุนอย่างน้อย 10 เท่า





แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่