จากรางวัลโนเบล...หมอจุฬาฯ ผลิต "ยาแอนตี้บอดี้รักษามะเร็ง"

    ถ้าทีมจุฬาฯ ทำได้สำเร็จ..ยาแอนตี้บอดี้นำเข้าหลอดละ 2 แสนบาทจะเหลือราคาแค่.....


           “โรคมะเร็ง” เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นของคนทั่วโลก ในแต่ละปีคนป่วยด้วยโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เพิ่มประมาณ 18 ล้านคน และเสียชีวิตปีละเกือบ 10 ล้านคน แต่อีกไม่นานมนุษย์จะพิชิตโรคร้ายนี้อย่างราบคาบ....เพราะสามารถคิดค้นวิธีรักษาโดยใช้แอนตี้บอดี้หรือภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนจัดการกับเซลล์มะเร็งร้ายอย่างได้ผล....

   2 คุณหมอนักวิจัยที่ค้นพบวิธีการรักษามะเร็งด้วยการใช้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ถูกสรรเสริญยกย่องจนได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี 2018 ไปเรียบร้อยแล้ว นั่นคือ ศ.ดร.เจมส์ อัลลิสัน (James Allison) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเท็กซัสของอเมริกา และศ.นพ.ทาสุกุ ฮอนโจ (Tasuku Honjo) แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University)


          ปกตินักวิจัยทางการแพทย์ที่จะได้รับรางวัลโนเบลนั้นต้องรอคอยพิสูจน์ผลงานของตัวเองไม่ต่ำกว่า 30–40 ปี แต่สำหรับคุณหมอ 2 ท่านนี้ คณะกรรมการตัดสินมอบให้ภายในเวลาเพียง 20 กว่าปี เนื่องจากเป็นการค้นพบและพิสูจน์ได้ว่าวิธีการใช้แอนตี้บอดี้มารักษาโรคมะเร็งร้ายสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยจำนวนมากได้จริง หรือเรียกภาษาการแพทย์ว่า “การใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดรักษามะเร็ง”(Cancer Immunotherapy)

          หลังจากหมออัลลิสันและคุณหมอฮอนโจ ค้นพบวิธีรักษานี้ได้เมื่อปี 1995 สถาบันวิจัยและบริษัทยาทั่วโลกต่างนำไปทดลองศึกษาต่อยอดจนสามารถผลิตเป็นยาภูมิคุ้มกันรักษามะเร็งขายสำเร็จในปี 2011 ตอนนี้มี 6 บริษัทยายักษ์ใหญ่โลกเป็นเจ้าของสิทธิบัตรผลิตขายทำกำไรมหาศาลเรียบร้อยแล้ว

          คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จักยาภูมิคุ้มกันรักษามะเร็ง เนื่องจากมีราคาแพงมาก หลอดละ 2 แสนบาทกว่าจะรักษาหายต้องจ่ายไม่ต่ำกว่า 8 ล้านบาท ประเทศร่ำรวยและมีสวัสดิการดีเยี่ยมอย่างอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่นไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่คนไทยเจ็บป่วยมีแค่บัตรทอง 30 บาทดูแล คงไกลเกินเอื้อมถึง นอกจากมหาเศรษฐีบางคนที่สามารถจ่ายค่ายาเองได้


          แต่วินาทีนี้คนไทยเริ่มมีความหวังหลังจาก “นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล” หมอนักวิจัยผู้สนใจศึกษาการพัฒนาแอนตี้บอดี้มาตลอดระยะเวลาที่ทำงานในสถาบันวิจัยทางการแพทย์แห่งชาติของอเมริกา (National Institutes of Health:NIH) ตัดสินใจกลับมาตั้งศูนย์วิจัยผลิตยาภูมิคุ้มกันบำบัดรักษามะเร็งตามต้นแบบที่ได้รางวัลโนเบลที่โรงพยาบาลจุฬาฯ


          คุณหมอไตรรักษ์ เปิดใจให้สัมภาษณ์ “คม ชัด ลึก” ว่า “เมื่อฝรั่ง-ญี่ปุ่น ทำได้ คนไทยก็ต้องทำได้เช่นกัน” เพราะวิธีนี้พิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยชีวิตคนป่วยมะเร็งที่เคยไร้ความหวังเป็นจำนวนมาก


          คุณหมอไตรรักษ์อธิบายถึงการทำงานของภูมิคุ้มกันมหัศจรรย์นี้ว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วย “โรคมะเร็ง” เพราะมะเร็งคือเซลล์ที่ผิดปกติ แล้วเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและมีหลายหลายสายพันธุ์ จนไปทำร้ายระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น เซลล์มะเร็งในตับ เซลล์มะเร็งในลำไส้ เซลล์มะเร็งผิวหนัง เซลล์มะเร็งปอด ฯลฯ ที่ผ่านมาวงการแพทย์มี 3 ทางเลือกในการหยุดยั้งเซลล์มะเร็งร้ายเหล่านี้ คือ 1.การรักษาด้วยคีโม หรือเคมีบำบัด (chemotherapy) เป็นการใช้ยาเคมีบางชนิดเข้าไปทำลายการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง แต่การให้ยาคีโมไม่ได้ออกฤทธิ์เจาะจงไปที่เซลล์มะเร็งร้ายเท่านั้นแต่ส่งผลกระทบไปทำลายเซลล์ปกติทั่วไปด้วย ทำให้ร่างกายผู้ป่วยส่วนใหญ่ทุกข์ทรมานจากวิธีการรักษานี้ เช่น อาการอักเสบที่อวัยวะบางแห่ง ภูมิต้านทานร่างกายต่ำลง ผมร่วง ฯลฯ

  2.การรักษาด้วยวิธีฉายแสง หรือการฉายรังสีรักษา (radiotherapy) ด้วยวิธีการใช้รังสีพลังงานสูงไปทำลายก้อนเซลล์มะเร็งโดยตรง แต่ผลข้างเคียงคือการทำลายเนื้อเยื่อปกติที่อยู่ใกล้เคียงกับก้อนมะเร็งและอีกวิธีที่นิยมทำกันคือ 3 ใช้ยาพุ่งเป้า (targeted therapy)


          คุณหมอไตรรักษ์อธิบายต่อว่า3  วิธีการนี้ได้ผลในหยุดยั้งการเติบโตของมะเร็งแค่ในผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเท่านั้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์การแพทย์พยายามคิดค้นวิธีการใช้ภูมิคุ้มกันที่เป็นสิ่งวิเศษในร่างกายมนุษย์มาใช้จัดการกับเซลล์มะเร็ง มีการพยายามวิจัยเรื่องนี้มานานเกือบร้อยปีแล้ว แต่ไม่สามารถถอดรหัสได้ จนกระทั่งปี 1995 คุณหมออัลลิสันประกาศความสำเร็จในการค้นพบโปรตีนชื่อ “ซีทีแอลเอ-4” (CTLA-4) บนเซลล์เม็ดเลือดขาว “ทีเซลล์” (T-cell) ที่เป็นภูมิคุ้มกันร่างกายของเรา ซึ่งในร่างกายคนมีทีเซลล์ตัวนี้อยู่เป็นล้านล้านเซลล์แต่มีตัวซีทีแอลเอ-4 ไปยับยั้งการทำงานทำให้ไม่สามารถไปกำจัดเซลล์มะเร็งได้ และในช่วงเวลาใกล้ๆ กันคุณหมอฮอนโจจากญี่ปุ่นก็พบโปรตีน พีดี-1 (PD-1) บนทีเซลล์ และ พีดี-แอล1 (PD-L1) บนเซลล์มะเร็งซึ่งไปจับคู่กันยับยั้งการทำงานของทีเซลล์เช่นกัน


          “เป็นโชคดีของคนไทยที่คุณหมอไตรรักษ์กลับมาจากอเมริกาเพื่อทำงานวิจัยคิดค้นยารักษามะเร็งให้คนไทย ทุกวันนี้คนป่วยมะเร็งที่ได้ข่าวก็ติดต่อมาเยอะมาก ถามทุกวันทำสำเร็จหรือยัง พวกเขาพร้อมเป็นคนไข้ให้ทดลองเลย เราก็อธิบายไปว่าต้องรออีกสักพักนะคะ เพราะตอนนี้เป็นขั้นที่ 1 อย่างน้อยอีก 2-3 ปีถึงเป็นขั้นทดลองในคนป่วยจริง ตอนนี้งบประมาณที่จุฬาฯ สนับสนุนไปแล้ว 100 ล้านบาท ส่วนใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งต้องเอาไปซื้ออุปกรณ์ที่แพงมาก เครื่องเล็กๆ ราคาเป็น 10 ล้าน ตอนนี้เราต้องใช้แรงงานนักวิจัยมาช่วยกันไปก่อนเพราะไม่มีเงินซื้อหุ่นยนต์ช่วยผลิตยาแบบที่ใช้ในห้องทดลองต่างประเทศมาช่วย แค่เอาเซลล์ที่เพาะเลี้ยงมาใส่ในหลอดทดลองต้องทำวันละหลายหมื่นครั้งด้วยฝีมือของน้องๆ ค่อยๆ หยอดทีละหลอด แต่ถ้ามีเครื่องมือช่วยจะสามารถทำได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่พวกเราก็มีความมุ่งมั่น ทุกคนมีกำลังใจกันดีมาก อาจเพราะรู้สึกลึกๆ ว่าคนไข้ป่วยมะเร็งทั่วประเทศส่งกำลังใจมาให้พวกเราตลอดเวลาก็ได้นะ” พญ.ณัฏฐิยา กล่าวทิ้งท้ายด้วยความหวัง


           "ยาภูมิคุ้มกันรักษามะเร็ง” กำลังจะพลิกโฉมวงการแพทย์ ทำให้หน่วยงานรัฐและเอกชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกพยายามแข่งขัน หรือร่วมมือกันนำงานวิจัยที่ได้รางวัลโนเบลมาต่อยอดพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด


           แต่ดูเหมือนภาครัฐบาลและภาคเอกชนของไทยยังไม่ค่อยเข้าใจลึกซึ้งถึงความสำคัญอย่างน้อย 2 ประการของ “การรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์”





จากรางวัลโนเบล...หมอจุฬาฯ ผลิต "ยาแอนตี้บอดี้รักษามะเร็ง"


          นั่นคือความสำคัญของตัวเลข “ตลาดยารักษามะเร็ง” ทั่วโลก 9 ล้านล้านบาท เฉพาะในไทย 8 หมื่นล้านบาท หรือความสำคัญของการฟื้นชีวิตของคนป่วยให้กลับมาอยู่กับครอบครัวอีกครั้งเป็นการลงทุนที่สำคัญสูงสุด มิอาจหาสิ่งใดมาเปรียบเทียบได้....


          ขอคนไทยแค่ 5 บาท...ผลิต “ยาภูมิต้านรักษามะเร็ง”
          เพื่อให้ "ศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ" แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเงินเพียงพอต่อการศึกษาวิจัยเพื่อผลิต “ยาภูมิต้านรักษามะเร็ง” หรือยาไบโอโลจิกส์ (Biologics) ขอเพียงคนไทยที่มีรายได้ 40 ล้านคน สนใจช่วยบริจาคคนละ 5 บาท เป้าหมายขั้นต้น 2 ร้อยล้านบาทก็จะสำเร็จทันที


          ผู้สนใจบริจาคได้ที่ กองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ บัญชีออมทรัพย์คณะแพทยศาสตร์ เลขที่บัญชี 408-004443-4 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย อีเมล : CUCancerIEC@gmail.com, เฟซบุ๊กแฟนเพจ “CU Cancer Immunotherapy Fund” ใบเสร็จหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

http://www.komchadluek.net/news/scoop/348042?fbclid=IwAR1elIi0vVCreHxpPcTKr5V_vFktMJih1Vi6oWp1pauKxaG6YS4pgCPzgBc
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 9
จัดไป

ความคิดเห็นที่ 20
เผื่อมีคน อ่านภาษาไทย ไม่แตกฉาน หรือ อ่านไม่เกิน 3 บรรทัด
แต่ขอสรุปแบบง่ายๆนะครับ ไม่เอาศัทพ์วิชาการ

1. มีการค้นพบยารักษามะเร็ง ที่เมืองนอก ด้วยการเอาภูมิในร่างกายมาปรับ
2. ค่ายา ค่ารักษา มันแพงระเบิดเถิดเทิง
3. หมอไทย จากจุฬา คิดค้นวิธีการเดียวกัน (ยาที่เอาภูมิคุ้มกันในร่างกายไปต้านเซลล์มะเร็ง) แต่ราคาถูกกว่าเว่อร์วัง
4. แต่ ณ เวลานี้ ยังอยู่ในขั้นทดลอง ซึ่งมีแนวโน้ม ที่ดีมากๆ มากเสียจน หมอ k อยากเอากล้ามมาโอบกอด
5. มีการของบ อะไร ไปเรียบร้อย ได้มาแล้ว แต่มันก็ช้าในขั้นตอนต่างๆ และก็ยังไม่พอ
6. โรงพยาบาล จึงขอการบริจาค จากคนไทยด้วยกัน เพียง คนละ 5 บาท โครงการนี้ก็จะสามารถเดินต่อได้และมีโอกาสประสบความสำเร็จอย่างสูง

ปล ยาวไปหน่อยจะได้อ่านกันไหมเนี่ยะ
ความคิดเห็นที่ 38
ที่เราเข้าใจคือแบบนี้
1. นักวิจัยจากเมืองนอก ได้รางวัลโนเบล เรื่องการเอาภูมิต้านทานมารักษามะเร็ง แล้วสำเร็จ
2. บริษัทยาต่างๆ เอางานของ 1  มาวิจัยกันเอง พอพบเซลล์ภูมิต้านทานที่ใช้งานได้ ก็จดลิขสิทธิ์เอาไว้ ทำให้เราไปใช้ตัวเดียวกับเค้าไม่ได้ เพราะติดเรื่องลิขสิทธิ์  ถ้าจะใช้ก็ต้องซื้อ (ซึ่งราคาแพงมาก)
3. หมอจุฬา ก็ทำแบบข้อสอง เพื่อหาภูมิต้านทานที่ยังไม่ถูกจดลิขสิทธิ์ ยิ่งหาเจอเร็ว เรายิ่งได้ประโยชน์  เพราะพอเราผลิตได้เอง ต้นทุนจะต่ำ (ผลจากงานวิจัยเบื้องต้น มีสัญญาณที่ดีมาก)
4. จะหาเจอได้เร็ว เงินทุนก็ต้องถึง และรอภาครัฐไม่ทัน (ไม่ใช่รัฐไม่ให้ แต่มันช้าไป)  เลยขอระดมจากภาคประชาชน

รู้สึกถึงความมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเลย

ปล .. แอบสงสัยว่า มะเร็งมันเป็นปัญหาระดับโลกเลยนา WHO ไม่ออกมาคุมราคาซื้อขายกันหน่อยเหรอ ปล่อยให้บริษัทยาเก็งกำไรอะไรกันเยอะแยะ พวกประเทศโลกที่สาม สี่ ห้า ที่ขาดโอกาส จะทำยังไงเนี่ย
ความคิดเห็นที่ 62
ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันในอเมริกา และผมยืนยันว่าการผลิต anti-PD-1 หรือ anti-PD-L1 ในราคาถูกเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุนมากๆ

สิ่งที่ Cancer Immunotherapy หรือการรักษาโดยการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านมะเร็งของเราเอง ต่างจากวิธีที่ผ่านมา เพราะมันสามารถใช้กับมะเร็งได้หลากหลาย (ถึงแม้ผลการตอบสนองจะแตกต่างกัน) และคนที่ตอบสนองกับยาโดยทั่วไป คือ "หายขาด" ครับ คือภูมิคุ้มกันของเราสามารถ "กลายพันธ์ุ" ปรับตัวกับมะเร็งที่กลายพันธุ์หนีได้

ปัญหาของยานี้คือ คนที่ตอบสนองยังไม่สูงมาก อย่างมะเร็งผิวหนัง คนตอบสนองประมาณ 30% (อย่างที่บอกกลุ่มคนโชคดีเหล่านี้ "หายขาด" ครับ) เค้าก็พยายามวิจัยกันอยู่ว่าทำไม และจะเพิ่มอัตราการตอบสนองได้อย่างไร แต่แนวโน้มคือการหาวิธีอื่นเพื่อ "เสริม" ไปกับการใช้ยานี้ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นยานี้ (หรือกลุ่มยาที่กลไกไปในทางนี้) เลยเป็นความหวังในการรักษามะเร็งสูงที่สุดในปัจจุบัน ปัญหาคือตัวยามันเป็น "แอนติบอดี้" ไม่ใช่สารเคมีโมเลกุลขนาดเล็กที่มันจะผลิตซ้ำได้ง่ายและราคาถูก ตัวยาเองมันถึงแพงมากๆ ซึ่งถ้าในอนาคตยาตัวนี้จะเป็นมาตรฐานในการรักษามะเร็ง ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการทางสาธารณสุขอย่างบ้านเรารับไม่ไหวอย่างแน่นอน

เพราะฉะนั้นหากเราผลิตได้เองในราคาต่ำมันคุ้มค่าแน่นอน เข้ามาเชียร์ครับ เพราะส่วนตัวผมคิดว่าถ้าเราจะลงทุนวิจัยไปกับยาอะไรเป็นอันดับหนึ่ง ความคิดผมคือตัวนี้ครับ
ความคิดเห็นที่ 19
คห.17  ต้องอ่านให้ครบและให้แตก  มาผมจะอ่านให้ฟัง

..เป็นโชคดีของคนไทยที่คุณหมอไตรรักษ์กลับมาจากอเมริกาเพื่อทำงานวิจัยคิดค้นยารักษามะเร็งให้คนไทย ทุกวันนี้คนป่วยมะเร็งที่ได้ข่าวก็ติดต่อมาเยอะมาก ถามทุกวันทำสำเร็จหรือยัง พวกเขาพร้อมเป็นคนไข้ให้ทดลองเลย เราก็อธิบายไปว่าต้องรออีกสักพักนะคะ เพราะตอนนี้เป็นขั้นที่ 1 อย่างน้อยอีก 2-3 ปีถึงเป็นขั้นทดลองในคนป่วยจริง ตอนนี้งบประมาณที่จุฬาฯ สนับสนุนไปแล้ว 100 ล้านบาท ส่วนใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งต้องเอาไปซื้ออุปกรณ์ที่แพงมาก เครื่องเล็กๆ ราคาเป็น 10 ล้าน ตอนนี้เราต้องใช้แรงงานนักวิจัยมาช่วยกันไปก่อนเพราะไม่มีเงินซื้อหุ่นยนต์ช่วยผลิตยาแบบที่ใช้ในห้องทดลองต่างประเทศมาช่วย แค่เอาเซลล์ที่เพาะเลี้ยงมาใส่ในหลอดทดลองต้องทำวันละหลายหมื่นครั้งด้วยฝีมือของน้องๆ ค่อยๆ หยอดทีละหลอด แต่ถ้ามีเครื่องมือช่วยจะสามารถทำได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่พวกเราก็มีความมุ่งมั่น ทุกคนมีกำลังใจกันดีมาก อาจเพราะรู้สึกลึกๆ ว่าคนไข้ป่วยมะเร็งทั่วประเทศส่งกำลังใจมาให้พวกเราตลอดเวลาก็ได้นะ” พญ.ณัฏฐิยา กล่าวทิ้งท้ายด้วยความหวัง..

1. ตอนนี้เป็นขั้นที่ 1 อย่างน้อยอีก 2-3 ปีถึงเป็นขั้นทดลองในคนป่วยจริง
2. ตอนนี้งบประมาณที่จุฬาฯ สนับสนุนไปแล้ว 100 ล้านบาท ส่วนใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งต้องเอาไปซื้ออุปกรณ์ที่แพงมาก เครื่องเล็กๆ ราคาเป็น 10 ล้าน ตอนนี้เราต้องใช้แรงงานนักวิจัยมาช่วยกันไปก่อนเพราะไม่มีเงินซื้อหุ่นยนต์ช่วย


สรุป
1. 100  ล้านบาทยังไม่พอ แค่เครื่องมืตัวละ 10 ล้านก็หมดไปครึ่งแล้ว
1.1 เครื่องมือแพง และยังไม่เพียงพอ นี่แค่ยังไม่ได้ใช้โรบอท ซึ่งจะประหยัดเวลามาก
2. เร่งมือทดสอบตัวอย่าง(ด้วยคน)
3. รองบเพิ่มในขั้นที่ 2 ไม่ได้ ถ้าขั้นแรกไม่เสร็จ



อันนี้ละเอียดขึ้น จากข่าว MGRONLINE
ขาดงบอีก 10 ล้าน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่