แย่งที่จอดรถ!!! ควรฝึกหลักธรรมใดแก้?

ฉบับที่ ๕๘ วันพุธที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
เรื่อง แย่งที่จอดรถ!!! ควรฝึกหลักธรรมใดแก้?

          ปัญหาการแย่งที่จอดรถในห้าง แทบจะเป็นปัญหาคลาสสิกของคนใช้รถ เพราะไม่อยากจะไปจอดไกล ที่จอดไม่พอ โดยเฉพาะในวันหยุดหรือวันสำคัญต่าง ๆ ที่ที่จอดรถในห้างหายากยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด
          โดยวันที่ 13 สิงหาคม 2561 เฟซบุ๊ก Champ K Pacuz ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ตนเองจะพาแม่ไปทานข้าวในวันแม่ที่สยามพารากอน และได้ขับรถไป และเมื่อตนหาที่จอดรถได้ และขณะที่กำลังจะจอดรถนั้น ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาบอกว่า รถคันที่เพิ่งออกไปเป็นญาติ และจะจอดต่อ ซึ่งหนุ่มคนนี้ก็ได้ถามยามว่า มีการจองที่จอดแบบนี้ด้วยหรือ ยามเองก็ได้แต่ยิ้มเจื่อนและส่ายหัว จนทำให้คนขับรถ(ที่คาดว่ามากับสาวที่ยืนจอง) พูดกับหนุ่มว่า "งั้นน้องจอดไปเลยค่ะ เอาเลยค่ะ ตามสบาย นี่พี่รีบมีธุระด่วนต้องรีบจอด น้ำใจไม่มีก็จอดไปเลยค่ะ”
          ต่อมาสาวคนดังกล่าวก็เดินออกไป และพูดว่า "จะหน้าด้านจอดก็จอดเลย เพราะมีคนแบบนี้ สังคมไทยเลยไม่มีน้ำใจ ไม่มีมารยาท" และหนุ่มเจ้าของโพสต์ก็ตอบกลับไปว่า "ก็เพราะมีคนแบบนี้สังคมเลยต่ำ คำว่ามารยาทไม่ได้ไว้ใช้กับคนที่ทำถูกต้องตามกฎระเบียบของสังคม แต่ไว้ใช้กับคนแบบคุณ การพูดว่ามีธุระด่วนนั้นเอามาใช้ไม่ได้  คำว่าหน้าด้านคงไม่ได้ใช้กับผมแล้วแหละ"  
            จากเหตุการณ์นี้ ผู้เขียนคิดว่า หากจะสะท้อนหลักธรรมที่ควรนำมาแก้ปัญหานี้ รวมถึงในทุก ๆ เรื่องที่เนื่องด้วยชีวิตของฆราวาส ผู้ครองเรือน ที่ต้องทำมาหากิน เกี่ยวพันแย่งผลประโยชน์กันอยู่ตลอด นั่นก็คือ “ฆราวาสธรรม”
            ฆราวาสธรรม ประกอบด้วย 2 คำ "ฆราวาส" แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตในทางโลก, ผู้ครองเรือน และ "ธรรม" แปลว่า ความถูกต้อง, ความดีงาม, นิสัยที่ดีงาม, คุณสมบัติ, ข้อปฏิบัติ
ฆราวาสธรรม แปลว่า คุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลก ประกอบด้วยธรรมะ 4 ประการ คือ
    1    สัจจะ แปลว่า จริง ตรง แท้ มีความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐาน เป็นคนจริงต่อความเป็นมนุษย์ของตน
    2    ทมะ แปลว่า ฝึกตน ข่มจิต และรักษาใจ บังคับตัวเองเพื่อลดและละกิเลส และรักษาสัจจะ
    3    ขันติ แปลว่า อดทน ไม่ใช่แพียงแต่อดทนกับคำพูดหรือการกระทำของผู้อื่นที่เราไม่พอใจ แต่หมายถึงการอดทนอดกลั้นต่อการบีบบังคับของกิเสส
    4    จาคะ แปลว่า เสียสละ บริจาคสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตน โดยเฉพาะกิเลสเพราะนั้นคือสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่กับตน ละนิสัยไม่ดีต่างๆ
            ความสำคัญของหลักธรรม 4 ประการ ที่มีต่อการสร้างตัวนี้ พระพุทธองค์ถึงกับท้าให้ไปถามผู้รู้ท่านอื่นๆ ว่า มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างเกียรติยศ และความเคารพจากผู้อื่น ให้คนเราได้เท่ากับการมี "สัจจะ" หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างปัญญาให้คนเราได้เท่ากับการมี "ทมะ" หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างทรัพย์สมบัติให้คนเราได้เท่ากับการมี "ขันติ" หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างหมู่มิตรให้คนเราได้เท่ากับการมี "จาคะ" หรือไม่
            สรุปการที่พระพุทธองค์ทรงท้าให้ไปถามผู้รู้อื่นๆ อย่างนี้ก็หมายความว่า ไม่มีธรรมะใดๆ ที่จะใช้สร้างตัวให้ประสบความสำเร็จได้ยิ่งกว่าการสร้างสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะให้เกิดขึ้นในตนอีกแล้ว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ คนที่จะยืนหยัดผ่านอุปสรรคต่างๆ ในโลกนี้ไปจนกระทั่งพบความสำเร็จได้นั้น เขาต้องสร้าง "ฆราวาสธรรม" ให้เป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานประจำตนก่อนนั่นเอง เพราะฉะนั้น ความหมายที่แท้จริงของ ฆราวาสธรรม คือ คุณสมบัติของผู้ที่สามารถสร้างเกียรติยศ สร้างปัญญา สร้างทรัพย์สมบัติ และสร้างหมู่ญาติมิตรให้เกิดขึ้นได้สำเร็จด้วยกำลังความเพียรของตน สุดท้าย ปัญหาการกระทบกระทั่งก็ต้องเกิดขึ้นเป็นปกติของฆราวาสผู้มีกิเลส แต่จะบานปลายเป็นเรื่องใหญ่หากทุกท่านได้ฝึกตนตามหลักธรรมนี้
            ทุกท่านคิดเห็นอย่างไร แลกเปลี่ยนความรู้กันใน Comment Facebook, YouTube, Blog, Line, IG, Twitter, pantip ...กันนะครับ ขอบคุณครับ

             B.S.
            15 ส.ค. 2561
       
ตอน แย่งที่จอดรถ!!! ควรฝึกหลักธรรมใดแก้? เวลา 14.00-14.20น. https://youtu.be/R5GvLoiolfIคลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่