สภาพการเสียกรุงครั้งที่ 1-2 ครั้งไหนมีความพร้อมรับศึกพม่ามากกว่ากันครับ

ตามหัวข้อเลยครับ ในมุมมองของผมน่าจะครั้งที่ 2 รึเปล่า เพราะพระเจ้าเอกทัศสั่งให้สร้างป้อมค่ายไว้รอบพระนคร และเคยเจอศึกกับอลองพญาก่อนหน้านั้นด้วยทหารน่าจะมีประสบการณ์บ้างไม่มากก็น้อยนะ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 6
สงครามเสียกรุง พ.ศ. ๒๑๑๒

- ตั้งแต่สงครามยังไม่เริ่มก็เสียเปรียบ เพราะหัวเมืองฝ่ายเหนือที่นำโดยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชไปเข้ากับหงสาวดีแล้ว ทำให้กองทัพหงสาวดีสามารถเคลื่อนไพร่พลลงมาถึงกรุงได้สะดวก และยังได้หัวเมืองฝ่ายเหนือเป็นฐานสำหรับลำเลียงเสบียงและเกณฑ์ไพร่พลอีก ที่สำคัญคือได้สมเด็จพระมหาธรรมราชาไปเป็นที่ปรึกษาวางแผนการต่างๆ หลายครั้ง


- อยุทธยาไม่สามารถเกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเกณฑ์ได้เพียงส่วนน้อยเท่านั้น ดังที่พงศาวดารบันทึกไว้ว่า

"พระเจ้าหงษายกพลทั้งปวงลงมายังพระนครศรีอยุทธยา พระเจ้าช้างเผือกแลสมเด็จพระมหินทราธิราชพระเจ้าแผ่นดินก็ให้ขับพลเมืองนอก ทั้งปวงเข้าพระนคร แลได้แต่ในแขวงจังหวัดซึ่งอยู่ใกล้พระนครทั้งสี่แขวงนั้นได้แต่ส่วนหนึ่ง เข้ามายังพระนคร แลซึ่งมิได้เข้ามายังพระนครแลเขาออกอยู่ป่ามากนัก อนึ่งพลเมืองเล็กน้อยทั้งปวงไซร้มิได้เข้าพระนครแลเขาออกอยู่ป่า แลได้แต่ตัวเจ้าเมือง แลพลสำหรับเจ้าเมืองนั้นเข้ามาพระนคร"


- ชัยภูมิของเกาะเมืองอยุทธยาก็ยังมีจุดด้อย คือคูขื่อหน้าฝั่งตะวันออกของพระนครเป็นเพียงคูเมือง ไม่ใช่แม่น้ำเหมือนด้านอื่น และในเวลานั้นยังไม่ได้ขยายกำแพงพระนครฝั่งตะวันออกมาถึงคูขื่อหน้า ทำให้ทัพหงสาวดีสามารถข้ามคูมาตั้งในเกาะเมืองได้ง่าย จนถึงรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาต้องแก้ปัญหาด้วยการขยายคูให้เป็นแม่น้ำ และขยายกำแพงมาติดคูครับ


-มีความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวในการบัญชาการป้องกันรักษาพระนคร ปรากฏในพงศาวดารว่าสมเด็จพระมหินทราธิราชไม่ได้ทรงเอาพระทัยใส่ในการบัญชาการศึกเลย แต่โปรดให้พระยารามเป็นแม่ทัพใหญ่บัญชาการแทน

"๏ ในขณะนั้นพระเจ้าช้างเผือกทรงพระประชวรหนักประมาณ ๒๕ วัน ก็สวรรคตในวัน ศักราช ๙๓๑ ปี เมื่อพระเจ้าช้างเผือกสวรรคตแล้ว สมเด็จพระมหินทราธิราชพระเจ้าแผ่นดินมิได้นำพาซึ่งการศึก แลเสด็จอยู่แต่ในพระราชวัง แลไว้การทั้งปวงแก่พระยารามให้บังคับบัญชาตรวจทหารทั้งปวง ผู้รักษาน่าที่รอบพระนคร ขณะนั้นพระยารามขี่คานหามทองเลียบน่าที่ มีมยุรฉัตรประดับซ้ายขวาแลธงไชยกระบี่อาวุธแห่น่า แลพลทหารอาสาแห่น่าหลังเปนหนั่นหนา แลพลถือปืนนกสับนั้น ๗๐๐ แลพระยารามเลียบน่าที่ทุกวันก็เห็นพลทหารออกรบชาวหงษาซึ่งพากันเข้ามานั้น ๚"


แต่ภายหลังจากที่ค่ายตรงมุมเกาะแก้วแตก พระยารามเกิดถอดใจคิดยอมแพ้หงสาวดี ทำให้แม่ทัพนายกองต่างเสื่อมศรัทธา ต่างคนต่างบัญชาการทัพกันเอง และก็ไม่ปรากฏว่าพระมหินทร์ได้ทรงแก้ไขปัญหานี้แต่ประการใด แต่เพราะอยุทธยายังมีปราการธรรมชาติที่แข็งแกร่งเป็นจุดแข็ง ทำให้ยืนหยัดต่อต้านมาได้ และมีพระมหาเทพเป็นนายกองที่เข้มแข็งกว่าคนอื่นยังยันทัพหงสาวดีอยู่ได้เรื่อยมา

"ครั้นเสียมุมเกาะแก้วนั้น พระยารามก็สลดใจ จะบังคับบัญชาการศึกนั้นมิเปนสิทธิดุจก่อน ก็คิดด้วยท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายว่าจะป้องกันสืบไปเห็นพ้นกำลัง แลจะแต่งออกเจรจาเปนไมตรี ท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายก็ว่าซึ่งจะเปนไมตรีไซร้ แต่ยังมิได้รบกันเปนสามารถ แล ซึ่งได้รบพุ่งเปนสามารถ แลเสียรี้พลพระเจ้าหงษาเปนอันมากแล้วดังนี้ พระเจ้าหงษายังจะรับเปนไมตรีฤๅ ท้าวพระยาทั้งหลายก็มิฟังพระยารามซึ่งจะชวนเปนไมตรีนั้น แต่นั้นไปท้าวพระยามุขลูกขุนผู้ทหารทั้งปวงมิฟังบังคับบัญชาพระยาราม แลต่างคนต่างรบพุ่งข้าศึก สมเด็จพระมหินทราธิราชพระเจ้าแผ่นดินก็มิเอาพระไทยลงในการศึก แลละให้แต่มุขมนตรีทั้งหลายรบพุ่ง ขณะนั้นพระมหาเทพถือพลอาสาอยู่รักษาน่าค่ายในมุมเกาะแก้วกำแพงซึ่งทลายนั้น ข้าศึกหงษายกเข้ามาปล้นค่ายนั้นเปนหลายครั้งแลพระมหาเทพป้องกันเปนสามารถ"


นอกจากนี้ สมเด็จพระมหินทราธิราชยังทรงหาเหตุกำจัดพระศรีเสาวราช ซึ่งช่วยป้องกันพระนครอย่างเข้มแข็งไปอีกเพราะเกรงว่าจะก่อกบฏ ทำให้แม่ทัพนายกองเสียกำลังใจอย่างมากด้วย


- อย่างไรก็ตาม อยุทธยามีจุดแข็งสำคัญคือปราการธรรมชาติที่ยังคงทำให้สามารถรักษาพระนครได้จนเกือบถึงฤดูน้ำหลากครับ จนพระเจ้าบุเรงนองซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำหลากได้ต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีตัดกำลังคือลวงให้อยุทธยาส่งตัวพระยารามให้ และใช้ไส้ศึกคือพระยาจักรีไปทำให้การรักษาพระนครอ่อนแอลง จนทำให้สามารถตีกรุงได้ก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง


- เรื่องยุทธศาสตร์ ไม่พบรายงานว่าอยุทธยาได้ออกไปตั้งค่ายวางแนวปะทะนอกพระนครเลย มีแต่การส่งทหารหรือใช้สำเภาติดปืนใหญ่ไปโจมตีเท่านั้น ในขณะที่ทัพหงสาวดีสามารถตั้งค่ายใกล้คูพระนครรวมถึงยึดฐานที่มั่นสำคัญคือวัดต่างๆ ได้ตั้งแต่ยกทัพมาถึงใหม่ๆ โดยปรากฏว่าค่ายแรกที่หงสาวดีตั้งอยู่ห่างจากคูพระนครเพียง ๓๐ เส้น (ประมาณ ๑.๒ กิโลเมตร) จากนั้นก็ใช้เวลาเพียง ๒ เดือนประชิดถึงคูพระนครได้ ใช้เวลาอีก ๓ เดือนถมคูฝั่งตะวันออกจนสามารถยกทหารเข้าไปประชิดกำแพงกรุง จึงเห็นได้ว่าหงสาวดีใช้เวลาไม่นานเลยในการบุกประชิดถึงพระนคร แต่ทั้งนี้ก็ต้องแลกด้วยการทุ่มกำลังมหาศาลที่ใช้เข้าตี



สงครามเสียกรุง พ.ศ. ๒๓๑๐

- อยุทธยาไม่สามารถเรียกเกณฑ์ไพร่พลได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนกัน ทั้งนี้เป็นผลมาจากระบบการปกครองที่ลดอำนาจหัวเมืองลงไม่เอื้อให้ส่วนกลางสามารถเกณฑ์ไพร่พลได้อย่างเต็มที่  มีจุดแตกต่างคือครั้งนี้ยังสามารถเรียกเกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองมาประจำรอบนอกพระนครได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้ปรากฏว่าจะมีกองกำลังที่มากเพียงพอหรือให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง ถ้าไม่ถูกตีแตกก็หนียกกลับบ้านเมืองของตนเอง  อย่างเช่นเจ้าพระยาพิษณุโลกซึ่งขอกลับเมืองโดยอ้างว่าต้องไปปลงศพมารดาซึ่งอยุทธยาก็ไม่สามารถห้ามปรามอะไรได้ สุดท้ายก็ต้องอาศัยพระนครเป็นฐานรับศึกไม่ต่างกัน


-ชัยภูมิของอยุทธยามีความพร้อมมากกว่าสงคราม พ.ศ. ๒๑๑๒ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าได้มีการแก้ไขในสมัยพระมหาธรรมราชา นอกจากนี้ค่ายคูประตูหอรบรวมถึงป้อมปราการน่าจะมีการพัฒนาขึ้นกว่าในอดีตด้วย

นอกจากนี้ก็ปรากฏหลักฐานว่าในกรุงมีการเตรียมการรับศึกพอสมควร โดยพงศาวดารระบุว่าพระเจ้าเอกทัศทรงให้ตระเตรียมการป้องกันพระนครคือ

"อนึ่งดำหรัสให้พระวิสูดโยธามาตฝั้นเชื่อกน้ำมันทำรอกไวให้มาก ถ้ามีการศึ่กมาจเอาไม้ตั้งคาหยังบนป้อมแลเชีงเทีน แล้วจเอารอกติดเอาปืนกระสุน ๓ นี้ว ๔ นิ้ว ชักขึ้นไปให้สูงแล้วจะล้ามฉนวรยีงหมีให้ฆ่าศึ่กเข้ามาไก้ล"


- แต่แม้ว่าจะใช้พระนครเป็นฐานรับศึกเหมือนกัน กลับพบว่าการศึกนั้นดำเนินต่างไปจากสงคราม พ.ศ. ๒๑๑๒ หลายประการครับ

พงศาวดารระบุว่าทัพใหญ่ของมังมหานรธากับเนเมียวมหาเสนาบดียกทัพมาถึงชานพระนครได้ในก่อนเดือน ๓ ปลาย พ.ศ. ๒๓๐๘ (พ.ศ. ๒๓๐๙ หากนับแบบปัจจุบัน) ตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่บริเวณปากน้ำประสบ สีกุก และโพธิ์สามต้น แต่ว่าไม่สามารถบุกประชิดถึงคูพระนครได้เลยจนถึงช่วงน้ำลด ผิดจากครั้ง พ.ศ. ๒๑๑๒ ที่ใช้เวลาเพียง ๒ เดือนก็ประชิดคูพระนครได้

ในพงศาวดารพม่าระบุว่าหลังน้ำลดแล้ว อยุทธยายังสามารถวางแนวป้องกันพระนครอย่างเข้มแข็ง โดยมีค่ายรอบพระนครถึง ๕๐ ค่าย (จำนวนน่าจะมากเกินจริง) ฝ่ายพม่าก็เริ่มวางแนวปะทะด้วยการสร้าง "ค่ายเมือง" ขึ้น ๒๗ เมืองรอบพระนครขึ้น และค่อยๆ ขยายแนวปะทะมาเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถตีค่ายอยุทธยารอบพระนครได้ทั้งหมดในเดือน ๓ ปลาย พ.ศ. ๒๓๐๙ (พ.ศ. ๒๓๑๐ หากนับแบบปัจจุบัน) จึงสามารถเริ่มสร้างค่ายที่หัวรอริมป้อมมหาชัยเพื่อขุดอุโมงค์ได้

จึงเห็นได้ว่ากองทัพพม่าใช้เวลาร่วมปีกว่าจะยกประชิดกำแพงพระนครได้อย่างสมบูรณ์ จึงน่าจะแสดงให้เห็นว่ายุทธศาสตร์การตั้งรับของอยุทธยาน่าจะเข้มแข็งพอสมควร และน่าจะมียุทธวิธีที่ดีกว่าสมัย พ.ศ. ๒๑๑๒ ที่ไม่มีการตั้งค่ายเลยครับ

อย่างไรก็ตาม การมุ่งหวังใช้แต่พระนครเป็นฐานรับศึกอย่างเดียวโดยไม่มีความพร้อมในเรื่องการระดมพลที่กล่าวมาแล้ว ก็ทำให้ยากจะต่อต้านทัพพม่าได้ หากกองทัพพม่าสามารถยืดหยัดอยู่ได้มาเรื่อยๆ ก็เท่ากับรอวันล่มสลายอย่างเดียวครับ


- มีรายงานว่าในสงครามครั้งนี้ ฝ่ายอยุทธยามีการใช้ปืนและดินปืนอย่างไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนัก อย่างในพงศาวดารไทยที่ระบุถึงการยิงปืนในช่วงน้ำหลากว่า “วันนั้นพม่าตั้งค่ายณะวัดภูเขาทอง พระสุริยภาซึ่งเปนนายปอ้มซัดกบให้ประจุปืนมฤษยูราชสองซัดลูกยีงไปนัดหนึ่งปืนก็ราวราล”

อีกตอนกล่าวถึงการยิงปืนในช่วงก่อนเสียกรุงไม่นานว่า “ฝ่ายข้างในกรุงให้ชักปืนปราบหงษาออกไปตั้งรีมท่าทรายกระสุนแรกประจุดินน้อยต่ำไปถูกตะลิ่ง ครั้นประจุะดีนมากขึ้นโดงข้ามวัดศรีโพไป”

ทั้งสองครั้งนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าแม่ทัพนายกองในขณะนั้นไม่มีความรู้เพียงพอในการคำนวณดินปืนอย่างเหมาะสม ซึ่งก็สอดคล้องกับที่รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชวิจารณ์ไว้ว่า “เรื่องยิงปืนไม่เป็นในปลายกรุงเก่านี้ ดูเล่าต้องกันมากนัก เครื่องสาตราวุธเห็นจะขัดสนมาก อย่างไขว้เขวกัน มีปืนไม่มีลูก มีลูกไม่มีปืน อาวุธที่แจกจ่ายออกมาก็ชำรุดทรุดโทรม ปืนจะเอาไปยิงก็เกิดอันตรายเนือง ๆ แตกบ้าง ตกรางบ้าง ยิงไปออกบ้าง ยิงไม่ได้บ้าง เข็ดขยาดเห็นการยิงปืนยากเสียเต็มที คราวนี้ก็เลยกลัวไม่ใคร่จะมีใครกล้ายิงเองอยู่แล้ว ซ้ำเจ้านายและผู้ดีก็พากันสวิงสวายกลัวอะไรต่ออะไร ตั้งแต่ฟ้าร้องเป็นต้นไป เป็นปรกติของผู้ดีชั้นนั้น”

ซึ่งการใช้ดินปืนอย่างไม่เหมาะสมทำให้เสียดินปืนไปโดยเปล่าประโยชน์ และน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่มีปรากฏหลักฐานว่าต้องมีการขออนุญาตศาลาลูกขุนก่อนยิงปืนใหญ่ เชื่อว่าเพื่อไม่ให้ใช้ดินปืนที่มีจำกัดอย่างพร่ำเพรื่อครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่