บทความวันจันทร์ (6 สิงหาคม 2561)
เรื่อง เวลาที่น่าหวงแหน (4)
โดย วรา วราภรณ์
ข้าพเจ้ายังไม่ได้บอกกล่าวให้ท่านผู้อ่านทราบว่า เมื่อเข้ามาสู่สถานอบรมเรื่อง
การพัฒนาจิตเพื่อให้เกิดปัญญาและสันติสุข ของ
คุณแม่ ดร.สิริ กรินชัยแล้ว ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนต่างถูกเรียกขานด้วยคำเดียวกันว่า “โยคี” ไม่ใช่เพราะชุดขาวที่สวมใส่ แต่เพราะ “โยคี” มีความหมายว่า ผู้เพียรเพ่งเผากิเลสต่างหาก
หนึ่งสัปดาห์จากนี้ไป สถานที่อบรมและฝึกปฏิบัติของเหล่าโยคีก็คือ ห้องอบรมบนเรือนไม้หลังใหญ่ที่มีขนาดจุคนได้สักเจ็ดสิบคน ไม่รวมระเบียงข้างห้องและชานด้านนอกในยามที่มีผู้เข้าอบรมจำนวนมากเช่นรอบนี้ โดยที่มีจอภาพสำหรับเปิดวิดีทัศน์ให้รับชมและรับฟังเสียงการบรรยายธรรมทั้งภายในห้องและนอกห้อง
ก่อนฝึกเดินจงกรมและนั่งสมาธิในวันแรก โยคีทุกคนจะได้กล่าวบทสวดมนต์ไหว้พระ และกล่าวคำสมาทานศีล โดยมีอาจารย์นิศารัตน์ ลาวัณยากุล วิทยากรประจำหลักสูตรเป็นผู้ให้คำแนะนำอย่างละเอียด และเป็นกันเอง ข้าพเจ้าได้ฝึกไหว้พระ กราบพระด้วยสติเป็นครั้งแรกก็จากหลักสูตรนี้ นั่นคือ เปล่งเสียงออกมาเพื่อกำกับอิริยาบถตลอดเวลาที่ไหว้พระและกราบพระ
“ยกหนอ (ยกมือสองข้าง) มาหนอ (ฝ่ามือสองข้างแตะกัน) พนมหนอ (พนมมือที่หว่างอก) ยกหนอ (ยกมือที่พนมนั้นขึ้น) ถึงหนอ (ให้ปลายนิ้วโป้งจรดหัวคิ้ว) ลงหนอ (ลดมือสองข้างลง) ถึงหนอ (ฝ่ามือสองข้างแตะพื้น) ก้มหนอ (ก้มกายหมอบลง) กราบ (หน้าผากแตะพื้น) เงยหนอ (ยกกายขึ้นตั้งตรง พร้อมวางฝ่ามือแต่ละข้างบนหน้าขาแต่ละข้าง)...(ทำเช่นนี้จนกระทั่งกราบพระจบ)”
สำหรับผู้ที่นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งคุกเข่าท่าเทพบุตร ท่าเทพธิดาไม่ได้ ก็ไม่ต้องกังวลใจใดๆ เพราะวิทยากรอนุญาตให้ตามความสะดวกของโยคีโดยเฉพาะผู้สูงวัย ดังนั้น ด้านหน้าห้องจึงเป็นพื้นที่สำหรับการนั่งบนพื้นโดยมี “อาสนะ” รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำด้วยผ้าหุ้มฟองน้ำบางๆ สำหรับรองนั่ง ส่วนหลังห้อง คือ บริเวณที่จัดเก้าอี้ไว้ให้ผู้ที่ต้องนั่งห้อยขาซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า
ทุกๆ วัน โยคีทุกคนจะได้กล่าวบทสวดมนต์ไหว้พระ บูชาพระภูมิเจ้าที่ ผูกมิตรกับมนุษย์ เทวดา และสัตว์ทั้งปวง แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ และกล่าวคำสมาทานอาชีวัฏฐะมะกะศีลร่วมกัน ศีลนี้มี 8 ข้อ ประกอบด้วย
1-ไม่ฆ่าสัตว์และทรมานสัตว์
2-ไม่ลักขโมย ไม่ฉ้อโกง ไม่เอาของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าของเสียก่อน
3-ไม่ประพฤติผิดในกาม คือ ไม่ล่วงละเมิดในภรรยาและสามีของผู้อื่น
4-ไม่กล่าวคำเท็จ
5-ไม่พูดยุยงส่อเสียด
6-ไม่พูดคำหยาบคาย ด่าทอ
7-ไม่พูดเพ้อเจ้อโปรยประโยชน์
8-ไม่ประกอบมิจฉาอาชีพซึ่งพระพุทธองค์ทรงห้ามไว้ (ไม่ขายสัตว์ให้เขาเอาไปฆ่า, ไม่ขายมนุษย์, ไม่ขายอาวุธ, ไม่ขายยาพิษและไม่เสพยาเสพติด, ไม่ขายสุราและไม่ดื่มสุรา)
สำหรับการสวดมนต์และกล่าวคำสมาทาน วิทยากรท่านสอนว่า ให้เปล่งเสียงออกมาอย่างชัดถ้อยชัดคำ ถูกต้อง และด้วยความนุ่มนวล ดังนั้น จึงย่อมเป็นไปด้วยความเนิบช้า แต่ก็ไม่ใช่ยานคาง
มาถึงการเดินจงกรม หมายถึง การเดินเป็นเส้นตรงระยะไม่เกินสามเมตร เดินกลับไปกลับมา โดยขณะที่เดิน โยคีต้องมีสติกำหนดอิริยาบถให้ทันปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา หมายความว่า เราต้องพูดค่อยๆ หรือนึกในใจตามกิริยาที่ทำอยู่พร้อมกันไป ไม่พูดก่อนหรือหลังกิริยานั้น และกำหนดใจให้มั่นอยู่กับสิ่งที่กำลังกระทำตามสั่งนั้น เป็นช่วงๆ (เรียกว่า ขณิกสมาธิ)
วันแรก เราได้ฝึกการเดินจงกรมระยะที่ 1 ซึ่งเป็นขั้นพื้นฐานที่ทำได้ง่ายที่สุด
ขวา.........ย่าง.......หนอ ซ้าย......ย่าง.....หนอ
เริ่มต้นด้วยการยืนตรง เก็บมือในท่าประสานกันไว้ที่กลางลำตัว ช่วงสะดือ โดยวางมือซ้ายลงไปที่ท้องแล้ววางมือขวาทาบลงไป หรือไม่ก็อาจนำแขนทั้งสองไพล่หลังแล้วจับมือไว้ก็ได้ จากนั้นก็ยกส้นเท้าขวาขึ้นพร้อมกับพูดว่า “ขวา” แล้วเคลื่อนปลายเท้าขวาออกไปในลักษณะก้าวให้ฝ่าเท้าขนานกับพื้นพร้อมพูดว่า “ย่าง” จากนั้นให้วางฝ่าเท้าขวาลงกับพื้นพร้อมกับพูดว่า “หนอ” (ขวา....ย่าง...หนอ) และข้างซ้ายก็ทำเช่นเดียวกัน ใช้คำพูดตามความจริงว่า “ซ้าย....ย่าง.....หนอ”
หลายท่านงุนงง กับคำว่า “หนอ” ทำไมต้องมี “หนอ” ด้วยเล่า ?
คำ “หนอ” นี้มีความหมาย แปลว่า จบ, เสร็จ เป็นคำรำพึงให้ปลงตก และให้สติของเราว่องไว เทียบกับคำพูดตามปกติก็คือ “อ๋อ” ที่แสดงถึงอาการรู้แล้ว เข้าใจแล้วนั่นเอง การกำหนดรู้ขณะเดินจงกรมสอนให้เรามีสติระลึกรู้การเคลื่อนไหวกายของเรา เนื่องจากจิตจะรับรู้ได้ทีละหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น หากมีความคิดฟุ้งซ่านต่างๆ แทรกเข้ามา เราก็รู้จักวิธีที่จะดับความฟุ้งซ่านนั้นได้ด้วยการกำหนดสติว่า “คิดหนอ”
นี่คือกิจกรรมที่ดีในการฝึกจิตและทดสอบจิต พวกเราต้องฝึกเดินแบบ “สโลว์โมชั่น” ตามคำของคุณแม่สิริแบบนี้ตั้งแต่วันแรกเพื่อให้ตามดูกายและใจของตนเองได้ ทุกคนยืนเรียงกันเป็นแถว แล้วเดินพร้อมกับเปล่งเสียงช้าๆ เงยหน้าไว้แต่นัยน์ตามองต่ำ พี่เลี้ยงคอยให้สัญญาณบอกเพื่อออกเดินก้าวแรก ให้หยุด และให้กลับหลังหัน ซึ่งต้องมีจังหวะก้าวและการหันตัว
การฝึกเดินจงกรมแต่ละครั้งใช้เวลาสามสิบถึงสี่สิบนาทีเป็นอย่างต่ำ แต่โดยมากมักเป็นหนึ่งชั่วโมง ก่อนที่จะจบลงด้วยการนั่งสมาธิ
ครั้งแรกที่ได้ฝึก ข้าพเจ้ายอมรับว่า วันแรกๆ เคยเกียจคร้านมากกับการฝึกเดินจงกรมกลับไปกลับมาในระยะทางเพียงเจ็ดก้าว และบางครั้งก็มีอาการง่วงนอนร่วมด้วย ยิ่งทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายกิจกรรมนี้ขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก ฝึกเดินไปก็แอบมองเข็มนาฬิกาไปด้วยเพราะอยากพักเต็มที ทั้งที่ก็ไม่ได้เหน็ดเหนื่อย
นี่กระมังที่เป็นการต่อสู้กันของจิตใจเรา ระหว่างฝ่ายธรรม และอธรรม มันช่างทุกข์ ช่างยากเย็น แต่ทว่า ด้วยคำสอนของคุณแม่สิริคือ ให้อดทนหนอ พากเพียรหนอ คนเราล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร ข้าพเจ้าจึงจำต้องเบิกตาที่เริ่มหรี่ปรือ และสลัดความง่วงออกโดยแรง ขณะที่บางคนแก้ไขด้วยการออกไปล้างหน้า แต่สุดท้ายแล้ว ข้าพเจ้าก็ภูมิใจในตนเองที่สู้ทนฝึกเดินจนจบทุกครั้ง แม้เป็นเพียงการได้ทำเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังไม่ได้รับรู้ถึงสภาวะธรรมที่แท้จริงก็ตาม
(โปรดติดตามเรื่องการเดินจงกรมทั้ง 7 ระยะในวันจันทร์หน้าค่ะ)
ยืนหนอ เตรียมตัวเดินจงกรม
ตั้งอกตั้งใจฝึกปฏิบัติดูกายดูจิต
ซ้าย.......ย่าง.........หนอ
ผู้สูงวัยเลือกฝึกเดินกับระเบียง เพราะมีราวให้เกาะยามเมื่อยล้าหรือป้องกันหกล้ม
(ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านค่ะ)
บทความวันจันทร์ (6 ส.ค. 61) : เวลาที่น่าหวงแหน (4)
เรื่อง เวลาที่น่าหวงแหน (4)
โดย วรา วราภรณ์
ข้าพเจ้ายังไม่ได้บอกกล่าวให้ท่านผู้อ่านทราบว่า เมื่อเข้ามาสู่สถานอบรมเรื่อง การพัฒนาจิตเพื่อให้เกิดปัญญาและสันติสุข ของคุณแม่ ดร.สิริ กรินชัยแล้ว ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนต่างถูกเรียกขานด้วยคำเดียวกันว่า “โยคี” ไม่ใช่เพราะชุดขาวที่สวมใส่ แต่เพราะ “โยคี” มีความหมายว่า ผู้เพียรเพ่งเผากิเลสต่างหาก
หนึ่งสัปดาห์จากนี้ไป สถานที่อบรมและฝึกปฏิบัติของเหล่าโยคีก็คือ ห้องอบรมบนเรือนไม้หลังใหญ่ที่มีขนาดจุคนได้สักเจ็ดสิบคน ไม่รวมระเบียงข้างห้องและชานด้านนอกในยามที่มีผู้เข้าอบรมจำนวนมากเช่นรอบนี้ โดยที่มีจอภาพสำหรับเปิดวิดีทัศน์ให้รับชมและรับฟังเสียงการบรรยายธรรมทั้งภายในห้องและนอกห้อง
ก่อนฝึกเดินจงกรมและนั่งสมาธิในวันแรก โยคีทุกคนจะได้กล่าวบทสวดมนต์ไหว้พระ และกล่าวคำสมาทานศีล โดยมีอาจารย์นิศารัตน์ ลาวัณยากุล วิทยากรประจำหลักสูตรเป็นผู้ให้คำแนะนำอย่างละเอียด และเป็นกันเอง ข้าพเจ้าได้ฝึกไหว้พระ กราบพระด้วยสติเป็นครั้งแรกก็จากหลักสูตรนี้ นั่นคือ เปล่งเสียงออกมาเพื่อกำกับอิริยาบถตลอดเวลาที่ไหว้พระและกราบพระ
“ยกหนอ (ยกมือสองข้าง) มาหนอ (ฝ่ามือสองข้างแตะกัน) พนมหนอ (พนมมือที่หว่างอก) ยกหนอ (ยกมือที่พนมนั้นขึ้น) ถึงหนอ (ให้ปลายนิ้วโป้งจรดหัวคิ้ว) ลงหนอ (ลดมือสองข้างลง) ถึงหนอ (ฝ่ามือสองข้างแตะพื้น) ก้มหนอ (ก้มกายหมอบลง) กราบ (หน้าผากแตะพื้น) เงยหนอ (ยกกายขึ้นตั้งตรง พร้อมวางฝ่ามือแต่ละข้างบนหน้าขาแต่ละข้าง)...(ทำเช่นนี้จนกระทั่งกราบพระจบ)”
สำหรับผู้ที่นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งคุกเข่าท่าเทพบุตร ท่าเทพธิดาไม่ได้ ก็ไม่ต้องกังวลใจใดๆ เพราะวิทยากรอนุญาตให้ตามความสะดวกของโยคีโดยเฉพาะผู้สูงวัย ดังนั้น ด้านหน้าห้องจึงเป็นพื้นที่สำหรับการนั่งบนพื้นโดยมี “อาสนะ” รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำด้วยผ้าหุ้มฟองน้ำบางๆ สำหรับรองนั่ง ส่วนหลังห้อง คือ บริเวณที่จัดเก้าอี้ไว้ให้ผู้ที่ต้องนั่งห้อยขาซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า
ทุกๆ วัน โยคีทุกคนจะได้กล่าวบทสวดมนต์ไหว้พระ บูชาพระภูมิเจ้าที่ ผูกมิตรกับมนุษย์ เทวดา และสัตว์ทั้งปวง แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ และกล่าวคำสมาทานอาชีวัฏฐะมะกะศีลร่วมกัน ศีลนี้มี 8 ข้อ ประกอบด้วย
1-ไม่ฆ่าสัตว์และทรมานสัตว์
2-ไม่ลักขโมย ไม่ฉ้อโกง ไม่เอาของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าของเสียก่อน
3-ไม่ประพฤติผิดในกาม คือ ไม่ล่วงละเมิดในภรรยาและสามีของผู้อื่น
4-ไม่กล่าวคำเท็จ
5-ไม่พูดยุยงส่อเสียด
6-ไม่พูดคำหยาบคาย ด่าทอ
7-ไม่พูดเพ้อเจ้อโปรยประโยชน์
8-ไม่ประกอบมิจฉาอาชีพซึ่งพระพุทธองค์ทรงห้ามไว้ (ไม่ขายสัตว์ให้เขาเอาไปฆ่า, ไม่ขายมนุษย์, ไม่ขายอาวุธ, ไม่ขายยาพิษและไม่เสพยาเสพติด, ไม่ขายสุราและไม่ดื่มสุรา)
สำหรับการสวดมนต์และกล่าวคำสมาทาน วิทยากรท่านสอนว่า ให้เปล่งเสียงออกมาอย่างชัดถ้อยชัดคำ ถูกต้อง และด้วยความนุ่มนวล ดังนั้น จึงย่อมเป็นไปด้วยความเนิบช้า แต่ก็ไม่ใช่ยานคาง
มาถึงการเดินจงกรม หมายถึง การเดินเป็นเส้นตรงระยะไม่เกินสามเมตร เดินกลับไปกลับมา โดยขณะที่เดิน โยคีต้องมีสติกำหนดอิริยาบถให้ทันปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา หมายความว่า เราต้องพูดค่อยๆ หรือนึกในใจตามกิริยาที่ทำอยู่พร้อมกันไป ไม่พูดก่อนหรือหลังกิริยานั้น และกำหนดใจให้มั่นอยู่กับสิ่งที่กำลังกระทำตามสั่งนั้น เป็นช่วงๆ (เรียกว่า ขณิกสมาธิ)
วันแรก เราได้ฝึกการเดินจงกรมระยะที่ 1 ซึ่งเป็นขั้นพื้นฐานที่ทำได้ง่ายที่สุด
ขวา.........ย่าง.......หนอ ซ้าย......ย่าง.....หนอ
เริ่มต้นด้วยการยืนตรง เก็บมือในท่าประสานกันไว้ที่กลางลำตัว ช่วงสะดือ โดยวางมือซ้ายลงไปที่ท้องแล้ววางมือขวาทาบลงไป หรือไม่ก็อาจนำแขนทั้งสองไพล่หลังแล้วจับมือไว้ก็ได้ จากนั้นก็ยกส้นเท้าขวาขึ้นพร้อมกับพูดว่า “ขวา” แล้วเคลื่อนปลายเท้าขวาออกไปในลักษณะก้าวให้ฝ่าเท้าขนานกับพื้นพร้อมพูดว่า “ย่าง” จากนั้นให้วางฝ่าเท้าขวาลงกับพื้นพร้อมกับพูดว่า “หนอ” (ขวา....ย่าง...หนอ) และข้างซ้ายก็ทำเช่นเดียวกัน ใช้คำพูดตามความจริงว่า “ซ้าย....ย่าง.....หนอ”
หลายท่านงุนงง กับคำว่า “หนอ” ทำไมต้องมี “หนอ” ด้วยเล่า ?
คำ “หนอ” นี้มีความหมาย แปลว่า จบ, เสร็จ เป็นคำรำพึงให้ปลงตก และให้สติของเราว่องไว เทียบกับคำพูดตามปกติก็คือ “อ๋อ” ที่แสดงถึงอาการรู้แล้ว เข้าใจแล้วนั่นเอง การกำหนดรู้ขณะเดินจงกรมสอนให้เรามีสติระลึกรู้การเคลื่อนไหวกายของเรา เนื่องจากจิตจะรับรู้ได้ทีละหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น หากมีความคิดฟุ้งซ่านต่างๆ แทรกเข้ามา เราก็รู้จักวิธีที่จะดับความฟุ้งซ่านนั้นได้ด้วยการกำหนดสติว่า “คิดหนอ”
นี่คือกิจกรรมที่ดีในการฝึกจิตและทดสอบจิต พวกเราต้องฝึกเดินแบบ “สโลว์โมชั่น” ตามคำของคุณแม่สิริแบบนี้ตั้งแต่วันแรกเพื่อให้ตามดูกายและใจของตนเองได้ ทุกคนยืนเรียงกันเป็นแถว แล้วเดินพร้อมกับเปล่งเสียงช้าๆ เงยหน้าไว้แต่นัยน์ตามองต่ำ พี่เลี้ยงคอยให้สัญญาณบอกเพื่อออกเดินก้าวแรก ให้หยุด และให้กลับหลังหัน ซึ่งต้องมีจังหวะก้าวและการหันตัว
การฝึกเดินจงกรมแต่ละครั้งใช้เวลาสามสิบถึงสี่สิบนาทีเป็นอย่างต่ำ แต่โดยมากมักเป็นหนึ่งชั่วโมง ก่อนที่จะจบลงด้วยการนั่งสมาธิ
ครั้งแรกที่ได้ฝึก ข้าพเจ้ายอมรับว่า วันแรกๆ เคยเกียจคร้านมากกับการฝึกเดินจงกรมกลับไปกลับมาในระยะทางเพียงเจ็ดก้าว และบางครั้งก็มีอาการง่วงนอนร่วมด้วย ยิ่งทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายกิจกรรมนี้ขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก ฝึกเดินไปก็แอบมองเข็มนาฬิกาไปด้วยเพราะอยากพักเต็มที ทั้งที่ก็ไม่ได้เหน็ดเหนื่อย
นี่กระมังที่เป็นการต่อสู้กันของจิตใจเรา ระหว่างฝ่ายธรรม และอธรรม มันช่างทุกข์ ช่างยากเย็น แต่ทว่า ด้วยคำสอนของคุณแม่สิริคือ ให้อดทนหนอ พากเพียรหนอ คนเราล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร ข้าพเจ้าจึงจำต้องเบิกตาที่เริ่มหรี่ปรือ และสลัดความง่วงออกโดยแรง ขณะที่บางคนแก้ไขด้วยการออกไปล้างหน้า แต่สุดท้ายแล้ว ข้าพเจ้าก็ภูมิใจในตนเองที่สู้ทนฝึกเดินจนจบทุกครั้ง แม้เป็นเพียงการได้ทำเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังไม่ได้รับรู้ถึงสภาวะธรรมที่แท้จริงก็ตาม
(โปรดติดตามเรื่องการเดินจงกรมทั้ง 7 ระยะในวันจันทร์หน้าค่ะ)
ยืนหนอ เตรียมตัวเดินจงกรม
ตั้งอกตั้งใจฝึกปฏิบัติดูกายดูจิต
ซ้าย.......ย่าง.........หนอ
ผู้สูงวัยเลือกฝึกเดินกับระเบียง เพราะมีราวให้เกาะยามเมื่อยล้าหรือป้องกันหกล้ม
(ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านค่ะ)