จิตคืออะไร?

จิต คือ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ จิตดั้งเดิมของเราเป็นปภัสสร คือ ผ่องใส ไม่มีอะไรเจือปน เมื่อเรานำเรื่องราวเข้าไปสู่จิต จิตจึงผสมปนเปด้วยเรื่องราวที่เรานำเข้าไป

    สถานที่จิตเจอกันมี ๖ แห่ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    อารมณ์ หมายถึง จิตดำรงอยู่ในธรรม อารมณ์มาปฏิเวธกับจิต คือทั้งอารมณ์และจิตมาพบเจอกัน มารับเป็นวิบากต่อกัน

    จิตจะดำรงอยู่โดยธรรม เป็นประภัสสรได้ แต่ถ้าออกมาสู่ข้างนอก ก็จะมีตัวมาปฏิเวธ มีวิบาก


ลักษณะของจิต

    ลักษณะของจิต คือ จะแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย

    จิตของเรามันเกิดดับ เกิดดับ แต่เกิดดับแต่จิตดำรงอยู่ เพราะการเกิด ดับ เกิดจากเหตุปัจจัย ตัวนี้มา ตัวโน้นก็มา ดับจากนี้แล้วไปเกิดที่นั่น เกิดดับเกิดจากเหตุปัจจัยมาอยู่เรื่อยๆ ดับจากนี้แล้วไปเกิดขึ้นจากที่นั่น จิตจะดำรงอยู่นิรันดร์ในธรรม จิตตัวนี้จะดำรงอยู่ในธรรมแต่ไม่ใช่จิตของเรา จิตของเราจะมาประกอบด้วยองค์ประกอบจจึงจะเป็นของเรา ที่เกิดดับเกิดจากมีอารมณฺ์มาผ่าน

    สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อจิตของเรา ถ้าจิตของเราไม่เคยฝึกก็จะไปตามอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม เหมือนกับอยู่ในห้องแอร์ พอออกไปข้างนอกร้อน แต่เข้ามาในบ้านเย็นสบาย จิตของเราเคลิ้มไปตาม

    ตัวสิ่งแวดล้อมจะมีอิทธิพลไปบงการจิต เพราะเข้าไปเป็นเหตุและผลในจิต พอจิตรับรู้เหตุและผลจิตก็จะแปรเปลี่ยนเป็นเวทนา คือ ถูกใจ หรือไม่ถูกใจ ดี ไม่ดี

    จิตของเราเป็นตัวสะสมบุญ บาป ไว้ อันนี้เป็นจิตของเรา แต่ไม่ใช่จิตของธรรม บางครั้งจิตโดนบันทึกในธรรม ไม่ใช่บันทึกในจิตของเรา ถ้าเป็นจิตของเราก็จะบันทึกตามกรรมวิบากของเราที่เราสร้าง

    จิตในธรรมเป็นตัวดำรงอยู่เช่นนั้นเอง ตัวนั้นเป็นการดำรงของธรรม ถ้าจิตในธรรมตัวนั้นเคลื่อนแล้ว รู้แล้ว จิตดวงที่เคลื่อนนั้นก็จะเป็นวิบาก
    ถ้าจะให้จิตเป็นประภัสสรก็จะต้องถอดวิบาก แล้วกลับเข้าไปใหม่ นึ่จึงเป็นที่มาของคำว่า "ไม่ยึดมั่นถือมั่น" ถ้าจิตหมุนเข้าไปคือจิตยึดมั่นถือมั่น แต่ถ้าจิตถอยออกเรื่อยๆ ก็จะเป็นจิตไม่ยึดมั่นถือมั่น

    ที่เกิดของจิต จิตของเราเป็นจิตที่ปรุงแล้ว เป็นวิบาก ควรเรียกว่าจิตวิบากมากกว่า เพราะจิตมีวิบากแล้ว จิตเกิดแล้ว ไม่ใช่จิตดั้งเดิมแล้ว หมายความว่า น้ำแก้วนี้เป็นน้ำโพลาลิตแล้ว จะเอาอะไรไปผสมก็จะออกมาตัวนั้น อาจจะเป็นน้ำชา น้ำกาแฟ ดวงจิตตัวนั้นคือน้ำ แต่จิตนั้นจะประกอบด้วยชา กาแฟ

     ธรรมทั้งหลายมีจิตเป็นประธาน มีจิตเป็นหัวหน้า สำเร็จแล้วด้วยจิต

    อะไรต่างๆ สำเร็จด้วยจิตเองไม่ได้ จิตต้องอาศัยสิ่งอื่นมาประกอบกับจิต หมายความว่า จิตของเราเมื่อนำไปผสมสำเร็จแล้ว คืออะไร

    สมมติ จิตของเราเกิดโทสะขึ้นมา เกิดแล้ว สำเร็จด้วยโทสะ จึงจะบ่งการสิ่งต่างๆ ออกมาเป็นโทสะ ไม่ว่าจะเป็นคำพูด กิริยา อาการ เป็นต้น เป็นโทสะหมด เพราะว่าความเป็นโทสะสำเร็จอยู่ในจิตแล้ว จึงจะออกมาเป็นรูป

    เช่น ถ้าจิตเราอยากร่ำรวย จิตของเราต้องร่ำรวย จิตของเราก็จะสั่งร่างกายของเราไปขยันทำมาหากิน เกิดความพยายาม แต่ถ้าจิตของเราไม่มีคำสั่งว่าอยากร่ำรวย แล้วร่างกายของเราจะไปขยัน พยายามทำไม จึงไม่มีความขยันเข้ามา

    ๑. จิตมีอำนาจในการกระทำหรือไม่? ตอบจิตดั้งเดิมไม่มีอะไร เพียงแต่ว่าเราจะเอาทางไหนเราต้องไปเติมเอาเอง เช่นคนนี้มีพลังจิต ก็ต้องไปเติมพลังจิต จิตไม่มีอะไร เพียงแต่รับรู้เฉยๆ จิตของเราเหมือนกับโง่ แต่ไม่ใช่ว่าโง่ เพียงแต่ว่าจิตไม่รู้อะไรมากกว่านั้น

    จิตของเราก็เหมือนกับฟองน้ำ ดูดน้ำเข้ามา บีบก็ออกไป แต่ถ้าเราไม่บีบมันก็ไม่ออกไป

    การจูงจิต เราต้องสร้างสิ่งเข้าไปปน แล้วก็ปลุกเร้าจิต เช่น ใจอ่อนแอ เพราะเราเป็นเอาตัวปรุงอ่อนแอเข้าไปในจิต เอาตัวเบื่อเข้าไปในจิต ถ้าเราเอาตัวคึกคักเข้าไปจิตของเราก็จะคึกคัก ต้องมีตัวปรุง จึงหนีไม่พ้นตัวสติสัมปชัญญะ เราเอาอะไรไปปรุง เราจะต้องมีปัญญา ถ้าเราไม่มีปัญญาไม่มีอะไรไปปรุง จิตก็คือจิต ไม่มีอะไร

    ๒. จิตมีอำนาจด้วยตนเองหรือไม่ จิตไม่มีคำสั่งอย่างนี้ นอกจากจะเอาอะไรไปปรุง สมมติว่าเราเอาตัวสัมมาสิ่งถูกต้องเข้าไปปรุง ก็จะปรุงไปว่า อยากทำบุญ อยากทำนั่น นี่ ถ้าเราเอาตัวมิจฉาสิ่งไม่ดีเข้าไป จิตก็อยากทำร้ายคน จิตของเราไม่อัศจรรย์เลย

    ทุกครั้งเราต้องกำหนดจิต เอาอะไรไปกำหนดจิต คือ ต้องเอาสติสัมปชัญญะไปกำหนด ว่าจิต ณ ตอนนี้จะเอาอะไรไปปรุงให้เขารับรู้แล้วเอาอะไรไปสั่งการ

    ๓. จิตมีหน้าที่สั่งสมกรรมโดยอัตโนมัติ มีอะไรเข้าไปในจิตก็จะจับ เราเอาอะไรปรุงจิตของเราก็จะรับหมด เราเอากรรมฝ่ายดีชั่วเข้าไปในดวงจิต จิตก็รับหมด

    ๔. จิตรักษาวิบากกรรม สั่งสมสันดานของตนเอง คือ เมื่อเราทำกรรม หรือกระทำสิ่งใดไว้ กรรมนั้นก็จะไปสั่งสมอยู่ที่จิตของเรา ฉะนั้น เราต้องหมั่นสร้างเหตุดี จิตของเราก็จะสั่งสมสิ่งดีไว้ในจิต

    ๕. จิตโดยหน้าที่รับอารมณ์ต่างๆ คือ จิตของเราจะรับอารมณ์ต่างๆ เช่น รับอารมณ์เวทนา

    เวทนานี้ จำแนกออกเป็นหลายประเภท ขึ้นอยู่กับภาวะธรรมนั้นๆ ดังนี้

    เวทนา แปลว่า ยึดติด คือ อารมณ์ความรู้สึกของเรา ชอบ หรือไม่ชอบในสิ่งนั้น แล้วจิตของเราไปจดจำไว้ มีดังนี้

        ๕.๑ เวทนา ๒

    เวทนา ๒ แบ่งการเสวยอารมณ์ ออกเป็นสองอย่าง คือ

    ๑. กายิกเวทนา คือ เวทนาทางกาย หมายถึง อารมณ์ที่เกิดขึ้นทางกายแล้วจิตไปจำจดความรู้สึกทางกายนั้น, การเสวยอารมณ์ทางกาย ความรู้สึกทางกาย

    ๒. เจตสิกเวทนา คือ เวทนาทางใจ หมายถึง อารมณ์ที่เกิดขึ้นทางใจ แล้วจิตไปจำจำความรู้สึกทางใจนั้น, การเสวยอารมณ์ทางใจ ความรู้สึกทางใจ


        ๕.๒ เวทนา ๓

    เวทนา ๓ อย่าง แบ่งการเสวยอารมณ์ ความรู้สึก รสของอารมณ์ ออกเป็นสามอย่าง คือ

    ๑. สุขเวทนา หมายถึง ความรู้สึกมีความสุข ความสบาย ทางกายก็ตาม หรือทางใจก็ตาม

    ๒. ทุกขเวทนา หมายถึง ความรู้สึกมีความทุกข์ ไม่สบาย ทางกายก็ตาม หรือทางใจก็ตาม

    ๓. อทุกขมเวทนา หมายถึง ความรู้สึกเฉยๆ จะสุขก็ไม่ใช่ จะทุกข์ก็ไม่ใช่ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อุเบกขาเวทนา


        ๕.๓ เวทนา ๕

    เวทนา ๕ อย่าง แบ่งการเสวยอารมณ์ ออกเป็น ๕ อย่าง คือ

    ๑. สุข หมายถึง ความสุข ความสบายทางกาย
    ๒. ทุกข์ หมายถึง ความทุกข์ ความไม่สบาย ความเจ็บปวดทางกาย
    ๓. โสมนัส หมายถึง ความแช่มชื่น ปลื้มใจ สุขใจ
    ๔. โทมนัส หมายถึง ความเสียใจ ความเศร้าโศก เศร้าหมอง ทุกข์ใจ
    ๕. อุเบกขา หมายถึง ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์

        ๕.๔ เวทนา ๖
    เวทนา ๖ อย่าง แบ่งการเสวยอารมณ์ ออกเป็น ๖ อย่าง คือ
    ๑. จักษุสัมผัสสชา เวทนา หมายถึง อารมณ์ความรู้สึกอันเกิดจากการสัมผัสกันทางตา ด้วยการมองเห็นรูป
เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางตา
    ๒. โสตสัมผัสสชา เวทนา หมายถึง อารมณ์ความรู้สึกอันเกิดจากการสัมผัสกันทางหู ด้วยการได้ยินเสียง
    ๓. ฆานสัมผัสสชา เวทนา หมายถึง อารมณ์ความรู้สึกอันเกิดจากการสัมผัสกันทางจมูก ด้วยการดมกลิ่นต่างๆ
    ๔. ชิวหาสัมผัสสชา เวทนา หมายถึง อารมณ์ความรู้สึกอันเกิดจากการสัมผัสกันทางลิ้น ด้วยการลิ้มรสต่างๆ
    ๕. กายสัมผัสสชา เวทนา หมายถึง อารมณ์ความรู้สึกอันเกิดจากการสัมผัสกันทางกาย ด้วยการสัมผัส จับ แตะต้อง เป็นต้น
    ๖. มโนสัมผัสสชา เวทนา หมายถึงอารมณ์ความรู้สึกอันเกิดจากการสัมผัสกันทางใจ เกิดขึ้นทางมโน ความคิด

    ตัวที่เข้าไปปรุงในจิต เป็นตบะของเขา ดื่มยาพิษเข้าไปในร่างกาย จิตสั่งไม่ให้ร่างกายดูดซึมยาพิษได้ ต้องเข้าใจให้ถูกไม่ใช่เอาจิตไปทำ เอาปัญญาของเขาไปคุมจิตเข้าไปผสมในจิต เพราะจิตเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะไปสั่งร่างกาย ยังไงก็ต้องเอาเข้าไปปรุง อาศัยกลไกของจิต เพื่อที่จะไปสั่งร่างกาย แม้แต่ปัญญาพุทธะก็ต้องผ่านจิต ปัญญาพุทธะไม่ผ่านจิตก็ทำงานไม่ได้ โดยธรรมชาติเป็นเช่นนั้น

    ถ้าเราจะให้จิตเข้มแข็ง เราเอาอะไรเข้าไปปรุงจิตเราก็จะเป็นอย่างนั้น

    จิตก็เหมือนกับน้ำเปล่า ถ้าเราเอาชาไปปรุงในน้ำก็กลายเป็นน้ำชา ถ้าเอาพุทธะไปปรุงจิต ก็กลายเป็นจิตพุทธะ จิตมีหน้าที่รับและส่ง นี่คือเป็นกลไกธรรมชาติของจิต ได้รับหน้าที่มาอย่างนั้น จิตสั่งได้ แต่ถ้าเราอยากได้อะไรก็ต้องเอาไปปรุง

    ตัวอย่าง นั่งดูหิ่งห้อยเยอะแยะมาก เหมือนกับว่าเราอยู่อีกโลกหนึ่ง นั่นหมายความว่าอย่างไร หมายถึงว่าเราเอาอะไรเข้าไปปรุงในจิต ความสุข ความปิติ เอาความสุนทรีย์ปรุงเข้าไป จิตก็สุข ถ้าเราเอาหิ่งห้อยปรุงเข้าไปแล้วเอาโกโบริปรุงเข้าไปอีก เราก็อยากจะร้องไห้ คนเขาอินน์เรื่องคู่กรรม ถ้าเอาเข้าไปปรุงจะสงสารโกโบริก็จะร้องไห้สะอึกสะเอื้อน

    เห็นหรือไม่ว่าเราปรุงอย่างไรจิตก็เป็นอย่างนั้น จิตของเราไวและเร็วมาก อะไรที่เร็วกว่าแสง ก็คือ จิต

    ตัวอย่าง นิพพาน ๕ นาที จบ หรือที่เรียกว่า นิพพานลองชิม

    เรานั่งอยู่ไก่วิ่งผ่านหน้า เราหันไปมองดู นี่แหละเป็นสิ่งแวดล้อมเข้ามา ถ้าเรากำหนดจิตได้ เราจะกำหนดไม่ให้ไปมองดูไก่วิ่งมา จิตเราก็ไม่ถูกทำลาย ถ้าจิตของเราถูกกำหนดไปจับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไก่วิ่งมาเราไม่เอาจิตไปจับที่ไก่ ไก่วิ่งมาแล้วก็วิ่งไปของมัน เพราะเราไม่ส่งประสาทไปรับ เราไม่เอาจิตไปจับปรุงแต่ง เราเห็นแต่เราไม่รับ เหมือนกับบางครั้งเราเห็นอะไรอย่างหนึ่ง แต่เราไม่เห็น คือ เห็นสักว่าแต่เห็น คือ เห็นแต่ไม่เข้าไปในจิต เห็นแต่ไม่เข้าไปในกระบวนการประสาท นี่แหละนิพพานลองชิม นี่แหละถ้าเรากำหนดจิตได้ จิตก็จะไม่ถูกการรบกวน เพราะสามารถควบคุมจิตได้ ไม่ให้ไปทำอะไร

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่