วัดที่สร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราช ... วัดนันทาราม เชียงใหม่





พญามังรายได้ทรงสถาปนาเมืองตามความเชื่อของคนโบราณที่ว่าเมืองมีชีวิตเช่นเดียวกับคน
เมื่อสร้างเมืองจึงมีส่วนต่าง ๆ เหมือนอวัยวะคน เช่น หัว สะดือ ฯลฯ

ทิศต่าง ๆ เทียบดวงเมืองเหมือนเหมือนดวงคน
ในคัมภีร์มหาทักษา หรือ ภูมิพยากรณ์ ของพราหมณ์

ทักษา หมายถึง ดาวอัฐเคราะห์ (อัฐ= 8) คือ ดาวทั้งแปด
ได้แก่ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ พฤหัสบดี ราหู ศุกร์
จัดเป็น บริวาร อายุ เดช ศรี มูล อุตสาหะ มนตรี และกาลกิณี
ทักษิณาวรรต (เวียนขวา) ไปตามทิศทั้ง 8 คือ บูรพา อาคเนย์ ทักษิณ หรดี ประจิม พายัพ และอุดร

ทักษาเวียงเชียงใหม่นั้นกำหนดตามทิศต่างๆ ดังนี้
บริวารเมือง -ประตูสวนดอก
มูลเมือง - ประตูท่าแพ
เกตุเมือง - วัดสะดือเมือง
ศรีเมือง - แจ่งศรีภูมิ
กาลกิณีเมือง - แจ่งกู่เฮือง
เดชเมือง - ประตูช้างเผือก
มนตรีเมือง - ประตูเชียงใหม่
อายุเมือง - แจ่งหัวลิน
อุตสาหะเมือง - แจ่งขะต้ำ





ในการสร้างเวียงเชียงใหม่ เมื่อปีพ.ศ. 1839
พญาร่วงและพญางำเมืองทรงกล่าวแก่พระเจ้ามังรายว่า
ทำเลที่จะสร้างเมืองนี้ถูกต้องด้วยหลักชัยภูมิ 7 ประการคือ
1. เคยมีกวางเผือกสองตัวแม่ลูก จากป่าใหญ่สูงขึ้นไปเคยมาอาศัยอยู่ที่นี้
และคนทั้งหลายก็ได้กระทำการบูชาเป็นเป็นอันมาก
2. มีฟาน (เก้ง) เผือกสองแม่ลูกมาอาศัยอยู่ที่นี่รบกับหมา หมาก็แพ้กระเจิงหนีไป
3. ได้เห็นหนูเผือกพร้อมด้วยบริวาร 4 ตัว วิ่งเข้าโคนต้นไม้นิโครธ (ไม้ลุง)
4. พื้นที่ทางตะวันตกสูงกว่า เทลาดลงไปทางทิศตะวันออก
5. เห็นน้ำตกไหลจากดอยสุเทพไหลขึ้นไปทางเหนือ
วกไปทางตะวันออก แล้วไหลลงใต้
แล้วไหลไปตะวันตกโอบเวียงกุมกาม แม่น้ำนี้เป็นนครคุณโอบตัวเมือง ... คือน้ำแม่ข่า
6. มีหนองน้ำใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมือง ชื่อ อิสาเนราชบุรี
ได้ชื่อว่า ท้าวพระยาต่างประเทศมาบูชาสักการะกันมาก
(คือ หนองบัว อยู่ตรงสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่
ใกล้กันนั้น บริเวณวัดป่าเป้า เคยเป็นคุ้มเวียงบัวของพญากือนา
ต่อมาในสมัยเจ้าอินทวิชยานนท์ ทรงใช้ขุดระบายน้ำลงแม่น้ำปิง บึงจึงตื้นเขินไป)
7. แม่น้ำระมิงค์ หรือแม่น้ำปิงไหลมาจากบนดอยอ่างสรง หรือ ดอยอ่างสลุง(ดอยเชียงดาว) ... เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเคยมาอาบ
ไหลมาเป็นขุนน้ำแม่ระมิงค์ ทางตะวันออกของเมือง คือแม่น้ำปิง

แนวคลองแม่ข่าหนึ่งในชัยมงคล เป็นคูเมืองอีกชั้นของเมืองเชียงใหม่
ได้หล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่
ยังมีแนวเนินดิน คู่กับคลองแม่ข่า ซึ่งเป็นกำแพงเก่าชั้นนอกหลงเหลือให้เห็นบริเวณ กำแพงดิน

และที่นี่ ทางตะวันตกของ รพ.สวนปรุง มีแนวกำแพงเมืองชั้นนอก มีลำคูไหวเป็นคูเมืองชั้นนอกซึ่จะไหลไปลงคลองแม่ข่า





ในสมัยพระเจ้าติโลกราช มีการศึกกับอยุธยาหลายครั้ง
ตั้งแต่สมัยเจ้าสามพระยาต่อมาถึงสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ถึงกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถย้ายมาประทับอยู่พิษณูโลก
เมื่อคราวที่ท่านบวชที่วัดจุฬามณีก็ได้ขอบิณฑบาตเมืองเชลียงจากพระเจ้าติโลกราช แต่ไม่ได้
เมือทรงลาผนวชจึงจ้างพระเถระมังลุงหลวง ชาวพุกามมา และ พวกผาสี (ชาวจีนอิสลาม)
มาทำลายคุณ ของเวียงเชียงใหม่
โดยลวงพระเจ้าติโลกราชว่า
ถ้าหากมีพระประสงค์จะมีพระบรมเดชานุภาพปราบไปทั้งชมพูทวีป
พระองค์ควรตัดต้นไม้ศรีเมือง และสร้างพระราชฐานบริเวณศรีเมืองนั้น
เมื่อพระเจ้าติโลกราชทรงทำตามคำยุ ตัดต้นไม้นิโครธ (ต้นไทร) ไม้ศรีเมืองทิ้ง
และพวกผาสี ก็ฝังสิ่งอัปมงคลภายในทักษาเวียงเชียงใหม่ ทำให้เมืองเกิดอาเพศ
เมื่อพระเจ้าติโลกราชทรงทราบความจริง จึงประหารพระเถระมังลุงหลวงและพวกผาสีเสีย
ให้พระเถระชั้นผู้ใหญ่ กระทำพิธีแก้ขึด ... สิ่งอัปมงคล

โดย

ย้ายและสร้างศูนย์กลางเมืองมาที่ใหม่คือ พระธาตุเจดีย์หลวง
เปลี่ยนฐานะจากกู่ (สถูป) บรรจุอัฐิพระเจ้ากือนามาเป็นเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
สถาปนาวัดเจดีย์หลวงเป็นเกตุเมือง
ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่องค์พระเจดีย์
ให้หมื่นด้ามพร้าคต (สีหโคตเสนาบดี) เสริมสร้างความใหญ่โตและแข็งแรงให้แก่องค์พระเจดีย์ เพื่อให้เป็นมิ่งขวัญเมือง

พร้อมทั้งสถาปนาวัด 8 วัด ซ้อนทักษาเมืองเดิมที่ถูกทำลายไป (โดยเฉพาะศรีเมือง)
เป็น วัดทักษาเมืองทั้ง 8 ทิศของเวียงเชียงใหม่
อายุเมือง (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) - พระเจ้าแผ่นดิน ... วัดโพธาราม
เดชเมือง (ทิศเหนือ) - การเมืองการปกครอง ... วัดเชียงยืน
ศรีเมือง (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) - พระเจ้าแผ่นดิน ... วัดศรีภูมิ
มูลเมือง (ทิศตะวันออก) - การพาณิชยกรรม ... วัดบุพพาราม
อุตสาหะเมือง (ทิศตะวันออกเฉียงใต้) - การอุตสาหกรรม ... วัดชัยมงคล
มนตรีเมือง (ทิศใต้) - ที่พักอาศัยขุนนางเจ้าหน้าที่ ... วัดนันทาราม
บริวารเมือง (ทิศตะวันตก) - ที่พักอาศัยไพร่พลเมือง ... วัดสวนดอก
กาลกิณีเมือง ( ทิศตะวันตกเฉียงใต้) - ภายหลังที่พระยอดเชียงรายขึ้นครองราชย์
ทรงเสียพระทัยที่พระเจ้าติโลกราช (พระอัยกา) ทรงประหารท้าวบุญเรือง(พระบิดา)
จึงทรงสร้างวัดไว้ในที่กาลกิณีเมือง ... วัดร่ำเปิง





วัดนันทาราม

เป็นหนึ่งในวัดทักษาเมืองทั้งแปด
เป็นที่ปลงพระศพพระยอดเชียงราย





ตำนานมีว่า
บริเวณนี้เดิมเป็นป่าไผ่ รอบ ๆ เป็นที่อาศัยของลัวะ
วันหนึ่งพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันต์บริวาร 4 องค์ ที่เสด็จมาโปรดสัตว์
ได้พักค้างคืนคืน ณ ที่แห่งนี้
ได้มอบพระเกศาธาตุแก่นายทัมมิละคนเฝ้าสวนที่อุปัฏฐากพระองค์ไว้ 1 เส้น
นายทัมมิละจึงได้สร้างมณฑป และ ก่อเจดีย์สูง 3 ศอก บรรจุพระเกศานั้น
พระพุทธเจ้าได้ทรงทำนายว่า
"ณ ที่นี้ต่อไปภายหน้าจักเป็นอาราม หนึ่งชื่อว่า "นันตารามชะเล"





วิหารวัดนันทาราม
วิหารถือเป็นที่อยู่ของพระพุทธเจ้า
เป็นที่ประกอบพิธีที่ถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นองค์ประธาน ผ่านทางหลวงพ่อใหญ่
สร้างและบูรณะซ่อมแซมสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน





เป็นวิหารล้านนาแบบปิด
หลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น
ผนังยกเก็จแบ่งพื้นที่เป็นสามส่วน ตามพื้นที่ใช้สอยภายใน
คือ พระพุทธ พระสงฆ์ และ คนทั่วไปที่มาวัด





มุกด้านข้างเป็นทางขึ้นลงของพระสงฆ์





เมื่อปี พ.ศ. 2405 พระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์
ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเกียรติยศเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
จึงให้สร้างพระวิหารวัดนันทารามขึ้นใหม่
ราวบันไดเป็น รูปพระยาครุฑบนอกพญานาคที่ถูกมกรคายออกมา
เป็นสัญลักษณ์ที่บอกว่าได้รับพระราชทานเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่





หน้าบันซุ้มบันไดทางขึ้นวิหาร ลายพรรณพฤกษา





ทวารบาล





หน้าบันวิหาร
เป็นแผ่นลูกฟัก ปิดโครงสร้างม้าต่างไหม เป็นลวดลายแกะสลักประดับกระจกสี





ภายในวิหาร โครงสร้างหลังคาแบบม้าต่างไหม
"ต่าง" คือ บรรทุก หรือ แบก
ม้าต่างไหมจึงเรียกตามชื่อจากการบรรทุกผ้าไหมบนหลังม้าของพ่อค้า





พระประธาน





หลวงพ่อใหญ่ พระประธาน





ส่วนตัว ว่าคล้ายพระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา
ซึ่งสร้างในสมัยพระยอดเชียงราย
ทำให้คิดว่า หรืออาจมีพระวิหารเดิมอยู่แล้วที่สร้างสมัยพระยอดเชียงรายแล้วทรุดโทรมไป





บุษบก หรือ ปราสาทพระ และ ธรรมมาส ข้างพระประธานวัดนันทาราม





เฟื้องฉัตรบนหลังคาวิหาร เปรียบเป็นเขาพระสุเมรุ





หลังวิหารเป็นเจดีย์พระเกศาธาตุ
ตามตำนานที่ว่าได้ให้แก่นายทัมมิละที่อุปัฏฐากพระองค์ และ เฝ้าสวนไผ่แห่งนี้ไว้ 1 เส้น
เป็นเจดีย์ทรงระฆัง
ฐานเขียง ฐานปัทม์ (บัว - บัวคว่ำ,บัวหงาย) รูปสี่เหลี่ยม
ฐานบัวลูกแก้ว ซ้อนกันสามชั้นรับองค์ระฆัง
ซุ้มประตูบนกำแพงแก้ว เปิดสู่ฐานเจดีย์





อุโบสถ
ใช้เฉพาะพิธีกรรมระหว่างพระสงฆ์ มักไม่เปิดนอกจากจะใช้
ทางภาคเหนือจะไม่ให้ผู้หญิงเข้าไป





พระนอน
ไม่พบหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด และใครเป็นผู้สร้าง
หันพระพักตร์ ไปทางทิศเหนือ ทอดพระเนตรไปหาองค์พระเจดีย์





วิหารหลววงพ่อเพ็ชร





เป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อเพ็ชร - นั่งขัดสมาธิเพชร (เท้าทั้งสองอยู่บนตัก)





หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ขัดเงา
เป็นพระเชียงแสนสิงห์ 1 มีพุทธลักษณะ
อวบอ้วน ขัดสมาธิเพชร พระพักตร์ป้อมสั้น รัศมีรูปดอกบัวตูม นิ้วพระหัตถ์ยาวเรียว

ตำนานเล่าว่า
พระเจ้าติโลกราช (ราชวงศ์มังราย พ.ศ. 1984-2030) ทรงพระสุบิน
โหราจารย์ทำนายว่า
“ให้พระองค์พึงอุปถัมภ์การสร้างพระพุทธปฏิมาไว้ประจำพระองค์จะเป็นการดี”
เมื่อประกอบพิธี เททองหล่อ ปรากฎว่า
ครั้งแรกเบ้าทองแตกไม่สามารถหล่อได้
ครั้งต่อมาทองไม่ละลาย
เทวดาทั้งหลายอันมีมหาพรหมเป็นประธานแปลงร่างเป็นกษัตริย์อาคันตุกะ เดินทางเข้ามา
พระอินทร์แปลงร่างเป็นพระอริยสงฆ์
กล่าวแก่พระเจ้าติโลกราชว่า “ขอร่วมทำบุญด้วย” พระองค์ทรงอนุโมทนา

พระพรหมจึงหยิบเอาทิพย์อันเก็บรักษากันมาหลายชั่วคนใส่ในเบ้านั้น
พระอินทร์ทรงเทน้ำปรอทลงในเบ้า
เกิดฝนตกผิดธรรมดาในขณะหล่อพระพุทธรูป
ครั้นหล่อเสร็จแล้วก็ปรากฏว่า ผู้ร่วมงานหายไปอย่างไร้ร่องรอย

เมื่อจะทำการสมโภชก็ปรากฏว่า
พระบรมธาตุทั้งหลายทำปาฏิหาริย์ 8 พระองค์
องค์หนึ่งพวยพุ่งเข้าสู่พระนาลาฏหรือหน้าผาก
องค์ที่ 2,5,4,5 เข้าสู่พ่ระอุระหรือหน้าอก
องค์ที่ 7,8 เข้าสู่พระเนตรหรือดวงตา
องค์ที่ 8 เข้าสู่พระนาภีหรือสะดือ
ของพระพุทธรูปองค์นี้

พระเจ้าติโลกราชเห็นปาฏิหาริย์จึงถวายอัญมณีไว้คือ
เพชรฝัง ไว้ที่พระอุณาโลม (ระหว่างคิ้ว) 1 เม็ด
แก้วเจียรนัย 31 เม็ดฝังรอบพระเมาลี
เพชรอีก 1 เม็ด ที่ปลายพระเมาลี
และมรกตขอบทองคำฝังไว้ 1 เม็ดที่พระนาภี (สะดือ)









เมื่อเลี้ยวซ้ายออกจากวัด จะผ่านร้านข้าวมันไก่เก่าแก่ของเชียงใหม่อยู่ทางขวามือคือ ข้าวมันไก่นันทาราม
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่