คำสอนเรื่องมุสา โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ขอโพสเป็นธรรมทานนะครับ

เรื่องศีลข้อมุสาวาท
ผู้ถาม             กราบเท้าหลวงพ่อเจ้าคุณที่เคารพอย่างสูง...
หลวงพ่อ         เอ๊ะ! วันนี้เป็นเจ้าคุณ ฉันขาดหลวงปู่ไปตำแหน่งนะนี่ หลวงตามาแล้ว ขาดหลวงปู่...หลวงทวด
ผู้ถาม             ลูกมีปัญหากลุ้มใจนิดเดียว เกี่ยวกับเรื่องศีลของหลวงพ่อ คือ ลูกเป็นแม่ค้าก็จำเป็นที่จะต้องโกหกอยู่เสมอ ไม่งั้นจะไม่ค่อยมีกำไร ลูกพยายามทุกอย่างแล้ว ธรรมะของหลวงพ่อทำครบหมด แต่ข้อนี้ทำไม่ได้ จึงขอบารมีหลวงพ่ออโหสิกรรมให้ลูกด้วยเถิดเจ้าค่ะ
หลวงพ่อ         เอาอย่างนี้ซิ...ฟังให้ดีนะ จุดธูปตอนเช้า วันนี้ขอลาศีลมุสาวาทชั่วคราว...(หัวเราะ) เอาอย่างนี้ซิ...วิธีพูดน่ะ เราซื้อของมาถูก ต้องขายแพงตามท้องตลาดใช่ไหมล่ะ ก็บอกต้นทุนมันแพง ลดจากนี้ไม่ได้หรอกจ๊ะ เท่านี้หมดเรื่องกันไป ไม่โกหก อย่าไปบอกซื้อมาบาทนี่ขาย ๑๐ บาท นี่ซื้อมา ๙๙.๙๐ บาท โธ่...ได้กำไร ๑๐ สตางค์ กลัวศีลขาด บอกต้นทุนมันแพง ลดจากนี้ไม่ได้น่ะ นี่มันมีความจำเป็น ถ้าต้นทุนถูกลดจากนี้ได้มาเยอะแยะ แค่นี้ไม่ผิด
ผู้ถาม             หลวงพ่อคะ บางครั้งเราก็ไม่เจตนาไอ้เรื่องโกหกนี่มันอยู่ในสังคม บางครั้งอย่างนี้นะ เขาจะมาเบียดเบียนเราน่ะ เราโกหกเขาว่าเราไม่มี
หลวงพ่อ         อันนี้ต้องรู้คำว่า มุสา นี่ ต้องทำลายผลประโยชน์เขาไอ้ตัวนี้ไม่ใช่โกหก ไม่ใช่มุสา
ผู้ถาม             บางครั้งก็ไม่เข้าใจนะคะ
หลวงพ่อ         ดี...ถามอย่างนี้นะดี ทีนี้คำว่า “มุสา” นี่ต้องทำลายผลประโยชน์เขา แต่นี่เราทำเพื่อรักษาผลประโยชน์เรา ใช่ไหม...ยังไม่อยู่ในเกณฑ์มุสา อย่างนี้เขาไม่ถือว่าขาดศีล ๕
ผู้ถาม             บางครั้งพูดแล้วมันเสียดใจ มันตรงเกินไป
หลวงพ่อ         ก็ใช่ แต่เปล่า...ก็ต้องบอกเรารู้นี่ว่า ไอ้หมดนี่ถ้าหากมาขอยืมทีไร มันไม่ใช้ให้ทันที ใช่ไหม...นี่เราขืนให้ไปเราก็ไม่ได้ มีอยู่เหลือเฟือนี่ ไอ้เงินน่ะเรามี แต่เงินที่เราจะให้ยืมมันไม่มี เราก็บอกไม่มี เราก็บอกไม่มีเฉย ๆ ว่ายืมไม่ได้ ความจริงเรามีแต่เราจะต้องใช้นี่ ใช่ไหม...ถ้าเขาเอาไปเขาไม่เอามาส่งคืนเราก็ลำบาก ถ้าเรามีเหลือเฟือนี่มันไม่เป็นไร อันนี้เราถือว่าเรารักษาผลประโยชน์เรา เขาไม่ถือว่าเป็นมุสานะ
              อย่างพวกค้าขายนี่ก็เหมือนกันละ ลงทุนมาบาทเดียวแต่ขาย ๑๐ บาท เราขายตามราคาท้องตลาดเขาขอลดเราบอกลดไม่ได้หรอก ต้นทุนมันแพง มันแพงเท่าไรนี่เราไม่ได้บอก เราอย่าไปบอก ๙ บาท ๕๐ สตางค์ซิ เราบอกแพงเฉย ๆ ตามความนิยมของท้องตลาด อันนี้มันไม่เป็นไรนะ ไม่ถือว่าเป็นมุสาวาท อันนี้เข้าใจนะโยม ข้อนี้มีคนข้องใจกันมาก
              แต่ว่าถ้าเราพูดไปเพื่อรักษาประโยชน์ของเรา เพราะอะไร...เพราะว่าถ้าเราไม่รักษาประโยชน์เราให้ไป มันก็ไม่คืนซักที ทีนี้เราก็พังละซิใช่ไหม...อย่างนี้ยังไม่ถือว่าเป็นมุสาวาท มุสาวาทมันต้องเป็นอย่างนี้ คือประโยชน์ของเขาที่จะพึงมีอยู่ด้วยเหตุนั้น เราไปบอกนี่แกอย่าไปทำเลยแบบนั้น ขาดทุนตาย แต่ว่าเราจะเอาซะเอง
              ก็เหมือนกับผู้ใหญ่เลี้ยงเด็ก ไอ้เด็กเกินไปชานบ้าน ถ้าขืนปล่อยไป เดี๋ยวมันหล่นใต้ถุนตายใช่ไหม...บอกไอ้หนูอย่าไป เดี๋ยวหล่นใต้ถุน เด็กมันไม่เชื่อ แต่เด็กมันกลัวงู ก็บอกแก บอกอย่าไปนะไอ้งูมันมี ตุ๊กแกมันมี เด็กก็กลัว อันนี้เรารักษาประโยชน์ของเด็ก ไม่เป็นมุสาวาท มันเป็นเมตตา แต่ว่าถ้าเราพูดตรงไปตรงมาเด็กเขาไม่เชื่ออาจจะหล่นใต้ถุนบาดเจ็บหรือตาย ถ้าเราบอกแบบนั้นก็เป็นการรักษาอวัยวะ หรือรักษาชีวิตของเขาใช่ไหม...อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นมุสาวาทนะ เป็นเมตตาจิต มันเป็นคุณ ไม่ใช่โทษ แล้วยังไงล่ะ?
ผู้ถาม             พอพูดแล้ว มันไม่สบายใจค่ะ
หลวงพ่อ         นี่ทีหลังเอาใหม่ซิ บอกว่าข้าไม่พูด ๆ ๆ มันไม่ได้ล่ะค่ะ
หลวงพ่อ         ทำไมล่ะ?
ผู้ถาม             มันต้องพูดกันอยู่นะคะ
หลวงพ่อ         ถ้าพูดกันอยู่ก็บอกว่า ไม่ได้หรอก สตางค์ที่ให้แกยืมน่ะ ไม่มีล่ะเว้ย ข้ามีเหมือนกันละ มีแค่จะซื้อข้าวสารกินหรือซื้อกับข้าวกิน ใช่ไหม ข้ามีอยู่เล็กน้อยแบ่งไม่ได้ เราต้องบอกมีเล็กน้อย เราก็ไม่มีมากใช่ไหม มันมีอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ความจำเป็นมันมีอยู่สำหรับเราก็ถือว่า มีเล็กน้อย ใช่ไหม ไม่ใช่มีมาก ถ้ามีมากเราต้องมีจนเหลือเฟือ ถ้าเขาถามมีไหม...บอกว่าจะว่าไม่มีเลยก็ไม่ใช่ มันมีเหมือนกัน แต่จะซื้อกับข้าวตอนเย็นนี่นะ แล้วไอ้ภาพกิจอื่นมันมีมันไม่ไหว ถ้าคุณเอาไปเสีย ฉันก็ให้ไม่ได้
              หรือบางทีเราก็ต้องบอกไปเลย บอกเงินให้ยืมไม่มีละ ฉันไม่มีแล้ว ใช่ไหม เราตัดไปจุดนั้นเลย ตัดไปจุดตะรางที่ว่า “ให้ยืมไม่มีไอ้คนตื๊อนี่ บอกมีเล็กน้อยเดี๋ยวมันเอานะ เราก็ต้องตัดไปว่า เงินให้ยืม นั้นไม่มีจริง ๆ ฉันไม่มีหรอกใช่ไหม อันนี้เราพูดถึงเงินให้ยืมใช่ไหม ไอ้เงินที่เรามีอยู่มันจำจะต้องใช้ อันนี้ก็ไม่ถือเป็นมุสาวาทนะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่