อนาหารของอุทธัจจะกุกกุจจะ

อนาหารของอุทธัจจะกุกกุจจะ

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ


บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงนิวรณ์ข้ออุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจสืบต่อไป นิวรณ์นี้เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ อันเรียกว่ากิเลส
ซึ่งมีประจำอยู่ในจิตใจของสามัญชนทั่วไป ซึ่งยังมีจิตใจตกอยู่ในกามาวจรภูมิ คือภูมิจิตที่ยังท่องเที่ยวไปในกาม
จึงมีจิตที่ประกอบไปด้วยกามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม พยาบาท ความกระทบกระทั่งหงุดหงิดโกรธแค้นขัดเคือง
จนถึงมุ่งร้าย ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม และอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ กับวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัย

เหตุที่จิตเป็นสมาธิได้ยาก

ฉะนั้น เมื่อมาปฏิบัติในสมาธิจึงยากที่จะทำจิตให้เป็นสมาธิได้ เพราะจิตใจไม่ยอมที่จะตั้งอยู่ในกรรมฐาน อันเป็นที่ตั้งของสมาธิ
แต่จะออกไปท่องเที่ยวอยู่ในกาม เป็นกามฉันท์เป็นต้น ต่อเมื่อสามารถสงบรำงับนิวรณ์ได้ จิตจึงจะเป็นสมาธิได้
ฉะนั้น ในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ข้อธรรมานุปัสสนา ตั้งสติพิจารณาธรรม จึ่งได้แสดง นิวรณปัพพะ คือข้อนิวรณ์นี้ไว้เป็นข้อแรก
เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติสงบรำงับนิวรณ์ทั้งหลาย

และก็ได้แสดงมาโดยลำดับถึงอาหารของนิวรณ์เหล่านี้ และอนาหารคือข้อปฏิบัติที่ไม่เป็นอาหาร
หรือลักษณะอาการที่ไม่เป็นอาหารของนิวรณ์เหล่านี้
เพราะนิวรณ์เหล่านี้เมื่อได้สิ่งที่เป็นอาหาร นิวรณ์ที่ยังไม่เกิดก็จะเกิดขึ้น นิวรณ์ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะเจริญมากขึ้น
แต่เมื่อมาได้ข้อปฏิบัติ หรือภาวะของจิตที่เป็นอนาหาร คือไม่ใช่อาหารของนิวรณ์เหล่านี้
นิวรณ์เหล่านี้ที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็จะสงบระงับลงไป

และโดยเฉพาะในข้ออุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ได้แสดงข้อที่เป็นอาหารมาแล้ว
ก็คือความไม่สงบของใจ และการกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการ คือการกระทำโดยไม่แยบคาย ในการปฏิบัติเพื่อสงบรำงับ
ส่วนอนาหารคือข้อที่ไม่เป็นอาหารของความฟุ้งซ่านรำคาญใจนั้น ก็ตรงกันข้าม ได้แก่ความสงบของใจ
และการกระทำให้มากในโยนิโสมนสิการ คือการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ในการปฏิบัติละ
ก็คือการใช้ปัญญาพิจารณา จับเหตุจับผล และปฏิบัติไปในเหตุที่ทำให้ความฟุ้งซ่านรำคาญใจนี้ดับ

กสิณ ๑๐ เครื่องจูงใจให้สงบ

พระอาจารย์ได้แสดงกรรมฐานไว้ข้อหนึ่ง สำหรับปฏิบัติเพื่อละความฟุ้งซ่านรำคาญใจ คือกสิณที่แปลว่าวัตถุเป็นเครื่องจูงใจให้สงบ
โดยใช้สิ่งต่างๆ สำหรับกำหนดจิตใจให้เป็นหนึ่งอยู่ในสิ่งเหล่านั้น เป็นกสิณ ๑๐ ประการ
อันได้แก่ดินที่เรียกว่าปฐวี น้ำที่เรียกว่าอาโป ไฟที่เรียกว่าเตโช ลมที่เรียกว่าวาโย ก็คือธาตุทั้ง ๔ นั้นเองในโลก
ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือว่าที่จัดไว้สำหรับ ทั้ง ๔ นี้ เรียกว่า ภูตกสิณ

กับอีก ๔ ก็คือ สีขาว สีเหลือง สีแดง สีเขียว หรือสีขาบ อันเรียกว่า วรรณกสิณ กสิณเกี่ยวกับสีที่จัดเตรียมไว้สำหรับ
และแสงสว่างเช่นแสงไฟ ที่ลอดเข้ามาตามช่องเป็นต้น อันเรียกว่า อาโลกกสิณ กับอากาศหรือแสงอากาศ
อันหมายถึงว่าความสว่างของอากาศ อันเรียกว่า อากาสกสิณ รวมเป็นกสิณ ๑๐ ประการ

จะกำหนดข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น กสิณสีขาว ซึ่งมีการจัดเตรียมไว้สำหรับ คือใช้ไม้มาขดเป็นวงกลม ศูนย์ไส้ขนาด ๑๖ นิ้ว
และเอาผ้าขาวมาขึง และตั้งไว้ให้ห่างจากตนประมาณสักสองศอกคืบ นั่งเพ่งดูผ้าขาวในวงกลม อันเรียกว่ากสิณสีขาวนี้
บริกรรมว่า โอทาตัง โอทาตัง หรือ สีขาวๆ

บริกรรมสมาธิ

กิริยาที่ทำนี้เรียกว่าบริกรรม กสิณสีขาวที่ทำขึ้นเรียกว่าบริกรรมนิมิต คือนิมิตสำหรับบริกรรม และการที่นั่งลืมตาดูกำหนดให้ปรากฏในจิตใจ
พร้อมกับกำหนดใจว่าสีขาวๆ ดังที่กล่าวนั้น เรียกว่าบริกรรมภาวนา และเมื่อนั่งเพ่งดูอยู่ดั่งนี้ ลืมตาดู กำหนดไว้ แล้วก็หลับตาลง
เพื่อให้สีขาวมาปรากฏในจิตใจ จนหลับตามมองเห็น ก็เรียกว่าอุคหนิมิต คือนิมิตติดตา
สมาธิในขณะที่ได้นิมิตติดตานี้ก็เป็นบริกรรมสมาธิ สมาธิในบริกรรม

และเมื่อได้อุคหนิมิต นิมิตติดตาแล้ว ก็หลับตาเห็นนิมิตที่ติดตานั้น ตั้งใจให้ใหญ่ขึ้น ก็ใหญ่ได้ ตั้งใจให้เล็กลง ก็เล็กลงได้
โดยมีส่วนสัดตามเป็นจริงของภาพอุคหนิมิตนั้น เหมือนอย่างภาพถ่ายของบุคคล ภาพเล็ก ทุกๆ อย่างก็เล็กลง
เมื่อขยายภาพให้โตขึ้น ทุกๆ อย่างก็โตขึ้นตามส่วนสัดของร่างกาย ตามความเป็นจริง

ขั้นที่จิตเริ่มเป็นสมาธิ

ดั่งนี้ เมื่อทำได้ก็เป็นปฏิภาคนิมิต คือนิมิตเทียบเคียง และการภาวนาก็เป็นอุปจารภาวนา คือเป็นภาวนาที่เริ่มได้สมาธิ
เฉียดใกล้อัปปนาสมาธิ สมาธิแนบแน่น จึงเป็นอุปจารสมาธิ สมาธิที่ใกล้จะแนบแน่น และเมื่อปฏิบัติต่อขึ้นไปก็ย่อมจะได้อัปปนาสมาธิ
เมื่อเข้าลักษณะขององค์ปฐมฌาน ก็จะได้ขั้นปฐมฌาน และจะได้ต่อขึ้นไปเป็นทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

กสิณดังที่กล่าวมานี้เป็นกรรมฐาน สำหรับสงบรำงับอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
แม้กสิณข้ออื่นจากนี้ ข้อใดข้อหนึ่งก็ใช้ได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น หากปฏิบัติทางสมาธิโดยใช้กรรมฐานข้ออื่น แต่ไม่สามารถจะสงบรำงับอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจได้
ก็ให้พักกรรมฐานนั้นไว้ มาใช้กสิณข้อใดข้อหนึ่ง เพ่งกสิณกำหนดใจให้รวมอยู่ที่กสิณ จนให้กสิณติดตาติดใจ
ตั้งต้นเป็นบริกรรมภาวนาเรื่อยขึ้นมา จนได้อุคหนิมิต อันเริ่มแต่บริกรรมนิมิต แล้วมาอุคหนิมิต แล้วมาปฏิภาคนิมิต จนถึงยิ่งขึ้นไป
ก็จะสามารถสงบรำงับอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจได้

การปฏิบัติดั่งนี้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติทำจิตให้สงบระงับ ทำใจให้สงบระงับ และทำให้มากในโยนิโสมนสิการ
คือการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ในกสิณภาวนานี้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจสวด และทำความสงบสืบต่อไป

************************************************************

สมถกรรมฐาน คือเครื่องสงบใจ จิตเป็นสมาธิ
ไม่ต้องถามถึงการมีปัญญาอะไรนะจ๊ะ
เหมือนเรารักษาศีล ก็เพื่อเบื้องต้นให้สงบจากกายกรรม วจีกรรมอันเป็นอกุศลต่างๆ
ยังไม่ต้องไปไกลขนาดมรรคผล
กิจกรรมแต่ละอย่างมันก็มีจุดประสงค์แตกต่างกันไป
เมื่อนิวรณ์ ๕ มีแรงมหาศาล ก็ต้องทำจิตให้สงบก่อน มีสมถกรรมฐานหลายกองให้เลือกเล่น
กสิณ อานาปานสติ ก็เป็นสมถกรรมฐานที่นิยมในการทำให้จิตสงบได้เร็ว เพราะเพ่งในอารมณ์เดียว
แต่ความฟุ้งซ่านในระหว่างบริกรรม ระหว่างเจริญสมถกรรมฐานก็มีอยู่นะ ต้องอาศัยกำลังของ โยนิโสมนสิการมาช่วย
หรือจะบอกว่าใช้ อิทธิบาท ๔ ในการกำกับดูแลสมาธิอีกทีก็อาจจะทำให้ชัดเจนเห็นภาพ

นิวรณ์ไม่ได้ให้รู้หนออย่างเดียว ละนิวรณ์ที่เกิดขึ้นแล้วด้วย แล้วก็หาวิธีระวังไม่ให้มันเกิดใหม่อีกด้วย
เป็นความเพียรชอบที่นักปฏิบัติพึงทำอย่างสม่ำเสมอ...
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่