10 หนังใครคือฆาตกร (Whodunit) ยอดเยี่ยมตลอดกาล


'Whodunit' เป็นหนังแนวสืบสวนที่มุ่งไขปมปริศนาและหาคำตอบว่า “ใครคือคนร้าย” โดยจะเล่าผ่านตัวเอกหรือนักสืบของเรื่องซึ่งเป็นมุมมองเดียวกับคนดูในการคอยติดตาม เก็บข้อมูล ไขข้อเท็จจริงไปพร้อมๆกัน โดยนักเขียนอย่าง 'อกาธา คริสตี้' นับเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกและสร้างแบบแผนที่ดีของกลุ่มงานเขียนแนวสืบสวนลักษณะดังกล่าว อย่างในยุคปัจจุบันก็พบเห็นได้ตามงานเขียนเเนวสืบสวน 'คินดะอิจิ' หรือ 'โคนัน' เป็นต้น

ซึ่งลักษณะงานเขียน 'Whodunit' ตามแบบฉบับของ 'อกาธา คริสตี้'
1. มักถูกเล่าในหนึ่งโลเคชั่น ซึ่งอาจเป็นบ้านหรือคฤหาสน์หลังใหญ่ ฯ
2. เมื่อเกิดเหตุฆาตกรรมหรือมีคนตายเกิดขึ้น จะมีการเปิดเผยเหล่าผู้ต้องสงสัยในทันที(ไม่ใช่ยิ่งสืบค้นไปตัวละครใหม่ๆยิ่งก็เพิ่มมากขึ้น) เพราะด้วยลักษณะที่มักเล่าในหนึ่งโลเคชั่น ผู้ที่อยู่บริเวณที่เกิดเหตุซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับผู้ตายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จะกลายเป็นผู้ต้องสงสัยที่อาจก่อเหตุฆาตกรรม
3. มักถูกเล่าผ่านมุมมองตัวเอกเรื่องที่จะเป็นผู้ค้นหาความจริง อย่างของ'อกาธา คริสตี้' ก็จะเป็น 'แอร์กูล ปัวโร' และ 'เจน มาร์เปิ้ล'

.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.

10. The Message (2009)

หนึ่งในผลงานคุณภาพจากจีนในยุคศตวรรษที่ 21 ที่มาในคราบหนังสืบสวนการเมืองระหว่างญี่ปุ่นกับจีน เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นสืบทราบถึงแผนลอบสังหารบุคคลชั้นสูง ทำให้ทางเจ้าหน้าที่รัฐบาลต้องรวบรวม 5 ผู้ต้องสงสัยให้อยู่รวมกันในคฤหาสน์แห่งหนึ่งเพื่อคอยสังเกตและจับผิดพฤติกรรม จนกว่าจะพบบุคคลที่เป็นหนอนบ่อนไส้ นอกเหนือจากลักษณะหนัง whodunit ที่ทำได้ค่อนข้างดี มีตัวล่อตัวหลอกให้ชวนสับสน แล้วเล่าเรื่องได้ชวนติดตาม และที่สำคัญหนังยังสะท้อนบทบาทและคุณค่าของสตรีเพศให้ชวนฉุกคิด ภายใต้สังคมที่มองว่าพวกเธอเป็นเพียงวัตถุทางเพศ ที่สามารถกดขี่กระทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ








9. The Hateful Eight (2015)

เป็นคนที่ชอบทำอะไรเหนือคาดและแปลกใหม่เสมอสำหรับ Quentin Tarantino ที่คราวนี้จับหนังคาวบอยที่ยังคงไดอะล็อกกวนๆ คมคาย และโมเม้นท์ความรุนแรง ลูกบ้าต่างๆที่ไม่คาดคิดใน Django Unchained ให้ได้พบเห็นกันอยู่ ประกอบกับการผสมหนังสืบสวนสไตล์ whodunit ในบรรยากาศอันตึงเครียดและไม่ชอบมาพากล ด้วยคาแรคเตอร์ที่โดดเด่นของแต่ละคน ประกอบกับภูมิหลังและแรงจูงใจที่ดูแล้วยากต่อการคาดเดาว่าใครกันแน่ที่เป็นคนร้าย ซึ่งพล็อตเล่าถึงคนแปลกหน้า 8 คนที่ต้องมาอยู่รวมกันในกระท่อมเล็กๆกลางหิมะ ก่อนที่ความชั่วร้ายบางอย่างค่อยๆถูกเปิดออกและมีเริ่มมีคนตายเกิดขึ้น








8. Gosford Park (2001)

แทบจะหาได้ยากในยุคศตวรรษที่ 21 กับหนัง whodunit ที่ยังคงสไตล์ดั้งเดิมของ Agatha Christie ด้วยองค์ประกอบฉาก คาแรคเตอร์ และพล็อตที่มักจะมาในลักษณะการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ที่แขกมาร่วมงานจะเป็นเหล่าบุคคลชั้นสูง มีหน้ามีตาในสังคม แล้วจู่ๆก็ดันเกิดเหตุฆาตกรรมเกิดขึ้น แน่นอนว่าแขกในงานทุกคนกลายเป็นผู้ต้องสงสัยในทันที ซึ่งองค์รวมของหนังนับว่าทำได้ยอดเยี่ยมมากโดยเฉพาะตัวบทที่การันตีด้วยรางวัลบทดั้งเดิมยอดเยี่ยมจากออสการ์ที่ดูเหมือนว่าหนังจะใช้การสืบสวนปมฆาตกรรมเป็นฉากบังหน้าในการตีแผ่และเสียดสีสังคมชั้นสูงของอังกฤษ ระบบการปกครองที่มีความเหลื่อมล้ำ การเหยียดคน ความเห็นแก่ตัว และการใส่หน้ากากเข้าหากัน








7. Scream (1996)

ผู้คนส่วนมากจดจำในฐานะหนังเชือดคุณภาพดี ขณะเดียวกันเมื่อมองในฐานะหนังสืบสวน whodunit ต้องบอกว่าทำได้ดีเยี่ยมไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกลไกการปกปิดความลับ ด้วยลักษณะหนังที่พยายามล้อขนบของหนังเชือดคลาสสิกหรือหนังที่มีฆาตกรออกไล่ฆ่าแล้วซ่อนลูกเล่นในการทายตัวตนแท้จริงของฆาตกร ที่แม้เรื่องนี้จะมีการสโคปจำนวนผู้ต้องสงสัยเพื่อให้คนดูวิเคราะห์ ตัดตัวล่อ ตัวหลอก แต่ทว่าทุกตัวละครกลับมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นฆาตกร ประกอบกับคาแรคเตอร์และแรงจูงใจที่จะคอยตลบหลังความคิดคนดูซ้ำซ้อนจนไม่อาจไล่ตามความจริงได้ทันท่วงที โดยพล็อตเล่าถึงเหตุซ้ำรอยฆาตกรรมสะเทือนขวัญที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหนึ่งปีก่อนและคราวนี้หญิงสาวไฮสคูลซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องได้กลายเป็นเป้าหมายหลักของฆาตกร








6. Clue (1985)

คฤหาสน์กลายเป็นสัญลักษณ์ในการเล่าเรื่องราวที่ลึกลับและซับซ้อนของกลุ่มหนังคลาสสิกทั้งหนังสยองขวัญหรือหนังสืบสวนโดยเฉพาะ whodunit ที่เรื่องนี้ทางผู้กำกับซึ่งควบหน้าที่มือเขียนบทอย่าง Jonathan Lynn ปรุงแต่งในรสชาติดาร์กคอมเมดี้ กับพล็อตที่ว่าด้วยแขกชั้นสูง 6 คนที่ถูกเชิญมางานเลี้ยงสังสรรค์ที่คฤหาสน์หลังใหญ่ ก่อนที่จะเกิดเหตุฆาตกรรมขึ้น โดยตัวหนังเดินเรื่องได้กระชับและมอบรสชาติความบันเทิงที่กลมกล่อม ความใครรู้ ความลุ้นระทึกจากการสืบสวนและเหตุการณ์ที่อยู่เหนือการคาดเดาซึ่งพร้อมจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ประกอบกับอารมณ์ขบขันจากไดอะล็อกและคาแรคเตอร์ตัวละครที่มีความเปิ่นและแปลกอยู่ในตัว








5. Identity (2003)

มักมีการยกไปอ้างอิงกับหนังคลาสสิกอย่าง And Then There Were None ด้วยลักษณะของหนัง whodunit แบบดั้งเดิมกับคนกลุ่มหนึ่งและหนึ่งโลเคชั่น ภายใต้บรรยากาศอึมครึมและน่าหวาดหวั่น โดยเรื่องนี้เล่าถึงกลุ่มคน 11 คน ที่มาอยู่ร่วมกันในโรงแรมแห่งหนึ่ง แล้วเกิดมีคนตายไปทีละคน ในขณะที่คนดูกำลังโฟกัสกับการเฝ้ามองพฤติกรรมและการวิเคราะห์ว่าใครเป็นฆาตกร หนังก็เล่าอีกเส้นเรื่องคู่ขนานกับการพิพากษาคดีของนักโทษรายหนึ่ง ซึ่งในจุดนี้เองปริศนาต่างๆก็ยิ่งถาโถมเข้ามา ก่อนที่จุดๆหนึ่งความจริงจะถูกเฉลยออกมา พร้อมการหักมุมซ้ำซ้อนที่คนดูไม่อาจคาดคิด








4. Death on the Nile (1978)

หากเทียบงานเขียนเรื่องอื่นของ Agatha Christie ที่ถูกดัดแปลงไปสร้างเป็นหนัง ต้องบอกว่าเรื่องนี้มีความน่าสนใจอยู่หลายประการอย่าง ความสวยงามของวิวทิวทัศน์ซึ่งเป็นโลเคชั่นหลักของเรื่อง เมื่อเหล่าเศรษฐีและคนดังล่องเรือสำราญไปตามลุ่มแม่น้ำไนล์ แวะชมสถานที่สำคัญๆของอิยิปต์ แล้วต้องพบกับเหตุฆาตกรรมหญิงสาวคนหนึ่งบนเรือ ซึ่งวิธีการสืบสวนและคลี่คลายคดีใช้การวิเคราะห์จากความเป็นไปได้ แล้วแสดงภาพออกมาผ่านแฟลชแบ็ค และแน่นอนว่านักสืบต้องเป็น Hercule Poirot ที่ครั้งนี้มือเขียนบทได้ตีความรูปลักษณ์ที่ดูแตกต่างไปจากหนังหลายๆเรื่องมาเป็นชายอ้วนท้วม ขี้เกียจสันหลังยาว ที่ดูแล้วไม่มีเค้าของนักสืบผู้เจนจัด เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมและปฏิภาณไหวพริบ








3. The Usual Suspects (1995)

เปิดฉากด้วยเหตุระเบิดบนเรือที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากและมีผู้รอดชีวิต 2 คน โดยคนหนึ่งอยู่ในอาการโคม่าและอีกคนหนึ่งกำลังถูกเค้นความจริงของเหตุการณ์ ซึ่งวิธีการเล่าผ่านบุคคลที่เหลือรอดโดยการสอบปากคำ เปรียบเสมือนการสืบสวนของตำรวจซึ่งเป็นสายตาของคนดูที่จะรับรู้ข้อมูลต่างๆไปพร้อมๆกัน ทั้งยังคงลักษณะสำคัญของหนัง whodunit คือการเล่นเกมส์ทายปริศนากับคนดูว่าใครคือฆาตกรที่มีความแฟร์โดยการสโคปจำนวนผู้ต้องสงสัยหลัก และในที่นี้เป็นอาชญากรมือฉกาจ 5 คนที่อาจอยู่เบื้องหลังเรื่องราวทั้งหมดภายใต้ชื่อเรียก 'ไคเซอร์ โซเซ่'








2. Murder on the Orient Express (1974)

หนึ่งในการดัดแปลงที่ล้มเหลวจาก The Alphabet Murders ทำให้มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ Agatha Christie ไม่ยอมขายลิขสิทธิ์งานเขียนเพื่อนำไปดัดแปลงเป็นหนัง กระทั่งเรื่องนี้ที่มีการเกลี้ยกล่อม ซักไซ้ไปมาจนเธอยอมมอบลิขสิทธิ์ และกลายเป็นหนึ่งในผลงานการดัดแปลงที่ยอดเยี่ยมที่สุด ซึ่งเธอเองก็ชื่นชอบมันเช่นกันแม้จะแอบพูดติดตลกถึงภาพลักษณ์ Hercule Poirot ที่ผิดจากความคาดหวังของเธอเล็กๆ โดยความพิเศษของเรื่องนี้เป็นการนำพล็อตฆาตกรรมบนรถไฟที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก มาผสมกับห้องปิดตาย จนเกิดเป็นพล็อต whodunit ที่ลึกลับ ซับซ้อน เรียกว่าดูสมบูรณ์แบบและสดใหม่มากในยุคสมัยนั้น ขณะเดียวกันยังมีความแฟร์ต่อคนดูในการเปิดเผยข้อมูลต่างๆอย่างซื่อตรง เพื่อให้คนดูได้สังเกต จับผิด ครุ่นคิดตามถึงปริศนาที่ซ่อนอยู่ไปพร้อมๆกับนักสืบของเรื่องว่าแท้จริงแล้วใครเป็นฆาตกร








1. And Then There Were None (1945)

สร้างจากนิยายที่ขายดีที่สุดของ Agatha Christie และติดอยู่ในท็อปหกของนิยายที่ขายที่สุดตลอดกาลด้วยยอดขายกว่า 100 ล้านเล่ม โดยเรื่องนี้นับเป็นหนัง whodunit ที่มีการพูดถึงและนำไปอ้างอิงบ่อยที่สุดเรื่องหนึ่งของโลกภาพยนตร์ กับพล็อตที่ว่าด้วยคนแปลกหน้า 10 คนที่มาอยู่รวมกันบนเกาะแห่งหนึ่งแล้วเกิดการฆาตกรรมขึ้น แต่ละคนค่อยๆตายจากกันไปด้วยวิธีที่ต่างกันโดยมีนัยยะที่ล้อกับเนื้อเพลง Ten Little Indians โดยในเรื่องใช้ตัวละครจำนวนมากเพื่อเป็นตัวล่อหลอกและสร้างความคลุมเครือในการตีความและจดจำลักษณะคาแรคเตอร์เฉพาะตัวซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นของนิยายสืบสวน whodunit สไตล์ดั้งเดิม ที่ให้ความรู้สึกว่าทุกตัวละครสามารถเป็นฆาตกรด้วยกันทั้งสิ้น แม้ตัวละครจะค่อยๆตายจากกันไปและตัวแปรยิ่งเหลือน้อยลง แต่ความสนุกในการวิเคราะห์ถึงตัวตนฆาตกร ทริคต่างๆ และแรงจูงใจของการกระทำ กลับยิ่งเพิ่มขึ้นตลอดจนความจริงทุกอย่างถูกเปิดเผย กับตอนจบที่มีการดัดแปลงให้ดูซอฟท์ลงเพื่อให้เหมาะกับสภาพสังคมและจิตใจของผู้คนที่เพิ่งผ่านสงครามโลก แม้จะไม่ใช่ทางลงที่สวยนักแต่ก็นับว่าเป็นตอนจบที่น่าพึงพอใจเลยทีเดียว
.
.
.
.
.
.
.

ทวิตเตอร์เพจ @Review_Me_ พูดคุยหนังเเละซีรีส์



ขออนุญาตฝากเพจนะครับ

https://www.facebook.com/Criticalme



เเละขออนุญาตฝากไอจีเพจด้วยนะครับ @review_me__
เป็นพื้นที่สำหรับรีวิวหนังสือนิยายต่างๆโดยเฉพาะแนวสืบสวน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่