**ใครคือฆาตกร (Whodunit) หนังลับสมอง ประชันไหวพริบของเหล่าคอหนังสืบสวน


.
เชื่อว่าคนที่เป็นคอนิยายเเนวสืบสวน (Suspense Novel) คงไม่มีใครไม่รุ้จัก ‘อกาธา คริสตี้’ นักเขียนชาวอังกฤษที่ได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งนิยายอาชญากรรม" ที่มีผลงานนิยายตีพิมพ์มากถึง 66 เล่ม เเละเป็นเรื่องสั้นอีก 14 เรื่อง ซึ่งรูปเเบบงานเขียนของเธออาจเรียกได้ว่าเป็นวิวัฒนาการอีกขั้นหนึ่งจาก ‘อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์’ นักเขียนที่โด่งดังในปลายศตวรรษที่ 19 หรือเป็นที่รู้จักกันในฐานะผู้ให้กำเนิด Sherlock Holmes
.

.
นิยายของ 'อกาธา คริสตี้' ไม่เพียงเเต่มุ่งหาคำตอบของเบื้องหลังปริศนาการฆาตกรรมที่ขับเคลื่อนผ่านตัวนักสืบอย่าง 'แอร์กูล ปัวโร' เเละ 'เจน มาร์เปิ้ล' เเต่ยังลงลึกไปถึงความรู้สึก เเรงจูงใจของตัวละคร เเละยังสะท้อนเรื่องราวด้านสังคมศาสตร์ได้อย่างร่วมสมัย ที่ไม่ว่าจะหยิบมาอ่านเมื่อไหร่ก็สัมผัสได้ถึงความยอดเยี่ยมเหนือกาลเวลา เเละนั่นก็ส่งผลให้นิยายของเธอถูกนำไปสร้างเป็นหนังเเละซีรีส์มากกว่า 100 เรื่อง อีกทั้งยังกลายเป็นเเบบเเผนต่อหนัง Whodunit ที่ส่งต่อมายังปัจจุบัน
.
โดยเอกลักษณ์ของหนัง Whodunit ที่โดนใจเหล่าคอหนังสืบสวนทั้งหลายคือ เน้นการเล่าเรื่องผ่านโลเคชั่นเดียว ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุที่อาจเป็นบ้านหรือคฤหาสน์ที่รวมเหล่าผู้ต้องสงสัยไว้จำนวนมาก จึงไม่ง่ายต่อการวิเคราะห์เเละคาดคะเนว่าใครกันที่เป็นฆาตกร อีกทั้งวิธีการไขความจริงจะถูกขับเคลื่อนผ่านตัวนักสืบที่จะรับรู้ข้อมูลต่างๆไปพร้อมๆกับคนดู หรือเปรียบได้ว่าคนดูได้กลายเป็นนักสืบอีกคนหนึ่งของเรื่อง
.
.
.
.

.
ในศตวรรษที่ 20 รูปเเบบของหนัง Whodunit จะเน้นไปที่การดัดเเปลงจากนิยายของ ‘อกาธา คริสตี้’ อย่างตรงไปตรงมา อาทิ  And Then There Were None (1945) หนังเรื่องเเรกที่ประสบความสำเร็จในฐานะหนังที่ดัดเเปลงจากนิยายของอกาธา คริสตี้ เล่าเรื่องราวในคฤหาสน์กลางเกาะที่อยู่ๆคน 10 คน ก็ค่อยๆตายจากกันไปด้วยวิธีที่ต่างกันอย่างมีเงื่อนงำ, Murder on the Orient Express (1974) หนังใช้การเซ็ตเรื่องราวบนขบวนรถไฟ เเละโดดเด่นด้วยพล็อตฆาตกรรมห้องปิดตายกับการเฉลยกลอุบายที่ทำได้อย่างเหนือชั้น, Death on the Nile (1978) จากจุดเกิดเหตุที่เป็นคฤหาสน์เเละขบวนรถไฟ ครั้งนี้เป็นการฆาตกรรมบนเรือสำราญที่ล่องไปตามลุ่มเเม่น้ำไนล์ ตัวหนังนอกจากเป็นที่พูดถึงในเเง่ความสร้างสรรค์ของกลวิธีฆาตกรรม ยังมีการตีความ แอร์กูล ปัวโร ในภาพลักษณ์ที่เเปลกไปจากหนังเรื่องอื่นๆ จนกลายมาเป็นชายอ้วนท้วม ดูไม่มีเค้าของนักสืบผู้เจนจัด เเต่ภายในกลับซ่อนเล่ห์เหลี่ยมและปฏิภาณไหวพริบอันหลักเเหลม
.
.
.
.

.
ช่วงรอยต่อของยุค 80-90’s จะสังเกตเห็นได้ว่าเหล่าผู้สร้างพยายามคิดค้นไอเดียใหม่ๆ ทำให้หลายๆเรื่องเป็นบทออริจินอลที่ไม่ใช่การดัดเเปลงจากนิยายอกาธา คริสตี้ เเต่ก็ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของหนัง Whodunit เเบบดั้งเดิม อาทิ Clue (1985) หนังที่ปรุงเเต่งรสชาติของดาร์กคอมเมดี้ ภายใต้พล็อตฆาตกรรมปริศนาในคืนงานเลี้ยงของเหล่าเศรษฐี, Scream (1996) หนังไล่เชือดที่เซ็ตโครงเรื่องเเบบหนัง Whodunit ยอดเยี่ยมทั้งการล้อขนบของหนังเชือดคลาสสิกเเละการเก็บความลับของฆาตกรสวมหน้ากากที่เฉลยออกมาอย่างเหนือชั้น, The Usual Suspects (1995) หนังที่พูดถึงเหตุระเบิดเรือที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากและมีผู้รอดชีวิตเพียง 2 คน โดยคนหนึ่งอยู่ในอาการโคม่าและอีกคนกลายเป็นพยานปากเอกที่เคยเผชิญหน้ากับคนร้าย ซึ่งตัวหนังเรียกว่าเป็นการดัดเเปลงรูปโฉมของหนัง Whodunit ที่มีความสดใหม่อยู่พอสมควร เมื่อกระบวนการไขความจริงของนักสืบถูกจำกัดเเค่การให้ปากคำของคนๆหนึ่ง ที่พุ่งเป้าหมายไปยัง 4 อาชญากร ที่หนึ่งในนั้นอาจเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของเหตุโศกนาฏกรรมเเละซ่อนตัวภายใต้โค้ดเนมว่า 'ไคเซอร์ โซเซ่'
.
.
.
.

.
ขณะที่ศตวรรษที่ 21 ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำเเละการเข้าถึงฐานข้อมูลทางภาพยนตร์ที่ทำได้ง่ายกว่ายุคก่อนๆ ทำให้เอื้อต่อการทำหนังหรือปรุงเเต่งไอเดียใหม่ๆตามจินตนาการของผู้สร้าง เเละเเม้หนังหลายๆเเนวจะมีการพัฒนาไปจากยุคก่อนมาก เเต่สำหรับหนัง Whodunit ที่โดยส่วนใหญ่ยังยึดถือเเละเลือกเดินตามความสำเร็จของอกาธา คริสตี้ อาทิ Identity (2003) หนังที่เล่าถึงคน 11 คน ที่ติดอยู่ในโรงเเรมชานเมืองในคืนที่ฝนตกกระหน่ำ ก่อนเกิดเหตุฆาตกรรมที่คนกลุ่มนั้นค่อยๆตายไปทีละคน ซี่งโครงเรื่องของหนังถูกมองว่าได้เเรงบันดาลใจจาก And Then There Were None อีกทั้งยังมีความท้าทายคนดูในการเฝ้ามองพฤติกรรมและการวิเคราะห์ว่าใครเป็นฆาตกร, Gosford Park (2001) รูปโฉมดั้งเดิมของพล็อต Whodunit ที่พูดถึงงานเลี้ยงสังสรรค์ของเหล่าเศรษฐีที่อยู่ๆก็เกิดการฆาตกรรมปริศนาที่มีฆาตกรซ่อนตัวอยู่ในกลุ่มเเขกผู้ร่วมงาน ตัวหนังการันตีความยอดเยี่ยมด้วยรางวัลบทดั้งเดิมออสการ์ กับความคมคายในการจิกกัดสังคมชั้นสูงที่สอดเเทรกภายใต้ปมฆาตกรรม, Devil (2010) หนังเขียนบทโดย ‘เอ็ม. ไนท์ ชยามาลาน' เจ้าพ่อหนังหักมุมเเห่งยุค ที่พลิกเเพลงไอเดียดั้งเดิมของ Whodunit ที่มักจะเซ็ตโลเคชั่นเป็นบ้านหรือคฤหาสน์ มาเล่าผ่านลิฟต์ที่มีคน 5 คนติดอยู่ ก่อนเกิดเหตุการณ์เเปลกประหลาดที่คนในลิฟต์ค่อยๆตายไปทีละคน จนเกิดคำถามว่าใครกันที่เป็นฆาตกร, The Message (2009) หนังสัญชาติจีนที่ใช้รูปเเบบหนัง Whodunit มาผสมกับปมขัดเเย้งทางการเมืองระหว่างจีนกับญี่ปุ่นได้อย่างน่าสนใจ เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นสืบทราบถึงเเผนลอบสังหารบุคคลระดับสูง เหล่าเจ้าหน้าที่จึงต้องกักตัวเหล่าผู้ต้องสงสัย 5 คน มาไว้ในคฤหาสน์เพื่อคอยสังเกตพฤติกรรมว่าใครกันที่เป็นหนอนบ่อนไส้, Intruders (2013) หนังเกาหลีเเนว Whodunit ที่ใช้คาเเรคเตอร์ตัวละครสร้างจุดบอดเพื่อบังสายตาผู้ชมได้อย่างชาญฉลาด กับปมเรื่องที่พูดถึงหนุ่มนักเขียนที่มาเก็บตัวหาไอเดียเขียนนิยายที่กระท่อมรีสอร์ทกลางป่า ก่อนเขาได้เผชิญหน้ากับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่นำมาซี่งปมฆาตกรรมปริศนา, The Hateful Eight (2015) หนัง Whodunit ที่เต็มไปด้วยบทสนทนายียวนเเละเเสบสันตามสไตล์ผู้กำกับ ‘เควนติน แทแรนติโน’ ที่เล่าถึงคนเเปลกหน้า 8 คนที่ต้องอยู่รวมกันในกระท่อมเล็กๆกลางหิมะ ก่อนความชั่วร้ายของเเต่ละคนจะค่อยๆถูกเปิดออกและเริ่มมีคนตายไปทีละคน
.
.
.
.

.
ซึ่งในปีนี้ Knives Out หนังที่เล่าถึงเหตุฆาตกรรมในคฤหาสน์ธรอมบีย์ เมื่อคุณปู่มหาเศรษฐีที่เป็นนักเขียนนิยายฆาตกรรมต้องกลายเป็นศพอย่างเป็นปริศนาในคืนวันเกิด 85 ปีของตนเอง เเละทุกคนในบ้านต่างกลายเป็นผู้ต้องสงสัย โดยมีนักสืบเก๋าอย่าง 'เบนัวต์ บลังก์' เข้ามาเป็นคนรับผิดชอบการไขคดีครั้งนี้ โดยหนังกำกับเเละเขียนบทโดย 'ไรอัน จอห์นสัน’ ผู้สร้างชื่อจากหนังสืบสวนนีโอนัวร์อย่าง Brick เเละหนังเเอคชั่นไซไฟไอเดียล้ำอย่าง Looper ที่ครั้งนี้เขาได้หยิบรูปหนัง Whodunit เเบบฉบับดั้งเดิมของ ‘อกาธา คริสตี้’ มาขัดเกลาบริบทให้มีความร่วมสมัยเเละปรุงเเต่งด้วยมุกตลกร้ายเพื่อสร้างรสสัมผัสที่เเปลกใหม่ เหนืออื่นใดคือปมฆาตกรรมที่มีความสลับซับซ้อน ท้าประชันไหวพริบของเหล่าผู้ชมได้เป็นอย่างดี
ป.ล. ล่าสุดหนังกวาดคำวิจารณ์ Rotten Tomatoes 97% (8.34/10) เเละยังได้คะเเนนเฉลี่ยจากเหล่านักวิจารณ์สายเเข็ง Metacritic สูงถึง 82/100
.
.
หนังฉายรอบพิเศษ 5 ธันวาคมตั้งเเต่ 2 ทุ่มเป็นต้นไป 
เเละฉายจริง 10 ธันวาคมนี้...
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
.
.
.
.
.
.

99 ลิสต์หนัง กับ 3 บทความพิเศษ ใครสนใจคลิกเข้าไปดูได้ครับ 
https://bit.ly/32dCrZJ

https://www.facebook.com/Criticalme  
https://twitter.com/Review_Me_
.
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่