5 หนัง 'อยากรู้ไหมว่าใครฆ่า' ที่เราอยากแนะนำให้คุณดู


หนังแบบปริศนาฆาตกรรมหรือหนังสกุล whodunit ได้รับความนิยมในหมู่คนดูหนังมาอย่างยาวนาน เพราะมันมักว่าด้วยเรื่องการค้นหาฆาตกรในสถานที่ปิดตาย หรือสถานการณ์ที่เชือได้ว่าฆาตกรอยู่ในที่เกิดเหตุ ถ้าไม่ใช่หนังแต่เป็นที่รู้จักไม่แพ้กันคือมังงะอย่าง โคนัน, คินดะอิจิ ที่ตัวละครมักดั้นด้น (หรืออยู่ดีๆ ก็ไปเจอเอง...) พบเหตุฆาตกรรมโหดโดยที่ฆาตกรยังวนเวียนอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ ว่ากันว่าศัพท์ whodunit เกิดขึ้นมาราวๆ ปี 1930 เพื่อใช้นิยามวรรณกรรมตระกูลนี้ และในอังกฤษ มันได้รับความนิยมอย่างมากสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสองถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของนักเขียนสืบสวนอย่าง อากาธา คริสตี้, นิโคลัส เบลค, โดโรธี แอล เซเยอร์ส

และในเวลาต่อมา ด้วยความนิยมเหล่านี้เองที่ส่งให้งานเขียนเหล่านี้ถูกดัดแปลงเป็นหนัง (แบบเดียวกับที่หนังสือชุดคินดะอิจิได้รับการขยับขยายมาเป็นมังงะในเวลาต่อมานั่นเอง) และนี่คือ 5 หนังปริศนาฆาตกรรมที่เราอยากแนะนำให้คุณๆ ได้ดูกันจ้า

Knives Out (2019, ไรอัน จอห์นสัน)


ผลงานดัดแปลงจากหนังสือของอากาธา คริสตี้และทำเป็นหนังโดยจอห์นสันที่เพิ่งระเบิดฟอร์มร้อนแรงจาก Looper (2012), Star Wars: The Last Jedi (2017) ซึ่งจอห์นสันยังคงเอกลักษณ์สำคัญของเขาได้คือการสร้างเนื้อหาหนักหน่วงหากแต่รุ่มรวยอารมณ์ขันไว้ครบถ้วน หนังว่าด้วยเรื่องราวของครอบครัวใหญ่ที่กลับมารวมตัวกันในงานวันเกิดของคุณปู่ แต่ยังไม่ทันได้ฉลองอะไรเป็นเรื่องเป็นราว เช้าวันถัดมาเขาก็กลายเป็นศพซะได้ แถมรูปการณ์ทุกอย่างยังดูเหมือนเขาจะฆ่าตัวตายด้วย

หากแต่ในสายตาของนักสืบเบอร์นัวต์ บลังก์ (แดเนียล เคร็ก) กลับไม่คิดเช่นนั้น เขารู้สึกว่าลูกหลานที่มารวมตัวกันในบ้านหลังนี้ล้วนมีแรจูงใจแข็งแรงมากพอจะลงมือสังหารคุณปู่ ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มหล่อเจ้าเสน่ห์กวนอารมณ์เป็นหนึ่ง, ลูกสะใภ้เย่อหยิ่งหรือเด็กชายวัยกำลังโต (?) ที่ล้วนแล้วดูเหมือนจะมีแรงแค้นประหลาดกับคุณปู่ผู้จากไปทั้งสิ้น และแม้ว่าเส้นเรื่องจะพูดถึงการฆาตกรรม หากแต่จอห์นสันยังคงรักษามาตรฐานตัวเองไว้ได้อย่างดีด้วยการใส่อารมณ์ขันแบบที่พลาดไม่ได้ทั้งปวงไว้ตลอดระยะเวลาสองชั่วโมงของหนัง จนมันได้กลายเป็นหนังฆาตกรรมหรรษาที่คนดูน่าจะจดจำไปอีกนาน... นี่ยังไม่รวมการคลี่คลายปมประเด็นที่แสนแยบยลและเฉียบคมอีกนะ!

Murder on the Orient Express (2017, เคนเน็ธ บรานาห์)


งานกำกับของนักแสดงชาวอังกฤษรุ่นเก๋าอย่างบรานาห์ (กำกับ Hamlet, Thor) ที่จับเอานิยายของอากาธา คริสตี้มาดัดแปลงเป็นหนัง เล่าถึงช่วงเวลาชุลมุนเมื่อเกิดคดีฆาตกรรมบนรถไฟสายด่วนขณะที่นักสืบปัวโรห์กำลังเดินทางไปพักผ่อนหลังไขคดีหินมาหมาดๆ ก่อนหน้านั้นเขาพบกับนักธุรกิจบนรถไฟที่เชื่อว่าตัวเองกำลังจะถูกลอบฆ่า และพยายามเข้ามาตีสนิทกับปัวโรห์เพื่อให้เขามาดูแลใกล้ชิดเป็นการพิเศษแต่ปัวโรห์ปฏิเสธ นั่นกลายเป็นคืนสุดท้ายที่เขาได้พบนักธุรกิจเจ้ากรรมแบบยังมีชีวิตเพราะในคืนต่อมา ฝ่ายหลังเสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรมโดยหญิงชุดแดงที่วิ่งหนีออกไปได้ทันขณะที่รถไฟตกราง
ทุกอย่างชี้ชัดว่าฆาตกรน่าจะหลุดรอดออกไปได้แล้ว แต่ปัวโรห์ไม่เชื่ออย่างนั้น เขาเชื่อว่าขณะที่รถไฟติดหิมะและตกรางอยู่นี้ ฆาตกรไม่น่าหนีออกไปเสี่ยงตายท่ามกลางอากาศหนาว แต่น่าจะยังอยู่ในรถไฟด้วยกัน ความยากลำบากคือเขาไม่มีทางรู้เลยว่าใครกันแน่คือผู้ร้าย ไม่ว่าจะเป็นคุณนายไฮโซที่พักติดกับผู้ตาย, พนักงานรถไฟ, อดีตพลแม่นปืนที่แค้นฝังหุ่นกับชายนักธุรกิจ, เจ้าหญิงจากแดนไกลที่เคยรู้จักกัน ฯลฯ และปัวโรห์ต้องสืบคดีนี้ให้ได้ก่อนรถไฟจะแล่นอีกครั้งและพาคนร้ายออกไปสู่อิสรภาพได้สำเร็จ

Scream (1996, เวส คราเวน)


หนังสร้างจากทุนต่ำเตี้ยที่ 15 ล้านเหรียญฯ และทำรายได้ระดับปรากฏการณ์ที่ 173 ล้านเหรียญฯ จนสร้างภาคต่อกลายเป็นแฟรนไชส์ใหญ่ยักษ์ของฮอลลีวูด ที่ผ่านมานั้น เวส คราเวนได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับที่เชี่ยวชาญเรื่องการทำหนังสยองขวัญอยู่แล้ว เห็นได้จาก A Nightmare on Elm Street (1984), The Last House on the Left (1972) ที่ล้วนแล้วก็ทุนต่ำด้วยกันทั้งสิ้น แต่สิ่งที่ทำให้ Scream กลายเป็นที่จดจำคือมันเป็นหนังเรื่องแรกๆ ในยุคนั้นที่พาคนดูเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคดีฆาตกรรมแบบถึงเลือดถึงเนื้อ และชวนช็อคสุดขีดเมื่อหนังเผยตัวฆาตกร!

Scream อาจจะนับได้ว่าเป็นหนังต้นตระกูลหนังเชือดที่เต็มไปด้วยตัวละครวัยรุ่นหน้าตาดี จับกลุ่มมาอยู่ด้วยกันและต้องเผชิญสถานการณ์ชวนสติแตกเมื่อมีฆาตกรสวมหน้ากากผีออกมาไล่สังหารคนในกลุ่ม หากเมื่อสืบสาวราวเรื่องไป ดูเหมือนว่านักฆ่าใต้หน้ากากนั้นจะไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่คือใครคนใดคนหนึ่งในหมู่เพื่อนนี้เอง! 

The Inugamis (1976 และ 2006, คอน อิชิกาวะ)

อิชิกาวะทำหนังทั้งสองเวอร์ชั่นที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมของ เซย์ชิ โยโคมิโซะ นักเขียนเลื่องชื่อแห่งยุคโชวะผู้รังสรรค์ตัวละคร คินดะอิจิ โยสุเกะ (ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการวางตัวให้เป็นคุณปู่ของคินดะอิจิ ฮาจิเมะ นักสืบมัธยมปลายในมังงะชุดคินดะอิจิยอดนักสืบนั่นเองจ้า) โดยคินดะอิจินั้นเป็นนักสืบท่าทางมอซอ มักจะเกาหัวจนรังแคกระเซิงเสมอเมื่อเจอคดีฆาตกรรม ลักษณะเช่นนี้ทำให้หลายคนไม่ให้ความเคารพเขามากนัก อย่างไรก็ดี เขาคือคนเดียวที่เห็นสิ่งผิดปกติในครอบครัวอินุงามิ เมื่ออยู่ดีๆ เขาได้รับจดหมายเตือนจากบุคคลลึกลับว่าจะเกิดคดีร้ายแรงขึ้นกับคนในครอบครัว หากเมื่อเดินทางไปถึงก็พบว่าชายคนหนึ่งในตระกูลถูกสังหารเสียแล้ว มิหนำซ้ำ ทุกคนในครอบครัวก็แลจะมีเหตุจูงใจให้ลงมือฆ่าผู้ตายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคนรู้จัก, ลูกหลานหรือภรรยา ตลอดจนชายคนหนึ่งในตระกูลที่ดูเหมือนจะเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ปรากฏตัวภายใต้หน้ากากยางจนไม่มีใครรู้โฉมหน้าที่แท้จริงของเขาได้ 

แต่นั่นเป็นเพียงปฐมบท เมื่อในเวลาต่อมา คินดะอิจิกลับพบว่ามีร่างคนตายอยู่ในบึงใหญ่ และน่าสยดสยองเมื่อขาทั้งสองข้างของศพลอยอยู่เหนือน้ำ ขณะที่หัวปักลงพื้นโดยไม่มีทางรู้ได้จากระยะไกลเลยว่าเจ้าของศพเป็นใคร

นี่เป็นหนึ่งในตอนที่นักวิจารณ์ยกย่องว่าเป็นตอนที่ดีที่สุดในหนังสือชุดคินดะอิจิของเซย์ชิ โยโคมิโซะ เลยทีเดียว

Clue (1985, โจนาธาน ลินน์)


ดัดแปลงจากบอร์ดเกมชื่อดังซึ่งแม้ในระยะเวลาที่ออกฉายมันจะไม่ได้ทำเงินมากนัก แต่ในเวลาต่อมา Clue ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในหนังสกุล whodunit ที่แยบยลและดูสนุกเรื่องหนึ่ง โดยมันว่าด้วยเรื่องชายเจ้าสำราญอย่างคุณบ็อดดี้ ที่ชวนแขกเหรื่อให้มาเล่นเกมที่บ้านหลังใหญ่และวางแผนตลบหลังผู้มาเยือนด้วยการจะกลั่นแกล้งทุกคนให้ตกใจ หากแต่ก่อนที่จะได้เริ่มแผน เขากลับพบว่าถูกฆาตกรรมเป็นศพเสียก่อน โดยผู้ต้องสงสัยคือบรรดาผู้รับเชิญในงานนี้เอง ทั้งมิตรและศัตรู ไม่ว่าจะเป็นสาวงาม นักธุรกิจร่ำรวย หรือแม้แต่คนที่เคยมีอดีตมาด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องพยายามหาคำตอบให้ได้ว่าใครเป็นคนฆ่าเจ้าบ้าน แล้วอะไรจะน่าสยองเสียยิ่งกว่าการระแวดระวังว่าใครคนใดคนหนึ่งในงานจะเป็นฆาตกรกันอีกเล่า!
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่