10 หนัง"ผมไม่ใช่ฆาตกร?" ที่คุณไม่ควรพลาด


เชื่อว่าหลายๆคน น่าจะเคยผ่านตาหนังสืบสวนที่มีเรื่องของการฆาตกรรม แล้วมีตัวละครหนึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยสำคัญ ซึ่งหนังก็พาคนดูไปสืบหาความจริงของเรื่องราว ว่าแท้จริงตัวละครนี้เป็น “ฆาตกรตัวจริง” หรืออาจเป็นเพียง “แพะรับบาป” และหากตัวละครนี้ไม่ใช่ฆาตกร แล้ว “ฆาตกรตัวจริงคือใคร?” หนังก็จะให้คำตอบกับเรื่องราวเหล่านี้
…ซึ่งหนังลักษณะดังกล่าว ขอตั้งชื่อโดยอิงจากธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไป หากถูกกล่าวหา หรือถูกใส่ความว่าเป็นฆาตกร ก็มักตอบปฏิเสธ “(ผม/ฉัน/เรา)ไม่ใช่ฆาตกร” (Primal Fear style)
.
.
หนังลักษณะนี้(โดยส่วนใหญ่)มักจะเกี่ยวข้องกับการว่าความในศาล หรือหนัง courtroom drama ที่มีฝ่ายโจทก์(ผู้ฟ้อง) ฝ่ายจำเลย(ผู้ต้องหา) มีการไต่สวนกันในชั้นศาลเพื่อหาบทสรุปของเรื่องราว
.
.
โดยหนังลักษณะนี้เมื่อมองจากรายละเอียดยิบย่อย ก็ไม่ง่ายที่จะหาหนังมาจัดรวมอยู่ในข่ายนี้ อย่าง Anatomy of a Murderer มีการฆาตกรรมและการขึ้นศาล แต่ประเด็นคือหนังไม่ได้โฟกัสไปที่การพิสูจน์ว่าฝ่ายจำเลยเป็นฆาตกรจริงๆหรือไม่(แน่นอนว่าจำเลยคือฆาตกรตัวจริง) แต่ไปโฟกัสเรื่องการแก้ต่างของทนายว่าจำเลย...
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.

10. Presumed Innocent (1990)

ถ้าพูดถึง Harrison Ford กับบทบาทในฐานะของผู้ต้องสงสัยคดีฆาตกรรม หลายๆคนอาจนึกถึง The Fugitive นายแพทย์ที่ต้องสืบหาความจริงเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ หลังถูกสงสัยว่าเขาอาจฆาตกรรมภรรยาของตน ขณะเดียวกัน Presumed Innocent กับพล็อตที่พูดถึงผู้ช่วยอัยการที่ถูกหลักฐานต่างๆบ่งชี้ว่าเขาอาจฆาตกรรมผู้ช่วยสาวของตน มองเผินๆก็ดูมีอะไรคล้ายๆกัน แต่ต่างกันที่เราไม่รู้ว่าผู้ช่วยอัยการคนนี้เป็นฆาตกรจริงๆรึเปล่า? หนังจึงพาไปสำรวจข้อเท็จจริง ค่อยๆขุดคุ้ย ปลอกเปลือกตัวละคร และท้ายที่สุดก็ต้องคำถามต่อช่องโหว่ของระบบความยุติธรรมเกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำความผิด








9. True Story (2015)

การรักษาสมดุลของความรู้สึกที่ก้ำกึ่งได้อย่างยอดเยี่ยม ว่าจริงๆแล้วหมอนี่เป็น “ฆาตกรตัวจริง” หรืออาจเป็นเพียง “แพะรับบาป” นั่นเป็นจุดแข็งของการรักษาสมดุลด้วยการแสดงเหมือนอย่าง Edward Norton ที่ทำให้เห็นจาก Primal Fear โดยส่วนของ James Franco ที่ต้องรับบทชายผู้ต้องหาในคดีฆ่ายกครัว เขาได้สร้างมิติให้กับตัวละครได้อย่างเหลือเชื่อ คุณอาจรู้สึกถึงความเปราะบาง อ่อนโยนที่เขาแสดงออกมา แต่ในขณะเดียวกัน กลับรู้สึกว่าเขาเลือดเย็นพอที่จะฆ่าคุณได้ ในขณะกำลังยิ้มให้คุณ








8. The Life of David Gale (2003)

น่าแปลกใจอย่างมากที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้ถูกยกย่อง หรือพูดถึงกันในวงกว้างอย่างเท่าที่ควร ทั้งที่หนังเล่นประเด็นการใช้กฎหมายและโทษประหารชีวิตได้ชวนให้ขบคิด และสร้างความตระหนักไม่ต่างจาก Dead Man Walking ที่มีธีมเรื่องคล้ายๆกัน แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือไคลแม็กซ์ที่ทรงพลัง และตอบโจทย์ในสิ่งที่หนังต้องการตั้งคำถามได้เป็นอย่างดี โดยหนังเรื่องนี้เล่าถึงอดีตนักเคลื่อนไหว ที่ถูกต้องโทษในคดีฆ่าข่มขืนอดีตเพื่อนร่วมงาน ซึ่งหนังจะพาคนดูไปค้นหาความจริง ผ่านการให้ปากคำของตัวผู้ต้องหาเอง และจากการสืบสวนของทนายสาว








7. Gone Girl (2014)

คู่สามีภรรยาเมื่อใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันจนถึงจุดๆหนึ่ง จะเกิดความเข้าใจตัวตนเบื้องลึกของอีกฝ่าย กลายเป็นความรู้ทันซึ่งกันและกัน มันก็เหมือนกับสองตัวละครหลักในเรื่องนี้ โดยพล็อตเรื่องว่าด้วยสามีที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในการหายตัวไปของภรรยา จากหลักฐานวัตถุและสภาพแวดล้อมในที่เกิดเหตุก็ดูเหมือนว่าเธออาจถูกฆาตกรรม โดยครึ่งแรกจะถูกเล่าผ่านไดอารี่ซึ่งเป็นมุมมองของฝ่ายหญิง ค่อยๆสำรวจเรื่องราวความเป็นมาชีวิตคู่และบ่อเกิดแห่งความร้าวฉาน ส่วนครึ่งหลังเป็นการโต้ตอบในเชิงจิตวิทยา โดยมีเรื่องสื่อและกระแสสังคมมาเป็นส่วนเกี่ยวข้อง








6. Mother (2009)

ในฐานะผู้กำกับและมือเขียนบทอย่าง Bong Joon-ho ฉลาดมากที่สร้างหนังโดยใช้องค์ประกอบที่ยากจะเอามาปรุงแต่งทั้ง หญิงชรา เด็กออทิสติก ให้ออกมาเป็นหนังสืบสวนที่น่าสนใจได้ ซึ่งจุดสำคัญคือการนำเสนอโดยอิงความเป็นธรรมชาติ ทั้งวิธีการสืบสวน จนนำไปสู่บทสรุปธรรมดาๆที่คุณไม่อาจคาดถึง แต่ให้ความรู้สึกที่ทรงพลังและเจ็บลึก และสื่อให้เห็นถึง “ความรักของแม่คนหนึ่ง” อย่างตรงไปตรงมา กับพล็อตที่ว่าด้วยหญิงชราที่ต้องสืบหาความจริงมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้ลูกตัวเองที่เป็นออทิสติก หลังจากลูกของเธอถูกจับในข้อหาฆาตกรรมเด็กสาวคนหนึ่ง








5. The Wailing (2016)

อาจบอกได้เลยว่านี่คือตัวอย่างการทำหนังระทึกขวัญที่น่าสนใจที่สุดเรื่องหนึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมา หนังยึด thriller เป็นพื้นฐาน แล้วใส่ความเป็น horror, mystery, fantasy ลงไปผสมผสานอย่างลงตัว จนเกิดเป็นหนังสืบสวนที่เล่นประเด็นเรื่องเหนือธรรมชาติ ภูตผีปีศาจ แต่ให้ความรู้สึกที่สมจริง กับพล็อตที่ว่าด้วยคดีฆาตกรรมต่อเนื่องในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง โดยผู้คนและเหล่าตำรวจต่างสงสัยว่าอาจเป็นฝีมือของชายญี่ปุ่นที่เพิ่งย้ายเข้ามาอาศัยได้ไม่นาน โดยจุดแข็งอย่างแท้จริงของหนังคือ การตั้งข้อสงสัยกับสิ่งๆหนึ่งแล้วพยายามเล่าเรื่องให้คนดูไขว้เขวกับความเชื่อของตัวเองตลอดจนถึงจุดไคลแมกซ์ท้ายเรื่องที่ความจริงถูกเปิดออก








4. Primal Fear (1996)

สำหรับ Edward Norton เป็นอีกหนึ่งนักแสดงที่เคยผ่านบทบาทที่ยอดเยี่ยมมากมาย ทั้งจาก Fight Club, American History X หรือจะเป็น Birdman แต่หากมองถึงความยอดเยี่ยมและการเข้าถึงบทบาทได้ยาก Primal Fear ดูจะเป็นต่อเรื่องอื่นอยู่ก้าวหนึ่ง โดยเขาต้องรับบทเป็นเด็กหนุ่มที่กลายเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมบาทหลวง ที่ดูจากภายนอกก็เหมือนเด็กซื่อๆ ไม่น่าจะทำร้ายใครได้ แต่ภายในก็ดูเหมือนซ่อนตัวตนที่ดำมืดเอาไว้ เรียกว่าเป็นสภาวะที่ยากจะคาดเดาถึงตัวตนแท้จริง ซึ่งหนังจะพาไปสำรวจความจริงผ่านการสืบสวนของทนายชื่อดัง ที่คิดว่าเด็กหนุ่มคนนี้เป็นผู้บริสุทธิ์








3. Mystic River (2003)

คุณจะทำอย่างไรหากสงสัยว่าเพื่อนที่คบกันมาตั้งแต่วัยเด็ก อาจเป็นฆาตกรที่ฆ่าลูกสาวของคุณอย่างโหดเหี้ยมทารุณ แน่นอนว่าเป็นความอึดอัด ความรู้สึกที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะคนที่ตายก็คือลูกสาวของคุณ ส่วนอีกคนก็เป็นเพื่อนรักที่คุณก็ไม่แน่ใจว่าเขาใช่ฆาตกรจริงๆหรือไม่ ซึ่งนี่แหละเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นกับตัวละครที่นำแสดงโดย Sean Penn ขณะเดียวกันความยอดเยี่ยมของ Tim Robbins ที่แสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง สื่อถึงความก้ำกึ่ง ความคลุมเครือที่ยากจะคาดเดาว่าแท้จริงแล้วตัวละครนี้ใช่ฆาตกรจริงๆหรือไม่








2. Witness for the Prosecution (1957)

ยากจะปฏิเสธว่าหนังเรื่องนี้เป็นผลงานการดัดแปลงจากนิยายของ Agatha Christie ที่ดีที่สุดตลอดกาล เพราะนอกจากบท courtroom drama ที่ดี มีการสะท้อนความจริงของกฎหมาย ช่องโหว่ระบบความยุติธรรม และความยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ ทางผู้กำกับ Billy Wilder ก็มีลูกเล่นการนำเสนอที่น่าสนใจ เต็มไปด้วยจุดพลิกผันตลอดทั้งเรื่อง ที่ชวนให้ติดตามว่าแท้จริงแล้วเรื่องราวมันเป็นยังไง? ซึ่งสไตล์การเล่าดูคล้ายคลึงกับ Alfred Hitchcock จนคนส่วนใหญ่เข้าใจว่านี่ไม่ใช่หนัง Billy Wilder ถึงขนาด Hitchcock ต้องออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ในเชิงติดตลก โดยพล็อตว่าด้วยหนุ่มที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมสาวแม่หม้าย เมื่อเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางพินัยกรรมอย่างน่าสงสัย








1. 12 Angry Men (1957)

เชื่อว่าหลายๆคนคงเคยได้ยินกิตติศัพท์ คำยกย่อง คำเชิดชูของหนังเรื่องนี้กันมาบ้างแล้ว กับหนังที่ถ่ายทำด้วยห้องแคบๆแต่สามารถสร้างบรรยากาศอันร้อนระอุ ความลุ้นระทึก และกระตุ้นให้เกิดการครุ่นคิดได้ดีกว่าหนังทริลเลอร์ แอคชั่น หรือหนังปรัชญาหลายๆเรื่อง กับพล็อตที่ว่าด้วยการตัดสินคดีความของเหล่าคณะลูกขุน 12 คน เกี่ยวกับคดีที่เด็กหนุ่มอายุ 18 ปี ถูกตั้งข้อหาว่าได้ฆาตกรรมพ่อแท้ๆของตน ซึ่งความยอดเยี่ยมแท้จริงของหนังคือการเขียนบท เริ่มตั้งแต่การเซ็ทให้เหล่าคณะลูกขุน 12 คน มาจากต่างอาชีพ ต่างพื้นเพ เพื่อสะท้อนทัศนคติในมุมมองที่ต่างกัน รวมไปถึงจำลองเหตุการณ์ที่เมื่อมีลูกขุนคนหนึ่งเกิดเห็นต่าง และเขาจะมีวิธีการพูด โน้มน้าวด้วยหลักของเหตุและผลอย่างไรให้คนอื่นคล้อยตามได้? จุดนี้เองจึงได้เห็นความยอดเยี่ยมของไดอะล็อกที่ดูเป็นธรรมชาติและน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง
.
.
.
.
.
.
.

ตัวอย่างลิสต์ที่เคยเขียนไว้
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้





ทวิตเตอร์เพจ @Review_Me_ พูดคุยหนังเเละซีรีส์



ขออนุญาตฝากเพจนะครับ

https://www.facebook.com/Criticalme



เเละขออนุญาตฝากไอจีเพจด้วยนะครับ @puneak_b
เป็นพื้นที่สำหรับรีวิวหนังสือนิยายต่างๆโดยเฉพาะแนวสืบสวน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่