10 หนังสยองขวัญหักมุม แห่งศตวรรษที่ 21


'จุดหักมุม' เป็นองค์ประกอบเสริมที่พบได้บ่อยในยุคปัจจุบันจนกลายเรื่องปกติของหนังที่มีเนื้อหาแนวสืบสวน ลึกลับ หรือจะมองเป็นประเภทกว้างๆก็อย่างหนังระทึกขวัญ และหนังสยองขวัญ…


'จุดหักมุม' หรือ 'จุดพลิกผัน' หรือว่า 'จุดเซอร์ไพรส์คนดู' หรืออะไรก็ตามเเล้วเเต่คนจะเรียก ถูกพูดถึงเเละเเบ่งเเยกเป็น 3 ประเภท plot twist, twist ending และ surprise ending อย่างในลิสต์ที่(ส่วนใหญ่)เป็นแบบ twist ending จึงขอรวบชื่อลิสต์เป็นการหักมุมประเภทดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะท้ายเรื่อง(plot twist เกิดตอนไหนก็ได้ เเต่ปกติจะเป็นกลางเเละท้ายเรื่อง) และการหักมุมลักษณะนี้อาจมีเค้าโครงหรือมีการใบ้เป็นนัยๆว่าจะเกิดขึ้น แต่พยายามเล่าเรื่องให้คนดูเกิดความไขว้เขวกับความเชื่อของตน...
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.


10. Orphan (2009)

หากพูดถึงหนังแนว evil children ที่ใช้เด็กเป็นตัวละครหลักและซุกซ่อนความร้ายกาจภายใต้ภาพลักษณ์อันใสซื่อ แน่นอนว่า Orphan เป็นอีกเรื่องที่ทำได้โดดเด่นของยุคนี้ กับพล็อตที่พูดถึงสามี-ภรรยาคู่หนึ่งที่ตกอยู่ในสภาวะเศร้าหมองหลังจากสูญเสียลูกระหว่างตั้งครรภ์ ทั้งสองจึงตัดสินใจรับเลี้ยงเด็กคนหนึ่งเพื่อเติมเต็มครอบครัวให้สมบูรณ์อีกครั้ง พูดได้ว่าตัวละครที่นำแสดงโดย Isabelle Fuhrman กลายเป็นจุดแข็งอย่างปฏิเสธไม่ได้ การเริ่มด้วยตัวตนของเด็กสาวธรรมดาทั่วไป ก่อนค่อยๆเปิดเผยพฤติกรรมอันน่ากลัวและยิ่งทวีความรุนแรงในทุกช่วงจังหวะที่คุณไม่อาจคาดเดา








9. The Skeleton Key (2005)

ลักษณะพล็อตที่ตัวเอกจับพลัดจับผลูไปยังสถานที่ซึ่งมีเรื่องไสยศาสตร์มาเกี่ยวข้องก่อนจบด้วยการหักมุมเหนือคาด เรียกว่าเป็นรูปแบบการทำหนังสยองขวัญที่น่าสนใจและหลายเรื่องก็ประสบความสำเร็จด้วยวิธีดังกล่าวอย่าง Rosemary's Baby, The House of the Devil หรือจะเป็น The Skeleton Key ที่พูดถึงสาวพยาบาลที่ต้องดูแลชายชราที่เป็นอัมพาตในคฤหาสน์เก่าแก่ ซึ่งหนังเรื่องนี้ดูมีความพิเศษไม่เพียงแต่จุดหักมุมท้ายเรื่อง แต่การเขียนบทดูจะทำได้ดีพอสมควร อย่างการวางปมในจิตใจตัวละครเกี่ยวกับพ่อที่กลายเป็นฐานรองรับให้การตัดสินใจและการกระทำดูน่าเชื่อถือ อีกทั้งในแง่ของหนังสยองขวัญที่ต้องเล่นกับบรรยากาศหลอนๆ ชวนกดดันก็ใช้เรื่องไสยศาสตร์ ภูตผีปีศาจมาผูกเพิ่มมิติความลึกลับ ซับซ้อนได้มากกว่ากลุ่มหนังสยองขวัญแนวฆาตกรไล่เชือด








8. High Tension (2003)

องค์ประกอบแห่งความสำเร็จจาก The Texas Chain Saw Massacre ได้ถูกส่งต่อแรงบันดาลใจและปรับปรุงให้น่ากลัว ดูรุนแรงยิ่งขึ้นเพื่อสร้างหนังเชือดอย่าง High Tension ไล่ตั้งแต่การออกแบบตัวละครที่ใช้ตัวเอกเป็นวัยรุ่นสาว มีความแกร่งและเต็มไปด้วยปฏิภาณไหวพริบ เพื่อต่อกรผู้ล่าซึ่งเป็นฆาตกรโรคจิต ที่มีวิธีการฆ่าด้วยอาวุธต่างๆที่ดูโหดเหี้ยมอำมหิต แต่เหนืออื่นใดสิ่งสำคัญที่สุดของหนังเชือดคือการสร้างความกดดันและความลุ้นระทึกในการเอาใจช่วยตัวละคร หากจะพูดง่ายๆคือการเล่นกับสถานการณ์จวนเจียน ความก้ำกึ่งว่าจะรอดหรือไม่รอด ซึ่งหนังก็ทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างยอดเยี่ยม








7. Drag Me to Hell (2009)

การทำหนังเรื่องนี้ของ Sam Raimi เปรียบเสมือนการย้ำเตือนตัวตนในฐานะผู้กำกับหนังสยองขวัญมือฉกาจที่เคยสร้างหนังอย่าง The Evil Dead และ Army of Darkness โดยหนังเล่นพล็อตง่ายๆเกี่ยวกับหญิงสาวที่ถูกคำสาปวิญญาณอาฆาต แต่แน่นอนว่าต้องมีความพิเศษซุกซ่อนอยู่ ที่ไม่ใช่แค่การผสมมุกตลกร้ายตามสไตล์ผู้กำกับ หรือความฉลาดในการใช้ตุ้งแช่จู่โจมคนดูได้อย่างถูกที่ถูกเวลา แต่จะเป็นการให้ความสำคัญเรื่องบทอย่าง การปูที่มาของความน่ากลัวซึ่งเป็นสิ่งที่หนังสยองขวัญยุคใหม่เริ่มละเลย ก่อนจะไต่ระดับความน่ากลัวและความกดดันที่ตัวละครได้รับจนนำไปสู่บทสรุปที่ชวนช็อค








6. The Mist (2007)

เป็นมากกว่าหนังหักมุมที่จบลงด้วยความรู้สึกหดหู่ของคนดู กับตัวบทที่สะท้อนสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ผ่านสังคมอเมริกันที่ตกอยู่ภายใต้ความหวาดวิตก ซึ่งถูกจำลองเป็นเหตุการณ์ในซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง ที่มีผู้คนต่างหลบภัยอยู่เป็นจำนวนมากและไม่มีใครกล้าออกไปเผชิญกับความน่ากลัวที่ซุกซ่อนอยู่ในกลุ่มก้อนหมอกปริศนา โดยหนังได้แสดงบทสรุปที่น่าสนใจของกลุ่มคนสองประเภทคือ กลุ่มคนที่ยังมีสติ พยายามหาคำอธิบายด้วยหลักการและทฤษฎีเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กับอีกประเภทคือ กลุ่มคนที่เริ่มขาดสติ พยายามผูกศรัทธาและความเชื่อต่างๆเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในยามที่จิตใจเริ่มอ่อนแอ








5. Saw (2004)

อีกหนึ่งแบบอย่างของการทำหนังสยองขวัญยุคใหม่จากทุนสร้างเพียง 1.2 ล้านเหรียญ แต่สามารถกวาดรายได้ทั่วโลกกว่า 100 ล้านเหรียญจนนำมาซึ่งภาคต่อมากมาย หนึ่งส่วนสำคัญของความสำเร็จเริ่มจากตัวบท กับการเซ็ทภาพจำใหม่ของฆาตกร ที่วัตถุประสงค์ของการฆ่าไม่ได้มาจากปมความแค้นส่วนตัว หรือการสนองความบ้าคลั่ง ความกระหายเลือด แต่เพื่อต้องการสอนให้คนตระหนักถึงความสำคัญของการมีชีวิต และใช้ชีวิตในทุกๆวันอย่างมีสติรอบคอบ โดยปฐมบทของเกมแห่งความตายถูกเล่าผ่านห้องน้ำเก่าๆที่มีชายสองคนถูกจับล่ามโซ่ พร้อมกับศพปริศนาที่นอนจมกองเลือดอยู่กลางห้อง








4. The Cabin in the Woods (2012)

เป็นเรื่องปกติของการหยิบไอเดียจากหนังที่ประสบความสำเร็จมาปรุงแต่งเป็นรสชาติตามแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งกลุ่มย่อยของหนังสยองขวัญอย่างหนังเชือด หนังผี มักใช้วิธีดังกล่าวและหนังเรื่องนี้ก็เช่นกัน แต่กลับมีอะไรที่น่าสนใจกว่านั้นและไม่ใช่แค่การทำหักมุมจุดสำคัญ โดยพล็อตหลักเดินตามหนังสยองขวัญวัยรุ่นทั่วไป เมื่อกลุ่มเพื่อน 5 คนที่ไปพักร้อนที่กระท่อมกลางป่าและต้องมาเจอเรื่องราวอันน่ากลัวทั้งฆาตกร ซอมบี้ฯ โดยหนังมีการนำขนบหนังสยองขวัญมาล้อและบิดภาพเดิมๆทั้งการออกแบบคาแรคเตอร์ ทริคการสร้างความน่ากลัว และวัฏจักรความตาย อีกทั้งยังคารวะหนังสยองขวัญคลาสสิกในรูปแบบที่คอหนังต้องแปลกใจและต้องปลาบปลื้มมากเช่นเดียวกัน








3. The Descent (2005)

หากให้ยกตัวอย่าง underrated horror หรือหนังสยองขวัญที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพ แต่กลับถูกมองข้ามหรือถูกกล่าวขานถึงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เชื่อว่าเหล่าคอหนังสายนี้ต้องนึกถึง The Descent 2005 เป็นเรื่องแรกๆ แม้หน้าหนังอาจดูเป็นแนว monster film เกรดบีกับทุนสร้างต่ำ ไม่มีท็อปสตาร์ และ Neil Marshall ก็เป็นผู้กำกับมือใหม่มากในตอนนั้น แต่ทว่าองค์ประกอบเหล่านี้กลับสร้างหนังสยองขวัญที่ยอดเยี่ยมเรื่องหนึ่งของยุค ที่หนังอัดแน่นด้วยความกดดัน ความลุ้นระทึก และผสมมุมมองเชิงจิตวิทยาเข้ามาสร้างความซับซ้อน อีกทั้งยังมีการจบหักมุมที่น่าจดจำอย่างยิ่ง โดยพล็อตว่าด้วยหญิงสาว 6 คนที่เข้าไปสำรวจถ้ำแห่งหนึ่งแล้วต้องพบกับสิ่งมีชีวิตที่น่ากลัวและโหดเหี้ยม








2. The Others (2001)

หนังผีในยุคศตวรรษที่ 21 ส่วนใหญ่จะเน้นการสร้างความน่ากลัวด้วยเทคนิคซีจีหรือจังหวะตุ้งแช่ ซึ่งกลุ่มผู้ชมบางส่วนที่ไม่ชอบกับความน่ากลัวฉาบฉวยก็มองหาหนังผีที่เน้นการปลุกเร้าความกลัวด้วยเรื่องราวและบรรยากาศอย่าง เปนชู้กับผี, The Orphanage, The Devil's Backbone หรือจะเป็น The Others หนังที่เขียนบทได้อย่างดีเยี่ยม ภายใต้ความหลอนที่คุกคามทั้งจากเสียงแปลกๆ สิ่งของเครื่องใช้ที่อยู่ๆก็ขยับเองจนนำไปสู่คำถามมากมาย ก็มีการล่อหลอกตัวละครและคนดูจนนำไปสู่การหักมุมที่ยากจะคาดถึง โดยพล็อตเล่าถึงหญิงสาวที่ต้องทนทุกข์กับการจากไปของสามี โดยเธออาศัยอยู่ในคฤหาสน์กลางป่าพร้อมลูกอีกสองคน และดูเหมือนว่าพวกเธอกำลังถูกคุมคามด้วยสิ่งลี้ลับบางอย่าง








1. Get Out (2017)

หนังสยองขวัญมักมีส่วนเสริมสำคัญคือการสร้างจุดหักมุม ที่ถูกมองว่าเป็นการจับคู่ที่ลงตัวและเกิดขึ้นบ่อยจนกลายเป็นเรื่องปกติในยุคปัจจุบัน แน่นอนว่ามันไม่ใช่ความพิเศษของหนังเรื่องนี้ แต่เป็นความสดใหม่ตามกลุ่มหนังในการหยิบประเด็นทางสังคม สะท้อนเรื่องการเหยียดผิวได้อย่างแนบเนียนและร้าวลึก จนได้เข้าชิงออสการ์ในสาขาบทดั้งเดิม รวมไปถึงหนังยอดเยี่ยม โดยนำเสนอผ่านบรรยากาศอึมครึม ชวนน่าสงสัย ปลุกเร้าด้วยเทคนิคตุ้งแช่ พร้อมดนตรีประกอบหลอนๆควบคู่ไปกับเรื่องราวที่เข้มข้นที่จะทำให้คนดูตระหนักถึงความน่ากลัวและความสั่นประสาทอย่างแท้จริง กับพล็อตง่ายๆที่ว่าด้วยหนุ่มผิวดำที่เดินทางไปเยี่ยมครอบครัวของแฟนสาวที่เป็นคนผิวขาว
.
.
.
.
.
.
.

ทวิตเตอร์เพจ @Review_Me_ พูดคุยหนังเเละซีรีส์



ขออนุญาตฝากเพจนะครับ

https://www.facebook.com/Criticalme



เเละขออนุญาตฝากไอจีเพจด้วยนะครับ @review_me__
เป็นพื้นที่สำหรับรีวิวหนังสือนิยายต่างๆโดยเฉพาะแนวสืบสวน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่