คดีผู้บริโภค

โดยท่าน apirath boonthong
Art Apirath Boonthong
March 6 at 6:30am · Chaiyaphum ·
1. #คดีผู้บริโภค

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดวิธีการดำเนินกระบวนพิจารณาสำหรับคดีผู้บริโภคไว้โดยเฉพาะ ซึ่งมีหลักเกณฑ์แตกต่างไปจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การวินิจฉัยว่าคดีใดเป็นคดีผู้บริโภคจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับศาลที่พิจารณาคดีแพ่งหรือคู่ความซึ่งจะต้องแยกให้ออกว่าคดีใดเป็นคดีแพ่งทั่วไป คดีใดเป็นคดีผู้บริโภค อันจะมีผลต่อการเตรียมคดี การต่อสู้คดี รวมทั้งการดำเนินกระบวนพิจารณาและการวินิจฉัยชี้ขาดของศาล มิฉะนั้นอาจดำเนินกระบวนพิจารณาไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้ และจะเป็นเหตุให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าที่ควรจะเป็น เพราะผู้บริโภคมีสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองเอาไว้ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคมากกว่าที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในหัวข้อนี้จึงขอกล่าวถึงความหมายของคดีผู้บริโภค และขั้นตอนการดำเนินการในกรณีที่มีปัญหาว่าคดีใดเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ โดยจะยกเอาแนวคำวินิจฉัยมาเป็นตัวอย่างเพื่อทำการศึกษาให้เข้าใจถึงความหมายของ "คดีผู้บริโภค" ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

1.1 ความหมายคดีผู้บริโภค

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 3 บัญญัติคำนิยามของคำว่า "คดีผู้บริโภค" เอาไว้ว่า "คดีผู้บริโภค" หมายความว่า
(1) คดีแพ่งระหว่างผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคตามมาตรา 19 หรือตามกฎหมายอื่น กับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ
(2) คดีแพ่งตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย
(3) คดีแพ่งที่เกี่ยวพันกับคดีตาม (1) หรือ (2)
(4) คดีแพ่งที่มีกฎหมายบัญญัติให้ใช้วิธีพิจารณาตามพระราชบัญญัตินี้

จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นว่าคดีผู้บริโภคจะต้องเป็น "คดีแพ่ง" เท่านั้น คดีแพ่งเป็นคดีที่มีการเสนอข้อหาต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง รับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของบุคคลในทางแพ่ง ดังนั้น คดีอาญา และคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ยื่นฟ้องรวมกันไปในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงไม่ใช่คดีผู้บริโภค

จากบทบัญญัติในมาตรา 3 สามารถแบ่งคดีผู้บริโภคออกได้เป็น 4 ประเภท โดยจะอธิบายไปทีละประเภทดังต่อไปนี้ ได้แก่

(1.) คดีแพ่งระหว่างผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคตามมาตรา 19 หรือตามกฎหมายอื่น กับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ

ลักษณะสำคัญของคดีผู้บริโภคประการแรก คือ จะต้องมีคู่ความ 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภค กับอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ โดยอาจจะสลับกันเป็นโจทก์หรือจำเลยก็ได้ เมื่อกฎหมายยึดถือเอาสถานะหรือความสัมพันธ์ระหว่างคู่ความดังกล่าวเป็นหลักในการกำหนดลักษณะคดีผู้บริโภค ดังนั้น ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักกับคู่ความทั้งสองประเภทนี้เสียก่อน

ฝ่ายผู้บริโภค สามารถแยกอธิบายออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้บริโภค และผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภค

#ผู้บริโภค มาตรา 3 บัญญัติคำนิยามเอาไว้ว่า "ผู้บริโภค" หมายความว่า "ผู้บริโภคตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และให้หมายความรวมถึงผู้เสียหายตามกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยด้วย" จากคำนิยามดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามีกฎหมายที่จะต้องนำมาใช้ในการตีความความหมายของ "ผู้บริโภค" อยู่ 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 แต่เมื่อมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคนำคดีแพ่งตามกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยไปบัญญัติเป็นประเภทที่ 2 ของความหมายคดีผู้บริโภคเสียแล้ว ความหมายของ "ผู้บริโภค" ตามประเภทที่ 1 นี้ จึงเหลือเพียง ผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เท่านั้น (สาเหตุที่ต้องบัญญัติรวมไว้ด้วยกันในบทนิยามดังกล่าวเนื่องจาก ในมาตราอื่นๆของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคใช้คำว่า "ผู้บริโภค" ซึ่งกฎหมายประสงค์จะให้หมายความรวมถึงผู้เสียหายตามกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวด้วย)

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 3 บัญญัติความหมายของคำว่า "ผู้บริโภค" เอาไว้ว่า "ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ หรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ และหมายความรวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือผู้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม" จึงเห็นได้ว่า ผู้บริโภคตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ 2. ผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ 3. ผู้ใช้สินค้าหรือผู้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม

(ก.) ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ เมื่อพิจารณาลึกลงไปในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคฯ คำว่า "ซื้อ" หมายความรวมถึง ผู้เช่า ผู้เช่าซื้อหรือผู้ได้มาไม่ว่าด้วยประการใดๆ โดยให้ค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น แปลคำว่า "บริการ" หมายความว่า การจัดทำการงานให้ ผู้ได้รับสิทธิใดๆหรือได้ใช้หรือได้ประโยชน์ในทรัพย์สินหรือกิจการใดๆ โดยเสียค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อื่น แต่ไม่รวมถึงการจ้างแรงงานตามกฎหมายแรงงาน จะเห็นได้ว่า ลักษณะของนิติกรรมหรือสัญญาที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายกระทำต่อกันอันจะทำให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บริโภคนั้นมีลักษณะเปิดกว้าง และตามกฎหมายดังกล่าวมิได้จำกัดเอาไว้ว่า ผู้บริโภคจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น ดังนั้นนิติบุคคลก็อาจเป็นผู้บริโภคได้ด้วยเช่นกันหากว่าเข้าผูกพันตนตามลักษณะของสัญญาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การซื้อสินค้าบางกรณีอาจเป็นการซื้อขายสินค้ากันต่อมาหลายทอด กรณีที่จะเป็นผู้บริโภคสำหรับสินค้านั้นได้ ผู้ซื้อจะต้องซื้อสินค้านั้นมาใช้สอย การพิจารณาว่าอย่างไรจะเป็นการใช้สอย ต้องพิจารณาลักษณะของสินค้าที่ซื้อนั้นด้วย การใช้สอยผู้ซื้อหาซื้อมาใช้สอยเอง หรือนำมาให้บุคคลอื่นใช้สอยก็ได้ แต่ต้องมิใช่เป็นกรณีที่นำไปขายหรือจำหน่ายต่อ หลักดังกล่าวนี้เป็นไปตามแนวคิด End user ซึ่งเป็นคำที่ใช้อยู่ในทางการค้าและเศรษฐศาสตร์

การใช้สอยมิได้หมายความเฉพาะถึงการใช้สอยในครัวเรือนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงกรณีที่นิติบุคคลซื้อสินค้าเพื่อใช้ในกิจการของนิติบุคคลดังกล่าวด้วย แต่จะต้องนำมาใช้ในลักษณะที่เป็นวัตถุดิบ หรือเครื่องอำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการของนิติบุคคล มิใช่ซื้อมาเพื่อขายหรือจำหน่ายต่อให้กับกลุ่มลูกค้าของตนโดยตรง (non-reseller) เช่น บริษัทขนส่งซื้อรถบรรทุกมาใช้ในกิจการขนส่งของตน หรือผู้ประกอบกิจการอาคารชุดซื้อลิฟท์มาใช้ในอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสาธารณูปโภคขายหรือให้เช่าห้องชุด เป็นต้น นิติบุคคลเหล่านี้ย่อมมีฐานะเป็นผู้บริโภค แม้นิติบุคคลดังกล่าวจะเป็นองค์กรทางธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรอันเนื่องจากการประกอบธุรกิจก็ตาม ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่าสินค้าและบริการที่ซื้อมานั้นเป็นวัตถุดิบหรือเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการประกอบธุรกิจหรือไม่ (แนวคิดดังกล่าวนี้มีนักวิชาการไม่เห็นด้วย โดยวิเคราะห์ความหมายของคำว่า "ผู้บริโภค" ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 3 ที่ได้บัญญัติคำนิยามคำว่าผู้บริโภคเอาไว้ ซึ่งมีคำว่า "มิได้กระทำเพื่อการค้า" โดยตีความประกอบกับวัตถุประสงค์ที่กฎหมายประสงค์จะคุ้มครองช่วยเหลือผู้บริโภคซึ่งมีสถานะด้อยโอกาสและเสียเปรียบทางสังคม นักวิชาการฝ่ายนี้จึงเห็นว่า ผู้บริโภคน่าจะหมายถึงบุคคลธรรมดา ซึ่งซื้อสินค้าหรือบริการมาใช้สอยเองหรือใช้ในครัวเรือน มิใช่กระทำเพื่อประโยชน์ในทางการค้า องค์กรทางธุรกิจที่ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร ซึ่งอยู่ในฐานะเท่าเทียมกันในอันที่จะเจรจาต่อรองและคุ้มครองประโยชน์ของตน ไม่น่าจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคในฐานะผู้บริโภคแต่อย่างใด *ดู เอื้อน ขุนแก้ว, คำอธิบายกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค, พิมพ์ครั้งที่ 2, บริษัทกรุงสยาม พับลิชชิ่ง จำกัด: กรุงเทพฯ 2559, หน้า 7-8)

สรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ตาม หากเป็นการซื้อสินค้าหรือบริการเพื่อนำไปขายหรือให้บริการแก่ลูกค้าของตนโดยตรงอีกทอดหนึ่ง โดยมิได้นำสินค้าหรือบริการที่ซื้อมานั้นใช้สอยเองหรือให้บุคคลอื่นใช้สอยสินค้าหรือบริการดังกล่าวโดยตรง บุคคลเช่นว่านั้นย่อมเป็นผู้ประกอบธุรกิจ แต่ถ้ามีการนำสินค้าหรือบริการไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าหรือบริการของตนอีกต่อหนึ่ง อาจเป็นการนำไปเป็นส่วนประกอบของสินค้าตนเอง นำไปใช้เป็นส่วนผสม เช่นนี้ย่อมเป็นผู้บริโภคในสินค้าและบริการดังกล่าวคนหนึ่งเช่นเดียวกัน

(ข.) ผู้บริโภคตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ ผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ บุคลากรนี้ยังไม่มีการซื้อหรือใช้สินค้าหรือบริการโดยตรง เป็นเพียงแต่ได้รับการเสนอหรือการชักชวนเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการเท่านั้น ซึ่งเป็นการเปิดกว้างโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เพื่อให้บุคคลดังกล่าวมีโอกาสร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หากได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม การที่บุคคลกลุ่มนี้จากยื่นฟ้องผู้ประกอบธุรกิจต่อศาลได้ จะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เมื่อพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคมิได้บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเอาไว้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค มาตรา 7 ดังนั้นการที่บุคคลกลุ่มนี้จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลได้จะต้องมีการโต้แย้งสิทธิหรือมีกฎหมายรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลได้ ดังนั้น หากผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้รับการชักชวนให้ใช้สินค้าหรือบริการ อาจมีการให้ทดลองใช้สินค้าแล้วได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนรำคาญจากการโฆษณาหรือการชักชวน ซึ่งถือว่าถูกโต้แย้งสิทธิแล้ว ผู้บริโภคดังกล่าวจึงมีอำนาจฟ้องผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวได้

(ค.) ผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะต้องได้ใช้สินค้าหรือบริการแล้ว แม้ตนเองจะไม่ใช่ผู้ซื้อโดยตรงจึงไม่มีการเสียค่าตอบแทนด้วยตนเอง แต่เมื่อเป็นบุคคลที่ได้ใช้สินค้าหรือได้รับบริการโดยชอบ เช่น มีบุคคลอื่นเป็นผู้ซื้อและนำสินค้าหรือบริการมาให้ใช้ หากเกิดความเสียหายจากสินค้าหรือบริการดังกล่าว ผู้บริโภคกลุ่มนี้ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่มนี้ จะต้องเป็นการได้ใช้หรือได้รับมาโดยชอบด้วยกฎหมาย หากเป็นการนำสินค้าไปใช้หรือได้รับบริการโดยไม่ชอบ เช่น ลักลอบเข้าไปใช้บริการในสถานที่ไดโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยเปิดเผยซึ่งเข้าข่ายลักษณะของการบุกรุก เป็นต้น บุคคลดังกล่าวย่อมไม่ใช่ผู้บริโภคอันจะได้รับความคุ้มครอง

#ผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ตามมาตรา 19 หรือตามกฎหมายอื่น

มาตรา 19 บัญญัติว่า "ให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมหรือมูลนิธิที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีผู้บริโภคแทนผู้บริโภคได้..." จะเห็นได้ว่าผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรอง และมูลนิธิที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรอง ซึ่งผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคทั้ง 3 กลุ่มนี้ ในกฎหมายฉบับอื่นมีการบัญญัติ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่