เสียงหนอ... เหลาสู่กันฟัง

ยุบหนอ พองหนอเมืองไทย เฮาเลือกแบบไหน เฮาก็จะได้แบบนั้น
การปฏิบัติกรรมฐานแบบเป็นเรื่องเป็นราวมากที่สุดของผม
คือ... มีครูบาอาจารย์สอนเป็นเรื่องเป็นราว คือ ฝึกที่สำนักตระกูลหนอแห่งหนึ่ง
การปฏิบัติก็เริ่มง่ายๆ อธิบายสั้นๆ อบรมไม่ถึง ๑๐ นาทีมั้ง
รู้การพองยุบของท้องนะ อารมณ์อื่นเข้ามาก็รู้หนอ เจ็บหนอ เสียงหนอ ว่ากันไป
พร้อมกับมีหนังสือคู่มือปฏิบัติมาให้เล่มเล็กๆ

การปฏิบัติก็เป็นเรื่องเป็นราว นั่ง ๓๐ นาที จงกรม ๓๐ นาที สลับกันไปมา
ตอนแรกๆก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรครับ เพราะมันง่าย
พองหนอ ยุบหนอ... มีอะไรยากละครับ
แต่ทำไปสักพักผมก็เริ่มมีเวทนาตามปกติ จริงๆก็รู้อยู่แล้วว่าต้องมี ก็ปวดหนอ เจ็บหนอไป
พอว่างๆก็เลยไปถามหลวงพี่แถวศาลาว่า... ปกติแล้วมีวิธีอะไรมั้ยไม่ต้องเจ็บไม่ต้องปวด
หลวงพี่ก็เมตตาตอบว่า ไม่มีหรอก แต่เดี๋ยวมันก็หายไปเอง ลองสังเกตดูสิ
จริงๆผมก็ทราบแหละว่า เดี๋ยวมันก็หายไป เพราะตอนที่ถาม ขาก็ไม่ได้เจ็บปวดอะไร
แต่ไหนๆแล้ว ก็เลยลองนั่งดูไปว่ามันหายไปยังไง ที่เขาว่ามันซาบซ่านไปทั้งบริเวณ...
อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง มาแล้วก็ไป เดี๋ยวก็หาย แต่เหน็บชานี่ เป็นตลอดกาลสมัยนะครับ
จะยืนทันทีไม่ได้ต้องระวัง อาจจะมีเซ 555

ผมมันพวกนักปฏิบัติมีปัญหาครับ... คือ อ่านตำราที่เขาให้มา
กับการปฏิบัติ แล้ว... ผมรู้สึกว่า... มันไม่ใช่นะ
ตำราที่ให้มาจะสรุปสติปัฏฐาน ๔ การปฏิบัติทั้งยืน เดิน นั่ง นอน
เรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา ผมอ่านแล้วคิดว่า การปฏิบัติแบบนี้..
มันน่าจะขัดกับตำราที่ให้มาด้วยซ้ำ
ถ้าทำไปเรื่อยๆ มันจะได้อะไร..?

เสียงหนอ...
สถานปฏิบัติธรรมกลางแจ้ง เต็มไปด้วยต้นไม้ และสายลม ฟังดูโรแมนติก
แต่เสียงหนอตลอดเวลาเลยครับ เสียงใบไม้สีกัน เสียงกิ่งไม้ตกหล่น เสียงลม เสียงหมาเห่า
เสียงคนเดิน โลกเราไม่ได้เงียบสงบครับ
จะกำหนดเสียงหนอไปทำไม... ในเมื่อมันไม่ใช่กิจของการเจริญกรรมฐาน
ขณะที่ผมกำลังนั่งเจริญกรรมฐานอยู่นั้น ผมก็นึกถึงพระพุทธเจ้า
ผมคิดว่า ถ้าพระพุทธเจ้ากำลังเทศน์อยู่ เราจะมามัวกำหนดเสียงหนออยู่เหรอ
หมาเห่าหนอ เสียงใบไม้หนอ... เพื่อ...? ทำไมไม่ตั้งใจฟังพระพุทธเจ้า
ตอนนี้ไม่มีพระพุทธเจ้า แต่เราก็กำลัง...
สมมติว่ากำลังพิจารณาขันธ์ ๕
รูปไม่เที่ยง... (เสียงหนอ) เมื่อรูปไม่เที่ยงแบบนี้ ไม่ทรง.. (เสียงหนอ) ตัว
มีความแปรปรวนเป็น (เสียงหนอ) ธรรมดา ไม่ยั่งยืน มีความทรุดโทรม (เสียงหนอ) เป็นปกติ
เต็มไปด้วย (เสียงหนอ) ความทุกข์ ควรหรือที่ (เสียงหนอ) เราจะยึดมั่น ถือ (เสียงหนอ)
เอ... ถึงไหนแล้วหว่า... (เสียงหนอ)


นี่ยังไม่รวม คิดหนอ รู้หนออะไรต่อมิอะไรนะครับ
ผมว่านี่เป็นการฝึกที่ไม่มีสติมากที่สุดแล้วละ
คือไม่มีสติว่ากำลังทำกิจอะไร เพื่ออะไร
ต่อมา ผมได้เจอพระอาจารย์ จึงได้สอบถามเรื่องนี้
สรุปแล้ว... ไม่ต้องไปสนใจอะไรพวกนั้นก็ได้ ตัดไปเลย สนใจเรื่องที่ผมสนใจก็พอ

และตั้งแต่ผมอ่านพระไตรปิฎกมา ผมยังไม่เคยเห็นเลยว่าจะมีพระสูตรไหนสอนให้รู้ไปหมดอดไม่ได้อย่างนี้
เราจะรู้อะไรไปเยอะแยะ จริงๆแล้ว เราก็หายใจเข้าออกตลอดเวลา ไม่เห็นจะตามรู้เลย
เออ... อันนี้มีในตำรานะ ทำไมเราไม่ตามรู้ละ
ทำไมต้องไปตามรู้เสียงอะไรต่อมิอะไร นี่ยังไม่นับรวมเรื่องอื่นอีกนะ
บางที... วิธีการแรกเริ่มอาจจะถูกนะ แต่พอความรู้มาถึงผม มันคลาดเคลื่อนเลื่อนไปก็เป็นได้
แน่นอนการกำหนดรู้ต่างๆมันก็ดี แต่มันไม่จำเป็นสำหรับทุกอย่างละมั้ง
เอาละ... ผมเชื่อว่า ตอนนี้ฝ่าเท้าของทุกคนคงสัมผัสอะไรบางอย่างอยู่ คุณกำหนดรู้มั้ย
กำหนดรู้ทำไม...?
ผมว่าคุณเพิ่งจะรู้สึกตัวตอนผมถามนี่แหละ เราจะสนใจทำไมจริงมั้ย

พอผมไม่ทำตามนั้น คือกำหนดรู้ไปเสียซะทุกอย่าง
เจริญกรรมฐานธรรมดาอย่างที่เคยๆทำมาตั้งแต่เด็ก เพียงแต่ตั้งใจมากขึ้น
เออ..
พิจารณาอารมณ์มากขึ้น อย่างที่เขาเรียกว่าลักขณูอะไรนั่นแหละ ตอนนั้นผมไม่รู้จักหรอก
แล้วก็จับสมถะอะไรมากขึ้น สลับไปสลับมา ในสมถะมันก็มีลักษณะอะไรให้รับรู้ตลอดอยู่แล้ว
ก็ทำตามตำรานั่นแหละ  อย่างเช่น มีสุขจากสมาธิ ก็เป็นเวทนา พอไม่มีสมาธิ จิตก็เป็นนิวรณ์
อันนี้มีในตำราทั้งนั้น มีให้พิจารณาเยอะแยะเลย เล่นอย่างนี้ง่ายกว่า เข้าใจอารมณ์อื่นๆได้ง่าย
อ่านตำราแล้วเข้าใจง่ายกว่าด้วยซ้ำ ตำราที่เขาให้มาก็เขียนดีนะ
พอตั้งใจทำ จิตเป็นสมาธินี่ พิจารณาอะไรมันก็รู้ไปหมดชัดเจน กาย เวทนา จิต ธรรม มาเป็นชุด
ไม่ได้รู้อะไรมากหรอกครับ เพราะตำราที่ได้มาเขาก็เขียนย่อๆสั้นๆ ต้องพิจารณาเพิ่มเติมเอาเอง

จนถึงทุกวันนี้ พอย้อนกลับไปนึกถึงสำนักนั้นแล้วก็ยังนึกอยู่นะว่า เอ...
ทำไมต้องคอยไปตามรู้อะไรมากมาย มันเหมือนฝึกสติให้ฉับไว
แต่ทำไปทำไม ดูไม่มีเหตุผล.... หรืออาจจะมี
ผมว่า เสียงนี่... เราตัดไปเลยดีกว่าว่าไม่สนใจ
มีสติอยู่ตรงหน้าเฉพาะเรื่องที่เราสนใจดีกว่า เช่น ลมหายใจเข้าออก หรือ นิวรณ์ ๕ ตามแบบฉบับสติปัฏฐาน
ยิ่งอ่านในพระสูตรต่างๆดูเกี่ยวกับสติปัฏฐาน ไม่เห็นจะมีตรงไหนให้คอยตามรู้อะไรพวกนี้เลยนะ
อายตนะ ๖ หรือ... ก็ไม่ใช่นะ คนละเรื่องกัน
หรือเป็นการฝึกอะไรสักอย่าง ซึ่งผมคิดว่า... มันจะทำให้ฟุ้งซ่านไปเสียเปล่าๆ
หรือบางทีมันอาจจะเหมาะกับคนหลายคนก็ได้นะครับ ผมไม่ทราบ เพราะไม่ใช่พระพุทธเจ้า
จึงจะมาคิดว่ากรรมฐานแบบนี้เหมาะกับใครบ้ง

และถ้าใครจะทำจิตให้เข้าถึงปฐมฌาน
ผมขอแนะนำว่า อย่าไปเสียงหนอ รู้หนอ อะไรอยู่ให้มากนะครับ
รู้แค่เรื่องเดียวก็พอ มีสติจริงๆแค่เรื่องเดียวก็พอ
(จริงๆแล้วมัวแต่ไปรู้อย่างอื่น นั่นแหละเรียกว่าไม่มีสติ)
ถ้ากำลังจับอนิจสัญญาอยู่ ก็ให้มันอยู่เรื่องนั้นจนอิ่มจนเต็มที่ของมัน จับให้มันเป็นปฐมฌานไปเลย

สำหรับผมแล้ว การมีสติ ต้องรู้ว่าอะไรมีสาระ อะไรไม่มีสาระ เหมาะควรตอนไหน
ถ้าถามผมว่าผมไม่กำหนดรู้เสียงหนอบ้างเลยหรือ
กำหนดรู้นะ... มีบ้างๆ
เพราะแถวๆที่ปฏิบัติก็มีเสียงดังมากๆ มีงานการก่อสร้างใช้เสียงดังกันแบบสุดๆเหมือนกัน
ก็กำหนดรู้ว่าเสียงมาแล้วก็ไป อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอะไรก็ว่าไป
หลังๆมาก็ไม่สนใจมันแล้ว ไม่รู้จะสนใจมันทำไม กิจตรงหน้าเรามีนี่ เราก็ต้องสนใจเรื่องของเราก่อน

วันนี้ว่างก็เลยนึกย้อนอะไรมาเล่าสู่กันฟังครับ
อ่านเล่นๆ ไม่ต้องคิดอะไรกันมาก แต่ถ้าจะคิด ก็คิดให้มันลึกๆเลยครับ อย่าให้เสียงอื่นเข้ามารบกวนนะครับ

ปล.จะว่าไปแล้ว เสียงนี่คือ ศัตรูของปฐมฌานเลยนะ
เสียงภายนอกก็ดี เสียงภายในก็มี มั่วไปหมด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่