ทำอย่างไรเมื่อเกิดความกลัว

กระทู้คำถาม
ทำอย่างไรกับ...ความกลัว ?
.
พระพุทธองค์ตรัสว่า หากกลัวสิ่งใด ต้องเข้าไปหาสิ่งนั้น จึงจะหายกลัว  สมัยที่พระองค์บำเพ็ญสมณธรรมนั้น ทรงมีความหวาดกลัวป่าเปลี่ยวจนขนลุกชูชัน สิ่งที่พระองค์ทำก็คือ เข้าไปในป่า  เมื่อความกลัวเกิดขึ้นไม่ว่าอยู่ในอิริยาบถใด พระองค์ทรงอยู่ในอิริยาบถนั้นจนหายกลัว จนในที่สุดไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน พระองค์ก็ไม่มีความกลัวอีกต่อไป
.
อะไรที่เรากลัว หากได้สัมผัสกับมันจนคุ้นเคยและรู้จักมันดีพอ ก็จะพบว่ามันไม่น่ากลัวอย่างที่เคยรู้สึก มารี คูรี นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังชาวโปแลนด์ พูดไว้อย่างน่าคิดว่า “ในชีวิตนี้ไม่มีอะไรที่น่ากลัว มีแต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ”  ทัศนะดังกล่าวสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้า  เรากลัวเพราะไม่รู้  หรือเพราะความหลง เมื่อมีปัญญา ก็หายกลัว  แต่ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เพราะคิดเอา หากเป็นเพราะได้สัมผัสมักคุ้นกับมันจนรู้จักมันเป็นอย่างดี
.
นักธุรกิจคนหนึ่งเล่าว่า เมื่อเรียนจบเขาเลือกทำแต่ธุรกิจที่ไม่เสี่ยง คือให้ผลกำไรอย่างแน่นอน และเป็นธุรกิจที่ใคร ๆ ก็ทำกัน เพราะเขากลัวความล้มเหลวอย่างยิ่ง  แต่แล้วจู่ ๆธุรกิจที่เขาคิดว่า “ชัวร์” ก็ขาดทุนจนต้องเลิกกิจการ  แม้จะผิดหวังและเป็นทุกข์ แต่เขาก็พบว่าความล้มเหลวไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เขาคิด ถึงอย่างไรฟ้าก็ไม่ถล่ม โลกก็ไม่ทลาย  นับแต่วันนั้นเขาก็ไม่กลัวความล้มเหลวอีกเลย  และรู้สึกสนุกกับการทำธุรกิจมากขึ้น เพราะกล้าทำอะไรใหม่ ๆ ที่เสี่ยง โดยไม่มีความวิตกว่ามันจะล้มเหลว
.
ความกลัวลำบากก็เช่นกัน  ไม่อาจจะหายได้จนกว่าเราจะลองสัมผัสกับความยากลำบากดูบ้าง เช่น ไปค้างแรมอยู่ในป่า นอนกลางดินกินกลางทราย หรือใช้ชีวิตเรียบง่ายสัก ๓-๔ วัน  ก็จะพบว่ามันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด อาจจะมีรสชาติชวนสนุกด้วยซ้ำ   ในทำนองเดียวกัน เซเนก้า นักปราชญ์ชาวโรมัน แนะนำคนที่กลัวสูญเสียทรัพย์สมบัติ ว่า “ลองใช้เวลาสักช่วงหนึ่ง อยู่แบบอัตคัดและใช้ของถูกที่สุด ใส่เสื้อผ้าเนื้อหยาบ แล้วบอกกับตัวเองว่า “นี่หรือคือสิ่งที่ฉันกลัว”
.
นักเขียนชาวอเมริกันคนหนึ่งเล่าว่าเขาเป็นคนกลัวขายหน้ามาก วันหนึ่งจิตแพทย์ชื่อดัง อัลเบิร์ต เอลลิส (Albert Ellis)เล่าว่า เคยแนะนำให้คนไข้ของเขานั่งรถไฟใต้ดินในนิวยอร์ค  เมื่อผ่านสถานีใดให้ส่งเสียงเรียกชื่อสถานีนั้นดัง ๆ โดยไม่ต้องสนใจว่าใครจะมองอย่างไร  เขาจึงทดลองทำดูบ้างเมื่อนั่งรถไฟใต้ดินในลอนดอน แม้จะรู้สึกประหม่าและพรั่นพรึ่งขณะที่ส่งเสียงดังท่ามกลางผู้คนแน่นขนัด  แต่ปรากฏว่าไม่มีใครด่าหรือทำร้ายเขาเลย มีบางคนเท่านั้นที่มองเขาด้วยสายตาประหลาด นับแต่วันนั้นความกลัวขายหน้าได้ลดลงมาก
.
สิ่งที่เรากลัวนั้นไม่ทำให้เราทุกข์มากกว่าความกลัว  ความเจ็บป่วยไม่ทำให้เราทุกข์มากกว่าความกลัวเจ็บป่วย  ผู้ป่วยมะเร็งจำนวนไม่น้อยยิ้มแย้มแจ่มใส ในขณะที่คนมีสุขภาพดีหลายคนกลับรู้สึกย่ำแย่เมื่อคิดว่าตัวเองอาจเป็นโรคร้าย ความตายก็เช่นกัน  ความตายไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวตาย  หากไม่กลัวตายเสียแล้ว ก็พร้อมรับความตายได้ด้วยใจสงบ ตรงข้ามกับคนที่กลัวตาย  แม้ยังไกลจากความตาย แต่พอนึกถึงความตายเมื่อใด ก็เหมือนตกนรก
.
สิ่งที่เราควรทำ จึงไม่ใช่การพยายามดิ้นรนหนีความตาย เพราะหนีอย่างไรก็ไม่พ้น  แต่ควรพยายามจัดการกับความกลัวตายมากกว่า  เช่นเดียวกับความกลัวประเภทอื่น ๆ   ความกลัวตายบรรเทาได้ด้วยการทำใจให้คุ้นชินกับความตาย  เช่น นึกถึงความตายของตนเองบ่อย ๆ ที่เรียกว่า มรณสติ  ใหม่ ๆ ใจจะต้าน แต่ทำบ่อย ๆ ก็จะยอมรับความตายได้มากขึ้น และกลัวความตายน้อยลง
.
จะว่าไปแล้วการระลึกถึงความตายบ่อย ๆ ยังทำให้ความกลัวอย่างอื่น ๆ ลดลงไปด้วย  เหตุร้ายต่าง ๆ ที่เรากลัวนั้นจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปทันทีเมื่อเปรียบเทียบกับความตาย  สตีฟ จ็อบส์ เคยกล่าวว่า “เกือบทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวัง ความภูมิใจ ความกลัวการหน้าแตกและความผิดพลาดทั้งหลาย ล้วนไม่มีความหมายอะไรเลยเมื่อเทียบกับความตาย”
.
ไม่ใช่การหนีสิ่งที่เรากลัว การหันหน้ามาเผชิญกับมันต่างหาก คือสิ่งที่ควรทำ เพราะจะทำให้เราหายกลัว เมื่อนั้นมันจะไม่มีพิษสงอีกต่อไป และทำให้เราเป็นอิสระอย่างแท้จริง
.
พระไพศาล วิสาโล
CR : visalo.org
Photo : National Geographic

#แง่คิด #ชีวิต #ความคิด #BLANK #คนหัวกลวง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่