ช็อก! อย.ห้ามใช้ไขมันทรานส์ อุตฯอาหาร-เบเกอรี่ปรับสูตรผลิต- ใครฝ่าฝืนพร้อมมีบทลงโทษหนัก เพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

ที่มา
https://www.prachachat.net/facebook-instant-article/news-91176

###########################################################

ใครเห็นด้วยรบกวนโหวตให้ที ผู้ผลิตอาหารจะได้ทยอยเปลี่ยน ก่อนกฎหมายออก เริ่มบังคับใช้ มิย 2561

######################

วงการอาหาร-เบเกอรี่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ อย.-สาธารณสุข เตรียมออกประกาศ ห้ามใช้ไขมันทรานส์ในอาหาร ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ-หลอดเลือด หลังสหรัฐคุมเข้มสั่งห้ามใช้เด็ดขาดหลังมิถุนายน 61 แจงต้องเร่งสกัด หวังปิดทางอาหารมีส่วนผสมไขมันทรานส์สูงจากสหรัฐทะลักเข้าไทย สถาบันโภชนาการ มหิดล ชี้ “โดนัท-พัฟ-เพสทรี-เวเฟอร์-มาร์การีน-เนย” แจ็กพอตยกแผง ผู้ผลิตป่วนถึงขั้นต้องรื้อสูตร

อย.ห้ามใช้ไขมันทรานส์

น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อย.ได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. …. เรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร (ฉบับที่ 3) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (1) และมาตรา 6 (5) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 โดยให้เพิ่มความลงในข้อ 2 ของประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ. 2536) เรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร ลงวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ในข้อ 2.13 “ห้ามใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (ไขมันทรานส์) “ยกเว้น” การใช้ในการผลิตอาหารเพื่อการส่งออก”

การออกประกาศฉบับดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า “ไขมันทรานส์ (trans fatty acids)” จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (partially hydrogenated oil) จะเพิ่ม “ความเสี่ยง” ของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น อย.จึงได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวขึ้น โดยขณะนี้ตัวร่างอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ โรงงานผลิตวัตถุดิบอาหาร, โรงงานผลิตน้ำมันพืช, โรงงานผลิตนม-เนย-เบเกอรี่ และโดนัท ฯลฯ ที่ใช้กระบวนการผลิตที่มีไขมันทรานส์เกิดขึ้น

“เราเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของสำนักอาหาร อย. รวมถึงการส่งหนังสือไปยังองค์การการค้าโลก (WTO) ด้วย และให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่งความคิดเห็นกลับมายัง อย. ภายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ หลังจากนั้น อย.จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดสรุปเสนอคณะกรรมการอาหาร ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน หากความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน อย.จะเร่งประกาศฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา” น.ส.ทิพย์วรรณกล่าว

หวั่นสหรัฐทุ่มไขมันทรานส์

น.ส.จิตรา เศรษฐอุดม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข กล่าวว่า USFDA ได้ออกกฎหมายการผลิตอาหารในสหรัฐต้องมีไขมันทรานส์เป็น 0% หรือห้ามไม่ให้มีไขมันทรานส์ กฎหมายของ USFDA ฉบับนี้ออกมาในเดือนมิถุนายน 2558 โดยให้ระยะเวลาผู้ผลิตปรับกระบวนการผลิต 3 ปี (ครบกำหนด 16 มิถุนายน 2561) ขณะที่ อย.ก็ได้ตื่นตัวในเรื่องนี้พร้อมกับสหรัฐเช่นกัน ที่ผ่านมาทาง อย.เองก็ได้รับหนังสือเวียนจาก WTO ถามความเห็นในกรณีของ USFDA ห้ามใช้ไขมันทรานส์ด้วย จึงเป็นที่มาให้ อย.เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กรมอนามัย-กรมวิทยาศาสตร์-มหาวิทยาลัยมหิดล) มาพิจารณาหารือเรื่องความเสี่ยงของไขมันทรานส์ โดยการดำเนินการให้เรื่องนี้จะต้องไม่เป็นการกีดกันทางการค้าในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิก WTO

โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงตอนนี้ก็คือ อาหารและเบเกอรี่ต่าง ๆ ที่ผลิตโดยมีไขมันทรานส์จากโรงงานในสหรัฐ “อาจจะ” ถูกส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ก่อนที่ USFDA จะประกาศห้ามไม่ให้มีไขมันทรานส์ในอาหาร หลังวันที่ 16 มิถุนายน 2561

ไทย Free-Trans fat

ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ได้การวิจัยเรื่องประเทศไทยปลอดไขมันทรานส์ Thailand : Trans fat-Free Country โดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เป็นผู้ให้ทุนผลการวิจัยพบว่า อาหารในท้องตลาดที่ปนเปื้อนกรดไขมันทรานส์ในระดับเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลก กำหนดไว้ในประเทศไทย ได้แก่ โดนัททอด, พัฟและเพสทรี, เวเฟอร์, มาร์การีน และเนย เพียงบางยี่ห้อ

ทั้งนี้ ผลการวิจัยได้ข้อสรุปว่า ประเทศไทยสามารถประกาศสถานะปลอดกรดไขมันทรานส์ได้ภายใน 1 ปี ด้วยการดำเนินการภายใต้เงื่อนไข 1) คำจำกัดความของ “ปลอดไขมันทรานส์” ไม่ใช่การตรวจไม่พบ แต่เป็นการกำหนดความเข้มข้นสูงสุดของไขมันทรานส์ที่ยอมให้มีได้ โดยใช้ปริมาณที่พบได้ในธรรมชาติเป็นเกณฑ์ (ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ในขณะที่ WHO แนะนำให้หลีกเลี่ยงการบริโภคกรดไขมันทรานส์ โดยไม่ควรบริโภคเกินกว่า 2.2 กรัม/วัน) 2) ผู้ผลิตน้ำมันและไขมันจะต้องดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนผลิตภัณฑ์เดิมที่ปนเปื้อนกรดไขมันทรานส์ โดยใช้กระบวนการ oil blending 3) เร่งรัดมาตรการด้านกฎหมายที่ห้ามมิให้ใช้ไขมันที่ผลิตจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนในการผลิตอาหาร เพื่อลดการได้เปรียบและเสียเปรียบทางการค้าของผู้ผลิตอาหาร และ 4) การกล่าวอ้างทางโภชนาการในผลิตภัณฑ์อาหารที่เกี่ยวกับปริมาณไขมันทรานส์ ต้องพิจารณาทั้งปริมาณกรดไขมันทรานส์และกรดไขมันอิ่มตัว เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคสับสนและเกิดผลเสียต่อสุขภาพ

เบเกอรี่ต้องรื้อสูตร

ด้าน นายนาดิม ซาเวียร์ ซาลฮานี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้าน “ดังกิ้นโดนัท” ในประเทศไทย กล่าวว่า ดังกิ้นโดนัทมีการใช้ไขมันทรานส์น้อยมาก และอยู่ในสัดส่วนที่ไม่เป็นอันตรายต่อการบริโภค แต่หากมีกฎหมาย “ห้าม” ใช้กรดไขมันทรานส์อย่างเด็ดขาด (ไขมันทรานส์เป็น 0%) บริษัทพร้อมจะปรับเปลี่ยนสูตร

ขณะที่ผู้บริหารในธุรกิจอาหารและเบเกอรี่อีกรายกล่าวว่า ผู้ผลิตอาหารมีการปรับตัวเรื่องไขมันทรานส์มาตลอด เช่น การพัฒนาไขมัน-น้ำมันผ่านกระบวนการที่เรียกว่า oil blending มาทดแทนแล้ว

ขณะที่ นายกำธร ศิลาอ่อน รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายการผลิตและซัพพลายเชน บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านอาหาร-เบเกอรี่ “S&P” กล่าวว่า ใช้น้ำมันรำข้าวในโรงงานผลิตสินค้า ขณะที่ร้านในสาขาต่าง ๆ นั้นจะใช้น้ำมันถั่วเหลืองควบคู่กันไปด้วย ส่วน นายอรรคสิทธิ์ ภู่ประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหอมมนต์เบเกอรี่ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบเกอรี่แบรนด์ “หอมมนต์” กล่าวว่า เบเกอรี่ทุกรายการของหอมมนต์เป็นสูตรไร้ไขมันทรานส์อยู่แล้ว แต่หากผู้ประกอบการรายใดที่ใช้สูตรที่มีไขมันทรานส์อยู่ หากต้องเปลี่ยนให้เป็นไขมันทรานส์ 0% จะมีต้นทุนจากวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และต้องทำการรื้อสูตรเบเกอรี่ใหม่หมด เนื่องจากวัตถุดิบที่เปลี่ยนไป

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ต้นปีหน้า ทางสถาบันอาหาร-สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)-สภาหอการค้าไทย จะร่วมกันเข้าไปหารือกับทาง อย. เพื่อขอ “ผ่อนปรน” และ “ยืดเวลา” เพื่อปรับตัวในการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องไขมันทรานส์ เนื่องจากปัจจุบันมีสมาชิกและผู้ประกอบการเพียงบางรายเท่านั้นที่ทราบเรื่องนี้ แต่ยอมรับว่า ในอนาคตก็ต้องบังคับใช้แน่นอน “หากใช้ในเร็ว ๆ นี้มีผลกระทบแน่นอนกับผู้ประกอบการ”

เนื่องจากการปลอดไขมันทรานส์นั้น ผู้ประกอบการจะต้องมีการลงทุนปรับเปลี่ยนไลน์การผลิต-ลงทุนเครื่องจักร หรือแม้แต่ปรับสูตรขนมและอาหารใหม่ทั้งหมด การปรับตัวจึงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี จึงห่วงว่า ผู้ประกอบการรายกลางและเล็กจะกระทบหนัก ขณะที่รายใหญ่ “ไม่น่ามีปัญหา” ระหว่างนี้สถาบันอาหารเองต้องให้ข้อมูลด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารทุกประเภท อาทิ สูตรการผลิต ที่ตลาดต้องการและสอดรับกับกฎหมายที่จะออกมาใหม่
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 2
ช็อกทำไม ดีแล้วครับ

ขนมปังต่างๆ ที่ขายในร้าน เจ็ดสิบเอ็ด นี่ตัวดีเลย ใส่เนยขาวทั้งนั้น จะได้เปลี่ยนเสียที
ความคิดเห็นที่ 7
ดีแล้ว ประเสริฐแล้ว ในต่างประเทศเขาจะแบนไม่ให้เอามาใส่อาหารแล้ว เมืองไทยตามได้ทันก็ถือว่าเราก็ทันโลกทันสมัยไม่น้อย

แต่กะไว้แล้วเชียวว่าพวกผู้ผลิต จะต้องขอผ่อนปรน ขอใส่ของมีพิษภัยนี้ลงในอาหารขายให้กับลูกค้าไปก่อน เอ้า เรามาดูกัน ว่า สุขภาพชาวไทย ที่เกี่ยวโยงถึงความเป็นความตายโรคภัยไข้เจ็บ กับผลกำไรของบางบริษัท ใครจะสำคัญกว่ากัน?

--==NICK==--
ความคิดเห็นที่ 6
แล้วพวกครีมเทียมล่ะ กาแฟ3อิน1 เครื่องดื่มพร้อมชงทั้งหลาย ใส่ครีมเทียมเยอะมาก
ความคิดเห็นที่ 3
ใครเห็นด้วยรบกวนโหวตให้ที ผู้ผลิตอาหารจะได้ทยอยเปลี่ยน ก่อนกฎหมายออกบังคับใช้ มิย 2561
ความคิดเห็นที่ 8
ดี  เห็นด้วยค่ะ  ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนได้อีกนิด
เพราะถ้าประชาชน กินแล้วเจ็บป่วย ก็กลับเข้าสู่ความรับผิดชอบของรัฐอีกเหมือนเดิม  บางคนอาจจะมีเงินจ่ายค่ารักษาเอง  แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องวิ่งเข้ารักษาใน รพ.รัฐ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่