EEC - ถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

จากที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่มีข้อเสนอ 4 ข้อ ดังนี้ [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ทางสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กระทรวงอุตสาหกรรม ขอชี้แจง 3 ประเด็น ดังนี้

1. EEC เป็นนโยบายสำคัญของประเทศที่จะผลักดันการพัฒนาประเทศ และเป็นตัวอย่างของการพัฒนาประเทศที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน อย่างที่ทราบกันว่า รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนา EEC ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ซึ่งต่อไปจะพัฒนาไปเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเป็นแกนนำในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้การพัฒนา EEC  เป็นตัวอย่างการบูรณาการการพัฒนาที่คำนึงถึงการต่อเนื่องเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การ zoning การใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีการจัดวางตำแหน่ง สถานประกอบการ และตำแหน่งการจัดวางระบบสาธารณูปการที่เหมาะสม และอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน ประชาชนในพื้นที่ และผู้ประกอบกิจการ รวมทั้งการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ซึ่งแน่นอนประชาชนในพื้นที่จะมีระบบสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นจากการพัฒนาที่เป็นระบบ

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงการต่างๆ ใน EEC เป็นการต่อยอดจากการพัฒนาโครงการที่มีอยู่เดิม ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยคำนึงถึงการสร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยถือว่าการพัฒนา EEC เป็นกลไกขับเคลื่อน ‘ประเทศไทย 4.0’ แบบก้าวกระโดด และเป็นพื้นที่เป้าหมายแรกในการสร้าง การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างระบบการถ่ายโอนเทคโนโลยีขั้นสูงสู่คนไทย ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม

สำหรับข้อสังเกตเรื่องการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวมและแผนผัง ในกระบวนการทำงานจะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งการดำเนินการต่างๆ ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ซึ่งมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นชอบ อีกทั้งในส่วนของคำสั่ง คสช. 47/2560 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2560 เรื่องข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนเสมอ

ในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของภาคประชาชน สกรศ. ได้มีการรับฟังความคิดเห็นหลายๆ ช่องทาง ทั้งเว็บไซต์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)  เว็บไซต์สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ตั้งแต่เริ่มต้น และยังได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ ตั้งแต่ เดือนมีนาคม 2560 จนถึงปัจจุบัน ไม่น้อยกว่า 11 ครั้ง

2. ร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ....
ในกระบวนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ...ซึ่งเข้าสู่กระบวนพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ของ คณะรัฐมนตรีถึง 3 ครั้ง นั้นแสดงถึงการให้ความสำคัญในทุกประเด็น ทุกมิติ อย่างรอบคอบ รัดกุม ของทุกภาคส่วน ถึงแม้ปัจจุบัน ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษ ซึ่งกรรมการทุกท่านพิจารณาร่วมกันอย่างรอบครอบทุกมิติ โดยมิได้มีการเร่งรัดหรือละเลยในทุกประเด็นที่หลายฝ่ายกังวล

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กระบวนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ....ได้ดำเนินการตามตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560  ทุกประการ โดยมีการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนตามช่องทางสื่อสารต่างๆ เช่น ประชุมร่วมกับหน่วยงานเจ้าของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติ  ผ่านสื่อออนไลน์  ประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนจังหวัด/ภาคเอกชน/ประชาชนในพื้นที่ EEC อย่างต่อเนื่องทุกจังหวัด ถึงแม้ก่อนหน้าที่รัฐธรรมนูญฯประกาศใช้ กระทรวงอุตสาหกรรมก็ให้ความสำคัญกับการรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบและผู้มีส่วนได้เสียจากร่างกฎหมายมาตลอด อีกทั้งนำข้อคิดเห็นมาปรับใช้ในขณะที่พิจารณาพระราชบัญญัติในชั้นกฤษฎีกา

3. ประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากการพัฒนา EEC
ในการพัฒนา EEC เป้าหมายที่สำคัญคือประชาชนในพื้นที่มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการยกระดับรายได้ให้ใกล้เคียงกับกรุงเทพ ด้วยสภาพชีวิตที่ดีกว่า มีเมืองที่น่าอยู่ที่ดีกว่า อาทิ
    o  โอกาสมาถึงบ้าน-รายได้มาถึงตัว  งานดีมีมากขึ้นเป็นโอกาสใหม่ให้เยาวชน
    o  ลูกหลานไม่ต้องออกนอกพื้นที่เพื่อ หาสถานศึกษาที่ดีขึ้น  หางานที่ดีขึ้น ทำให้สามารถอยู่ได้กับพ่อแม่เป็นครอบครัวอบอุ่น
    o  ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงสถาบันการศึกษา และโรงพยาบาลที่ดีมีคุณภาพมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
    o  มีระบบสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมที่ดี จากโครงการลงทุน และการท่องเที่ยวมีเส้นทางคมนาคมที่ดีขึ้น
    o  มีกองทุนเพื่อพัฒนาชุมชน หากประชาชนได้รับผลกระทบรัฐจะให้การดูแลอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว
โดยมีการตั้งกองทุนขึ้นมาโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานฯ ยินดีให้ข้อมูลตอบข้อซักถามเพิ่มเติม โดยให้ติดต่อได้ที่ 0-2033-8000

ที่มา : สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่